ภาระหนี้ต่างประเทศกับวิกฤติเศรษฐกิจ


สิ่งที่ภาครัฐต้องคำนึงถึงก็คือ การก่อหนี้ของภาคเอกชนเป็นการก่อหนี้ที่ก่อให้ผลผลิตและการจ้างงานภายในประเทศหรือไม่ หรือเป็นการก่อหนี้ที่นำมาใช้ผิดวัตถุประสงค์และการก่อหนี้เพื่อเก็งกำไรเหมือนในช่วงที่เกิดฟองสบู่เหมือนในอดีต

             หนี้ต่างประเทศ (External Debt) คือ ยอดคงค้างหนี้สินส่วนที่ไม่ใช่ทุนเรือนหุ้นของผู้มีถิ่นฐานในประเทศก่อขึ้นกับผู้มีถิ่นในต่างประเทศ ทั้งหนี้สินที่มีดอกเบี้ย หรือไม่มีดอกเบี้ย โดยมีภาระผูกพันที่จะต้องชำระคืนเงินต้น โดยรวมหนี้สินทุกสกุลเงินและทุกประเภทของการกู้ยืม แบ่งออกเป็น

 

          - หนี้ภาคทางการ หมายถึง หนี้ต่างประเทศที่ภาคทางการเป็นผู้ก่อขึ้นกับผู้มีถิ่นฐานในต่างประเทศประกอบด้วยหนี้ของรัฐบาลกลาง (กู้ในนามรัฐบาลไทย) หนี้ของรัฐวิสาหกิจ และหนี้ของเอกชนที่รัฐบาลค้ำประกันรวมทั้งหนี้ของ ธปท.

 

          - หนี้ภาคเอกชน หมายถึง หนี้ต่างประเทศที่ภาคเอกชนเป็นผู้ก่อขึ้นกับผู้มีถิ่นฐานในตางประเทศ ประกอบด้วยหนี้ของภาคธุรกิจธนาคาร (ธนาคารพาณิชย์และกิจการวิเทศธนกิจ) และภาคธุรกิจที่มิใช่ธนาคารอาทิ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ นิติบุคคลที่ประกอบการค้า การผลิต และบุคคลธรรมดา

          - หนี้ระยะยาว หมายถึง หนี้ต่างประเทศที่มีระยะเวลาครบกำหนดมากกว่า ๑ ปี

          - หนี้ระยะสั้น หมายถึง หนี้ต่างประเทศที่มีระยะเวลาครบกำหนดน้อยกว่าหรือเท่ากับ ๑ ปี

       

     

            สิ่งที่ต้องระวังในเรื่องเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจในด้านการเงินระหว่างประเทศก็คือ อย่าให้ยอดหนี้ต่างประเทศต่อเงินสำรองทุนระหว่างประเทศ (D/R) สูงเกินไป ซึ่งไม่ควรจะสูงเกินกว่า ๓ เท่า และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศต่อยอดหนี้ต่างประเทศระยะสั้น (R/DS) ต้องมากกว่า ๑ เท่าอย่างมาก ๆ เพื่อที่จะทำให้ต่างประเทศมั่นใจได้ว่า หากประเทศเราถูกเรียกหนี้ระสั้นคืนทั้งหมด ก็สามารถมีเงินสำรองระหว่างประเทศเพียงพอต่อการชำระหนี้ และสำหรับยอดหนี้ต่างประเทศต่อผลผลิตของประเทศ ณ ราคาปัจจุบัน (D/GDP) ควรมีสัดส่วนต่ำกว่า ๑ อย่างมาก ๆ ด้วยเช่นกัน

       

           ย้อนกลับไปเมื่อครั้งก่อนวิกฤติเศรษฐกิจในปีพ.ศ. ๒๕๔๐ ณ สิ้นปีพ.ศ. ๒๕๓๙ ประเทศไทยมีหนี้ต่างประเทศทั้งหมด ๑๐๘,๗๔๒ ล้านเหรียญดอลลาร์สรอ. เป็นหนี้ภาครัฐ ๑๖,๘๐๑ ล้านเหรียญดอลลาร์สรอ. และหนี้ภาคเอกชน ๙๑,๙๔๑ ล้านเหรียญดอลลาร์สรอ.  และมีหนี้ระยะสั้น (ระยะ ๑ ปี) อยู่ทั้งหมด ๔๗,๗๔๓ ล้านเหรียญดอลลาร์สรอ. เป็นหนี้ภาครัฐ ๕๔ ล้านเหรียญดอลลาร์สรอ. เป็นหนี้ภาคเอกชน ๔๗,๖๘๙ ล้านเหรียญดอลลาร์สรอ. ในขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศมีอยู่ที่ระดับ ๓๘,๗๒๔ ล้านเหรียญดอลลาร์สรอ. ซึ่งจะเห็นได้ว่ายอดหนี้ต่างประเทศต่อเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ ๒.๘ เท่า ในขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศต่อยอดหนี้ต่างประเทศระยะสั้นอยู่ที่ ๐.๘๑ นั่นหมายถึงว่าถ้าหากถูกเรียกหนี้ระยะสั้นคืนทั้งหมดฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศก็จะติดลบทันทีที่  ๙,๐๑๙ ล้านเหรียญดอลลาร์สรอ. ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญอีกประการที่ทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปีพ.ศ. ๒๕๔๐ 

 

 

          ถึงแม้ว่าการก่อหนี้จากต่างประเทศจะเป็นสิ่งที่จำเป็นในการพัฒนาและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อาจจะเนื่องมาจากแหล่งเงินทุนภายในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการ หรือมาจากปัจจัยอื่นทั้งในเรื่องของต้นทุนที่ต่ำกว่าและเงินกู้โดยตรงจากบริษัทแม่ในต่างประเทศ แต่สิ่งที่ภาครัฐต้องคำนึงถึงก็คือ การก่อหนี้ของภาคเอกชนเป็นการก่อหนี้ที่ก่อให้ผลผลิตและการจ้างงานภายในประเทศหรือไม่ หรือเป็นการก่อหนี้ที่นำมาใช้ผิดวัตถุประสงค์และการก่อหนี้เพื่อเก็งกำไรเหมือนในช่วงที่เกิดฟองสบู่เหมือนในอดีต ถึงแม้ว่า ธปท. จะควบคุมและตรวจสอบได้ยากขึ้นหลังจากการเปิดเสรีทางการเงิน และการเปิดให้มีสินเชื่อจากต่างประเทศวิเทศธนกิจกรุงเทพ BIBF แต่รัฐบาลควรคำนึงถึงการบริหารจัดการการก่อหนี้ต่างประเทศให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจและฐานะการเงินของประเทศเป็นประการสำคัญ เพื่อไม่ให้เกิดการสั่งสมปัญหาจนนำพาไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจในอนาคต

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 398436เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2010 11:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 21:27 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท