สมานฉันท์ : สินค้าจำเป็นที่แปรเปลี่ยนเป็นด้อยคุณภาพ


ถึงแม้ว่าสินค้า “สมานฉันท์” จะมีความจำเป็นและต้องการของสังคมเรื่อยมาจนถึงยุคปัจจุบัน แต่ถ้าหากผู้นำหรือผู้มีอำนาจมัวแต่ท่องคาถาและกอดคัมภีร์สมานฉันท์ดังกล่าวไว้ โดยไม่นำมาปฏิบัติให้เป็นจริงเป็นจัง หรือพูดอย่างทำอีกอย่าง ก็ยากยิ่งที่จะเกิดความสมานฉันท์ขึ้นได้ในสังคมไทย

             “สมานฉันท์” ได้กลายมาเป็นยาสามัญประจำบ้านที่ฮิตติดปากของผู้นำและผู้มีอำนาจมาโดยตลอดตั้งแต่ปลายยุคของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ว่าจะทำหรือพูดอะไรถ้าหากพ่วงท้ายด้วยคำว่า “สมานฉันท์” เป็นอันเรียกคะแนนได้อย่างมากจากคนส่วนใหญ่ ถึงแม้ว่า สมานฉันท์ จะได้รับการยกย่องและยอมรับจากหลาย ๆ ฝ่ายว่าเป็นตัวยาอันเอกอุที่จะเยียวยาและรักษาอาการเจ็บป่วยจากโรคของการเมืองและสังคมที่แตกแยกได้ แต่สิ่งที่สำคัญก็คือเราต้องเข้าใจถึง พฤติกรรมและเจตนา ของผู้ที่ใช้ตัวยาสมานฉันท์นี้ก่อนว่า จะสมานฉันท์อะไร สมานฉันท์อย่างไร และสมานฉันท์เพื่อใคร ดังมีบทเรียนที่เกิดขึ้นในยุคของ คมช. และรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เรื่อยมาจนถึงยุคของรัฐบาลในปัจจุบัน ที่ท่องคาถาร่ายมนต์ “สมานฉันท์” ประหนึ่งว่า เป็นตัวยาที่ทรงคุณภาพและจำเป็นของสังคมไทยแต่ในท้ายที่สุดจะด้วยเพราะปัจจัยเหตุที่ไม่ได้ตั้งใจหรือจงใจของรัฐบาลที่ผ่านมาและในปัจจุบันได้แปรเปลี่ยนสินค้าสมาฉันท์ที่จำเป็นของสังคมมาเป็นสินค้าที่ด้อยคุณภาพด้วยน้ำมือของตัวเอง

 

                   โดยปกติทั่วไปแล้วในสังคมที่เราดำรงอยู่นั้นมีความหลากหลายทั้งในด้านของกระบวนการการดำเนินชีวิต และกระบวนการทางความคิด ซึ่งความแตกต่างเหล่านี้ที่ดำรงอยู่ในสังคมจะไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในสังคมตราบใดที่ตัวเชื่อมของความสัมพันธ์ดังกล่าวคือ “ระดับของความสมานฉันท์และระดับของความรุนแรงในสังคม” อยู่ในระดับที่เหมาะสม หรือที่เรียกว่า “จุดดุลยภาพทางสังคม” นั่นเอง ซึ่งสามารถแสดงได้ดังภาพ ๑

 

ภาพ ๑ ดุลยภาพทั่วไปของสังคม

 

โดยที่

                S คือ อุปทานสำหรับความสมานฉันท์ หมายถึง ระดับของความสมานฉันท์ที่ผู้บริหาร (ผู้มีอำนาจ) ในสังคมพร้อมที่จะสร้างความสมานฉันท์ ณ ระดับความรุนแรงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม เป็นเส้นที่ทอดขึ้นจากซ้ายไปขวา แสดงถึง ความสัมพันธ์ของระดับความรุนแรงในสังคม และปริมาณความสมานฉันท์ในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ เมื่อระดับความรุนแรงในสังคมเพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลหรือผู้ที่มีอำนาจก็จะเพิ่มการผลิตความสมานฉันท์เพิ่มขึ้นเพื่อไปเยียวยาและรักษาระดับคุณแรงในสังคมให้ลดลง

               D คือ อุปสงค์สำหรับความสมานฉันท์ หมายถึง ระดับของความสมานฉันท์ที่คนในสังคมต้องการในระยะเวลาหนึ่ง ๆ ณ ระดับความรุนแรงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม เป็นเส้นที่ทอดลงจากซ้ายมาขวา แสดงถึง ความสัมพันธ์ของระดับความรุนแรงในสังคม และปริมาณความสมานฉันท์ในทิศทางตรงกันข้าม กล่าวคือ เมื่อระดับความรุนแรงในสังคมลดลง นั่นบ่งชี้ถึงคนในสังคมมีความสมานฉันท์กันมากขึ้น

              ระดับความรุนแรงในสังคม เป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั้งในระดับที่ต่ำ เช่น การแตกแยกกันทางความคิด (ความเห็นไม่ตรงกัน) ซึ่งเกิดขึ้นเป็นปกติอยู่แล้วในสังคมทั่วโลก จนไปถึงความรุนที่เกิดขึ้นในระดับสูง เช่น ความแตกแยกของคนทางสังคมในระดับที่เกิดการจลาจลหรือเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้นในสังคม เป็นต้น

              ระดับความสมานฉันท์ในสังคม เป็นความสมานฉันท์ที่ผู้บริหาร (ผู้มีอำนาจ) ในสังคมพยายามสร้างขึ้น เพื่อที่จะให้เกิดความสมดุลทางสังคมในมิติด้านต่าง ๆ โดยในความสมานฉันท์นั้นมีเครื่องมือและกลไกที่สร้างขึ้นทั้งจากมาตรการขั้นเด็ดขาด และมาตรการที่นิ่มนวล ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคม

 

           ภาพ ๒ ดุลยภาพทั่วไป อุปสงค์ส่วนเกินและอุปทานส่วนเกินของสังคม

 

             จากภาพ ๒   ณ ระดับจุดดุลยภาพที่ สังคมเกิดภาวะสมดุลที่ระดับความสมานฉันท์กับระดับความรุนแรงในสังคมมีความเหมาะสม คือ ทั้งระดับความสมานฉันท์และระดับความรุนแรงในสังคมมีความพอประมาณ สมเหตุสมผล สมดุลทุกมิติในด้านต่าง ๆ และมีภูมิคุ้มกันในตัวเอง ซึ่งที่ระดับดุลยภาพนี้ แม้ว่าจะมีความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมบ้าง แต่เป็นความรุนแรงที่อาจจะได้แก่ ความขัดแย้งกันในทางความคิดทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ เป็นต้น แต่ก็อยู่ในระดับที่พอประมาณและมีความสมานฉันท์ในสังคมเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ดังกล่าว ซึ่งภาวการณ์แบบนี้ถือว่าเป็นปกติทั่วไปของสังคมมนุษย์ทั่วโลก ซึ่งจะให้มีความคิดเห็นเหมือนกันทุกคนเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว จึงถือได้ว่าเป็นภาวะปกติของสังคม และเกิดความสมดุลที่ระดับความรุนแรงที่ 0ร0 และมีความสมานฉันท์เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ของสังคมที่ระดับ 0ส0 เกิดดุลภาพในสังคมที่จุด  

 

           กรณีที่ สมมติว่าเกิดความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในสังคมเกินกว่าระดับดุลยภาพ ซึ่งระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้นอยู่ที่ 0ร ทำให้ความสมานฉันท์ในสังคมลดลงมาอยู่ที่ระดับ 0ส โดยในภาวะความเป็นจริงในขณะนั้นผู้บริหาร (ผู้มีอำนาจ) ในสังคมต้องการผลิตความสมานฉันท์ออกมาสู่สังคมที่ระดับ 0ส ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ณ สังคมขณะนั้นก็คือ ความต้องการสมานฉันท์ของคนในสังคมอยู่น้อยกว่าระดับความสมานฉันท์ที่ผู้บริหาร (ผู้มีอำนาจ) ต้องการสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นตัวเชื่อมในสังคม ที่ระดับ การที่ความต้องการสมานฉันท์ของคนในสังคมอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าดุลยภาพเนื่องมาจาก การที่มีขบวนการบางอย่างของกลุ่มคนบางกลุ่มสร้างความรุนแรงให้เกิดขึ้นในสังคม ที่ระดับ เรียกได้ว่า เกิด อุปทานส่วนเกิน (excess supply) ของระดับปริมาณความสมานฉันท์ แสดงว่า ณ ระดับ 0ร นั้น ระดับความรุนแรงในสังคมมีมากเกินไป (เปรียบเสมือนในภาวะปัจจุบัน) ซึ่งทำให้ระดับการสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคมของผู้บริหาร (ผู้มีอำนาจ) เกิดส่วนเกินขึ้น เนื่องจากคนในสังคม ไม่ยอมรับในสินค้าประเภทสมานฉันท์ ของผู้บริหาร (ผู้มีอำนาจ) ที่ผลิตออกมา เพราะระดับความความรุนแรงในสังคมยังสูงเกินจุดดุลยภาพ ดังนั้น ผู้บริหาร (ผู้มีอำนาจ) ต้องลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมก่อน โดยการปราบปรามกลุ่มผู้ที่สร้างความรุนแรงในสังคมให้เห็นผลเป็นรูปธรรมเด็ดขาดและเอาจริงเอาจังโดยการจับกุมผู้อยู่เบื้องหลังและมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงมาลงโทษให้ได้ก่อน สังคมโดยส่วนรวมจึงจะเริ่มเชื่อมั่นและให้การอุดหนุนใน สินค้าสมานฉันท์ที่ผู้บริหาร (ผู้มีอำนาจ)ผลิตออกมาสู่สังคม  โดยเมื่อมีการเอาจริงเอาจังกับกลุ่มที่สร้างความรุนแรงในสังคมแล้ว เปรียบเสมือน ผู้บริหาร (ผู้มีอำนาจ) ลดความสมานฉันท์ส่วนเกินลงมาก่อนในระดับหนึ่งโดยใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดกับกลุ่มผู้สร้างความรุนแรง ระดับความรุนแรงก็จะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 0ร0 และเข้าสู่ดุลยภาพของสังคมอีกครั้งหนึ่ง

 

          กรณีที่ ๒ ในทาตรงข้ามกับกรณีที่ ๑ สมมติที่ระดับความรุนแรงของสังคมอยู่ต่ำกว่าจุดดุลยภาพที่ระดับ 0ร ทำให้ความสมานฉันท์ในสังคมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 0ส เกิด อุปสงค์ส่วนเกิน (excess demand) ที่ระดับ การที่ระดับความรุนแรงของสังคมอยู่ในระดับที่ต่ำและระดับความสมานฉันท์อยู่ในระดับที่สูง ถือได้ว่าเป็นภาวะที่ปรารถนาของทุกสังคมในโลก แต่ กรณีที่ระดับความรุนแรงของสังคมที่อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าดุลภาพดังที่อยู่ในระดับ 0ร นั้น หมายถึง ภาวะที่สังคมถูกครอบงำทางความคิดและจิตวิญญาณ โดยไม่มีสิทธิ์ เสรีภาพ (หรือมีก็อยู่ในระดับที่ต่ำ) ในทางความคิด ในทางการแสดงความเห็นทั้งในทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ เท่าที่ควร เนื่องจากว่า ถูกครอบงำจากผู้บริหาร (ผู้มีอำนาจ) เปรียบเสมือน ในยุคของระบอบทักษิณ เรืองอำนาจ ที่แม้กระทั่งรัฐสภาก็ถูกครอบงำด้วยเสียงข้างมาก ทำให้เกิดเผด็จการรัฐสภาภายใต้ยี่ห้อประชาธิปไตย และสร้างฐานอำนาจให้กับตัวเองและพวกพ้องอย่างมากมาย ซึ่งถึงแม้สังคมจะมีความรุนแรงอยู่ในระดับที่ต่ำ เนื่องจากผู้บริหาร (ผู้มีอำนาจ) ในระบอบทักษิณนั้น ได้ผลิตสินค้าคือ ความสมานฉันท์ประเภทประชานิยม เข้าสู่ระบบของสังคมเป็นจำนวนมาก จึงเปรียบเสมือนประหนึ่งว่าสร้างกันชนทางสังคมให้กับรัฐบาลตัวเอง เพื่อแสวงหาส่วนเกินทางเศรษฐกิจในรูปแบบต่าง ๆ โดยการคอรัปชั่นเชิงนโยบาย จึงผลักดันให้เกิดอุปสงค์ส่วนเกินของความสมานฉันท์ที่ระดับ เนื่องจากสังคมส่วนใหญ่ (รากหญ้า) ถูกครอบงำโดยสินค้าสมานฉันท์ประเภทประชานิยม ของรัฐบาล ดังนั้น เมื่อเกิดกรณีแบบนี้เกิดขึ้น คนในสังคมก็ต้องพยายาม สร้างความรุนแรงโดยการจุดประกายปัญญา ทางสังคมให้เกิดขึ้นในระดับที่ให้สังคมเข้าสู่จุดดุลยภาพอีกครั้ง โดยการสร้างความรุนแรงทางความคิดนั้น เป็นการนำเสนอมุมมองที่แตกต่าง กล้ายืนขึ้นสู้กับอำนาจที่ไม่เป็นธรรมของผู้บริหาร (ผู้มีอำนาจ) เปรียบเสมือนเป็นการไปลดปริมาณสินค้าสมานฉันท์ที่ฟุ่มเฟือยเฉกเช่นประชานิยมของผู้ผลิต (รัฐบาลทักษิณ) โดยชี้ให้เห็นถึงความเลวร้ายและการคอรัปชั่นของผู้บริหาร (ผู้มีอำนาจ) เฉกเช่น กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่นำโดยนายสนธิ ลิ้มทองกุลได้ลุกขึ้นมายืนสู้ (สร้างความรุนแรงทางความคิด) กับระบอบทักษิณ ที่สำคัญ กลุ่มที่สร้างความรุนแรงทางความคิดและกล้าวิพากษ์วิจารณ์ผู้บริหาร (ผู้มีอำนาจ) อย่างตรงไปตรงมา ต้องทำด้วยความสมเหตุสมผล และมีความเป็นธรรม จึงจะผลักดันกระบวนการดังกล่าวให้บรรลุผลได้ เปรียบเสมือนเป็นการสร้างความรุนแรงในระดับหนึ่งเพื่อไปลดความสมานฉันท์ ที่ถูกครอบงำทางการเมืองโดยผู้บริหาร(ผู้มีอำนาจ) ดังนั้น เมื่อสังคมส่วนหนึ่งถูกจุดประกายทางความคิดและปัญญาให้หลุดจากการครอบงำดังกล่าวแล้วก็จะทำให้ ความรุนแรงและความสมานฉันท์ของสังคมกลับเข้าสู่จุดดุลยภาพทางสังคมที่ควรจะเป็นที่จุด อีกครั้งหนึ่ง

 

 

                 ถ้าให้ 

                        ความสมานฉันท์ (สินค้า)      =     f (ความรุนแรงในสังคม)             ….. (๑)

             

             และ ความสมานฉันท์ขึ้นอยู่กับความแตกแยกในสังคม จะได้ว่า

 

                     ความสมานฉันท์                   =        f (ความแตกแยกในสังคม)        ….. (๒)

 

โดยที่

           การผลิตสินค้าสมานฉันท์ให้สังคมต้องใช้ทั้ง มาตรการที่รุนแรงและมาตรการนิ่มนวล จะได้

 

          ฟังก์ชั่นการผลิตความสมานฉันท์          =     f (มาตรการรุนแรง, มาตรการนิ่มนวล)   ….. (๓)

 

        โดยปกติของสังคมทั่วไป เมื่อพิจารณาในสมการที่ (๑) และ (๒) ความต้องการสินค้าสมานฉันท์ของคนในสังคม (demand) จะเพิ่มมากขึ้น เมื่อเกิดความแตกแยกทางสังคมมากยิ่งขึ้น  นั่นคือ ความสัมพันธ์ระหว่าง ความแตกแยกของสังคมมีทิศทางเดียวกันกับความต้องการสมานฉันท์ของคนในสังคม แต่ในภาวการณ์ตั้งแต่ยุคของคมช.เรื่อยมาจนถึงรัฐบาลในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าสถานการณ์ความแตกแยก (จากการสร้างความรุนแรง) ในสังคม มีมากขึ้น แต่ความต้องการสมานฉันท์ของคนในสังคมกลับเริ่มลดน้อยถอยลงไปทุกที เนื่องจาก ถูกมองว่า ภาครัฐบาลไม่เอาจริงเอาจังกับพวกคลื่นใต้น้ำ และกลุ่มคนที่ก่อให้เกิดความรุนแรงในสังคมรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการเผาสถานที่ราชการและการลอบวางระเบิดที่เกิดขึ้นใน กทม. แลจังหวัดในเขตปริมณฑล สร้างความเจ็บปวดให้กับคนในสังคมเป็นอย่างมาก ดังนั้น สินค้าสมานฉันท์ที่รัฐบาลรังสรรค์ขึ้นมา จึงเปรียบเสมือน สินค้าด้อยคุณภาพ (inferior goods) เนื่องจากประชาชนโดยส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้า (ความสมานฉันท์) ของรัฐบาลที่ผลิตออกมา

    

           หากรัฐบาลต้องการที่จะทำให้สินค้า (ความสมานฉันท์) ที่ผลิตออกมากลับกลายมาเป็น สินค้าที่มีคุณภาพและจำเป็น ของสังคมนั้นรัฐบาลต้องใช้ มาตรการขั้นเด็ดขาด กับกลุ่มที่สร้างความรุนแรงในสังคม ให้ประจักษ์และเป็นรูปธรรมเสียก่อน สังคมจึงจะยอมรับในสินค้า (ความสมานฉันท์) นั้น  เนื่องจากกลไกตลาด (มาตรการนุ่มนวล) ไม่สามารถปรับตัวให้สังคมกลับเข้ามาสู่ดุลยภาพได้

 

จากสมการ (๓) คือ

 

ผลผลิตสินค้า (ความสมานฉันท์)        =    f (มาตรการรุนแรงเด็ดขาด, มาตรการนิ่มนวล)

 

         จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น หากรัฐบาลต้องการให้สังคมเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการของความสมานฉันท์ที่แท้จริง รัฐบาลและหน่วยงานที่ตั้งขึ้นต้องมีความจริงใจในการเพิ่มปัจจัยการผลิต ทางด้านมาตรการรุนแรงและเด็ดขาด ในกระบวนการผลิตสินค้า (ความสมานฉันท์) เพื่อดำเนินการกับกลุ่มที่สร้างความรุนแรงในสังคมก่อน จึงจะสามารถสร้างสินค้า (ความสมานฉันท์) ที่มีคุณภาพและจำเป็นต่อสังคมได้

 

               ถึงแม้ว่าสินค้า “สมานฉันท์” จะมีความจำเป็นและต้องการของสังคมเรื่อยมาจนถึงยุคปัจจุบัน แต่ถ้าหากผู้นำหรือผู้มีอำนาจมัวแต่ท่องคาถาและกอดคัมภีร์สมานฉันท์ดังกล่าวไว้ โดยไม่นำมาปฏิบัติให้เป็นจริงเป็นจัง หรือพูดอย่างทำอีกอย่าง ก็ยากยิ่งที่จะเกิดความสมานฉันท์ขึ้นได้ในสังคมไทย  เราทุกคนต้องร่วมกันตรวจสอบถึง พฤติกรรมและเจตนาของผู้นำและผู้มีอำนาจว่า จะสมานฉันท์อะไร สมานฉันท์อย่างไร และสมานฉันท์เพื่อใคร และที่สำคัญที่สุดบนเงื่อนไขที่จำเป็นและพอเพียงของความสมานฉันท์นั้นเป็นการสมผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง แทน ผลประโยชน์ของคนในสังคมหรือไม่ ?

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 399029เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2010 09:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 18:25 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท