ดอกเบี้ย & ค่าเงินบาท : ตามหลักตรรกะทางเศรษฐศาสตร์


เมื่อพิจารณาตามตรรกะทางเศรษฐศาสตร์ดังกล่าวแล้ว ในปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยของประเทศไทยอยู่ในระดับที่สูงกว่าสหรัฐอเมริกา จึงเป็นอีกเหตุปัจจัยหนึ่ง (ในหลาย ๆ ปัจจัย) ที่ทำให้เกิดชีพจรลงเท้าของเงินทุนที่เข้ามาแสวงหาผลกำไรในรูปแบบของผลตอบแทนทางการเงินรวมทั้งผสมปนเปื้อนกับการเก็งกำไร (ค่าเงิน) อย่างเป็นเนื้อเดียวกันจนแยกไม่ออก ซึ่งการไหลเข้ามาของเงินทุนดังกล่าวก็ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นนั่นเอง

               เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๓ ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เท่าเดิมคือ ร้อยละ ๐ – ๐.๒๕ พร้อมทั้งส่งสัญญาณว่ามีแนวโน้มจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำต่อไปอีกนาน (ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยส่งสัญญาณในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย) ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สรอ. อ่อนค่าลงอีกครั้ง ส่งผลให้เงินทุนต่างประเทศชีพจรลงเท้าเข้ามาหากินยังภูมิภาคเอเชียมากขึ้นรวมทั้งประเทศไทย ซึ่งก็ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นไปแตะที่ระดับ ๓๐.๖๒ บาทต่อดอลลาร์สรอ.

      

         ในประเด็นดังกล่าวหากวิเคราะห์ตามตรรกะทางเศรษฐศาสตร์ถึงความสัมพันธ์ของ อัตราดอกเบี้ย การเคลื่อนย้ายเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว สามารถพิจารณาได้ว่า :     

 

           ประเทศไทยมีขนาดเศรษฐกิจ (Gross Domestic Product : GDP) คิดเป็นประมาณร้อยละ ๐.๔ ของขนาดเศรษฐกิจโลก ซึ่งถือได้ว่ามีขนาดเศรษฐกิจที่เล็กมาก ดังนั้นแนวความคิดและกรอบการวิเคราะห์ของเศรษฐกิจมหภาคของระบบเศรษฐกิจขนาดเล็กแบบเปิดที่เลือกนำมาใช้ในการวิเคราะห์คือ แบบจำลองมันเดล-เฟมมิ่ง (Mundell-Fleming Model) พัฒนาโดย Robert Mundell และ Marcus Fleming ซึ่งได้รับการเรียกขานกันบ่อย ๆ ว่าเป็น Workhorse Model แบบจำลองดังกล่าวเป็นการศึกษาและวิเคราะห์ระบบเศรษฐกิจแบบเปิดในระยะสั้น โดยอาศัยเส้น IS Curves ซึ่งเปรียบเสมือนการใช้นโยบายการคลัง เส้น LM Curves เปรียบเสมือนการใช้นโยบายการเงินในประเทศ และแบบจำลองในระบบเศรษฐกิจแบบเปิดจะมีเส้นดุลยภาพของดุลการชำระเงินคือ เส้น Balance of Payment (BP)

     

          เมื่อเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐอเมริกา (เสมอเหมือนเป็นอัตราดอกเบี้ยของตลาดเงินโลก) กับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศไทยนั้น ในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ในระดับที่สูงกว่า จึงอุปมาอุปมัยเหมือนประเทศไทยดำเนินนโยบายการเงินแบบหดตัว (อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มสูงขึ้น)

        

          การวิเคราะห์ ผลนโยบายการเงินในระบบเศรษฐกิจแบบเปิด : กรณีการเคลื่อนย้ายเงินทุนเป็นไปอย่างสมบูรณ์ (Monetary  Policy in the Open Economy : The Case of Perfect Capital Mobility) ในกรณีผลกระทบของนโยบายภายใต้อัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่นได้ (Policy Effect Under Flexible Exchange Rates) : กรณีการใช้นโยบายการเงินแบบหดตัว 

        

               หากมีการปรับเพิ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยสะท้อนนัยเปรียบเสมือนความต้องการที่จะ ลดปริมาณเงิน ในระบบลง ตรรกะทางความคิดก็จะได้ผลตรงกันข้ามกับการเพิ่มปริมาณเงิน กล่าวคือ เริ่มที่จุดดุลยภาพ E0 ที่ระดับรายได้ Y0 และอัตราดอกเบี้ย r0 เมื่อรัฐบาลใช้นโยบายการเงิน ด้วยการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเปรียบเสมือนเป็นการส่งสัญญาณเพื่อต้องการลดปริมาณเงินในระบบดังนั้นปริมาณเงินจาก M0 เป็น M1 ดังภาพ (๒ ) ทำให้เส้น LM เลื่อนไปทางซ้ายมือ จาก LM(M0) เป็น LM(M1) อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ r1 และรายได้เพิ่มขึ้นเป็น Y1 ซึ่งอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศนั้นอยู่สูงกว่าระดับอัตราดอกเบี้ยของต่างประเทศจุดชนวนให้เงินทุนไหลเข้าเป็นจำนวนมาก โดยในระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่นได้ไม่มีผลกระทบต่อตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจากการแทรกแซงของธนาคารกลาง เมื่อบรรดานักลงทุนนำเงินตราต่างประเทศมาแลกเงินในประเทศ มีผลทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศลดลงและค่าเงินของประเทศแข็งค่าขึ้น จาก e0 เป็น e1 ซึ่งทำให้การส่งออก (X) ลดลง และการนำเข้า (M) เพิ่มขึ้น เส้น IS เลื่อนไปทางซ้ายมือทำให้เส้น IS เลื่อนจาก IS(e0) เป็น IS(e1) ตัดกับเส้น LM ใหม่ คือ LM(M1) ที่จุดดุลยภาพใหม่คือ E1 ทำให้ GDP ลดลงจากเดิม Y1 มาเป็น Y2 และทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในช่วงแรกก็จะถูกใช้ไปจากเงินตราต่างประเทศที่นำไปใช้ในการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น นโยบายการเงินจึงได้ผลสูงมากเมื่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนเป็นไปอย่างสมบูรณ์และใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่นได้ เนื่องจากว่า กลไกที่นโยบายการเงินทำงานไม่ได้ทำงานผ่านอัตราดอกเบี้ยอีกต่อไป แต่ทำงานผ่านอัตราแลกเปลี่ยนและผลที่ตามมาคือ การนำเข้าเพิ่มขึ้นและการส่งออกลดลงส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงดุลการค้าและดุลการชำระเงิน ดังภาพ

 

ภาพ  นโยบายการเงินแบบหดตัว (อัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่นได้) 

 

        เมื่อพิจารณาตามตรรกะทางเศรษฐศาสตร์ดังกล่าวแล้ว ในปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยของประเทศไทยอยู่ในระดับที่สูงกว่าสหรัฐอเมริกา จึงเป็นอีกเหตุปัจจัยหนึ่ง (ในหลาย ๆ ปัจจัย) ที่ทำให้เกิดชีพจรลงเท้าของเงินทุนที่เข้ามาแสวงหาผลกำไรในรูปแบบของผลตอบแทนทางการเงินรวมทั้งผสมปนเปื้อนกับการเก็งกำไร (ค่าเงิน) อย่างเป็นเนื้อเดียวกันจนแยกไม่ออก ซึ่งการไหลเข้ามาของเงินทุนดังกล่าวก็ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นนั่นเอง

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 397572เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2010 08:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 17:16 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท