กู่เต้า


กู่เต้า

พญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ได้ 262 ปี ถึงปีพ.ศ. 2101 พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง กษัตริย์พม่าได้ยกกองทัพมาตีล้านนา และสามารถยึดเมืองเชียงใหม่ได้อย่างง่ายดาย เนื่องจากบ้านเมืองขณะนั้นอ่อนแอที่สุด เสนาอามาตย์แตกความสามัคคี และกษัตริย์ก็ไม่สามารถบริหารราชการบ้านเมืองให้เป็นปกติได้

หลังจากพม่าเข้ายึดครองเชียงใหม่และล้านนาได้แล้ว พระเจ้าบุเรงนองทรงจัดการปกครองเชียงใหม่และล้านนาในฐานะประเทศราช ทรงตั้งพระเมกุฎิครองเมืองเชียงใหม่ต่อไปตามเดิม

พ.ศ. 2106 พม่ายกกองทัพรบกับกรุงศรีอยุธยา โดยเกณฑ์กองทัพเชียงใหม่ไปช่วยรบ เห็นว่าพระเมกุฏิไม่ได้ช่วยรบอย่างจริงจัง ทั้งยังพยายามแยกตัวเป็นอิสระจากพม่า จึงยกไพร่พลมาควบคุมเชียงใหม่ จับตัวพระเมกุฏินำไปยังเมืองหงสาวดีเมื่อพ.ศ.2107 แล้วตั้งพระนางวิสุทธิเทวี พระธิดาพญาเมืองเกษเกล้า ซึ่งถูกนำตัวไปเป็นชายาพระเจ้าบุเรงนองมาครองเมืองเชียงใหม่

พระนางนับเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์มังราย เพราะเมื่อสิ้นพระนางวิสุทธิเทวี พระเจ้าหงสาวดีได้แต่งตั้งฟ้าสาวัตถีนรถามังคอย หรือมังนรธาช่อ พระโอรสที่เกิดจากพระนางวิสุทธิเทวีมาครองเมืองเชียงใหม่ (พ.ศ.2121 – 2150)

ประมาณ พ.ศ.2140 มังนรธาช่อ เจ้าเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโอรสพระเจ้าบุเรงนองถวายเครื่องราชบรรณาการยอมอ่อนน้อมต่ออยุธยาใน รัชกาลสมเด็จพระนเรศวร เพราะพระเจ้านันทบุเรงแห่งหงสาวดีทรงบัญชาให้ทัพเชียงใหม่ไปตีกรุงศรีอยุธยา มังนรธาช่อคงประเมินดูแล้วว่า กรุงศรีอยุธยาเข้มแข็งขึ้นมาก ขณะที่กรุงหงสาวดีอ่อนแอลง หากทำสงครามกับอยุธยา หงสาวดีคงไม่สามารถคุ้มครองเชียงใหม่ เมื่อสาวมิภักดิ์กรุงศรีอยุธยาแล้ว สมเด็จพระนเรศวรทรงให้มังนรธาช่อครองเชียงใหม่ต่อ และทรงจัดการเมืองต่างๆในล้านนาที่แข็งเมืองต่อเชียงใหม่ด้วยเห็นว่าเป็น พม่า ให้กลับมาอยู่ในอำนาจปกครองของเชียงใหม่ตามเดิม รวมทั้งห้ามทัพล้านช้างซึ่งยกมาโจมตีเชียงใหม่

มังนรธาช่อครองเมืองเชียงใหม่จนสิ้นอายุ เมื่อสิ้นมังนรธาช่อ อนุชาได้นำอัฐิมาเก็บในกู่ที่ก่อขึ้นเป็นรูปคล้ายน้ำเต้า และสร้างวัดขึ้น ณ ที่นั้น เรียก วัดเวฬุวัน หรือวัดกู่เต้า

 

 กู่เต้า จัดเป็นเจดีย์รูปแบบพิเศษ ลักษณะคล้ายน้ำเต้า หรือบาตรพระซ้อนกัน 5 ชั้น มีซุ้มพระทั้งสี่ทิศทุกชั้นวางบนฐานสี่เหลี่ยมยกเก็จ ส่วนปลายมีปลียอดและฉัตรโลหะแบบพม่า

ติดประดับด้วยเครื่องเคลือบ ประกอบกันเป็นรูปดอกไม้ สวย แปลกดี

หลังการบูรณะเมื่อพ.ศ.2551 ลักษณะกู่เต้าสีดำที่เห็นจนชินตามาตั้งแต่เด็กก็หายไป กลายเป็นสีขาวโพลน ซึ่งคงเป็นไปตามรูปแบบเมื่อแรกสร้าง แต่สภาพภูมิอากาศบ้านเราก็ทำให้เริ่มมีคราบราดำเกิดขึ้น ไม่นานก็คงสวยเหมือนเดิม ^_^

 

พระในซุ้มจรนำดูเล็กผิดสัดส่วนของซุ้ม สงสัยไม่ใช่ของดั้งเดิม...


ปูนปั้นรูปตัวอะไรไม่แน่ใจ


ที่จอดรถร่มรื่น


โบสถ์หลังเล็กตามแบบล้านนา มีป้ายที่ขัดรัฐธรรมนูญบอกว่า "สตรีห้ามขึ้น"


ศาลาปล๋ายเหลี้ยมแบบพม่าที่กำลังรอเงินบริจาค


วิหารหลังใหญ่สร้างใหม่เมื่อไม่นานนี้ ทำเป็นสองชั้น ใหญ่โตมโหฬาร


มกรคายนาคสวยๆที่บันไดทางขึ้นวิหาร


พระประธานปางมารวิชัย เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องอิทธิพลพม่า ทั้งองค์พระ ซุ้มพระและลวดลายด้านหลังที่นำมาจากธรรมาสแบบไทใหญ่หรือพม่า

วัดกู่เต้ามีศรัทธาชาวไทใหญ่และพม่ามาทำบุญด้วย ป้ายจึงต้องมีสองภาษา

คำสำคัญ (Tags): #กู่เต้า
หมายเลขบันทึก: 398361เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2010 23:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 20:56 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

เป็นสถาปัตยกรรมรูปทรงแปลกดีนะคะ ไม่ค่อยคุ้นตาคนอีสานเท่าไร แต่มีวิธีการบูรณะอื่นที่ไม่ต้องทำให้สีขาวดูโดดๆหลอกๆ และเต็มไปด้วยตะไคร่น้ำแบบนี้อีกไหมคะ น่าจะบูรณะเสร็จปุ๊บก็กลายเป็นของเก่าที่แข้งแรงและดูดีไม่ใช่ขาวเว่อแบบนี้

ได้ความรู้ ได้เห็นภาพชัดเจน ปลุกเร้าความรู้สึกลึกๆ ว่า ต้องหาทางไปเยี่ยมเยือนสักครา

โบราณสถานของเราต่างจากตะวันตกที่ใช้หินเป็นหลักครับ ของเราใช้ไม้กับปูน

...

เมื่ออิฐเมื่อปูนหมดอายุ ก็เห็นจะไม่มีทางอื่นนอกจากเปลี่ยนอิฐเปลี่ยนปูนฉาบใหม่ ยังดีที่เดี๋ยวนี้เราใช้ปูนหมักตามแบบโบราณ ใช้อิฐที่ทำขึ้นเฉพาะเพื่อการบูรณะ ก่อนนี้ใช้ปูนซิเมนต์กับอิฐทั่วไปซ่อมโบราณสถานด้วยซ้ำไปครับ

...

เมื่อไม้ผุ หมดอายุ ก็เห็นจะไม่มีทางอื่นนอกจากเปลี่ยนไม้ใหม่ การบูรณะโบราณสถานของเรา จึงเพียงแค่ได้รูปแบบและเทคนิคการก่อสร้างตามแบบโบราณเท่านั้น ความเป็นของแท้จึงสู้โบราณสถานหินของฝรั่งเค้าไม่ได้

...

ของเค้าพันปีก็พันปีจริงๆ พันปีแทบทุกส่วน ของเราห้าร้อยปีนี่ก็ห้าร้อยปีแต่ชื่อครับ ทุกอย่างเปลี่ยนใหม่เกือบหมดแล้ว

...

อาจารย์สืบพงศ์ จรรย์สืบศรี คะ หนูเป็นนักศึกษามช.นะคะ

คือหนูทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการพัฒนาวัสดุบูรณะซ่อมแซมโบราณสถานคะ หนูขอข้อมูลเรื่องรายละเอียดสูตรผสมปูนหมักโบราณได้มั้ยคะ คืองานวิจัยหนูจะเน้นการพัฒนาวัสดุซ่อมแซมโบราณสถานของเราให้มีคุณภาพดีขึ้นคะ คือจากการสำรวจข้อมูล ตอนนี้การบูรณะซ่อมแซมปัจจุบันเหมือนจะทำให้อัตลักษณ์ลวดลายของโบราณสถานเดิมเริ่มเปลี่ยนแปลงไปคะ ปูนฉาบ สีทา หนามากๆคะ อยากให้แนวทางการบูรณะซ่อมแซมโบราณสถานเราพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น โดยคงซึ่งเอกลักษณ์รูปแบบโบราณ ยังไงรบกวนอาจารย์ให้คำแนะนำนะคะ ขอบคุณคะ

โชติกาญจน์ครับ

เรื่องปูนหมักพอดูได้จาก slide ที่ผมใช้สอน http://suebpong.rmutl.ac.th/conweb/Walltechnic.pdf

สูตรที่ว่ามันหลักๆมันก็คือหินปูน ( CaCO3) แต่หัวใจอยู่การเตรียมปูน

ส่วนผสมนั้นเติมลงไปเพื่อการใช้เฉพาะอย่างเฉพาะที่

แล้วที่ควรใช้ปูนหมักในการซ่อมโบราณสถานนั้นก็เพื่อให้ผนังหายใจได้ และให้สอดคล้องกับหลักการที่ว่า ใช้วัสดุและเทคนิคให้เหมือนเดิมมากที่สุด เพื่อให้จิตวิญญาณของอาคารยังคงอยู่ ไม่เพียงแต่ชื่อและรูปร่างเท่านั้น

ถ้าอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมแบบตัวจริงเสียงจริงต้องอาจารย์สมชาติ ที่สถาปัตย์ศิลปากร

เพราะแกเคยเป็นนักอนุรักษ์ของกรมศิลป์ เป็นผู้ค้นคว้าทดลองใช้ปูนหมักได้ (หลังจากที่ศาสตร์นี้มันหายไปนาน และกรมศิลป์ใช้ปูนซิเมนต์ซ่อมโบราณสถานอยู่นาน) และทดลองใช้ได้ผลดีที่เขาวังเป็นแห่งแรก ก่อนจะกลายเป็นข้อกำหนดของกรมศิลป์ในการซ่อมโบราณสถานมาจนทุกวันนี้.

หนูขอบคุณคะอาจารย์มากๆเลยนะคะ ข้อมูลอาจารย์ช่วยได้เยอะเลยคะ

การหาสัดส่วนที่แท้จริงของการทำปูนหมักไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย ในแต่ละถิ่น เค้าก็จะมีสัดส่วนส่วนผสมที่แตกต่างกันไป อย่างปูนเมืองเพชรก็จะเป็นอีกสูตร ไม่รู้ในเชียงใหม่ยังมีการทำปูนหมักกันอยู่รึเปล่า การที่เราจะพัฒนาวัสดุเดิม เราต้องเข้าใจพื้นฐานของสิ่งๆนั้นก่อน เพื่อการต่อยอดจะได้ไม่ทำลายส่วนที่เป็นเอกลักษณ์ของเดิม ขอบพระคุณอาจารย์มากๆคะ

อาจารย์คะ อาจารย์พอจะทราบแหล่งผลิตปูนหมักในเชียงใหม่มั้ยคะ รบกวนอาจารย์ช่วยให้คำแนะนำได้มั้ยคะ ขอบคุณคะ

ต้องลองถามพวกผู้รับเหมางานอนุรักษ์ พวกนี้เค้าหมักปูนเอง แต่วัตถุดิบมาจากแหล่งไหนผมไม่รู้ครับ

ผู้รับเหมางานอนุรักษ์ เช่น ช่างรุ่ง ช่อฟ้า นาคทันต์ ผมหาเบอร์เจอแต่ของช่อฟ้า 0818844980

อาจารย์คะ ตอนนี้งานวิจัยของหนูได้ความคืบหน้าเกือบสมบูรณ์แล้วคะ  หนูขอบคุณอาจารย์นะคะที่ช่วยให้คำแนะนำเรื่องปูนบูรณะโบราณสถาน  หนูขอสอบถามอีกนิดนึงได้มั้ยคะว่าเค้าใช้ปูนบูรณะนี้กับโบราณสถานโดยตรง หรือต้องมีสารเชื่อมประสานระหว่างปูนโบราณกับปูนบูรณะหรือไม่คะ รบกวนขอคำชี้แนะอาจารย์นะคะ  ขอบคุณคะ

คุณ โชติกาญจน์ ผมสนใจเรื่องปูนปั้น ปูนหมัก ครับเลยอยากจะขอความรู้ ให้แนวทางการติดต่อได้เป่าครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท