ทุกข์สำหรับเห็น สุขสำหรับเป็น


หลักความจริงของพระพุทธศาสนาที่มีทัศนคติในเรื่องทุกข์ ซึ่งสอนให้รู้เท่าทันความเป็นไปในทุกข์ตามจริงและอยู่กับมันอย่างมีสติ แต่ไม่ใช่ให้ฝังจมชีวิตติดกับดักอยู่ในกองทุกข์ หรือบิดเบือน กลบเกลื่อน ไม่มองความจริงแห่งทุกข์จนนำไปสู่ความประมาท

               ในสังคมปัจจุบันนั้น มีหลาย ๆ คนเข้าใจในพระพุทธศาสนาไปในทำนองที่ว่า มีทัศนคติมองชีวิตในเชิงติดลบ (ด้านลบ) หรือเป็นไปในลักษณะของการผูก (ขาด) ชีวิตติดไว้กับความทุกข์ แต่ความเป็นจริงในหัวใจหลักของพระพุทธศาสนาหรือแก่นแท้แล้ว สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย อริยสัจจ์นี้มี ๔ ประการ คือ “ทุกขัง อริยสัจจัง” คือ ความทุกข์เป็นสัจจะอันประเสริฐ นั่นย่อมแสดงถึงนัยที่ว่า 

 

                 ๑.  สอนให้ทุกคนตระหนักรู้ถึงความจริงแห่งทุกข์ 

                 ๒.  เมื่อตระหนักรู้ถึงความจริงแห่งทุกข์แล้ว ให้มองว่าความทุกข์เป็นความจริงอันประเสริฐ (ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย) 

                 ๓.  เมื่อมองความทุกข์เป็นความจริงอันประเสริฐ ทำให้เกิดทัศนคติที่ดี (ด้านบวก) ในการเรียนรู้เพื่อบริหารจัดการกับความทุกข์ ไม่ใช่ ให้ฝังจมอยู่กับกองของความทุกข์นั้น 

 

              นี่คือหลักความจริงของพระพุทธศาสนาที่มีทัศนคติในเรื่องทุกข์ ซึ่งสอนให้รู้เท่าทันความเป็นไปในทุกข์ตามจริงและอยู่กับมันอย่างมีสติ แต่ไม่ใช่ให้ฝังจมชีวิตติดกับดักอยู่ในกองทุกข์ หรือบิดเบือน กลบเกลื่อน ไม่มองความจริงแห่งทุกข์จนนำไปสู่ความประมาท รู้ไม่เท่าทันเมื่อถึงคราวถูกบีบคั้น บังคับ จนระงับปิดบังซ่อนเร้นความจริงแห่งทุกข์ไม่อยู่ เมื่อทุกข์เกิดสุกงอมระเบิดออกมาจนทำให้เกิดสุญญากาศทางสติ ควบคุมสติไม่อยู่ เกิดผลเสียตามมาหลาย ๆ อย่างทั้งในทางตรง (ชีวิตตัวเอง) และในทางอ้อม (ผลกระทบทางสังคม)

              

              วิวัฒนาการในด้านต่าง ๆ ที่เติบใหญ่ขึ้นมาเพื่อรองรับและสนองตอบกับความต้องการของมนุษย์ได้ทุกอย่าง ถือเป็นก้าวย่างแห่งการอำพรางปิดบังซ่อนเร้น กดทับ “ความทุกข์” เอาไว้ไม่ให้ทำงาน ตราบใดที่ความต้องการ (ที่มีไม่จำกัด) ของมนุษย์มาบรรจบครบรอบกับการสนองตอบ คนส่วนใหญ่จะขาดความรอบคอบ รู้ไม่เท่าทันมองไม่เห็นความจริงแห่งทุกข์ที่มีพัฒนาการเติบโตเสมือนเป็นคู่แฝดกันกับวิวัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ 

 

           เมื่อมองความจริงในทุกข์เป็นสัจจะอันประเสริฐ ทำให้รู้เท่าทันและไม่ประมาทในการใช้ชีวิต  นำไปสู่การประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องตามจริง ในประเด็นดังกล่าวมีข้อคิดจากหนังสือ : วิถีแห่งปราชญ์ ปฏิปทา จริยวัตร ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ท่านกล่าวเอาไว้ว่า :

 

        ...ถ้ามีเวลาอยากจะเขียนหนังสืออีกเล่มหนึ่ง มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องความสุข ซึ่งจะอธิบายว่า ความสุขตามแนวพุทธศาสน์คืออะไรกันแน่ เพราะคนภายนอกโดยเฉพาะฝรั่งมักมองว่า พระพุทธศาสนาสอนแต่เรื่องทุกข์ อะไร ๆ ก็เป็นทุกข์ บางทีก็ว่า พระพุทธศาสนาเป็น pessimism คือ มองโลกในแง่ร้าย เช่น การมองว่าชีวิตคือทุกข์ เป็นต้น

            คำชี้แจงในเรื่องนี้ให้ดูในหน้าที่ที่มีต่ออริยสัจ เริ่มจากทุกข์ หน้าที่ต่อทุกข์ คือ ปริญญา คือ ต้องรู้เท่าทัน แต่ไม่มีหน้าที่เป็นทุกข์ไปด้วย ถ้าใครเอาทุกข์มาเข้าตัว แสดงว่าผิดหลักการแล้ว 

             ความสุขอยู่ในอริยสัจข้อนิโรธ คือ เป็นจุดหมาย แต่ไม่นิยมใช้คำว่า “สุข” เพราะสุขนี้จะเป็นสัมพัทธ์ตลอด ตราบใดที่มีสุขก็หมายความว่ายังมีทุกข์ปนอยู่ คือ ยังไม่พ้นจากทุกข์ แต่ถ้าเมื่อใดทุกข์ไม่เหลือ อันนี้จะพูดว่า “สุข” ก็เป็นสุขที่สมบูรณ์ คือ ไม่มีทุกข์เหลืออยู่

             พระพุทธศาสนายอมรับมาตรฐานตัดสินต่อเมื่อไร้ทุกข์ หรือไม่มีทุกข์เหลือ จุดหมาย คือ ไม่มีทุกข์เหลือเลย “ นิโรธ” ที่แท้ไม่ได้แปลว่า การไม่เกิดขึ้นของทุกข์ แต่เป็นภาวะไร้ทุกข์ ไม่มีทุกข์เหลือนั่นเอง

            ในระหว่างปฏิบัติ ระหว่างที่เป็นสัมพัทธ์ทุกข์จะน้อยลง และจะมีสุขมากขึ้น ฉะนั้น สุขจึงจัดอยู่ในฝ่ายนิโรธ ในฝ่ายจุดหมาย กิจหรือหน้าที่ต่อนิโรธคือ สัจฉิกิริยา แปลว่า ทำให้ประจักษ์แจ้ง คือทำให้ประจักษ์แก่ตัว หรือบรรลุถึงสุข จึงเป็นภาวะที่เราบรรลุถึงเพิ่มขึ้น ๆ  

             หมายความว่า ทุกข์เป็นสิ่งที่เรารู้ทัน แล้วก็หาทางแก้ เราจะก้าวไปสู่จุดหมาย คือ มีสุขเพิ่มขึ้นเรื่อย ทุกข์น้อยลงเรื่อย จนกระทั่งหมดทุกข์ เป็นสุขที่แท้ นิพพานเป็นบรมสุข ระหว่างปฏิบัติเราก็ห่างทุกข์ และมีสุขมากขึ้นเรื่อย ๆ  

             พูดอย่างสั้นว่า พระพุทธศาสนาสอนให้รู้ทันทุกข์และให้อยู่เป็นสุข หรือให้สั้นกว่านั้นอีก คือ พระพุทธศาสนาสอนให้เห็นทุกข์แต่ให้เป็นสุข คือ ทุกข์สำหรับเห็น สุขสำหรับเป็น นั่นเอง.    

 

 

 

 

 

                        ทุกข์เท่านั้นมีอยู่         ผู้เสวยทุกข์ไม่มี

                        การกระทำมีอยู่           ผู้กระทำไม่มี

                        นิพพานมีอยู่              ผู้นิพพานไม่มี

                        หนทางมีอยู่               ผู้เดินทางไม่มี

                                                         จาก : วิสุทธิ. ๓/๑๐๑

 

 

“มองทุกสิ่งตามจริง (กฎธรรมชาติ) ที่มันเป็นไป ไม่ใช่ มองทุกสิ่งตามจริงที่ใจอยากให้เป็น”

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 398570เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2010 19:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:32 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท