อัลเบิร์ต ไอน์สตน์ : อีกด้านของอัจฉริยะวิวาทะว่าด้วยเศรษฐกิจ & การเมือง


การแก้ปัญหาผ่านกระบวนการทางด้านตรรกะตัวเลขนั้นเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและมีการสร้างเครื่องมือต่าง ๆ ขึ้นมาแก้ไขซึ่งในท้ายที่สุดเครื่องมือเหล่านั้นก็จะกลับมาเป็นต้นเหตุของปัญหาต่อไปอีก เป็นวัฏจักรไปเรื่อย ๆ

          อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein, ค.ศ. ๑๘๗๙-๑๙๕๕) นักฟิสิกส์ชื่อดังนามอุโฆษ เกิดเมื่อ ๑๔ มีนาคม ๑๘๗๙ บิดาของไอน์สไตน์เป็นชาวยิว มีการกล่าวกันว่าจุดเริ่มต้นที่ทำให้ไอน์สไตน์สนใจวิทยาศาสตร์อย่างมากคือเข็มทิศ ในขณะนั้นเขามีอายุได้ ๕ ปี และกำลังนอนป่วยอยู่บนเตียง บิดาได้นำเข็มทิศมาให้เล่น เขาใส่ใจและสนใจอยากรู้ว่าทำไมเข็มทิศจึงชี้ไปที่ทิศเหนือ และตั้งแต่นั้นมาเขาก็เริ่มสนใจทางด้านคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ และถือได้ว่าเป็นนักคณิตศาสตร์และนักฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด เจ้าของทฤษฎีที่มีชื่อเสียงคือ ทฤษฎีสัมพัทธภาพ (Theory of Relativity) พร้อมทั้งได้วางรากฐานวิชากลศาสตร์ควอนตัม (Quantum Mechanics) ในศตวรรษที่ ๒๐ ด้วย โดยชี้ให้เห็นว่ากฎธรรมชาติสามารถค้นพบได้โดยความคิดในทางคณิตศาสตร์ที่ง่าย เนื่องจากหลักความคิดในการสร้างสรรค์มีอยู่แล้วในวิชาคณิตศาสตร์ หลังจากนั้นการศึกษาปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงจะนำมาประเมินประโยชน์ทางกายภาพที่สร้างขึ้นด้วยความสัมพันธ์ทางคณิตศาสตร์ ซึ่งเท่ากับเป็นการตอกย้ำวิธีการทางวิทยาศาสตร์แบบนิวตัน ในขณะที่นิวตันเริ่มจากการศึกษาการโคจรของดวงจันทร์และดาวเคราะห์ ก้าวไปสู่การทำงานของระบบสุริยจักรวาล นักฟิสิกส์ในต้นศตวรรษที่ ๒๐ ศึกษาอิเล็กตรอน (electrons) โปรตอน (protons) และพาร์ติเคิลเบื้องต้นต่าง ๆ (elementary particles) เพื่อสร้างความรู้ให้ก้าวหน้าต่อไปจากที่มีอยู่เดิม ทำให้ในทางเศรษฐศาสตร์มีความพยายามมีความพยายามที่จะกลับมาศึกษาพฤติกรรมรายบุคคลของปัจเจกชนในสังคม หลังจากนั้นก็พยายามวิเคราะห์ผลที่ตามมาในลักษณะสะสม จนสามารถหวังที่จะพัฒนาความรู้ให้โดดเด่นเช่นเดียวกับวิชาฟิสิกส์

   

           ไอน์สไตน์นอกจากจะเป็นอัจฉริยะทางด้านวิทยาศาสตร์แล้ว ยังมีบทบาทที่สำคัญในการเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นอย่างมาก เป็นผู้นำในการต่อต้านลัทธินาซีของฮิตเลอร์ในต้นทศวรรษที่ ๑๙๓๐ เนื่องใจไอน์สไตน์ไม่ชอบสงครามและต่อต้านรัฐทหารของนาซี โดยเขาและซีลาร์ดเป็นผู้นำในการทำหนังสือเรียกร้องให้ประธานาธิบดีโรสเวลต์ เสนอแนะให้สหรัฐอเมริกาพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ก่อนที่จะปล่อยให้นาซีทำสำเร็จ ซึ่งเป็นที่มาของโครงการพัฒนานิวเคลียร์ที่เรียกว่า โครงการแมนฮัตตัน (Manhattan Project) แต่ไอน์สไตน์กลับถูกกีดกันจากสหรัฐอเมริกาไม่ให้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในคณะทำงานในโครงการแมนฮัตตัน เนื่องถูกมองว่าโครงการดังกล่าวเป็นความลับสุดยอดและกลัวความลับจะตกไปอยู่ในมือของรัสเซียซึ่งเป็นมหาอำนาจเหมือนกัน (เจ้าหน้าที่ FBI นาย ฮูเวอร์พยายามตามล้างตามเช็ดไอน์สไตน์ในข้อหาฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิตส์ของรัสเซีย โดยพยายามเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างไอน์สไตน์กับองค์กรที่เคลื่อนไหวทางการเมือง เนื่องจากว่าในช่วงลัทธินาซีขยายอิทธิพลในยุโรปโดยการฆ่าชาวรัสเซียไปเป็นจำนวนมากและไอน์สไตน์ออกมาสนับสนุนและเรียกร้องให้รัสเซียโค่นล้มระบอบนาซี) นอกจากนั้นแล้วไอน์สไตน์ยังต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิมนุษยชนในเรื่องการเหยียดสีผิวในสหรัฐอเมริกาอีกด้วย ในด้านอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจเขารับข้อเสนอของแม็กกาซีนสังคมนิยมที่ออกใหม่ด้วยการให้ความเห็นต่อสาธารณชนในประเด็นเกี่ยวกับความล้มเหลวของลัทธิทุนนิยม ใช้หัวข้อเรื่องว่า “ทำไมต้องลัทธิทุนนิยม” ปรากฏใน Monthly Review ฉบับแรก (เดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๙) ข้อความบางส่วนว่า

 

           "...ในความเห็นของผม เศรษฐกิจแบบอนาธิปไตยในสังคมทุนนิยมที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เป็นที่มาของความเลวร้ายอย่างแท้จริง เงินอยู่ในกำมือคนไม่กี่คน บริษัทเงินทุนหรือสถาบันการเงินมีอำนาจมหาศาลโดยที่สังคมการเมืองประชาธิปไตยไม่สามารถตรวจสอบได้ เพราะสมาชิกขององค์กรฝ่ายนิติบัญญัติส่วนใหญ่ที่พรรคการเมืองเลือก ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินหรืออิทธิพลจากธนาคารหรือสถาบันการเงิน ผลก็คือ ตัวแทนของประชาชนไม่สามารถปกป้องผลประโยชน์ของผู้ด้อยโอกาสได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้สถาบันการเงินที่มุ่งทำเงินอย่างเดียวยังควบคุมแหล่งข้อมูลข่าวสารหลัก (หนังสือพิมพ์ วิทยุ การศึกษา) ทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงเป็นเรื่องยากและมักเป็นไปไม่ได้ที่ปัจเจกชนจะบรรลุเป้าประสงค์หรือใช้สิทธิทางการเมืองให้เป็นประโยชน์ ความบอบช้ำของปัจเจกชนเป็นความเลวร้ายสุด ๆ ของลัทธิทุนนิยม ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบการศึกษาของเรา นักศึกษาถูกอบรมให้ชิงความได้เปรียบและบูชาความสำเร็จในการศึกษาเพื่ออาชีพการงานในอนาคต ผมเชื่อว่าทางเดียวที่จะกำจัดสิ่งชั่วร้ายเหล่านี้ได้ก็ด้วยระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม และระบบการศึกษาที่นำสังคมไปสู่เป้าหมายแผนเศรษฐกิจจะต้องกระจายงานอย่างทั่วถึงตามความรู้ความสามารถ เพื่อเป็นหลักประกันการดำรงชีวิตของมนุษย์ทุกคนทั้งชาย หญิง และ เด็ก..." 

 

          โดยไอน์สไตน์ไม่ได้หวังให้บทความของเขากระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างรุนแรง แต่อาจจะเป็นเพราะในปี ค.ศ. ๑๙๔๙ สหรัฐอเมริกาเคลื่อนไปทางขวา เขาจึงคิดว่าควรให้สาธารณชนทราบความเห็นของเขา แต่เขาก็ไม่ได้ชอบระบบโซเวียต และก็ไม่ใช่สาวกของระบบการค้าเสรี ซึ่งบทความอีกชิ้นหนึ่ง “Why Socialism” ของเขาเผยให้เห็นมุมมองที่ว่า ลัทธิทุนนิยมเป็นภัยต่อสวัสดิการและสุขภาพของชนชั้นกรรมาชีพ

 

      "...ผมมองว่าความพิกลพิการของปัจเจกชนเป็นปีศาจชั่วช้าที่สุดของลัทธิทุนนิยม คนหนุ่มสาวได้รับการอบรมให้บูชาความสำเร็จว่าเป็นยอดปรารถนา ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมเท่านั้นสามารถกำจัดปีศาจตัวนี้ได้ ..."

     

         และอีกครั้งหนึ่งไอน์สไตน์เคยให้ทรรศนะกับปีเตอร์ บั๊กกี้ว่า ในทางทฤษฎี ลัทธิคอมมิวนิสต์ดีสำหรับคนธรรมดามากกว่า

 

         “ปรัชญาลัทธิคอมมิวนิสต์มีข้อดีอยู่มากทีเดียว มุ่งหยุดยั้งการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากคนทั่วไป แบ่งปันเครื่องอุปโภคบริโภคและแรงงานตามความจำเป็นและความสามารถ ลัทธิคอมมิวนิสต์ในฐานะทฤษฎีทางการเมือง เป็นการทดลองที่น่าพรั่นพรึง โชคร้ายที่ในรัสเซียทดลองกันในห้องปฏิบัติการ ซึ่งอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้อยู่ในสภาพที่แย่มาก”

             

         นักปราชญ์และนักคิดทางทางด้านสังคมศาสตร์ในศตวรรษที่ ๒๐ ต่างก็หันมาใช้คณิตศาสตร์และวิธีการวิเคราะห์ในลักษณะที่เป็นนามธรรมแบบอื่น ๆ มากขึ้น จนบางครั้งทำให้ลืมแก่นแท้ของศาสตร์ดั้งเดิมที่ควรจะเป็น เพราะที่จริงแล้วแกนกลางของเศรษฐศาสตร์เป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์และมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมโดยมีตัวเชื่อมความสัมพันธ์คือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ (การผลิต(production), การแลกเปลี่ยน(exchange), การบริโภค(consumption), การกระจายผลผลิต (product distribution) และการกระจายรายได้ (income distribution)) ซึ่งกิจกรรมความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นพฤติกรรมทางสังคมศาสตร์ ซึ่งความสัมพันธ์บางอย่างไม่สามารถคำนวณออกมาเป็นตรรกะทางด้านตัวเลขได้ ทำให้บางครั้งรูปแบบความสัมพันธ์บางอย่างมีมุมมองเพียงอย่างเดียวไม่ครอบคลุมถึงทุกส่วน ซึ่งเป็นผลให้การแก้ปัญหาทางเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบันเป็นการแก้ปัญหาทางตรรกะมิติทางวิทยาศาสตร์ (ตัวเลข) มากกว่าการแก้ที่รากเหง้าของปัญหาทางสังคม

        

         ซึ่งผลที่ได้จากการแก้ปัญหาผ่านกระบวนการทางด้านตรรกะตัวเลขนั้นเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและมีการสร้างเครื่องมือต่าง ๆ ขึ้นมาแก้ไขซึ่งในท้ายที่สุดเครื่องมือเหล่านั้นก็จะกลับมาเป็นต้นเหตุของปัญหาต่อไปอีก เป็นวัฏจักรไปเรื่อย ๆ ที่เป็นอย่างนั้นก็เนื่องจากว่าในเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่มุ่งเน้นวิธีคิดเป็นเชิงวิทยาศาสตร์มากเกินไป ซึ่งความสัมพันธ์และพฤติกรรมบางอย่างของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมหล่นหายไป ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่มองข้าม (อาจจะด้วยความจงใจ) เนื่องจากว่าไม่สามารถหาโมเดลมารองรับความสัมพันธ์ได้ชัดเจนเหมือนความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์กับมนุษย์ที่มีผลประโยชน์เป็นตัวเชื่อมและคำนวณออกมาเป็นฟังก์ชั่นต้นทุน กำไร (ขาดทุน) ได้ชัดเจนกว่า ซึ่งแท้ที่จริงแล้วสิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงผลพลอยได้ (ผลประโยชน์) ของมนุษย์ ที่มาจากกิจกรรมที่มนุษย์ไปสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม (แต่ไม่มีโมเดลทางคณิตศาสตร์มารองรับ) ทำให้มนุษย์ไม่ได้มองถึงต้นทุนที่สำคัญทางสิ่งแวดล้อมที่สูญเสียไป ซึ่งถือได้ว่าเป็นต้นเหตุของวิกฤติทางเศรษฐกิจและสังคมในรูปแบบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 399035เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2010 10:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 21:01 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท