สถิติและการเลือกใช้สถิติที่เหมาะสมกับการวิจัย


สถิติและการเลือกใช้สถิติที่เหมาะสมกับการวิจัย

สถิติและการเลือกใช้สถิติที่เหมาะสมกับการวิจัย

ประเภทของสถิติ

ศิริชัย  กาญจนวาสี, ทวีวัฒน์  ปิตยานนท์ และ ดิเรก  ศรีสุโข(2551, หน้า 39) แบ่งประเภทของสถิติตามบทบาทและหน้าที่ของสถิติในการวิเคราะห์ข้อมูล เป็น 2 ประเภท คือ

1.สถิติเชิงบรรยาย(Descriptive Statistics)

เป็นสถิติที่มุ่งเสนอสารสนเทศเพื่อบรรยายสรุปลักษณะของตัวแปร ในกลุ่มตัวอย่างหรือประชากร วิธีการที่ใช้ในการบรรยาย ประกอบด้วย

    1.1 การแจกแจงความถี่และเทคนิคการนำเสนอด้วยตาราง กราฟ และรูปภาพ

    1.2 การจัดตำแหน่งเปรียบเทียบ เช่น สัดส่วน ร้อยละ เปอร์เซ็นไตล์

    1.3 การวัดแนวโน้มเข้าสู่ส่วนกลาง เช่น ค่าเฉลี่ย  ค่ามัธยฐาน ค่าฐานนิยม

    1.4 การวัดการกระจาย และรูปทรงการแจกแจงข้อมูล เช่น

2. สถิติเชิงสรุปอ้างอิง(Inferential or Inductive Statistics)

เป็นสถิติที่ศึกษาข้อมูลจากลุ่มตัวอย่าง หรือค่าสถิติ(Sample Statistics) เพื่อมุ่งสรุปอ้างอิงไปยังลักษณะประชากร หรือค่าพารามิเตอร์(Population parameters) การทำให้มาซึ่งกลุ่มตัวอย่าง(Sampling) ที่มีความเป็นตัวแทนของประชากร มีความสำคัญยิ่งต่อการสรุปอ้างอิงผลจากค่าสถิติไปยังค่าพารามิเตอร์ วิธีการที่สำคัญของสถิติเชิงสรุปอ้างอิงประกอบด้วย

    2.1 การประมาณค่าพารามิเตอร์

    เป็นเทคนิคของการนำค่าสถิติที่ได้จากกลุ่มตัวอย่างไปประมาณหรือคาดคะเนค่าพารามิเตอร์ของประชากร ซึ่งสามารถกระทำได้ 2 ลักษณะ ได้แก่ การประมาณค่าเป็นจุดเฉพาะ(Point Estimation) และการประมาณค่าเป็นช่วง

    2.2 การทดสอบสมมติฐานเกี่ยวกับค่าพารามิเตอร์

    เป็นเทคนิคของการนำค่าสถิติที่ได้จากกลุ่มตัวอย่างไปทดสอบสมมติฐานทางสถิติเกี่ยวกับค่าพารามิเตอร์ของประชากร

อรุณี  อ่อนสวัสดิ์(2551, หน้า  158-159)  กล่าวว่า โดยทั่วไป สถิติมี 2 ประเภท

    1.สถิติเชิงบรรยาย(Descriptive Statistics) ได้แก่ สถิติที่ใช้อธิบายลักษณะต่างๆของกลุ่มตัวอย่างหรือประชากร  เช่น การแจกแจงความถี่  ร้อยละ สัดส่วน อัตราส่วน การวัดแนวโน้มเข้าสู่ส่วนกลาง  การวัดการกระจาย การวัดสมมาตร และการหาความสัมพันธ์ เป็นต้น

    2. สถิติเชิงสรุปอ้างอิง(Inferential Statistics)

    ได้แก่ สถิติที่ใช้อ้างอิงค่าที่ได้จากกลุ่มตัวอย่างไปยังประชากรของกลุ่มตัวอย่างนั้น แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

      2. 1 สถิติพาราเมติก(Parametric  Statistics)

      เป็นกลุ่มของสถิติที่ต้องคำนึงถึงหรือต้องเคร่งครัดในข้อตกลงเบื้องต้นสำหรับสถิติแต่ละชนิด  เช่น z-test , t-test, F-test, เป็นต้น

      2. 1 สถิตินอนพาราเมติก(Nonparametric  Statistics)

      เป็นกลุ่มของสถิติที่ผ่อนคลายในข้อตกลงเบื้องต้นสำหรับสถิติแต่ละชนิด เช่น  x2 ,Mann-Whitney U Test,Sign Rank Test, Median Test  เป็นต้น

 

การเลือกใช้สถิติที่เหมาะสมกับการวิจัย

    ศิริชัย  กาญจนวาสี, ทวีวัฒน์  ปิตยานนท์ และ ดิเรก  ศรีสุโข(2551, หน้า 140) กล่าวถึง ปัญหาของการเลือกใช้สถิติสำหรับการวิจัย คือ ขาดความสอดคล้องระหว่างเป้าหมายของการวิจัย และเป้าหมายของการวิเคราะห์ของสถิติที่เลือกใช้ รวมทั้งแปลผลการวิเคราะห์การวิเคราะห์ไม่ถูกต้อง ผลการวิจัยจึงไม่ตอบสนองต่อคำถามวิจัย

การตัดสินใจใช้สถิติได้อย่างเหมาะสมสำหรับการวิจัย

1) ผู้วิจัยต้องทราบเป้าหมายและจุดมุ่งหมายของการวิจัยอย่างชัดเจน

2) มีความเข้าใจเกี่ยวกับประชากรและกลุ่มตัวอย่าง  และ

3) รู้จักธรรมชาติและลักษณะของตัวแปรของการวิจัยทุกตัวแล้ว ผู้วิจัยสามารถตัดสินใจเลือกใช้สถิติสำหรับวิเคราะห์ข้อมูล ตามลักษณะ “เป้าหมายของการวิเคราะห์”

    อรุณี  อ่อนสวัสดิ์(2551. หน้า 175) กล่าว่า การเลือกใช้สถิติกลุ่มใดให้พิจารณาจากคำถามวิจัย ระดับการวัด ขนาดกลุ่มตัวอย่าง และลักษณะการแจกแจงคะแนนเป็นหลัก

    นงลักษณ์ วิรัชชัย(2552, หน้า 1,11) กล่าวไว้ว่า สถิติเป็นหัวใจสำคัญของการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ดังนั้น  สถิติจึงมีบทบาทสำคัญในการวิจัยเชิงปริมาณที่จะช่วยให้นักวิจัยอธิบายปรากฏการณ์ได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์  การเลือกใช้สถิติมีสิ่งหนึ่งที่เป็นเงื่อนไขซึ่งนักวิจัยต้องพิจารณาประกอบการตัดสินใจ ดังนี้

  1. ปัญหาวิจัย และจุดมุ่งหมายการวิจัย ลักษณะปัญหาวิจัยและจุดมุ่งหมายการวิจัยเป็นตัวชี้นำว่านักวิจัยควรจะเลือกใช้สถิติกลุ่มใด  เช่น ถ้าปัญหาวิจัยเป็นเรื่องการศึกษาความสัมพันธ์ สถิติที่จะเลือกใช้ได้จะเป็นคนกับกลุ่มปัญหาวิจัยที่เป็นเรื่องการเปรียบเทียบ เป็นต้น
  2. กรอบความคิดในการวิจัย หรือโมเดลแสดงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรตามทฤษฎี กรอบความคิดการวิจัยเป็นตัวกำหนดประเภทของสถิติที่จะใช้วิเคราะห์ที่สำคัญตัวหนึ่ง เช่น กรอบความคิดในการวิจัยที่ประกอบด้วยตัวแปรตามหลายตัว  บ่งชี้ว่าควรต้องใช้สถิติวิเคราะห์
  3. ลักษณะกลุ่มประชากร ข้อกำหนดเกี่ยวกับกลุ่มประชากร เป็นตัวบ่งชี้ว่านักวิจัยควรเลือกใช้สถิติกลุ่มใด ระหว่างสถิติพาราเมตริกและสถิตินันพาราเมตริค  นอกจากนี้ การทราบลักษณะของกลุ่มประชากร ยังช่วยให้นักวิจัยตัดสินใจเลือกใช้สถิติได้เหมาะสมอีกด้วย เพราะสถิติบางตัว ที่มีหลายแบบ แต่ละแบบมีข้อกำหนดเกี่ยวกับลักษณะประชากรแตกต่างกัน
  4. จำนวนและขนาดของกลุ่มตัวอย่าง
  5. จำนวนตัวแปร และระดับการวัดของตัวแปร
  6. ข้อตกลงเบื้องต้น(basic  assumptions)ของสถิติแต่ละตัวที่เลือกใช้

    เงื่อนไขทั้ง 6 ประการที่กล่าวมาข้างต้น เป็นสิ่งที่นักวิจัยต้องพิจารณาก่อนตัดสินใจ โดยปกติแล้วนักวิจัยอาจเลือกสถิติได้หลายวิธีภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว ในกรณีเช่นนี้ นักวิจัยควรพิจารณาเลือกวิธีที่ให้ผลการวิเคราะห์ถูกต้อง มีอำนาจในการทดสอบ(power)สูง และเป็นสถิติที่ง่าย

 

เอกสารอ้างอิง

นงลักษณ์  วิรัชชัย. (2552).  “ความสัมพันธ์ระหว่างสถิติกับการวิจัย”. สักทอง : วารสารการวิจัย. ปีที่15 ฉบับที่ 1/2552 มกราคม-มิถุนายน 2552. หน้า 1-13.

ศิริชัย  กาญจนวาสี, ทวีวัฒน์  ปิตยานนท์ และ ดิเรก  ศรีสุโข (2551). การเลือกใช้สถิติที่เหมาะสมสำหรับการวิจัย. (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

อรุณี  อ่อนสวัสดิ์. (2551). ระเบียบวิธีวิจัย.(พิมพ์ครั้งที่ 3) พิษณุโลก : ภาควิชาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร.

หมายเลขบันทึก: 399515เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2010 17:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 16:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท