ความสัมพันธ์และตัวเชื่อมส่วนประกอบของเศรษฐกิจ


              คนส่วนใหญ่เข้าใจไปในทิศทางตรงกันที่ว่า “ความโลภ (greed)” ถือเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งมีนักเศรษฐศาสตร์บางท่านกล่าวในทำนองยืนยันที่ว่า ความโลภไม่ใช่เรื่องเสียหายแต่อย่างไร กลับเป็นเหตุปัจจัยที่ควรสนับสนุนเสียด้วยซ้ำ เกี่ยวเนื่องจาก ความโลภเป็นเสมือนแรงขับที่สำคัญทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีการผลิตที่สอดรับกับการพัฒนาทางเทคโนโลยี มีผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวม

          ซึ่งในประเด็นของการทำความเข้าใจใน “ความโลภที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์” นั้น ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้ให้ข้อสังเกตบางประการในหนังสือเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ เอาไว้ว่า :

          ...ข้อสังเกตบางอย่างเกี่ยวกับความบกพร่องของคำกล่าวว่า “ความโลภเป็นธรรมชาติของมนุษย์” นั้น คือ

                  ก) ความโลภเป็นธรรมชาติของมนุษย์ก็จริง แต่เป็นเพียงธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์นั้น มนุษย์ยังมีคุณสมบัติอย่างอื่นอีกมาก รวมทั้งคุณสมบัติที่ตรงข้ามกับความโลภนั้น เช่น ความมีเมตา กรุณา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ตลอดจนเสียสละ  ซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ด้วยเช่นกัน

               ข) บางคนมองความโลภที่ว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์นั้น เหมือนอย่างที่เห็นว่าความโลภเป็นธรรมชาติของสัตว์ทั้งหลายอื่นทั่ว ๆ ไป เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย สุนัข หมู หนู แมว เป็นต้น แต่ความจริงหาเหมือนกันไม่ 

                     ความอยากได้ของสัตว์อื่น (ดิรัจฉาน) เหล่านั้น เป็นไปตามสัญชาตญาณ เมื่อได้สนองความต้องการในการกิน อยู่ สืบพันธุ์ ขั้นพื้นฐานแล้ว ก็จบ 

                     แต่ความโลภของมนุษย์มีการปรุงแต่งด้วยศักยภาพในการคิด ทำให้ขยายขอบเขต ทั้งด้านปริมาณ และขีดระดับ เช่น ทำให้เกิดความรุนแรงอย่างไม่จำกัดดังที่ความโลภของคนคนเดียว อาจเป็นเหตุให้ฆ่าคนอื่นเป็นจำนวนล้าน อาจทำให้เกิดการทำลายล้าง ก่อความพินาศแก่เพื่อนมนุษย์ แก่สังคม และแก่ธรรมชาติหรือโลกนี้ อย่างคำนวณนับมิได้ 

                     ยิ่งกว่านั้น ในการที่จะสนองความโลภมนุษย์อาจใช้ความพลิกแพลงยักเยื้องด้วยวิธีการต่าง ๆ ในทางทุจริตได้ซับซ้อนพิสดารอย่างที่ไม่มีในสัตว์อื่นทั้งหลาย ความโลภถ้าจัดการไม่ถูกต้องจึงก่อปัญหาใหญ่ยิ่ง 

                 ค) นักเศรษฐศาสตร์บางท่านถึงกลับเข้าใจว่าความโลภเป็นสิ่งที่ดี โดยเข้าใจว่าทำให้ขยันขันแข็งอย่างที่กล่าวแล้วเป็นต้น บางที่พาลไปนึกว่าวงการเศรษฐศาสตร์เห็นอย่างนั้น แต่นักเศรษฐศาสตร์ใหญ่ ๆ ที่สำคัญ แม้แต่ในกระแสหลักเองก็รู้ว่าความโลภเป็นความชั่ว  

                      ดังเช่น เคนส์ (John Maynard Keynes) มองว่าความโลภเป็นความชั่วอย่างหนึ่ง เพียงแต่มนุษย์ยังต้องอาศัยใช้ประโยชน์จากมันไปก่อนอีกสักระยะหนึ่ง (“อย่างน้อยอีก ๑๐๐ ปี”) โดยเขาเข้าใจว่า ความโลภอยากได้เงินทองนี้ จะต้องมีต่อไปก่อนจนกว่าเศรษฐกิจจะเติบโต สนองความต้องการของมนุษย์ได้เพียงพอ และทำให้มีศักยภาพที่จะกำจัดความยากไร้ให้หมดไป

                     (หลายคนคงบอกว่า สำหรับเศรษฐกิจแบบที่เป็นอยู่ ถ้าจะรออย่างเคนส์ว่านี้ ให้เวลาอีก ๕๐๐ ปี หรือให้เศรษฐกิจโตอีก ๕๐๐ เท่า ก็ไม่มีทางขจัดความยากไร้ได้สำเร็จ) 

                 แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ๒ ข้อต่อไป ได้แก่ 

                 ง) นักเศรษฐศาสตร์เหล่านั้นไม่เข้าใจธรรมชาติของความโลภ ไม่รู้จักความหมายของมันจริง มองเห็นคลุมเครือ และพร่ามัว เริ่มแต่ไม่รู้ว่าความต้องการที่เรียกว่าความอยาก มีความแตกต่างกัน แยกในระดับพื้นฐานก็มี ๒ ประเภท ซึ่งจะเห็นได้จากตัวอย่าง 

                         +      เด็กชาย ก. กวาดเช็ดถูบ้าน เพราะอยากให้บ้านสะอาด

                         -      แต่เด็กชาย ข. กวาดเช็ดถูบ้าน เพราะอยากได้ขนมเป็นรางวัล 

                        +     คนในวงวิชาการคนหนึ่ง เขียนหนังสือหรือทำงานวิจัยขึ้นมาเรื่องหนึ่ง เพราะอยากให้คนรู้เข้าใจเรื่องนั้น จะได้ช่วยกันแก้ปัญหาหรือทำการสร้างสรรค์แก่สังคมอย่างใดอย่างหนึ่ง

                        -     แต่คนในวงวิชาการอีกคนหนึ่งเขียนหนังสือหรือทำงานวิจัยขึ้นมาเรื่องหนึ่ง เพราะอยากได้คะแนนมาเลื่อนขั้นหรือค่าตอบแทนจำนวนหนึ่ง 

 

         ในตัวอย่าง ๒ แบบ ๒ ข้อนี้ 

                        ๑. ความอยากแบบแรก เป็นความต้องการทำให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดมีขึ้น ซึ่งเป็นความต้องการผลโดยตรงของการกระทำ

                  ความต้องการนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นเหตุให้เกิดการกระทำโดยตรง ได้แก่ ความอยากทำ (ในที่นี้หมายเอาการทำเพื่อผลที่ดี หรือทำให้ดี ที่เรียกว่าการสร้างสรรค์ = ใฝ่สร้างสรรค์) ด้วยความต้องการผลของการกระทำนั้น         

                        ๒. ความอยากแบบที่สอง เป็นความต้องการได้สิ่งสำเร็จแล้วอย่างหนึ่งมาครอบครอง หรือเพื่อเสพบริโภค แต่ตนยังไม่มีสิทธิ์ในสิ่งนั้น และมีเงื่อนไขว่าจะต้องทำอะไร (อีกอย่างหนึ่งต่างหาก) จึงจะได้รับสิ่งที่ตนต้องการ

                  ความต้องการนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ไม่เป็นเหตุให้เกิดการกระทำ (สร้างสรรค์) โดยตรง แต่ทำให้หาทางดิ้นรนจวนขวายอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้ได้มา โดยเฉพาะถูกกำหนดด้วยเงื่อนไขให้ต้องทำ (งานนี้) จึงจะได้ (สิ่งนั้น) เรียกว่า ความอยากได้ ซึ่งจะทำเพราะถูกกำหนดโดยเงื่อนไข เพราะไม่ต้องการผลของการกระทำนั้นโดยตรง (เช่น ไม่ต้องการความสะอาด) แต่ต้องการผลตามเงื่อนไข (เช่น อยากได้ขนมรางวัล)

                ความอยากที่เรียกว่า ความโลภ หรือโลภะนั้น ได้แก่ความอยากในข้อที่ ๒ คือ ความอยากได้

                ส่วนความอยากในข้อที่ ๑ มีชื่อเรียกต่างหากว่า ฉันทะ แปลว่า ความอยากทำ หมายถึงอยากทำให้เกิดผลดีอย่างใดอย่างหนึ่งบางทีจึงเรียกว่าอยากสร้างสรรค์ (รวมทั้งอยากทำให้รู้ด้วย : ในที่นี้ยังไม่ได้พูดถึงความต้องการ คือความจำเป็นที่พึงต้องมีต้องได้ ที่ฝรั่งเรียกว่า need)

               เนื่องจากความโลภเป็นเพียงความอยากได้ คนที่โลภมิได้อยากทำ และมิได้ต้องการผลของการกระทำนั้น เขาจะทำต่อเมื่อมี เงื่อนไข ว่า “ต้องทำจึงจะได้” ถ้าได้โดยไม่ต้องทำ ย่อมจะตรงกับความต้องการมากที่สุด

               ดังนั้น เมื่อต้องทำเขาจึงทำด้วยความจำใจหรือไม่เต็มใจ คือทำด้วยความทุกข์ และไม่เต็มใจทำ ทำให้ต้องจัดตั้งระบบการบังคับควบคุม ซึ่งอาจจะซับซ้อนฟอนเฟะ และเพราะถ้าหลีกเลี่ยงได้เขาจะไม่ทำ แต่จะให้ได้โดยไม่ต้องทำ จึงเป็นเหตุให้เกิดการทุจริต และการเบียดเบียนต่าง ๆ ในสังคมได้ทุกรูปแบบ

               ในเมื่อความโลภ คือความอยากได้ (และความอยากทำที่เรียกว่า ฉันทะ) มีบทบาทสำคัญมากในชีวิตของมนุษย์โดยเฉพาะเป็นตัวนำและขับดันกิจกรรมเศรษฐกิจ จึงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ อย่างมาก ถ้าเศรษฐศาสตร์จะให้เศรษฐกิจก่อผลดีแก่ชีวิตและสังคมมนุษย์ ก็จะต้องทำความรู้จักและจัดการกับมันให้ถูกต้อง ซึ่งในขั้นนี้ จะสัมพันธ์กับข้อต่อไปด้วย

                 จ) แนวคิดตะวันตกมองธรรมชาติของมนุษย์แบบนิ่ง หรือตายตัว (static) เศรษฐศาสตร์ปัจจุบันซึ่งเจริญมาตามแนวคิดตะวันตกนั้น จึงมองความโลภและความต้องการต่าง ๆ เป็นแบบเดียวหรือเหมือนว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นตลอดไป และมุ่งแต่จะสนองความต้องการในแบบหนึ่งแบบเดียวนั้นดิ่งไป

                   แต่ที่จริงธรรมชาติของมนุษย์นั้นเปลี่ยนแปลงได้ และตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญที่สุด ธรรมชาติของมนุษย์คือ เป็นสัตว์พิเศษที่ฝึกศึกษาพัฒนาได้ และการฝึกศึกษานี้เป็นหน้าที่ของทุกชีวิต พร้อมกับเป็นภารกิจของสังคมเป็นหัวใจของการจัดการเกี่ยวกับชีวิตและสังคมมนุษย์ทั้งหมด ในการที่จะให้มีชีวิตที่ดี และให้สังคมมีสันติสุข เป็นคุณสมบัติพิเศษที่ทำให้มนุษย์สามารถเป็นสัตว์ประเสริฐ และมีวัฒนธรรม มีอารยธรรมเจริญงอกงามได้

                  โดยเฉพาะจุดที่สำคัญยิ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์มาก คือ เรื่องความต้องการ รวมทั้งความอยาก ๒ แบบข้างต้น ซึ่งปรับเปลี่ยนพัฒนาได้

                  ความต้องการนี้ เมื่อพัฒนาปรับเปลี่ยนไป นอกจากทำให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ซึ่งรวมทั้งพฤติกรรมทางเศรษฐกิจแล้ว ก็เป็นปัจจัยนำการเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นอีกมากมาย รวมทั้งการพัฒนาความสุขด้วย

                 การพัฒนาคุณสมบัติเช่นว่านี้แหละ คือการพัฒนาคุณภาพคน ซึ่งสัมพันธ์สอดคล้องไปด้วยกันกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ชนิดที่เป็นปัจจัยแก่กันและกันกับการพัฒนามนุษย์ในความหมายที่ถูกต้อง

 

             ในสังคมเศรษฐกิจความโลภ (โลภะ) ถือได้ว่าเป็นปฐมฐานที่บังคับ บีบคั้นให้ผลิต “ความต้องการ” อยากได้นั่น อยากได้นี่ไม่มีที่สิ้นสุด รวมทั้งเป็นรากฐานแห่งความโกรธและโมโห (โทสะ)  เมื่อไม่ได้สมใจปรารถนาทำให้เกิดการขัดเคืองใจไม่สบอารมณ์ นำพามาซึ่งความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ ส่วนความหลง (โมหะ) ถือได้ว่าเป็นแรงเสริมส่งสนับสนุนความโลภอย่างเด่นชัดเจนที่สุด เมื่อมีความอยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ความหลงที่มีอวิชชา (ความไม่รู้ในสภาวธรรมตามจริง) เป็นหัวจักรก็จะลากจูงความคิดให้ไปเสพติดในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ ทำให้เกิดความลุ่มหลงในวัตถุที่เสพบำรุงบำเรอว่า สภาวะเหล่านั้นคือความสุข ปลูกฝังหยั่งรากลึกลงไปในความรู้สึกที่แนบแน่น ทำให้พลังอำนาจแห่งโมหะแข็งแกร่งเสริมสร้างเป็นแรงขับเคลื่อนโลภะต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด    

            เศรษฐกิจที่มีส่วนประกอบสำคัญคือ ความต้องการกับการสนองตอบนั้น หากแม้นว่ามนุษย์ทุกคนเมื่อมีความต้องการในสิ่งใดแล้วสามารถเนรมิตสิ่งนั้นขึ้นมาเองได้สมใจปรารถนา ปัญหาทางเศรษฐกิจก็จะไม่เกิดขึ้น (การผลิต การแลกเปลี่ยนรวมทั้งเงิน ก็ไม่มีความจำเป็น) แต่ในความเป็นจริงเมื่อมนุษย์มีความต้องการก็จะพยายามดิ้นรนขวนขวายทุ่มเทกำลังแรงกายและสมองรวมทั้งเทคโนโลยี เพื่อที่จะแปรสภาพจากของสิ่งหนึ่งให้กลายไปเป็นของอีกสิ่งหนึ่งตามความต้องการ หรือที่เรียกกันว่า “กระบวนการการผลิต” นั่นเอง

            เมื่อมนุษย์มีการผลิต มนุษย์ไม่สามารถที่จะผลิตสินค้าขึ้นมาทุกอย่างได้ตามใจที่ปรารถนา เพราะว่า มีแรงบังคับ บีบคั้นจากการจำกัดของทรัพยากร ในกระบวนการผลิตจึงมีความคิดในการวิเคราะห์ถึงเรื่อง “ความคุ้ม – ไมคุ้ม” รวมทั้ง “ทางเลือก – การเลือก” ในการใช้ทรัพยากรมาผลิตสินค้าและบริการ ซึ่งจากประเด็นปัญหาพื้นฐานที่ว่าดังกล่าวสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องจึงจำต้องมี “มูลค่าหรือราคา” ที่เปรียบเสมือนกลไกในการทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน โดยที่มีเครื่องมือที่สำคัญก็คือ “เงิน” นั่นเอง ซึ่งสามารถแสดงถึงความสัมพันธ์ได้ดังภาพ

 ภาพ :ความสัมพันธ์และตัวเชื่อมส่วนประกอบของเศรษฐกิจ

             จากภาพ : ในเบื้องแรก เมื่อความต้องการมาผสานและบรรจบกับการสนองตอบแต่ยังไม่ถือว่าครบรอบแห่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีเป้าหมายเบื้องปลายท้ายสุดคือการบริโภค ดังนั้น กลไกทางด้านราคาและการแลกเปลี่ยนจึงถูกอุปโลกน์ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ในการจัดสรรสินค้าและบริการโดยมี “เงิน” เป็นเครื่องมือที่สำคัญในกระบวนการดังกล่าว

           เมื่อแก่นแท้ของความสัมพันธ์และกลไกในส่วนประกอบของเศรษฐกิจ “เงิน” ถือได้ว่าเป็นเพียงแค่เครื่องมือที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับกลไก (ราคาและการแลกเปลี่ยน) ในการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบและความสัมพันธ์ดังกล่าว จะได้ว่า

        ๑.  สภาวะตัวการ ของเศรษฐกิจประกอบไปด้วย

              ๑.๑ ความต้องการ ซึ่งมีแรงบีบคั้น บังคับจาก “ความโลภ” เป็นสำคัญ

              ๑.๒ การสนองตอบหรือการผลิต ซึ่งมีแรงบังคับ บีบคั้นจาก “การจำกัดของทรัพยากร”

        ๒.  สภาวะเงื่อนไข ของเศรษฐกิจประกอบไปด้วย

              ๒.๑ กลไกในการจัดสรรสินค้าและบริการก็คือ ราคาและการแลกเปลี่ยน  

              ๒.๒ เครื่องมือซึ่งก็คือ “เงิน”

        หากพิจารณาจากตัวสภาวะของเศรษฐกิจ ในภาคส่วนของ ตัวการและเงื่อนไข จะพึงเห็นได้ว่า ปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจะถูกเพ่งพินิจโยนความผิดไปที่ตัวเงื่อนไขหัวใจหลักก็คือ “เงิน” เป็นไปในลักษณะทัศนะที่ว่า ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจมีมาก (น้อย) เกินไป จึงทำให้เกิดวิกฤติ แท้ที่จริงแล้วหากว่าเราเข้าใจในความสัมพันธ์และกลไกในส่วนประกอบของเศรษฐกิจตามจริง ก็จะรู้ได้ว่า “เงิน” เป็นเพียงเครื่องมือในภาคส่วนของเงื่อนไขในการทำให้กลไกของกิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้ตลอดทั้งสายไม่ขาดตอนเท่านั้นเอง

            การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยทั่วไปในปัจจุบันเป็นเพียงการผลักภาระปัญหาไปข้างหน้า เกี่ยวเนื่องจาก มุ่งเน้นแก้ปัญหาที่ตัวเงื่อนไขซึ่งก็คือเงิน แต่ไม่ได้แก้ไขปัญหาที่เหตุปัจจัยในสภาวะตัวการ (ความต้องการและการสนองตอบ) ซึ่งถือได้ว่าเป็นปฐมฐานของกระบวนการทั้งหมด ดังนั้นปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในอนาคตก็จะเกิดขึ้นเรื่อย ๆ และที่สำคัญจะซับซ้อนและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเพราะถูกบังคับ บีบคั้นจากวิกฤติธรรมชาติ

           ตัวการ (ความต้องการ + การสนองตอบ) และเงื่อนไข (ราคา การแลกเปลี่ยน และเงิน) ในความสัมพันธ์ของเศรษฐกิจเมื่อพิจารณาเกี่ยวเนื่องกับหลักพระพุทธศาสนา สามารถเชื่อมโยงได้ว่า

           ตัวการ : ความต้องการ       =   กิเลส

                        การสนองตอบ      =   กรรม (การกระทำหรือกระบวนการการผลิต)

          เงื่อนไข : ราคา การแลกเปลี่ยน และเงิน   =   วิบาก (ผล)

         การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจหากแก้ที่เงื่อนไข (ราคา การแลกเปลี่ยน และเงิน) ซึ่งถือได้ว่าเป็นวิบาก จึงเป็นเสมือนการแก้ปัญหาเพื่อก่อปัญหาในภายภาคหน้าไม่รู้จบ เกี่ยวเนื่องจาก สภาวะตัวการ (ความต้องการ + การสนองตอบ) ที่เป็นตัวสาเหตุหลักใหญ่ยังไม่ได้ถูกแก้ไขในเบื้องแรกนั่นเอง

        เงิน ในความหมายทางเศรษฐศาสตร์คือ อะไรก็ได้ที่สังคมยอมรับให้ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนและมีมูลค่าค่อนข้างที่จะคงที่ หรือ พูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ เงิน คือ ข้อตกลง ร่วมกันของสังคมที่จะใช้อะไรก็ได้เพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ดังนั้นจึงปรากฏในประวัติศาสตร์ของการใช้เงินในรูปแบบต่าง ๆ เช่น หอย โลหะ ทองแดง ทองคำ และเงิน เป็นต้น

            ที่สำคัญ : เงินถือได้ว่าเป็นสิ่งที่รัฐบาลสร้างและผลิตขึ้น รัฐบาลมีสิทธิ์โดยชอบด้วยกฎหมายในการสร้างและผลิตเงิน แต่ประชาชนทั่วไปไม่สามารถที่จะสร้างและผลิตเงินเองได้    

      หน้าที่หลักของเงิน (The function of money)

          เงินถือได้ว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจที่มีการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ ซึ่งหน้าที่หลักของเงินในทางเศรษฐกิจมี ๔ ประการ คือ

                 ประการแรก เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (Medium of exchange) หน้าที่หลักของเงินดังกล่าวคือ ต้องเป็นสิ่งที่อำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการของคนในสังคมให้เป็นไปอย่างคล่องตัว ซึ่งถือได้ว่าเป็นหน้าที่ที่สำคัญในเบื้องแรกสุดของเงิน

                 ประการที่สอง เงินทำหน้าที่เป็นหน่วยวัดมูลค่า (Measure of value or unit of value) คนส่วนใหญ่ในสังคมที่จะทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการต่อกัน ต้องมีการวัดมูลค่าของสินค้าและบริการต่าง ๆ โดยการเปรียบเทียบค่าของสินค้าและบริการออกมาในรูปของหน่วยเงินตรา เพื่อความสะดวกในการแลกเปลี่ยน เช่น หมูกิโลกรัมละ ๑๐๐ บาท ไก่กิโลกรัมละ ๗๐ บาท ทุเรียนกิโลกรัมละ ๕๐ บาท เป็นต้น

                 ประการที่สาม เงินทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการรักษามูลค่า (Store of value) เกี่ยวเนื่องจาก ในระบบเศรษฐกิจมีทรัพย์สินหลายชนิดให้เลือกเก็บเพื่อให้ผู้เก็บได้รับประโยชน์มากที่สุด ซึ่งทรัพย์สินบางอย่างก็คงทนและบางอย่างก็ไม่คงทนหรือยิ่งนานไปมูลค่ายิ่งเสื่อมลง โดยทางเลือกหนึ่งของการที่จะเก็บรักษาทรัพย์สินเหล่านี้ก็คือ การเปลี่ยนเป็นเงินก่อน ก็จะทำให้มูลค่าที่เก็บรักษาไว้มีความมั่นคง และเงินยังมีอำนาจซื้อสินค้าและบริการอื่นได้อีก การที่เก็บรักษามูลค่าทรัพย์สินไว้ในรูปของเงินจึงสะดวกและอาจก่อให้เกิดดอกผลด้วย

                 ประการที่สี่ เงินทำหน้าที่เป็นมาตรฐานในการชำระหนี้ภายหน้า (Standard of deferred payment) การแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการมีทั้งที่ชำระเป็นเงินสด และชำระในรูปแบบของการให้เครดิต หรือในการกู้ยืม ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้ถือเป็นการชำระในอนาคต ซึ่งปัจจัยที่นิยมกำหนดให้ใช้จ่ายหรือชำระหนี้คืนในอนาคตก็คือเงินนั่นเอง เนื่องจากเป็นสิ่งที่สะดวกและมีสภาพคล่อง (liquidity) สูง สามารถนำเงินไปซื้อสินค้าและบริการอื่น ๆ ได้ง่ายและคล่องตัว

 

                ราคา การแลกเปลี่ยน และเงิน นั้นถือได้ว่าเป็นกระบวนการแห่งกระแสสายธารของการดำเนินไปในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันเป็นอย่างมาก จนยากที่จะแยกออกจากกัน ซึ่งการอรรถาธิบายในลักษณะของการหยิบยกเอาราคาขึ้นมาเป็นเหตุปัจจัยทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน และการแลกเปลี่ยนเป็นเหตุปัจจัยทำให้เกิดเงินนั้น เป็นเพียงเพื่อต้องการที่จะสะท้อนให้เห็นตัวเด่นที่ชัดเจนของสภาวะ (ธรรม) ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ดำเนินติดต่อกันไปตลอดทั้งสายไม่ขาดตอนเท่านั้นเอง แต่แก่นแท้แล้วทั้งราคา การแลกเปลี่ยน และเงิน ต่างก็เป็นปัจจัยเกื้อหนุนซึ่งกันและกันในการเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงของกระบวนการด้านกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ดำเนินสืบเนื่องกันไปในกระแสสายธารของกระบวนการทางด้านเศรษฐกิจ

           “เงิน” แท้ที่จริงแล้วเป็นเพียงตัว เงื่อนไข ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่ถูกผลิตคิดค้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือทำให้กลไก (ราคาและการแลกเปลี่ยน) ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้ตลอดทั้งสายไม่ขาดตอน ปัญหาทางเศรษฐกิจที่พ่นพิษอยู่ทั่วทุกมุมโลก เกี่ยวเนื่องจาก คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจในส่วนประกอบของเศรษฐกิจตามจริง มองเงินเป็นใหญ่ให้อยู่เหนือทุกสิ่งและที่สำคัญยังสร้างหน้าที่ (เทียม) ให้กับมันโดยการใช้เก็งกำไร ถือเป็นการให้อำนาจเงินมาครอบงำจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ทั้ง ๆ ที่มนุษย์เป็นผู้สร้างมันขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์หลักในการเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมทางกิจกรรมของระบบเศรษฐกิจ แต่ท้ายที่สุดในปัจจุบันนั้นเงินกลับกลายเป็นอาวุธที่มนุษย์ตกอยู่ในอำนาจของมันถูกครอบงำและใช้เงินเป็นเครื่องมือในการลุกล้ำอำนาจอธิปไตยทางเศรษฐกิจของประเทศอื่น

            การเก็งกำไรจากกลุ่มนักค้าเงินเหล่านี้ล้วนนำพามาซึ่งความเจ็บปวดของประชาชนในประเทศที่ถูกโจมตีค่าเงินดังบทเรียนที่ประธานาธิบดีมิตเตอรองค์ของฝรั่งเศสได้รับในทศวรรษ ๑๙๘๐ ตามมาด้วยนายกรัฐมนตรีจอห์น เมเจอร์ ของอังกฤษ และกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียในปี ค.ศ. ๑๙๙๒ รัฐบาลประเทศเม็กซิโกในปี ค.ศ. ๑๙๙๔ วิกฤตการณ์ค่าเงินหรือต้มยำกุ้งที่เริ่มจากประเทศไทยและขยายตัวไปในภูมิภาคทั้งอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวมทั้งเกาหลีใต้ ในปี ค.ศ. ๑๙๙๗ ต่อด้วยวิกฤติค่าเงินของรัสเซียในปี ค.ศ. ๑๙๙๘ ประสบการณ์ราคาแพงที่ประเทศเหล่านี้ต้องจ่ายเป็นค่าเล่าเรียนและศึกษาให้กับบรรดากลุ่มอาจารย์นักเก็งกำไรอย่างมหาศาลนั้นก็ไม่ได้มีใบประกาศนียบัตรใด ๆ มาการันตีหรือมีหนังสือพันธะสัญญาระหว่างประเทศเหล่านี้และกลุ่มนักเก็งกำไรว่าจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกในอนาคตข้างหน้า

           เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต เช่น “ภารกิจหรือปฏิบัติการที่ใช้ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศเพื่อปกป้องค่าเงินที่สำคัญนั้น เกิดขึ้นเมื่อฤดูร้อนปี ค.ศ. ๑๙๙๒ และ ค.ศ. ๑๙๙๓ เมื่อค่าเงินสกุลต่าง ๆ ของสหภาพยุโรปถูกโจมตีอย่างรุนแรง ธนาคารกลางชาติต่าง ๆ ของยุโรป ใช้เงินทุนสำรองไปถึง ๔๐๐,๐๐๐ ล้านมาร์กเยอรมัน (กว่า ๒๒๕,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สรอ.) ในปี ค.ศ. ๑๙๙๒ และอีกจำนวนหนึ่งในปี ค.ศ. ๑๙๙๓ ซึ่งเป็นมูลค่ามหาศาลเป็นประวัติการณ์ แต่ก็ยังพ่ายแพ้สงครามทางการเงินให้กับบรรดานักเก็งกำไร และอีกเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ประเทศไทยถูกโจมตีค่าเงินตั้งแต่ปลายปี ค.ศ. ๑๙๙๖ ต่อเนื่องจนถึงกลางปี ค.ศ. ๑๙๙๗ โดยครั้งนั้นประเทศไทยต้องใช้ทุนสำรองเพื่อปกป้องค่าเงินบาทกว่า ๓๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสรอ. หรือคิดเป็นประมาณกว่าร้อยละ ๘๐ จากเงินทุนสำรองทางการที่มีอยู่ประมาณ ๔๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสรอ. ในการต่อสู้กับศัตรู (นักเก็งกำไรค่าเงิน) ที่ลุกล้ำอธิปไตยทางเศรษฐกิจ แต่ท้ายที่สุดก็ประสบกับความพ่ายแพ้ในการทำสงครามการเงินให้กับบรรดานักเก็งกำไรเหมือนเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในยุโรปเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๙๒”

          การมอบความซื่อสัตย์และความจงรักภักดีที่มีให้กับอำนาจของเงิน จึงทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุด เปรียบเสมือนเป็นการบิดเบือน ปิดบังอำพรางแก่นแท้ของปัญหาเอาไว้นั่นเอง

          ในประเด็นแง่คิดเกี่ยวกับ “เงิน” ในทางพระพุทธศาสนาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยตรัสเรียกเงินตราว่า “อสรพิษ” (จากหนังสือ พระอานนท์ พุทธอนุชา โดยวศิน อินทสระ หน้า. ๑๕๖ – ๑๕๙)

           ...ชีวิตเป็นเรื่องยากและสับสน พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “ชีวิตเป็นของยาก” ผู้สามารถสางความยุ่งแห่งชีวิตให้เข้าระเบียบได้มีอยู่จำนวนน้อย กล่าวโดยเฉพาะ ชีวิตของมนุษย์ยิ่งยุ่งยากสับสนขึ้นทุกที

              มนุษย์ยอมเป็นทาสของสังคมจนแทบกระดิกกระเดี้ยตัวมิได้เสียแล้ว เมื่อยอมเป็นทาสของสังคม และสังคมนั้นมีแต่ความฟุ้งเฟ้อหรูหรา ความหรูหราเหล่านั้นย่อมได้มาด้วย “เงิน” เขาจึงยอมเป็นทาสของเงินตราอีกด้วย

            “เงินตรานั้นโดยธรรมดา มันเป็นเหมือนทาสที่ทั้งซื่อและโง่ แล้วแต่จะใช้ให้ทำอะไรมันทำทั้งนั้น ใช้ให้ทำดีก็ทำ ใช้ให้ทำชั่วก็ทำ จ้างให้ฆ่าคนก็ไปโดยไม่มีการคัดค้านโต้แย้งใด ๆ เลย

           เมื่อเงินตรามันเป็นทาสที่ทั้งซื่อและโง่อยู่อย่างนี้ ใครยอมให้ทาสคนนั้นมาเป็นนาย ยอมอยู่ใต้อำนาจของมัน เขาจะโง่สักเพียงใด

             พระตถาคตเจ้าเคยตรัสเรียกเงินตราว่า “อสรพิษ” ดังเรื่องต่อไปนี้

               ท้องฟ้าเริ่มสาง แสงสีขาวสาดทาบเป็นแนวยาวทางบูรพาทิศ อากาศแรกรุ่งอรุณเย็นฉ่ำ พระพายรำเพยแผ่ว หอบเอากลิ่นบุปผชาติในเชตวนารามไปตามกระแสระรวยรื่น

               เสียงไก่ป่าขันอยู่เจื้อยแจ้วเคล้ามาตามสายลมวิเวกวังเวง น้ำค้างถูกสลัดลงจากใบไม้เมื่อพระพายพัดผ่านกระทบกับใบไม้เหลืองซึ่งหล่นร่วงลงแล้วดังเปาะแปะ ๆ

               เชตวนารามเวลานี้ตื่นตัวอย่างสงบ ประหนึ่งบุรุษผู้มีกำลังตื่นแล้วจากนิทรารมณ์  แต่ยังนอนเฉยอยู่ไม่ไหวกาย

             พระมหาสมณะ เอกอัครบุรุษรัตน์อุดมด้วยปัญญาธิการและมหากรุณาต่อส่ำสัตว์ ประทับหลับพระเนตรนิ่ง ส่งข่ายตือพระญาณให้แผ่ไปทั่วจักรวาลโลกธาตุ ตรวจดูอุปนิสัยแห่งเวไนยสัตว์อันพระองค์ทรงพอจะโปรดได้ เช้าวันนั้นชาวนาผู้น่าสงสารได้เข้ามาสู่พระญาณของพระองค์

             พออรุณเบิกฟ้า พระศาสดามีพระพุทธอนุชาอานนท์เป็นปัจฉาสมณะตามเสด็จ ออกจากเชตวนารามด้วยพุทธลีลาอันประเสริฐ บ่ายพระพักตร์สู่บริเวณนาของบุรุษผู้น่าสงสารนั้น

             อีกมุมหนึ่ง กสิกรผู้ยากไร้ตื่นขึ้นแต่เช้าตรู่ บริโภคอาหาร ซึ่งมีเพียงผักดองและข้าวแดงพอประทังหิว แล้วนำโคคู่ออกจากคอก แบกไถถือหม้อน้ำออกจากบ้านสู่บริเวณนาเช่นเดียวกัน

             พระตถาคตเจ้าหยุดยืน ณ บริเวณใกล้ ๆ ที่เขากำลังไถนาอยู่นั้น เขาเห็นพระศาสดาแล้วพักการไถไว้มาถวายบังคม พระศาสดามิได้ตรัสอะไรกับเขาเลย กลับเหลียวพระพักตร์ไปอีกด้านหนึ่ง ทอดทัศนาการตรงดิ่งไปยังจุด ๆ หนึ่ง แล้ตรัสกับพระอานนท์ว่า

                          “อานนท์ เธอจงดูเถิด นั่นอสรพิษ เธอเห็นไหม ?”

                          “เห็นพระเจ้าข้า”  พระอานนท์ทูล

                         เพียงเท่านั้นแล้วพระพุทธเจ้าก็เสด็จต่อไป

             ชาวนาได้ยินพระพุทธดำรัสตรัสกับพระอานนท์แล้ว คิดว่าเราเดินไปมาอยู่บริเวณนี้เสมอ ถ้าอสรพิษมีอยู่มันอาจจะทำอันตรายแก่เรา อย่าปล่อยไว้เลย ฆ่ามันเสียเถิด

            คิดแล้วเขาก็นำปฏักไปเพื่อตีงู แต่กลับมองเห็นถุงเงินเป็นจำนวนมากวางกองรวมกันอยู่ เขาดีใจเหลือเกิน ยกมือขึ้นเหนือเศียรน้อมนมัสการพระพุทธองค์ที่โปรดประทานขุมทรัพย์ให้

                           “นี่หรืออสรพิษ” เขาคิดอยู่ในใจ

                           “พระพุทธองค์ตรัสเป็นปริศนาแบบสมณะเท่านั้นเอง ที่แท้พระองค์คงตั้งพระทัยเสด็จมาโปรดเรา”

            แล้วเขาก็นำถุงเงินนั้นไป เอาฝุ่นกลบไว้แล้วไถนาต่อไปด้วยดวงใจเบิกบาน

            พระศากยมุนี เมื่อคล้อยไปหน่อยหนึ่งแล้วจึงผินพระพักตร์มาตรัสกับพระอานนท์ว่า

         “อานนท์ เราเรียกถุงเงินนั้นว่าอสรพิษ วันนี้เองมันจะกัดบุรุษผู้นั้นให้มีอาการสาหัสปางตาย ถ้าไม่ได้เราเป็นที่พึ่ง เป็นพยาน เขาจะต้องตายเป็นแน่แท้” ตรัสอย่างนี้แล้วไม่ยอมตรัสอะไรต่อไปอีก

หมายเลขบันทึก: 397577เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2010 08:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:30 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท