Bretton Woods System : อีกหนึ่งบทเรียนของระบบทุนนิยม


จากบทเรียนดังกล่าว จะเห็นได้ว่า แม้ประเทศที่มีอำนาจในขณะนั้น (สหรัฐอเมริกา) สามารถกุมความได้เปรียบในการเสนอแนะออกกฎ กติกา ในการจัดระเบียบทางการเงินระหว่างประเทศที่จ้องฉกฉวยผลประโยชน์จากเมนูนโยบายทางเศรษฐกิจดังกล่าวจากประเทศสมาชิกอยู่เนือง ๆ แต่ถ้าหากว่ามีการละเมิด หลักการของกติกา ในการกำหนดค่าเสมอภาคดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เฉกเช่นสหรัฐอเมริกาที่ดำเนินนโยบายการเงินและการคลังแบบขยายตัว

            “ระบบเบรตตันวูดส์”  Bretton Woods System  ถือกำเนิดเกิดขึ้นในพิภพโลกเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๔๔ (พ.ศ. ๒๔๘๗) โดยในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ ในการประชุมนานาชาติว่าด้วยการจัดระเบียบการเงินระหว่างประเทศ ณ เมืองเบรตตันวูดส์ มลรัฐนิวแฮมป์เชียร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอของ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) นักเศรษฐศาสตร์นามอุโฆษ ผู้แทนจากประเทศอังกฤษ และข้อเสนอของแฮร์รี่ ไวท์ (Harry D. White) ผู้แทนจากสหรัฐอเมริกา ท้ายที่สุดที่ประชุมก็มีมติยอมรับข้อเสนอหลักของแฮร์รี่ ไวท์ โดยที่มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดในบางประเด็น และให้มีการกำเนิด

 

                     -  กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ดูแลให้การเงินระหว่างประเทศมีเสถียรภาพ

 

                    -  ธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและวิวัฒนาการ (International Bank for Reconstruction and Development) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “ธนาคารโลก” (World Bank) จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ในการจัดสรรทรัพยากรทางการเงินในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ประเทศสมาชิก โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มประเทศโลกที่สาม (กำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา) เป็นหลัก

 

        กรอบกติกาการเงินระหว่างประเทศ

        ในการกำหนดกรอบกติกาทางการเงินระหว่างประเทศ Bretton Woods System   ได้เลือกใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ (Fixed Exchange Rate System) เป็นเครื่องมือและกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งโดยหลักการคือ ประเทศสมาชิก (ยกเว้นสหรัฐอเมริกา) จะต้องกำหนดค่าเสมอภาค (par value) เงินตราประเทศของตนเองเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สรอ. โดยที่เงินดอลลาร์สรอ. กำหนดค่าเสมอภาคเทียบกับทองคำบริสุทธิ์ในอัตรา ๓๕ เหรียญต่อทองคำบริสุทธิ์น้ำหนัก ๑ ออนซ์ เปรียบเสมือน เงินตราสกุลต่าง ๆ ของประเทศสมาชิก จึงมีค่าเสมอภาคเทียบกับทองคำบริสุทธิ์ด้วย โดยที่มีกรอบกติกาเงื่อนไขที่สำคัญ คือ

 

               ประการที่ ๑ ธนาคารกลางของประเทศสมาชิกจะต้องดำเนินการซื้อ – ขาย เงินตราต่างประเทศเพื่อไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวขึ้น- ลงเกินกว่าร้อยละ ๑ ของค่าเสมอภาค (เช่น หากค่าเสมอภาคอยู่ที่ ๒๕ บาท ต่อดอลลาร์สรอ. ให้เคลื่อนไหวได้อยู่ในกรอบ ๒๔.๗๕ – ๒๕.๒๕ บาทต่อดอลลาร์สรอ. เป็นต้น) หากเกิดปัญหาดุลยภาพภายนอกจนไม่อาจรักษาไว้ซึ่งค่าเสมอภาคตามที่กำหนดไว้ได้ ประเทศสมาชิกจะต้องพิจารณาเปลี่ยนแปลงค่าเสมอภาคของอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศตนเองใหม่ ภายใต้กรอบกติกาทางการเงินระหว่างประเทศดังกล่าวนี้

 

               ประการที่ ๒ สหรัฐอเมริกาไม่มีพันธะที่จะต้องเข้าไปทำการ ซื้อ – ขาย เงินตราเพื่อรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน โดยภาระในเรื่องดังกล่าวตกเป็นหน้าที่ของประเทศสมาชิกอื่น ๆ เนื่องจากเงินดอลลาร์สรอ. ถูกยึดถือเป็นเงินตราสกุลหลักภายใต้กรอบระเบียบใหม่ของการเงินระหว่างประเทศนี้

 

              ประการที่ ๓ รัฐบาลสหรัฐอเมริกายินยอมที่จะรับแลกเงินดอลลาร์สรอ. กับทองคำ (gold convertibility) อย่างไม่จำกัดจำนวน โดยการรับแลกเงินดอลลาร์สรอ.กับทองคำดังกล่าวนี้นั้น เป็นมาตรการสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับเงินดอลลาร์สรอ. ในฐานะที่เป็นเงินตราสกุลหลักของโลก

 

        กรอบกติกาการเงินระหว่างประเทศดังกล่าวนั้นสามารถพิจารณาได้ คือ

              กรณีที่ ๑ ในกลุ่มประเทศที่ไม่ได้เป็นเจ้าของเงินตราสกุลหลัก การที่ต้องมีภาระหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวให้อยู่ในระดับค่าเสมอภาคไว้ (เคลื่อนไหวขึ้น – ลง ไม่เกินร้อยละ ๑ ของค่าเสมอภาค) ย่อมสร้างขีดจำกัดในการดำเนินเมนูนโยบายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจมหภาคด้านอื่น ๆ

 

             กรณีที่ ๒ ประเทศที่เป็นเจ้าของเงินตราสกุลหลักของโลก ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่โดยการกำหนดค่าเสมอภาคก็สร้างปัญหาพื้นฐานในการดำเนินนโยบายดังที่เรียกกันในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ว่า “ปัญหาของประเทศที่ n” (The n – th Country Problem) กล่าวคือ หากประเทศเจ้าของเงินตราสกุลหลักมีดุลการชำระเงินระหว่างประเทศเกินดุลติดต่อกันหลาย ๆ ปี ระบบทุนนิยมโลกก็จะต้องประสบกับปัญหาสภาพคล่องระหว่างประเทศ (International liquidity) แต่ถ้าหากประเทศเจ้าของเงินตราสกุลหลักมีดุลการชำระเงินระหว่างประเทศขาดดุลติดต่อกันหลาย ๆ ปี ปริมาณเงินดอลลาร์สรอ. ที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศก็จะมีมากขึ้น ถึงแม้ว่าปัญหาสภาพคล่องของระหว่างประเทศจะหมดไป แต่ปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นก็คือ ความเชื่อมั่นในค่าของเงินตราสกุลหลักอาจสั่นคลอนและหมดความน่าเชื่อถือ

 

        การล่มสลายของ Bretton Woods System

         ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว หากประเทศเจ้าของเงินตราสกุลหลักมีดุลการชำระเงินระหว่างประเทศขาดดุลติดต่อกันนาน ๆ ปริมาณเงินดอลลาร์สรอ. ในระบบการเงินระหว่างประเทศก็จะมีมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นที่มีต่อดอลลาร์สรอ. โดยสถานการณ์ดังกล่าวเริ่มปรากฏชัดเจนเมื่อ รัฐบาลประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี และ ประธานาธิบดีลินดอน จอห์นสัน แห่งสหรัฐอเมริกา ได้เลือกดำเนินนโยบายการเงิน – การคลัง แบบขยายตัว (Expansionary Policy) อย่างต่อเนื่อง กอปรกับการใช้จ่ายอย่างมือเติบของสหรัฐอเมริกาในสงครามเวียดนาม ยิ่งทำให้ดุลการชำระเงินระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกาขาดดุลอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นผลมาจาก

 

                 ประการที่ ๑ การดำเนินเมนูนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเองดังที่กล่าวมาแล้ว

 

                 ประการที่ ๒ ฐานะการแข่งขันของสหรัฐอเมริกาในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกได้อ่อนแอลงไปเป็นอย่างมากในทศวรรษ ๑๙๖๗ เนื่องมาจาก ประเทศญี่ปุ่นและประชาคมเศรษฐกิจยุโรปเติบโตขึ้นมาเป็นศูนย์กลางอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกดังกล่าวมีส่วนซ้ำเติมปัญหาและความศรัทราเชื่อมั่นในค่าเงินดอลลาร์สรอ.อ่อนแอลง

 

              ผลที่ตามมาจากสถานการณ์ดังกล่าวคือ รัฐบาลหลายต่อหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลประธานาธิบดีเดอโกล แห่งฝรั่งเศส นำเงินดอลลาร์สรอ.ไปแลกกลับเป็นทองคำบริสุทธิ์จากรัฐบาลของสหรัฐอเมริกา ซึ่งในกรณีดังกล่าวนี้เงินดอลลาร์สรอ.ย่อมมีค่าลดลงเมื่อเทียบกับทองคำบริสุทธิ์ แต่รัฐบาลของสหรัฐอเมริกาไม่ยินยอมลดค่าเงินของตนเองลง เพราะเหตุผลหลัก ไม่ต้องการให้สหภาพโซเวียต (ในขณะนั้น) และสหภาพแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นผู้ส่งออกทองคำหลักได้รับผลประโยชน์เต็ม ๆ จากการลดค่าเงินดอลลาร์สรอ.

               รัฐบาลสหรัฐอเมริกาหาทางออกโดยการใช้ระบบราคาทองคำสองราคา (two-tier gold price system) เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๖๘ โดยมีทั้งราคาทางการและราคาตลาด โดยที่การซื้อขายแลกเปลี่ยนทองคำระหว่างรัฐบาลให้ยึดราคา ๓๕ ดอลลาร์สรอ. ต่อทองคำบริสุทธิ์น้ำหนัก ๑ ออนซ์ ส่วนราคาในท้องตลาดปล่อยให้เป็นไปตามสภาวะอุปสงค์ – อุปทาน แต่ท้ายที่สุดระบบราคาทองคำสองราคาดังกล่าวไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาพื้นฐานที่แท้จริงได้ เนื่องจาก ดุลการชำระเงินระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกายังคงขาดดุลอย่างต่อเนื่อง มีผลทำให้เงินดอลลาร์สรอ. มีราคาตกต่ำลงเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับทองคำบริสุทธิ์ แม้ว่ารัฐบาลของสหรัฐอเมริกาจะพยายามต่อรองไม่ให้ประเทศสมาชิกนำเงินดอลลาร์สรอ.มาแลกเป็นทองคำบริสุทธิ์ แต่ก็ไม่สามารถยับยั้งได้ ในที่สุดประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ได้ประกาศยกเลิกการรับแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สรอ.กับทองคำบริสุทธิ์เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๗๑ ระบบเบรตตันวูดส์จึงถึงกาลอวสานลง ณ บัดนั้น

 

            จากบทเรียนดังกล่าว จะเห็นได้ว่า แม้ประเทศที่มีอำนาจในขณะนั้น (สหรัฐอเมริกา) สามารถกุมความได้เปรียบในการเสนอแนะออกกฎ กติกา ในการจัดระเบียบทางการเงินระหว่างประเทศที่จ้องฉกฉวยผลประโยชน์จากเมนูนโยบายทางเศรษฐกิจดังกล่าวจากประเทศสมาชิกอยู่เนือง ๆ แต่ถ้าหากว่ามีการละเมิด  หลักการของกติกา ในการกำหนดค่าเสมอภาคดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เฉกเช่นสหรัฐอเมริกาที่ดำเนินนโยบายการเงินและการคลังแบบขยายตัว ซึ่งการดำเนินนโยบายดังกล่าวอาจส่งผลดีในระยะสั้นต่อสหรัฐอเมริกาในฐานะการเป็นประเทศผู้บริโภคทรัพยากรจากประเทศอื่น ๆ โดยอาศัยตราประทับรับรองของเงินสกุลดอลลาร์สรอ. เป็นหลักประกัน แต่ผลในระยะยาวที่ตามมาก็คือ การรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนที่เงินสกุลดอลลาร์สรอ. เป็นเงินสกุลหลักยิ่งทวีความรุนแรงของปัญหามากขึ้น เนื่องจาก การดำเนินเมนูนโยบายทางเศรษฐกิจดังกล่าว นอกจากจะทำให้ปริมาณเงินดอลลาร์สรอ. ที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นแล้ว ยังส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกด้วย ในท้ายที่สุด เมื่อความเชื่อมั่นที่มีต่อเงินสกุลดอลลาร์สรอ. สั่นคลอน ประเทศอุตสาหกรรมหลายต่อหลายประเทศจึงละทิ้งระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือและกลไกที่สำคัญของการจัดระเบียบการเงินระหว่างประเทศในขณะนั้น นำมาซึ่งการล่มสลายของ Bretton Woods System ภายหลังการก่อเกิดมาได้กว่าสองทศวรรษ  

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #bretton woods system
หมายเลขบันทึก: 399505เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2010 17:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 09:57 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท