บทสรุป : เรียนรู้ตัวเราด้วยบทเรียนที่เป็นรูปธรรม


บทความเพื่อการเรียนรู้ตนเองอย่างเป็นรูปธรรม เกี่ยวกับการพัฒนาขีดความสามารถเพื่อดึงเอาศักยภาพที่มีอยู่ในตัวเราออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ตนเอง และผู้อื่น อย่างเหมาะสม สำหรับเนื้อหาการเปรียบเทียบจะอ้างอิงตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน การทำความเข้าใจจึงจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้เดิมอยู่บ้าง แต่ผู้เขียนก็พยายามจะอธิบายให้เห็นภาพและสื่อให้เข้าใจได้ง่ายๆอยู่แล้วครับ

            เป็นอย่างไรกันบ้างครับ ได้ทดลองตามบทเรียนกันหรือเปล่า? แล้วสรุปผลการทดลองบูรณาการองค์ความรู้ที่ได้กันอย่างไรบ้าง? หาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ไข่แตกเจอหรือไม่? และหาแนวทางป้องกันได้หรือเปล่า?

            สำหรับข้อแรกที่ถามว่า ทำไมไข่จึงแตก? (เหตุที่ทำให้ไข่แตก) สิ่งที่ผมจะนำเสนอนี้ไม่ใช่เฉลย หรือคำตอบที่ผมบอกว่าใช่นะครับ แต่เป็นข้อเท็จจริงในมุมมองของผมหลังจากได้ผ่านการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว สาเหตุที่ทำให้ไข่แตกก็เพราะ แรงปฏิกิริยาโต้ตอบ(Reaction) ยังไม่จบนะครับต้องไล่กลับไปอีกว่า สิ่งใดที่เป็นเหตุให้เกิดแรงปฏิกิริยาโต้ตอบเพราะอยู่ดีๆมันคงไม่ได้เกิดขึ้นมาเองใช่ไหม? แน่นอนมันก็เป็นผลมาจากแรงกระทำ (Action) นั่นเอง แล้วแรงกระทำมันมาจากไหนกันนะ?

            แรงกระทำมันก็มาจาก “ศักย์” ระดับความสูงคูณกับค่าแรงดึงดูดเทหะวัตถุเข้าสู่ศูนย์กลาง (เราเรียกว่าค่า g) คูณกับเนื้อมวลของไข่ (เทหะวัตถุสถานะต่างๆบนโลกนี้จะมีเพียงความหนาแน่นที่เราเรียกว่า “เนื้อมวล” ซึ่งเป็นค่าคงที่เท่านั้น ซึ่งถ้าเรานำค่าเนื้อมวลของเทหวัตถุคูณกับค่า g ซึ่งเป็นค่าผันแปรได้ตามบริบท มันก็จะกลายเป็นน้ำหนักของเทหวัตถุเฉพาะ ณ บริบทนั้นๆเท่านั้น ดังนั้นการที่เราชั่งน้ำหนักบนโลก กับชั่งบนดวงจันทร์ จึงทำให้ค่าน้ำหนักไม่เท่ากัน เพราะค่า g บนโลกกับบนดวงจันทร์ไม่เท่ากัน) เป็นองค์ความรู้ในวิชาวิทยาศาสตร์ที่เราได้เรียนรู้กันมาตั้งแต่ประถม ยังจำกันได้ไหมครับ?

            เอาเป็นว่าสรุปให้เข้าใจง่ายๆ ในการทดลองนี้เราจะพบว่าที่ความสูงไม่มากการที่เราปล่อยไข่ลงมาให้กระทบกับก้นชามแทบจะไม่มีผลอะไรกับไข่เลย (เพราะในการทดลองผมให้ปล่อยในแนวตั้งของไข่ซึ่งเป็นจุดที่แข็งของไข่) แต่หลังจากความสูงเริ่มเพิ่มมากขึ้นๆไปเรื่อยๆแนวโน้มความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับไข่ก็มากเพิ่มขึ้นไปด้วยใช่ไหมครับ?จนความสูงถึงจุดหนึ่งไข่ที่ตกลงมากระแทกกับก้นชามก็จะแตกกระจายไปโดยสิ้นเชิง พิจารณาดูจากการทดลองครับสิ่งที่เป็นค่าคงที่ในการทดลองนี้มีสองสิ่ง คือ ๑) ค่าเนื้อมวลของไข่ และ ๒) ค่า gบนพื้นผิวโลก (อาจจะไม่เท่ากันทุกจุดเสียทีเดียวแต่ก็ถือว่าใกล้เคียงกัน) สิ่งที่เป็นเงื่อนไขปรับเปลี่ยนไปคือ ระดับความสูง ใช่ไหมครับ?

            เคยได้ยินคำว่า “ยิ่งสูงยิ่งหนาว” ไหมครับ ใช่เลยครับมันเป็นสัจธรรมความจริงที่สุดว่าทุกๆครั้งที่เพิ่มความสูงขึ้นไป ยิ่งสูงขึ้นไป ความเสี่ยงก็จะยิ่งมีมากขึ้น เพราะค่าของแรงกระทำจะมากขึ้นๆไปเรื่อยๆด้วย และจากที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่าแรงกระทำจะเป็นเหตุให้เกิดแรงปฏิกิริยาโต้ตอบในทิศทางตรงข้ามเมื่อไข่ตกกระทบก้นชามที่แข็ง ตามกฎข้อที่ ๓ ของนิวตัน ที่กล่าวไว้ว่า แรงกระทำ (Action) จะเท่ากับ แรงปฏิกิริยาโต้ตอบ (Reaction) ในทิศทางที่ตรงกันข้ามจากแนวของแรงกระทำเสมอ

            ข้อสองถามว่า ทำอย่างไรไข่จึงไม่แตก? (เป็นไปได้หรือไม่สูงเท่าใดก็ไม่แตก) ในเมื่อเรารู้สาเหตุที่แท้จริงแล้วว่า ไข่แตกเพราะแรงปฏิกิริยาโต้ตอบ และแรงปฏิกิริยาโต้ตอบก็เป็นผลมาจากแรงกระทำ ดังนั้นหากเราไม่ต้องการให้ไข่แตกก็ต้องพิจารณาจากปัจจัยหลักๆดังนี้

  • พิจารณาที่แรงกระทำ โดยหาความสูงที่พอดีที่ไข่สามารถทนต่อแรงปฏิกิริยาโต้ตอบได้ , ลดอัตราเร่งในแนวดิ่ง (หลักการร่มชูชีพ)
  • พิจารณาที่แรงปฏิกิริยาโต้ตอบ โดยค่อยๆดูดกลืนแรงเป็นบางส่วนขณะตกกระทบพื้น (ให้นึกถึงสปริงขดเวลากระแทกลงพื้น หรือลูกปิงปอง ลูกเทนนิส เวลาสะท้อนกลับ) , หาวัสดุที่มีคุณสมบัติในการยืดหยุ่นปูรองพื้นก้นชามจุดที่ตกกระแทก หรือห่อหุ้มไข่เอาไว้หลายๆชั้น

            คราวนี้มาบูรณาการองค์ความรู้เข้าสู่เนื้อหา หากผมเปรียบว่าตัวเราคือไข่ เราจะพัฒนาตัวเองโดยการเพิ่มระดับความสามารถอย่างไรที่เราจะไม่ถูกแรงปฏิกิริยาโต้ตอบทำลายเราเสียก่อนในขณะที่ความสูงเราก็ต้องเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆด้วย?

  • คนบางคนรู้จักตัวเองรู้จักจุดพอดีของตัวเอง และรู้ว่าตนเองขึ้นได้แค่ระดับไหน แบบนี้ก็ดีนะครับ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ตนเองและผู้อื่น แต่เสียดายศักยภาพที่ยังเหลืออีกมากมายในตัวเอง
  • บางคนรู้จักใช้หลักการลดอัตราเร่งในแนวดิ่งใช้ร่มชูชีพช่วยพยุงตัวเองลงมาแต่ก็คงต้องอาศัยทิศทางลมและการควบคุมให้ดีมิเช่นนั้นจะลงไม่ตรงจุดออกนอกลู่นอกทางไป และคงจะต้องเสียเวลาในชีวิตไปมากอยู่
  • บางคนก็ต้องรู้จักการดูดกลืนเก็บแรงปฏิกิริยาโต้ตอบเอาไว้บ้าง บางทีก็ต้องยอมถอยกลับบ้าง ก็ต้องประนีประนอมกันไปเพื่อป้องกันตนเองเสียหาย รู้จักใช้ความฉลาดในการควบคุมอารมณ์ ยิ่งต้องการเพิ่มขีดความสามารถตนเองให้สูงเท่าใดก็ต้องยิ่งรู้จักการใช้หลักการนี้ให้มากขึ้นด้วยเพื่อความอยู่รอด
  • บางคนก็จำเป็นต้องหากันชน มาดูดซับแรงปฏิกิริยาโต้ตอบ ทำให้เกิดการยืดหยุ่น ณ จุดที่ตกกระทบและห่อหุ้มตนเองไว้ เพื่อป้องกันทุกวิถีทาง

            .....และมีคนอีกส่วนมากในสังคมพยายามทะเยอทะยาน เพิ่มระดับความสูงโดยรู้ไม่เท่าทัน บางคนไม่คิดที่จะพิจารณาเรียนรู้เสียด้วยซ้ำ ความทะเยอทะยานถ้าเกิดจากความมุ่งมั่นอย่างเข้าใจความเป็นจริงของตนเองเป็นสิ่งที่ดีครับ เปรียบเช่นการไต่ระดับของเครื่องบินโดยเฉพาะเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ จำเป็นต้องอาศัยทางวิ่ง (Runway) ที่ยาว กำลังเครื่องที่มาก ความเร็วต้องสูงพอ เพื่อให้เกิดแรงยกมหาศาลที่ใต้ปีกเครื่องบิน จากนั้นเมื่อถึงระยะที่เหมาะสมนักบินจะต้องค่อยๆเชิดหัวเครื่องบินขึ้นอย่างช้าๆที่ละน้อยค่อยเป็นค่อยไป ให้เครื่องบินไต่ระดับไปตามมุมที่เหมาะสม หากเชิดหัวมากเกินไปมุมยกไม่เหมาะสมเครื่องบินเสียการทรงตัว คงไม่ต้องนึกถึงนะครับว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป เครื่องบินหากเสียการทรงตัวเมื่อใดยากลำบากมากครับกับการที่จะปรับแก้สถานการณ์โดยเฉพาะเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ เพราะมันจะกลายสภาพเป็นก้อนหินขนาดใหญ่ที่ร่วงลงมาสู่พื้นทันที แค่เวลาเราขับรถบนพื้นถนนแล้วเสียการทรงตัว เช่น พื้นถนนลื่น ยางรถระเบิด ยังยากมากๆที่จะควบคุมไว้เลย ก็คงว่ากันไปตามดวง ดวงใครดวงมันว่ากันไป

            ความทะเยอทะยานเป็นสิ่งที่ดีครับ แต่เราก็ควรรู้จักทำความเข้าใจ และ ลดละเลิก ปล่อยว่างกับสิ่งที่มันเป็นกิเลส ตัณหา ที่เหนี่ยวรั้งเราไว้ด้วย ไม่ใช่จะขึ้นแต่ที่สูงสูงเข้าไว้อย่างเดียว โดยไม่ใส่ใจที่จะปรับปรุง ทบทวน และสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองเลยเมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะหลงในอำนาจ หลงในจุดที่อยู่ที่คิดว่าสูงกว่าคนอื่นๆแล้ว ใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ไม่เหมาะไม่ควร เพิ่มพูนแต่สิ่งที่เป็นกิเลส ตัณหา ดึงรั้งไว้อย่างเหนียวแน่น มันก็คงไม่ต่างอะไรไปจากเครื่องบินที่เอาแต่เชิดหัวไต่ระดับขึ้นไปโดยไม่ได้รู้ถึงหลักวิธีการ จนถึงจุดที่พลังขับเคลื่อนพาขึ้นไปได้สูงสุด แล้วจู่ๆก็หัวทิ่มลงมาและเสียการทรงตัว ถูกดึงลงมาด้วยแรงดึงดูดเข้าสู่ศูนย์กลาง (ค่า g) พร้อมแรงกิริยาที่เกิดขึ้นอย่างมหาศาล (Action) กระแทกพื้นแหลกละเอียดด้วยอำนาจของแรงปฏิกิริยาโต้ตอบ (Reaction)

            บทความนี้ผมเขียนขึ้นเพื่อสรุปบทเรียน การเรียนรู้เท่านั้น แต่ผมไม่ได้บอกว่าใช้วิธีใดดีที่สุด หรือเหมาะสมที่สุดกับผู้ใด ผมบอกไม่ได้หรอกนะครับ คนทุกคนมีความแตกต่าง (ปัจเจก) ต่างกันตั้งแต่เริ่มต้นปฏิสนธิเลยด้วย มันอาจมีวิธีปฏิบัติที่มากกว่านี้อีกก็ได้ ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาวินิจฉัยของแต่ละบุคลว่ามากน้อยเพียงใด

            ลองคิดดูว่าหากเราเพิ่มความสูงของไข่ขึ้นไปจนถึงจุดที่อยู่ในสภาวะที่หลุดพ้นจากค่าแรงดึงดูดเข้าสู่ศูนย์กลาง (ไม่มีค่า g) มันก็จะอยู่ในสภาวะไร้น้ำหนัก เนื้อมวลยังอยู่ไข่ยังคงรูปอยู่ได้ และไข่ก็จะไม่มีโอกาสตกลงมากระแทกพื้น มันก็ไม่มีโอกาสแตกแน่นอนใช่ไหมครับ? แต่ทุกวันนี้ทำไม่ถึงยังไม่สามารถขึ้นไปไม่ได้ถึงจุดนั้นได้กันนะ?????

หมายเลขบันทึก: 397776เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2010 13:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 18:02 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

แวะมาให้กำลังใจครับ เป็นบทความที่น่าสนใจมากครับ.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท