ปฐมวัยเพลินเล่นเป็นเรียน


ปฐมวัย

ปฐมวัยเพลินเล่นเป็นเรียนสัมผัสกับธรรมชาติ  สัมผัสแห่งปัญญา

บทเรียนจาก  ดิน  น้ำ  ต้นไม้ สัตว์น้อยใหญ่ และสายลม

 

                                                                                                         รุ่งลาวัลย์  ละอำคา

 

ปรัชญาการจัดการศึกษาปฐมวัยมุ่งเน้นการอบรมเลี้ยงดูเพื่อส่งเสริมพัฒนาการตามวัยเน้นการจัดการเรียนรู้ผ่านการเล่น เพื่อตอบสนองและส่งเสริมศักยภาพของเด็กรายบุคคลให้มีความพร้อมทั้งทางด้านร่างกาย  อารมณ์  จิตใจ  สังคม  และสติปัญญา  แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสภาพการจัดการศึกษาที่ปรากฏให้เห็นในสังคมปัจจุบันนั้น  มีสิ่งที่ผิดเพี้ยนไปจากหลักการ เช่น  การเร่งให้เด็กเรียน เขียน อ่าน การจัดการศึกษาแบบแก่งแย่ง  แข่งขัน  เร่งเรียน เร่งรู้  รู้ก่อนคือดี รู้ก่อนคือเก่ง  การเล่นตามธรรมชาติแห่งวัยของเด็กสูญเสียไป  เพราะเด็กถูกผลักไปสู่การเรียนรู้ตามโรงเรียน  ศูนย์พัฒนาเด็ก หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก  แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงของชีวิตนั้น เด็กต้องได้เติมเต็มชีวิตตามสัญชาตญาณให้พรั่งพร้อมก่อน  นั่นคือการเติบโตตามธรรมชาติ ในอ้อมกอดของพ่อแม่ ครอบครัว และผู้ใหญ่ที่เข้าใจ  ให้เขาได้เรียนรู้  ได้ใช้ชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริงของชีวิตประจำวัน เรียนรู้จากสิ่งต่าง  ๆ ที่มีอยู่รอบกายเพื่อ เติมเต็มชีวิตด้านใน  คือ  จิตใจ  และด้านนอก  คือร่างกายให้สมบูรณ์ก่อน

สำหรับเด็กในช่วงปฐมวัย  “การเล่น”   มีความสำคัญต่อชีวิตและการเจริญเติบโตของพัฒนาการชีวิต ไม่น้อยไปกว่า อากาศ   อาหาร และน้ำ อันเป็นเครื่องบำรุงหล่อเลี้ยงร่างกายให้เติบใหญ่  การเล่นจึงเป็นสาระสำคัญในการทำความรู้จักกับโลกแวดล้อม  ทั้งที่เป็นธรรมชาติ วัตถุ และกฎเกณฑ์ต่าง  ๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น   อีกทั้งเป็นการสำรวจและทำความรู้จักกับศักยภาพทั้งหลายที่มีอยู่ภายในตนและเป็นการเรียนรู้ที่จะเข้าใจในความสัมพันธ์กับสิ่งต่าง  ๆ

การเล่น เป็นประสบการณ์ของประสาทสัมผัสทุกด้าน  ไม่ว่าจะเป็น  ตา หู  จมูก  ลิ้น  ผิวกาย  อย่างครบถ้วน ช่วงเวลาแห่งการเล่น จึงเป็นห้วงเวลาทองของการเรียนรู้ ซึ่งเด็กแต่ละคนจะมีการเล่นที่มีลักษณะเฉพาะตน ซึ่งเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามศักยภาพ  เด็กจะได้ใช้ร่างกาย ประสาทสัมผัสต่าง  ๆ  ได้ใช้ความคิด  จินตนาการและสร้างสรรค์อย่างเพลินใจ เกิดความสนุกสนานที่ได้ลองผิด ลองถูก เรียนรู้ทั้งความสำเร็จ และความล้มเหลว พลังแห่งการเล่น จึงเป็นพลังแห่งการเรียนรู้โลกรอบกายเพื่อเติมเต็มโลกภายในตนของเด็ก เป็นการผสานระหว่างโลกแห่งความจริงและโลกแห่งความฝันให้ปรากฏเป็นผลงานจากการสร้างสรรค์อย่างตั้งใจ  การเล่นจึงกลายเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีความหมายสำหรับเด็ก ๆ

การเล่น “ดิน  หิน  ไม้  ทราย  น้ำ”  ที่เด็ก  ๆ  ทั่วทุกมุมโลกโปรดปรานเป็นที่สุดนั้น  เป็นดังบทเรียนแห่งธรรมชาติ  ซึ่งเป็นสื่อการเรียนรู้ที่หาง่ายใช้ต้นทุนต่ำ แต่ให้คุณค่าสูง เพราะสื่อเหล่านี้ท้าทายและสนองตอบต่อความกระหายใคร่รู้ของพวกเขาอย่างไม่หยุดยั้ง  เราจะเห็นได้ว่าเมื่อเด็ก  ๆ  วุ่นอยู่กับการเล่นดิน  เล่นทราย  เล่นน้ำ เล่นกลางสายฝน หรือปีนป่ายต้นไม้ เด็กจะไม่หยุดเล่น หยุดเรียนรู้  จนกว่าฟ้าจะมืด ท้องจะหิว  หรือผู้ใหญ่จะห้ามปราบ  ขอร้อง หรือ อ้อนวอนให้เลิกเล่น  เสน่ห์แห่งธรรมชาติเป็นสื่อการเรียนรู้ที่มีชีวิต เด็กจะเพลิดเพลิน  จดจ่อ สุขใจกับกิจกรรมอย่างไม่รู้สึกเบื่อหน่าย  นับเป็นคุณค่าจากธรรมชาติที่เสริมสร้างคุณค่าชีวิตให้กับวัยเด็กได้เป็นอย่างดี  สุมน อมรวิวัตน์ (2544 : 7-9)  ได้เสนอแนวคิดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสัมผัสกับธรรมชาติไว้ว่า

…ธรรมชาติ  คือ  ตัวเรา

ธรรมชาติ  คือ  คน  สัตว์  สิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา

ธรรมชาติ   คือ  ชีวิต  และรวมสิ่งที่ไม่มีชีวิต

ชีวิต และธรรมชาติ  คือ ศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้

คือ  เรียนรู้ธรรมชาติในตัวเราเอง

เรียนรู้ในธรรมชาติของมนุษย์และสังคม

เรียนรู้ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม

เรียนรู้ความเป็นทั้งหมดของธรรมชาติและชีวิต

…มนุษย์ได้รับพรอันประเสริฐจากธรรมชาติ

มนุษย์มีสมอง  มีหัวใจ  มีระบบสัมผัสและสัมพันธ์

มีเครื่องมือรับรู้อันมหัศจรรย์  คือ   ตา  หู   จมูก   ลิ้น  สัมผัสกายและสัมผัสใจ

มีระบบประสาทรับรู้  รูป  เสียง  กลิ่น  รส

เย็น  ร้อน  อ่อน  แข็ง  และรับรู้อารมณ์

…เมื่อมนุษย์ สัมผัสและสัมพันธ์กับธรรมชาติ

ใบไม้เหี่ยว เหลือง  ร่วงหล่น

ตัวหนอนไต่กิ่งไม้

กลิ่นหอมของดอกแก้วยามลมรำเพย

ความเย็นชื่นริมลำธาร

ผืนดินยามแห้งแตกระแหง

…ขอเพียงโอกาสให้ผู้เรียนรู้จักตนเอง

ความเชื่อมโยงกลมกลืนระหว่างตนเองกับธรรมชาติ

โลก  ชีวิต   สังคมแห่งการเรียนรู้

ห้องเรียนธรรมชาติ ที่กว้างใหญ่ไพศาล มีสีสัน

เปลี่ยนแปลงทุกฤดูกาล  ทุกวันเวลา

…ครูคือกัลยาณมิตรของศิษย์

ผ่านชีวิตมาก่อน อาบน้ำร้อนมานาน

ใช้ประสบการณ์สร้างสรรค์  นำทาง  ชี้แนะ   ช่วยเหลือ

ธรรมชาติมีบทเรียนที่ยิ่งใหญ่  มีใหม่เสมอไม่รู้จบ

 เป็นโจทย์ที่ครูกับศิษย์ช่วยกันพิสูจน์เสมอมา

นี่คือกระบวนการเรียนรู้แบบหนึ่ง

 

ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเปิดห้องเรียนสู่โลกธรรมชาติ  โลกแห่งความจริง  โลกแห่งชีวิต สัมผัสเรียนรู้จากสื่อของจริง  เรียนจากบทเรียนธรรมชาติ  จัดโดยธรรมชาติ  ไม่เก็บค่าเล่าเรียน เป็นบทเรียนที่ทรงค่า เป็นบทเรียนที่ไม่หลอกลวง  ธรรมชาติจะยืดหยุ่น  สมดุล หากเราจัดให้เด็กได้เล่นอย่างมีความสุข เราจะวางใจที่จะให้เด็กเป็นผู้รักษาความงดงามและความสมดุลแห่งธรรมชาติให้คงอยู่  เพราะเมื่อเด็กรู้คุณค่าของบทเรียน   เด็กย่อมรัก ถนอม และปกป้องโลก  เราจะได้วางใจที่จะฝากโลกทั้งใบไว้ในมือเด็ก 

ขอแบ่งปันความสุขจากภาพความทรงจำอันงดงามในวัยเด็กที่ผู้เขียนประทับใจไม่รู้ลืม จากประสบการณ์การเล่นกับสื่อธรรมชาติ  ผสานกับมวลประสบการณ์ด้านการศึกษาปฐมวัยที่ได้ศึกษาเรียนรู้มา เพื่อเป็นแนวทางแห่งการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย ให้เด็กได้สัมผัสกับธรรมชาติ  อันเป็นสัมผัสแห่งการสร้างปัญญาจากบทเรียนที่น่าอัศจรรย์  ดิน น้ำ  ต้นไม้  สัตว์รอบกาย และสายลม

บทเรียนจากผืนดิน  การเปิดโอกาสให้เด็ก ได้สัมผัส กับดิน ชนิดต่างๆ ทั้งดินทราย  ดินร่วน  ดินเหนียว ให้เด็กได้สัมผัสกับความหลากหลายของเนื้อดินแต่ละชนิด ให้นิ้วน้อย  ๆ ของเด็ก  ๆ ได้ทุบ ตี นวด บีบ  ขยำ  กำ  ปั้น  สัมผัสกับความเหนียว นุ่ม  อ่อน  แข็ง ของดินแต่ละชนิด  ให้เด็กเห็นการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง รูปทรงเมื่อดินแต่ละชนิดสัมผัสกับ  น้ำ  สายลมและ แสงแดด ให้โอกาสเด็กเล่นกับดิน เล่นกับโคลน ขุดดิน     พรวนดิน เกลี่ยกลบ ผืนดินให้สม่ำเสมอ ดำนา ปลูกข้าว ปลูกพืช   จับปลา  หาของ ในโคลนตม ได้เดินลุยโคลน ได้ก่อกองทราย  ออกแบบสิ่งก่อสร้างบนผืนดิน เช่น  ปราสาททราย  บ้านทราย  อุโมงค์ ถนน จำลองดินหรือทรายเป็นสัตว์  เป็นอาหารหรือ เป็นขนมรูปทรงต่าง ๆ  ตามจินตนาการ

            การปั้นดินเหนียวเป็นรูปร่าง สิ่งของเครื่องใช้  พืช สัตว์ หรือการนำวัสดุอื่นๆ เช่น  กิ่งไม้ ลูกไม้ หรือวัสดุเหลือใช้อื่นมา ผสานต่อเติม ประติดประต่อ เป็นการเสริมสร้างจินตนาการ กระตุ้นให้เด็กคิดและสร้างผลงานจากวัสดุที่ยืดหยุ่นได้  การลื่นไถลบนผืนดิน  การสัมผัสผืนดินหลากหลายชนิดด้วยเท้าเปล่า ในฤดูกาล หรือ สภาพดินที่ต่างกัน การขุดดิน การสังเกตชีวิตสัตว์น้อยใหญ่ที่อาศัยอยู่ใต้ผืนดิน บนดิน ไม่ว่าจะเป็นพืชและสัตว์ เรียนรู้กับจอมปลวก รังมด หรือสัตว์ต่าง ๆ ที่มีชีวิตอยู่ในพื้นดิน

            ผืนดินเป็นดังหนังสือเล่มใหญ่ ที่มีหลายบทเรียนซึ่งล้วนแต่เป็นบทเรียนที่ขับเคลื่อนไปตามความจริง  ความฝัน จากสมอง จากการลงมือปฏิสัมพันธ์ ดินมีความยืดหยุ่น ความอบอุ่น ความแข็ง ตามสภาพการ ดินจึงเป็นบทเรียนแห่งการเข้าใจโลก เข้าใตนเอง การสัมผัสผืนดินจึงได้คุณค่ามหาศาลต่อชีวิตของเด็ก

            สายน้ำ สายธารแห่งปัญญา การที่เด็กได้เล่นกับน้ำ น้ำเป็นสื่อที่เปลี่ยนรูปร่างตามภาชนะที่บรรจุ  น้ำสามารถเปลี่ยนสถานะต่างๆ ได้  ให้เด็กได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของน้ำจากการต้มน้ำ  โดยให้เด็กเรียนรู้การทำอาหารง่ายๆ เห็นการผุดเดือดของน้ำเมื่อได้รับความร้อน เห็นการเปลี่ยนแปลงของอาหารจากเริ่มปรุงจนสุกด้วยความร้อน  เด็กจะเห็นและสัมผัสกับการพวยพุ่งของไอน้ำสู่อากาศ  เห็นการเปลี่ยนเป็นก้อนของน้ำเมื่อได้รับความเย็น  เห็นการละลายของก้อนน้ำแข็งกลับกลายเป็นน้ำ เด็กจะได้ซึมซับเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงตามวัฏจักรของน้ำ อันเป็นวิทยาศาสตร์ที่สัมพันธ์กับชีวิต

            น้ำเป็นสารที่เกื้อกูลต่อชีวิตในโลก ต้นไม้  พืช  สัตว์ ล้วนแต่ต้องอาศัย ให้เด็กได้เรียนรู้การใช้น้ำอย่างประหยัด การอนุรักษ์ และแก้ปัญหาน้ำเน่า เรียนรู้การแก้ปัญหาน้ำสกปรกโดยการกรองน้ำด้วยวัสดุต่างๆ  เช่น ทราย หิน กรวด หรือ ถ่าน การเน้นย้ำ  ซ้ำ ทวน ให้เขาตระหนักรู้ด้วยการเล่นกับน้ำอย่างสุขใจ ทั้งการดื่มน้ำสะอาด น้ำสมุนไพรจากพืชในท้องถิ่น การนำน้ำมาปรุงอาหาร หุงข้าวหอมกรุ่น ได้เล่นสนุกกับการละเลงสีน้ำ   การเล่นฉีดน้ำ การอาบน้ำอย่างเริงร่า การรดน้ำต้นไม้ พืช  ผัก  ในสวนสวย  การเล่นกับน้ำบนผืนดิน ให้เห็นเส้นทางการไหลของน้ำออกแบบชลประทานสายน้อย  บ่อน้ำน้อยที่แสนเริงร่าของเด็ก  ๆ  การที่เด็กได้ออกแบบสร้างสรรค์ เล่นอย่างสุขใจ จะเติมเต็มพื้นที่ภายในใจของเขาให้มีพลังแห่งธรรมชาติเกื้อกูลและเติมเต็มจิตอนุรักษ์ ได้เป็นอย่างดี

            ปลูกต้นไม้ ปลูกชีวิต  การให้เด็กได้เรียนรู้กับการปลูก การดูแลรักษาเพื่อให้ต้นไม้เจริญเติบโตนั้นเป็นงานซึ่งกระตุ้นให้เด็กได้รับผิดชอบอย่างตั้งใจในการที่จะดูแลเอาใจใส่แล้วเฝ้าดูผลงาน  เมื่อต้นไม้งอกงามเติบโต  ออกดอก  ออกผล เด็กจะภาคภูมิใจในงานที่เขามุ่งมั่น การดูแลต้นไม้ซึ่งเป็นดั่งชีวิตที่ไม่ได้เรียกร้องจะเอื้อให้เด็กได้เรียนรู้การเป็นผู้ให้อย่างบริสุทธิ์ และการได้รับผลของการกระทำคือ ต้นไม้ให้ผลคือความงอกงาม  เป็นการเรียนรู้ที่ให้เด็กได้ซึมซับในบทเรียนแห่งธรรมชาติ ธรรมชาติที่ให้ผลที่เป็นธรรมเสมอ การให้เด็กๆ  ปลูกต้นไม้และดูแลอย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นบทเรียนแห่งการเติมเต็มชีวิตด้านในของเด็กๆ ได้เป็นอย่างดี  ต้นไม้น้อยใหญ่ที่อยู่รอบ ๆ ตัวเด็กมีคุณสมบัติที่หลากหลาย  ต้นไม้เป็นปัจจัยสี่แห่งชีวิต

เด็กเรียนรู้การสร้างที่อยู่อาศัยด้วยการร่วมมือกันสร้างกระท่อม สร้างบ้านเล็กๆ บนต้นไม้ หรือสร้างบ้านด้วยใบไม้ กิ่งไม้ ใบหญ้า ฟางข้าว การเล่นสร้างกระท่อมน้อยกลางนาข้าวในฤดูเก็บเกี่ยวด้วยฟางข้าว แล้วเข้าไปเล่นในกระท่อมอย่างสุขใจและภาคภูมิใจยังเป็นภาพแสนประทับใจสำหรับเด็ก ๆ หลายคนในชนบท           การเล่นก่อสร้างจะทำให้เด็กๆ ได้ออกแบบ ทดลอง ลงมือทำจนประสบความสำเร็จ เป็นการเรียนรู้ที่ให้ความสำคัญทั้งกระบวนการและผลผลิตอย่างแท้จริง    

          เด็กเรียนรู้การทำอาหารจากพืชผักตามฤดูกาลที่มีในท้องถิ่น หรือพืชผักจากสวนที่เด็กๆ ปลูกเอง นำมาทำเป็นอาหารง่าย ๆ โดยอาจเชิญผู้ปกครอง  แม่ครัว หรือภูมิปัญญาในชุมชนมาจัดการเรียนรู้ร่วมกันกับเด็ก ๆ ซึ่งอาหารที่ร่วมกันทำอาจเป็นอาหารตามประเพณี  เช่น  ข้าวจี่ ข้าวต้มมัด  ข้าวเกรียบ เป็นต้น  การที่เด็กได้ลงมือ หั่น เด็ด ปลอก กวน เคี่ยว จัดวาง ผลไม้ จะทำให้เด็กได้ใช้ประสาทสัมผัสอย่างครบถ้วน และสิ่งสำคัญ คือได้กลิ่นหอมโชยของพืชผักขณะปรุงและได้รับประทานอย่างเอร็จอร่อย  เป็นการเรียนรู้ที่อิ่มเอมทั้งกายและใจ

            เด็กเรียนรู้คุณค่าสมุนไพร รอบ ๆ ตัวเด็กมีต้นไม้ที่ให้คุณค่าเป็นทั้งยาและอาหาร การให้เด็กได้เรียนรู้สมุนไพรให้สี  กลิ่น เป็นยารักษาโรค มีคุณค่าต่อสุขภาพ จัดกิจกรรมให้เด็กได้สัมผัสกับคุณค่าสมุนไพร เช่น การทำน้ำสมุนไพร  การทำลูกประคบอย่างง่าย ๆ ด้วยพืชสมุนไพร เช่น ตะไคร้  ใบมะขาม ใบมะกรูด ขมิ้น  ไพรให้เด็กได้สัมผัสกับกลิ่นหอมชื่นใจ เป็นบทเรียนที่สร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย เรียนรู้การประคบด้วยลูกประคบ การที่เด็กได้สัมผัสเรียนรู้ผ่านสมุนไพร  ใช้สมุนไพรในการดับกลิ่นห้องน้ำ การสกัดน้ำมันหอมระเหยอย่างง่าย ๆ การเรียนรู้โดยให้เด็กได้สัมผัสบรรยากาศแวดล้อมด้วยสมุนไพรและการนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันอย่างรู้ค่า

เด็กเรียนรู้ต้นไม้ให้เส้นใยถักทอเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้  เครื่องนุ่งห่ม โดยให้เด็กได้จักสานง่าย ๆ จากใบตอง ใบมะพร้าว  ต้นกก หรือ เส้นใยจากกล้วย  ป่าน  ปอ  ฝ้าย เช่น การจัดกิจกรรมการเรียนรู้เกี่ยวกับการทอเสื่อกก  การปั่นฝ้าย ซึ่งการเรียนรู้อาจไม่ต้องเน้นที่ผลผลิตว่าเด็กต้องทำได้อย่างงดงาม เพราะสิ่งสำคัญ คือ ให้เด็กได้สัมผัสกับกระบวนการตลอดเส้นทางการเรียนรู้ เช่น การฉีกต้นกกออกเป็นเส้น การจัดเรียงหรือถักทอกกทีละเส้น การมัด การจัดวางอย่างเป็นระเบียบ ในส่วนของการทำเส้นใยจากฝ้ายเด็กจะได้สนุกกับการปั่นฝ้ายเห็นเมล็ดฝ้ายที่กระเด็นกระดอนออกมาจากแรงหมุน ได้ลงมือดีดปุยฝ้าย แล้วผ่านเครื่องที่ปั่นออกมาเป็นเส้น ๆ  รวมถึงการนำเส้นด้ายมาถักทอ การให้เด็กได้เรียนรู้ในทุกกระบวนการจะทำให้เขาเป็นผู้ร่วมทั้งการสังเกต การลงมือทำ การเห็นแบบอย่างจากการสาธิตของครูหรือผู้รู้ในชุมชน เด็กจะได้ซึมซับเรียนรู้จากการสัมผัสของจริงที่มีคุณค่า

          ชีวิตน้อยใหญ่   การให้เด็กได้เรียนรู้จากการสัมผัสกับชีวิตสัตว์ที่อยู่รายรอบ  รวมทั้งให้เด็กได้เป็นผู้ดูแลสัตว์ต่างๆ เช่น เป็ด ไก่  นก ปลา  สุนัข แมว วัว ควาย หรือสัตว์อื่นๆ ที่มีในท้องถิ่น เด็กจะได้เกื้อกูลเอื้อเฟื้อ ได้สังเกตการเจริญเติบโตและสังเกตลักษณะรูปร่าง  ลักษณะนิสัยของสัตว์เพื่อเรียนรู้การปฏิบัติต่อสัตว์อย่างเป็นมิตร สิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่ควรให้เด็กเรียนรู้มีมากมาย เช่น ปลวก  ด้วง  มด ใส้เดือน  แมลง ยุง ให้เขาสัมผัสกับชีวิตเล็ก ๆ เห็นการอยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพาอาศัย  โดยจัดกิจกรรมให้เด็กเฝ้าสังเกต เก็บข้อมูลด้วยการวาดภาพ หรือ ให้เด็กมีโอกาสถ่ายภาพสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเขาเองแล้วนำมาเปรียบเทียบ  จำแนกแยกแยะ  โดยการเรียนรู้เน้นใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ คือ ให้เด็กได้ ตั้งปัญหา  สืบเสาะ ตรวจสอบ ค้นคว้า  ทดลอง  เก็บรวบรวมข้อมูล และสรุปผลด้วยตัวของเขาเองโดยมีครู หรือ ผู้ใหญ่คอยชี้แนะและกระตุ้นให้เกิดการคิด          การแสดงออก

          สายลม สายใยแห่งชีวิต ท่ามกลางสายลมพัดโบก การจัดกิจกรรมให้เด็กเล่นท่ามกลางสายลม  เช่น การเล่นว่าว เด็กจะได้เรียนรู้ทิศทางลม การออกแบบว่าวรูปร่างลักษณะต่าง ๆ ตามความนิยมของท้องถิ่นหรืออาจให้เด็กเรียนรู้ว่าวที่มีรูปร่างลักษณะแตกต่างออกไป เช่น  ว่าวงู ว่าวผีเสื้อ  การให้เด็กได้ลงมือทำว่าวแล้วทดลองวิ่งกลางสายลม มีการปรับปรุงแก้ไข เมื่อว่าวมีปัญหาท่ามกลางสายลม  เมื่อเด็กได้เห็นปัญหาแล้วหาทางปรับปรุงแก้ไข ซึ่งผู้ใหญ่ควรให้กำลังใจและชี้แนะ กระตุ้นให้เขาได้ทดลองและค้นพบด้วยตัวเขาเอง การเล่นท่ามกลางสายลมมีหลากหลายวิธีการเช่น  การเล่นกับลูกโป่ง การเป่าลม การสูบการอัดด้วยลม เล่นกังหัน ริบบิ้น ผืนผ้า การเป่าฟองสบู่  หรือเป่าเศษวัสดุที่เบา  เพื่อสังเกตทิศทางที่วัสดุนั้นล่องลอยไป ได้เห็นทิศทางของลม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่รอบ ๆ ตัวเรา  ส่วนการเรียนรู้สายลมในตัวเด็ก  ควรให้เด็กได้เรียนรู้โดยสัมผัสกับลมหายใจของตนเอง ในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น การเป่าลมเข้าวัสดุต่างๆ เช่นลูกไป่ง  หลอดดูด ถุงพลาสติก  รวมถึงการกำหนดการหายใจ เข้า ออก การเล่นโยคะพื้นฐานสำหรับเด็ก โดยอาจเป็นการกำหนดท่าทางที่สัมพันธ์กับหายใจ เด็กจะได้เรียนรู้คุณค่าของสายลมกับการมีชีวิต  สายลมจึงเป็นบทเรียนที่ไม่สามารถมองเห็นเป็นรูปธรรมได้  แต่สามารถสัมผัสและเรียนรู้ได้ นับว่าเป็นบทเรียนที่ไร้รูปร่างแต่มีอยู่จริง  การให้เด็กได้สัมผัสเรียนรู้กับสายลมจึงเป็นการส่งเสริมทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ได้เป็นอย่างดี

 

การส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยได้เล่นอย่างเพลิดเพลิน  ได้คิด ได้วางแผน สืบเสาะ แก้ปัญหาเมื่อเกิดอุปสรรค ให้เขาเรียนรู้ที่จะเผชิญกับความล้มเหลว  ความสำเร็จ นับเป็นบทเรียนที่มีคุณค่า  เพราะการเรียนรู้ของเด็กวัยนี้ คือการเรียนรู้ที่ต้องเล่น ลงมือปฏิบัติกิจกรรมผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้าอย่างสม่ำเสมอ เมื่อให้เด็กปฐมวัยเรียนรู้ในธรรมชาติ  จึงส่งผลให้เด็กเกิดปัญญาจากบทเรียนที่เป็นจริงของชีวิต  เพราะแท้ที่จริงแล้วมนุษย์หรือ สัตว์ในช่วงปฐมวัย  หลังจากที่ได้เคลื่อนตัวออกมาจากอกอุ่นของแม่  ย่อมต้องเรียนรู้ตามสัญชาตญาณของการที่จะดำรงชีวิตบนโลก  นั่นก็คือการเรียนรู้ที่จะเอาตัวรอดปลอดภัย เรียนรู้ที่จะอยู่กับสภาพทางธรรมชาติเดิมแท้ คือ  เรียนรู้กับแม่ของตน เรียนรู้กับผืนแผ่นดิน  สายน้ำ  ต้นไม้ สรรพสัตว์ ผู้คน หรือ สายลมที่อยู่รายรอบ เมื่อเขาได้สัมผัสกับสิ่งเหล่านี้อย่างอิ่มเอม จะเป็นเสมือนการเติมเต็มจิตเดิมแท้ตามสัญชาตญาณให้สมบูรณ์ไม่ขาดพร่อง การที่เด็กปฐมวัย เป็นวัยที่มีความงดงามแห่งวัยที่เต็มไปด้วยจินตนาการ ความคิดฝัน ที่สะอาดบริสุทธิ์  จึงควรจัดการเรียนรู้ให้เด็กได้สร้างภาพประทับใจกับความงดงามของโลก  ได้รับรู้ว่าโลกนี้แสนดี  งดงาม ถ้าเด็ก ๆ จะอยู่ในโลกนี้อย่างมีความสุขก็ต้องปฏิบัติตนให้เอื้อต่อการเป็นอยู่ของโลกนั่นคือ การเอื้ออาทร นอบน้อมและยอมรับในคุณค่าของทุกคน ทุกสรรพสิ่งที่อยู่รายรอบกาย เอาธรรมชาติเป็นบทเรียนแห่ง ธรรมะ  สำนึกในบุญคุณของบทเรียนนี้ เมื่อเด็ก ๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่จะได้เป็นคนที่มีคุณภาพและร่วมสร้างสรรค์สังคมให้ร่มเย็นและยั่งยืน

 

 

บรรณานุกรม

จอห์น บี. ทอมสัน และคณะ เขียน วิศิษฐ์ วังวิญญู แปล. 2552. เด็กตามธรรมชาติ ๑ (Natural Childhood 1)   กรุงเทพมหานคร :สวนเงินมีมา

สุมน  อมรวิวัฒน์. 2544. กระบวนการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ในชุมชนและธรรมชาติ. กรุงเทพมหานคร: วัฒนาพานิช.

สุเมธ  ตันติเวชกุล.  2550.  ข้าแผ่นดินสอนลูก.  กรุงเทพมหานคร: มติชน.

Belinda  Mooney. “Ask  The  Expert  in  The Garden” Earlychildhoodnews. Available from http://www.earlychildhoodnews.com./ earlychildhood/article_view.aspx?ArticleID=151(2010,June,28)

Donna  Johnson. “Five Thing to Do Outdoor With  Children” Earlychildhoodnews. Available from http://www.earlychildhoodnews.com./ earlychildhood/article_view.aspx?ArticleID=151(2010,June,28)

Rulth A. Wilson. “The Wonder of Nature: Honoring  Children’s Ways of Knowing” Earlychildhoodnews. Available from http://www.earlychildhoodnews.com./ earlychildhood/article_view.aspx?ArticleID=70(2010,June,28)

Kerry  Tupperman . “Gardening  With  Young  Children: How to Get Started? Earlychildhoodnews. Available from http://www.earlychildhoodnews.com./ earlychildhood/article_view.aspx?ArticleID=153 (2010, June, 28)

Richard  Cohen. “Ask the Expert: Connecting  Children With  Nature” Earlychildhoodnews. Available from http://www.earlychildhoodnews.com./ earlychildhood/article_view.aspx?ArticleID=151(2010,June,28)

Susan  Miller. “Discover, Create Fantastic  Outdoor  Activitys  Across  The  Curriculum” Earlychildhoodnews. Available from http://www.earlychildhoodnews.com./ earlychildhood/article_view.aspx?ArticleID=151(2010,June,28)

 

 

ข้อมูลผู้เขียน

นางสาวรุ่งลาวัลย์  ละอำคา

MISS  RUNGLAWAN   LAUMKA

อาจารย์สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย

คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม

โทรศัพท์ 0897100903

E-mail: [email protected].                                                                                                          

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ปฐมวัย
หมายเลขบันทึก: 397519เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2010 22:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

จำได้ครับว่า นักการศึกษาชื่อดังคนหนึ่งของอินเดียเคยกล่าวไว้ว่า การเล่นคือกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญของชีวิต น่าจะตรงกับที่นำเสนอมานะครับ

รุ่งลาวัลย์ ละอำคา

ขอบคุณมากค่ะ ที่ท่านให้ข้อคิดเพิ่มเติม การเล่นคือหัวใจของการสรรค์เด็ก และจะน้อมนำไปปฏิบัติด้วยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท