นับหนึ่งพิสูจน์ฝีมือ “ปลัดคลัง”


ภารกิจสำคัญของผู้บริหารกระทรวงการคลังในระยะจากนี้ไป คือ การทำให้งบประมาณเข้าสู่จุดสมดุลภายในปี 2561 หลังจากที่รัฐบาลต้องกู้ยืมเงิน เพื่อนำมาฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทำให้การจัดทำงบประมาณเป็นไปในลักษณะขาดดุลอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดปัญหาหนี้สาธารณะ หากงบที่นำไปใช้ฟื้นฟูไม่สามารถแปลงกลับมาเป็นรายได้รัฐบาลได้อย่างสมดุล ระยะเวลากว่า 8 ปี ดูเหมือนจะมีเวลาในการเตรียมตัว สำหรับการทยอยปรับโครงสร้างงบประมาณ แต่ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ความไม่มีเสถียรภาพของการเมืองในประเทศ ถือเป็นอุปสรรคที่ท้าทายความสามารถของทีมผู้บริหารกระทรวงการคลัง ซึ่งมีหน้าที่ดูแลเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ

งานหินครั้งนี้ จะได้รับการพิสูจน์ฝีมือโดยหัวหอกคนสำคัญ คือ ปลัดกระทรวงการคลัง ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ผู้ซึ่งไม่เคยผ่านงานด้านเศรษฐกิจมหภาคมาก่อน ซึ่งเขากับผู้บริหารอีกหลายตำแหน่งได้รับการโปรโมทตำแหน่งใหม่ในกระทรวงการคลัง จะเข้าเริ่มงานในวันศุกร์ที่ 1 ตุลาคมที่จะถึงนี้

ทั้งนี้ ในรอบ 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้าหมายจำนวน3.2 แสนล้านบาท หรือ 25.3% แม้ว่า ในจำนวนนี้ จะเป็นรายได้พิเศษที่เก็บได้จากการยึดทรัพย์และเงินส่งคืนของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการรวมกว่า 5.8 หมื่นล้านบาท แต่ถือว่า ยังเป็นรายได้ที่จัดเก็บได้สูงเกินเป้าหมายกว่าในรอบหลายปีที่ผ่านมา แต่อย่าลืมว่า การตั้งเป้าหมายรายได้ในปีงบประมาณ 2553 นั้น เป็นเป้าหมายตามสมมติฐานที่ว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะขยายตัวในอัตราชะลอลง ทำให้ตัวเลขเป้าหมายการจัดเก็บอยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าปกติ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เศรษฐกิจสามารถกลับมาพลิกฟื้นได้ ทำให้รายได้จริงเกินกว่าเป้าหมายอยู่มาก

ปัญหา คือ เราจะสามารถจัดเก็บรายได้เกินกว่าเป้าหมายในระดับนี้ต่อไปได้หรือไม่ ทั้งนี้ หากเป็นไปตามคาดการณ์แล้วเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวอย่างผิดปกติที่ระดับ 7.5% ขณะที่ ปีหน้า การเติบโตของเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หรือ ราว 4.5% ฉะนั้น เป้าหมายรายได้ก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และนั่นคือ ด่านแรกของการพิสูจน์งานด้านจัดเก็บ

ส่วนงานด้านรายจ่าย แน่นอนว่า รายจ่ายประจำได้กินสัดส่วนงบประมาณไปกว่า 80% ของงบประมาณทั้งหมด แถมยังมีอัตราการเติบโตตามโครงสร้างของส่วนราชการ การปรับขึ้นเงินเดือน และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ซึ่งงบประมาณส่วนนี้ จะไปลดทอนงบประมาณส่วนอื่น โดยเฉพาะงบประมาณลงทุน ซึ่งเป็นตัวสำคัญในการสร้างรายได้ถาวรให้กับประเทศ

การบริหารจัดการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการใช้จ่าย และการลดค่าใช้จ่ายส่วนเกิน เพื่อให้รัฐบาลมีเงินเหลือในกระเป๋า เพื่อนำไปลงทุน หรือชดเชยรายได้ที่อาจจะเก็บได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จึงถือเป็นงานอีกด้านที่ต้องทำควบคู่กัน

ในหลักการแล้ว ก็ไม่น่าจะไม่ยาก เพียงแค่บริหารจัดการให้รายจ่ายเท่ากันกับรายได้ เงินในกระเป๋าก็จะพอดี ไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินชาวบ้าน หากได้รับความร่วมมือและความจริงใจต่อการบริหารประเทศจากระดับนโยบาย 

กรุงเทพธุรกิจ (คอลัมน์จับกระแส)  29  ก.ย. 53

หมายเลขบันทึก: 399429เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2010 14:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท