ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง & ความสุขมวลรวมประชาชาติ


การพัฒนาประเทศบนเส้นทางตามหลัก “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นวิถีของการพัฒนาไปสู่ความสุขของสังคมโดยรวมที่แท้จริง ซึ่งเป็นการก้าวข้ามพ้นผ่านเส้นแบ่งของมายาคติที่ว่า “รวยหรือจน” ไปสู่คำว่า “พอเพียง” เมื่อเพียงพอแล้วคำว่ารวยและความสุขก็จะเกิดขึ้นเองตามเหตุปัจจัยดังกล่าวที่ได้ทำไว้ในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

             เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๓ มีการประชุมใหญ่ "๒๐๑๐ เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ"  ที่  สหประชาชาติ ไฮไลน์สำคัญอยู่ที่ นายจิกมี ธินเลย์ นายกรัฐมนตรีภูฏาน ได้นำเสนอแนวคิดการใช้ดัชนีมวลรวมความสุข (จีเอ็นเอช) เป็นเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals : MDGs) ของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เป้าหมายที่ ๙  โดยให้เหตุผลว่าจีเอ็นเอชเป็นบทสรุปแห่งเป้าหมายทั้ง ๘ ประการของเอ็มดีจี***

 

               นายกรัฐมนตรีภูฏาน ระบุว่า เอ็มดีจีเป็นกระบวนการที่นำไปสู่ผลสำเร็จแห่งเป้าหมายทั้ง ๘ ประการของยูเอ็น ทั้งยังเป็นเหตุผลที่ทุกประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศยากจน หรือประเทศกำลังพัฒนาในการเชื่อมโยงเหล่ามนุษยชาติเข้าด้วยกัน โดยไม่คำนึงถึงความมั่งมีและยากจน โดยไม่มีระยะเวลาเป็นเครื่องกำหนด นอกจากนั้นยังได้กล่าวประณามเป้าหมายการสร้างความมั่งมีให้ประเทศว่าเป็นเรื่อง "อันตรายและโง่" และเชื่อว่ายูเอ็นจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายทั้ง ๘ ประการตามแผนเอ็มจีดีได้ภายในปี พ.ศ. ๒๕๕๘

              พร้อมกันนี้นายจิกมียังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า “วิกฤติเศรษฐกิจโลกเป็นเครื่องเตือนใจว่า ความมั่งมีทางเศรษฐกิจโลกเป็นเรื่องลวงตา และสามารถหายไปในพริบตา ทั้งยังเชื่อว่าวิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต เว้นแต่จะมีการเปลี่ยนแนวคิดในการใช้ชีวิตของประชากรโลก” ก่อนที่จะก้าวลงจากเวทีพร้อมรอยยิ้มและเสียงปรบมือจากผู้นำประเทศสมาชิกยูเอ็นที่เข้าร่วมประชุม

 

          ความสุขมวลรวมประชาชาติ  (Gross National Happiness : GNH) ถือได้ว่าเป็นแนวความคิดทางปรัชญาที่ริเริ่มโดยพระราชาธิบดีจิกเม ซิงเก วังชุก (Jigme Singge Wangchuck) กษัตริย์แห่งภูฏาน เมื่อกว่า ๓ ทศวรรษที่ผ่านมา พระองค์ได้ทรงประกาศว่าวัตถุประสงค์สูงสุดของรัฐบาลภูฐานก็คือ การส่งเสริมความสุขของประชาชน ดังพระราชดำรัสที่ว่า “ความสุขมวลรวมประชาชาติสำคัญยิ่งกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ” พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับความสุขมากกว่าความอุดมมั่งคั่งของวัตถุในทางเศรษฐกิจ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการสวนกระแสกับแนวคิดของเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก

 

             ในปัจจุบันกระแสสายธารของการวิวัฒน์ทางด้านเศรษฐกิจเพ่งพินิจที่ความมั่งคั่งพรั่งพร้อมของวัตถุเป็นสำคัญ ซึ่งนัยของความสัมพันธ์กันระหว่างวัตถุกับความสุขดังกล่าวก็ไม่ได้มีนัยสำคัญต่อกันอย่างที่หลาย ๆ คนเข้าใจ เกี่ยวเนื่องจาก ความสุขเกิดขึ้นได้จากหลากหลายเหตุปัจจัย (ความมั่งคั่งก็เป็นเพียงตัวแปรหนึ่งเท่านั้น) ประการสำคัญยิ่งมวลมนุษยชาติแย่งชิงทรัพยากร (ที่มีอย่างจำกัด) มาเพื่อผลิตสินค้าและบริการเพื่อสนองตอบต่อความต้องการ (ที่มีไม่จำกัด) มากขึ้นเท่าใด วิกฤติที่หลากหลายทั้งภัยพิบัติทางธรรมชาติ มลภาวะเป็นพิษ รวมถึงภาวะโลกร้อนก็ยิ่งย้อนศรกลับมาทำลายมนุษย์มากขึ้นเป็นทวีคูณเท่านั้น

 

           เมื่อหันมองดูประเทศไทยที่มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงเปี่ยมไปด้วยพระอัจฉริยภาพทางด้านเศรษฐกิจ ได้ทรงให้หลักคิด “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ในการนำไปใช้ ซึ่งพระองค์ทรงมีพระราชดำรัสแก่พสกนิกรชาวไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๗

           ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีลักษณะอกาลิโก (ไม่เลือกกาลไม่เลือกสมัย) คือสามารถนำไปใช้ได้ทุกเวลาและสถานที่ เกี่ยวเนื่องจาก ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อาศัยกลไกและการทำงานของ “คุณธรรมและจริยธรรม” เป็นตัวเชื่อมทางกิจกรรมของเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ภายใต้หลักการของ ความพอประมาณ ความสมเหตุสมผล ความสมดุล และภูมิคุ้มกัน เพื่อพัฒนาไปสู่ความศานติสุขร่วมกันในสังคม

                 

               แต่ทว่าการบริหารจัดการประเทศในช่วงเวลาที่ผ่านมาดังกล่าวกลับเป็นไปในลักษณะของการบริหารจัดการโดยอาศัยกลไกการทำงานของ “ผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง” เป็นตัวเชื่อมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม

 

                  ทั้ง ๆ ที่แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ หมวด ๕ แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ส่วนที่ ๗ แนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ มาตรา ๘๓ “รัฐต้องส่งเสริม และสนับสนุนให้มีการดำเนินการตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”

            

                  “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ได้ถูกบรรจุเป็นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ แต่ที่ผ่านมากลับไม่มีรัฐบาลชุดไหนเลยจริงใจในการขับเคลื่อนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน และผู้เขียนก็กังวลในประเด็นของ ความชัดเจนและแนวทางปฏิบัติ จะเป็นอย่างไร? จากมาตรา ๘๓ “รัฐต้องส่งเสริม และสนับสนุนให้มีการดำเนินการตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งผู้เขียนมองว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรีบทำความชัดเจนในประเด็นเหล่านี้ คือ

 

                ๑. รัฐต้องส่งเสริม คือจะส่งเสริมอย่างไร?

                ๒. รัฐต้องสนับสนุน คือจะสนับสนุนอย่างไร?

                ๓. ที่สำคัญปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามนัยของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง กับภาคเอกชน มีองค์ความรู้และเข้าใจไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่? 

                ๔. ถ้าหากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งหน่วยงานของภาครัฐรวมทั้งภาคประชาชนมีองค์ความรู้ที่แตกต่างกันในบริบทของสาระสำคัญ แล้วการปฏิบัติที่จะนำไป ส่งเสริม และสนับสนุน   จะเป็นไปในทิศทางใด? 

                 ๕.ถ้าหากรัฐบาลไม่ปฏิบัติตาม และที่สำคัญหากภาครัฐกลับมีเมนูนโยบายทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการไปทำลายล้างแนวทางแห่งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจะทำอย่างไร?

 

                 นี่เป็นเพียงความกังวลบางส่วน  ได้แต่หวังว่ารัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศควรตระหนักและรีบทำความเข้าใจ รวมทั้งกำหนดกรอบให้ชัดเจนในการบริหารจัดการประเทศ ตามวิถีของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างองค์ความรู้ ที่ถูกต้องในทิศทางเดียวกัน ให้กับสังคมอย่างเป็นจริงเป็นจังซักที ไม่ใช่หยิบยกมาพูดไปตามกระแสเพื่อหวังผลทางการเมืองอย่างเดียว เพราะไม่อย่างนั้นก็เท่ากับเป็นการงดใช้และ/หรือทำลายมาตรา ๘๓ ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐

 

              การพัฒนาประเทศบนเส้นทางตามหลัก “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นวิถีของการพัฒนาไปสู่ความสุขของสังคมโดยรวมที่แท้จริง ซึ่งเป็นการก้าวข้ามพ้นผ่านเส้นแบ่งของมายาคติที่ว่า “รวยหรือจน” ไปสู่คำว่า “พอเพียง” เมื่อเพียงพอแล้วคำว่ารวยและความสุขก็จะเกิดขึ้นเองตามเหตุปัจจัยดังกล่าวที่ได้ทำไว้ในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

 

 

 

 

 *** การประชุมสุดยอดสหัสวรรษแห่งการพัฒนา : แรกเริ่มเดิมทีมีขึ้นในปี ค.ศ.๒๐๐๐ โดยสมาชิกสหประชาชาติจำนวน ๑๘๙ ประเทศ ลงนามให้สัตยาบันร่วมกัน โดยมีพันธะสัญญาที่ว่าด้วยเป้าหมาย ๘ ประการ เพื่อต่อสู้กับความยากจนให้หมดสิ้นไปจากพื้นพิภพโลกนี้ โดยมีสาระสำคัญ คือ

              ๑. กำจัดความยากจนและความหิวโหย

               ๒. ให้ผู้คนเข้าถึงการศึกษาพื้นฐานอย่างทั่วถึง

               ๓. ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศโดยเพิ่มบทบาทของผู้หญิง

               ๔. ลดอัตราการเสียชีวิตของเด็ก

               ๕. พัฒนาสุขภาพของสตรีมีครรภ์ 

               ๖.ต่อสู้กับโรคเอดส์  มาลาเรีย  และโรคร้ายอื่นๆ 

               ๗. รักษาสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน

               ๘.ส่งเสริมการเป็นหุ้นส่วนเพื่อพัฒนาของประชาคมโลก

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 397938เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2010 18:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 11:16 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท