ปราสาทหินในประเทศไทย คติ การสร้าง รูปแบบ และการอนุรักษ์


* งานชิ้นนี้เกิดจาการเรียบเรียงหนังสือจากผู้รู้หลายท่าน ยังมีข้อตกหล่นอยู่มาก รอการแก้ไขเพิ่มเติมต่อไป กรุณาพิจารณา

ความนำ

                  พุทธศตวรรษที่ ๑๒ -๑๘ เป็นช่วงระยะเวลาที่บ้านเมืองหรือชุมชนโบราณในเขตประเทศไทยมีการติดต่อสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดกับอาณาจักรเขมรโบราณ ส่งผลให้อิทธิพลวัฒนธรรมเขมรโบราณแพร่ขยายเข้ามาบนแผ่นดินไทย ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสภาพทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนโบราณที่ตั้งอยู่บนแผ่นดินไทยอย่างมากคือ ทางด้านการปกครอง สังคม คติ ความเชื่อศาสนา รูปแบบศิลปะ ตัวอักษร ภาษา การตั้งถิ่นฐาน การจัดการบ้านเมือง การพัฒนาแหล่งน้ำ

ความหมายของปราสาทหิน

                “ปราสาท” (Prasada) ส. หมายถึง  อาคารที่มีส่วนกลางเป็นห้องเรียกว่า “ห้องครรภคฤหะ” หรือ “เรือนธาตุ” และมีหลังคาเป็นชั้นซ้อนกันหลายชั้นในรูปสัญลักษณ์แทนความหมายของเรือนฐานันดรสูง อันเป็นที่สถิตของเหล่าเทพเทวดา ปราสาทจึงหมายถึงอาคารที่เป็นศาสนสถานเพื่อประดิษฐานรูปเคารพ และการทำพิธีกรรมทางศาสนาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ทั้งในศาสนาพราหมณ์  และพุทธศาสนานิกายมหายาน         ปราสาทที่เป็นศาสนสถานนั้น สร้างด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรงประเภทอิฐหรือหิน ส่วนพระราชมณเฑียรที่ประทับของพระมหากษัตริย์ สร้างด้วยไม้ทั้งสิ้น 

                ปราสาทเขมรในประเทศไทย  หมายถึง อาคารทรงปราสาทที่พบในดินแดนไทยในปัจจุบัน ซึ่งได้รับอิทธิพลทางศาสนาและงานศิลปกรรมของชนชาติเขมรในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๘ เรียกรูปแบบทางศิลปกรรมปราสาทเขมรในประเทศไทยว่า “ศิลปะร่วมแบบเขมร (ขอม) ในประเทศไทย”  

                สถาปัตยกรรมหินดูรวมถึงปราสาทแบบเขมร มีคติมาจากข้อกำหนดการวางตำแหน่งแท่นบูชาตามคัมภีร์ อัศวเมธา ในการบูชาพระสุริยเทพในยุคพระเวท ที่สัมพันธ์กับดาราศาสตร์
                แท่นบูชาที่เปรียบเป็นโลกสวรรค์ของเหล่าเทวะต้องเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมจตุรัสเท่านั้น ปราสาทเขมรจึงสร้างในผังสี่เหลี่ยม

คติการสร้าง

คติเขาพระสุเมรุ

                คำภีร์ศิวะปุราณะกล่าวว่า พระอิศวรทรงน้ำด้วยพระเสโท สร้างแผ่นดินด้วยเมโท ใช้จุฑามณีปักลงที่ใจกลางของพื้นภพเป็นเขาพระสุเมรุให้เป็นหลักของโลก และจักรวาล นำพระสังวาลมาสร้างเป็นทิวเขาสวมรอบเขาพระสุเมรุอีก ๗ ทิว เรียกว่า สัตบริภัณฑคีรีเป็นที่สถิตของเทวดา

                สูงจากพื้นน้ำ ๘๔,๐๐๐ โยชน์ มียอด ๕ ยอด คือ สุทัศนกูฏ จิตรกูฏ กาลกูฏ ไกรลาส (ที่สถิตของพระอิศวร) และ คันธมาทกูฏ ที่ฐานมีเขา ๓ ลูกรองรับ เรียกว่า ตรีกูฏ

                 มหาทวีปทั้ง ๔ ล้อมรอบคือ ชมพูทวีป อมรโคยาน ปุพพวิเทห และ อุตรกุระ มีทวีปน้อยๆ เป็นบริวาร ๒,๐๐๐
                มีมหาสมุทรทั้ง ๔ ทิศล้อมรอบ คือปิตสาคร ผลิกสาคร ขีรสาคร น้ำสีขาว (ทะเลน้ำนมเกษียรสมุทรที่สถิตย์ของพระนารายณ์) และนิลสาคร               
                มีพระอาทิตย์ พระจันทร์ ดาวนพเคราะห์น้อยใหญ่ หมุนเวียนล้อมรอบ

  (แผนผังปราสาทพนมบางแค็ง)

                เมื่อพระเจ้ายโศวรมันที่ ๑ (พ.ศ.๑๔๓๒ - ๑๔๔๔) สร้างเมืองพระนครมาใช้ พระเจ้ายโศวรมันทรงเลือก เขาพนมบาแค็ง เป็นศูนย์กลางเมืองพระนคร และสร้างปราสาทพนมบาแค็งเป็นปราสาท ๕ หลัง แสดงถึงยอด ๕ ยอดของเขาพระสุเมรุซึ่งเป็นที่ประทับของเทวดา

ปราสาทเขมร สามารถแยกออกเป็น    สายวัฒนธรรม

               ๑ อินเดียภาคเหนือ เรียกว่า “ทรงศิขร (สิ-ขะ-ระ)  คือ ปราสาทที่มีหลังคารูปโค้งสูง ก่อน พศว.๑๔ 
               ๒.อินเดียภาคใต้ เรียกว่า “ทรงวิมาน”  ต้น พศว. ๑๔ เป็นต้นมา (ชัยวรมันที่ ๒)             

คติวสฺตุปุรุษมณฺฑล

      

                คัมภีร์ศิลฺปศาสฺตฺร ศาสตร์สถาปัตยกรรมฮินดู (วสฺตุวิทฺยา) แบบโอริสาในประเทศอินเดีย มองโครงสร้างของอาคารเปรียบเหมือนร่างกายของจักรวาลที่เรียกว่า “ปุรุษฺ” คือทรรศนะทาง “มานุษยรูป” (Anthropomorphic From) อันเป็นการแปลงรูปกายวิภาคของจิตวิญญาณแห่งจักรวาล (เทพเจ้า) ให้ปรากฏเป็นรูปแบบที่มองเห็นได้โดยการสร้างมโนทัศน์ทางสัญลักษณ์แห่งสถาปัตยกรรมต่อมณฑลที่สัมพันธ์กับจักรวาล อันเกี่ยวเนื่องกับทางดาราศาสตร์และโหราศาสตร์โดยตรง

                จะกำหนดพื้นที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส แบ่งออกเป็น ๘๑ ช่อง ร่างโครงร่างมนุษย์ลงบนพื้นที่ ๆ จะก่อสร้าง แล้วอัญเชิญเทพเจ้าลงมาประจำพื้นที่ของโครงร่างกาย กำหนดให้ส่วนกลางผังเป็นตำแหน่งของ “ครฺภคฺฤหะ” ถือเป็นนาภีของจักรวาล ซึ่งจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเท่านั้น เพราะเชื่อว่า สี่เหลี่ยมจัตุรัสคือความสมบูรณ์มั่นคง ไม่เคลื่อนไหวอีกต่อไป
                เทวสถานไม่นิยมสร้างเป็นรูปวงกลม เพราะเชื่อว่าเป็นเทวสถานสำหรับเทพชั้นรอง 

คติในศานาพุทธนิกายมหายาน

                พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์มีจำนวนมากมายดุจเมล็ดทรายในคงคานที แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะดับขันธปรินิพพานไปแล้ว แต่พระองค์ยังคงประทับอยู่ในดินแดนพุทธเกษตร และกำลังสั่งสอนสรรพสัตว์อยู่ ซึ่ง “พุทธเกษตร” คือดินแดนที่มีแต่ความสุข ผู้ที่อยู่ในดินแดนนั้นจะบรรลุนิพพานอย่างแน่นอน ดินแดนพุทธเกษตรมีอยู่เป็นจำนวนมาก ที่เรารู้จักกันดีคือ ดินแดนสุขาวดี ดังนั้นชาวพุทธฝ่ายมหายานจึงมุ่งที่จะไปยังพุทธเกษตร ปราสาทหินก็เปรียบเสมือนดินแดนพุทธเกษตร ที่มีพระพุทธเจ้าประทับและยังสั่งสอนสรรพสัตว์อยู่

รูปแบบของปราสาทหิน

ปราสาทที่สร้างขึ้นตามคติเทวราชา 

                - สร้างขึ้นบนฐานซ้อนกันหลายชั้น ๓ – ๕ ชั้น เพื่อสื่อความหมายถึงภูเขาพระสุเมรุ เป็นศูนย์กลางการปกครองตามคติเทวราชา

                - ขุดสระน้ำรอบปราสาท สื่อถึงมหาสมุทรที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ

                - สันนิฐานว่าประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับพระบรมศพ เทวรูปที่ประดิษฐานอยู่ในปราสาทประทานนอกเหนือจากการเป็นรูปแทนองค์เทพเจ้าแล้ว ยังเป็นรูปบุคคลที่วายชนม์ซึ่งได้เข้ารวมกับเทพเจ้า

 อโรคยาศาล 

                อโรคยาศาล เป็นสถานพยาบาลที่สร้างขึ้นตามรายทางโบราณจากเมืองพระนคร ไปยังเมืองอื่นๆ ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ได้แผ่พระราชอำนาจไปถึงและสร้างปราสาทหินเอาไว้ ปรากฏในจารึกปราสาทตาพรหม       กล่าวว่า    พระองค์ทางสร้างอโรคยศาลจำนวน ๑๐๒ แห่ง ประเทศไทยพบจารึกที่เกี่ยวอโรคยศาลแล้ว ๗ หลัก

เทพประจำโรงพยาบาล         

               พระไภสัชครุไวทูรยประภา (พระโพธิสัตว์ไภษัชยสุคต) ถือเป็นพระโพธิสัตว์ผู้ประสาท “ความไม่มีโรค” แก่ประชาชน พระศรีสูรยไวโรจนจันทโรจิ และพระศรีจันทรไวโรจนโรหินีศะ ผู้ขจัดซึ่งโรคของประชาชน นอกจากนี้ยังมีรูปเคารพพระโพธิสัตว์และเทพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับลัทธิพุทธมหายาน และที่เกี่ยวข้องกับการเกิด แก่ เจ็บ ตาย และประติมากรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง    

ธรรมศาลา

                จากจารึกปราสาทพระขรรค์ กล่าว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ โปรดให้สร้างที่พักคนเดินทางพร้อมด้วยไฟ (วหนิคฤหะ – บ้านมีไฟ) ทั้งสิ้น ๑๒๑ แห่ง ตามเส้นทางจากเมืองพระนครไปยังเมืองต่าง ๆ ที่เรียกว่า เส้นทางราชมรรคา  หรือ เส้นทางสายพระราชดำเนิน ในประเทศไทยคือ จากราชธานี (ยโศธรปุระ) ไปยังเมืองวิมาย มี ๑๗ แห่ง  

                นายเดอลาจองกิแยร์ แห่งสำนักฝรั่งเศสปลายบูรพาทิศ ได้กำหนดให้อาคารที่กล่าวไว้ในจารึก ซึ่งมีสถาปัตยกรรมตามรูปแบบ “โบราณสถานแบบปราสาททัพเจย” ให้เรียกว่า “บ้านมีไฟ” นายหลุย์ ฟีโนต์ เป็นผู้เรียกบ้านมีไฟนี้ว่า "ธรรมศาลา" (Dharmasala)

                ธรรมศาลามีบริเวณสำคัญ ๒ ส่วนได้แก่ ส่วนที่พักสำรับคนเดินทาง ทำด้วยเครื่องไม้ และส่วนที่เป็นศาสนสถานประจำที่พักคนเดินทางก่อด้วยศิลา
                ธรรมศาลาในประเทศไทยจะก่อด้วยศิลาแล้ง ส่วนธรรมศาลาที่อยู่ในประเทศกัมพูชาจะก่อด้วยหินทราย

แผนผัง

                สร้างบนที่ราบ ปราสาทประธานยกฐานสูงหลายชั้น (เฉพาะปราสาทประจำราชกาล ปรากฏในกัมพูชาเท่านั้น) แผนผังปราสาทประธานสมดุลทุกทิศทางและ

                สร้างบนยอดเขา ปราสาทประธานไม่ยกฐานสูง ทางเดินทอดยาววิ่งเข้าหาปราสาทประธาน แผนผังปราสาทประธานมีความสมดุล แต่อย่างไรก็ตามกฎเกณฑ์นี้ก็มิใช่สิ่งตายตัว

วัสดุและเทคนิคในการก่อสร้าง

                สถาปัตยกรรมแบบแขมรได้รับรูปแบบอาคารไม้จากอินเดีย และปัจจุบันก็อาจศึกษาอาคารดั่งเดิมซึ่งสร้างด้วยไม้จากการพิจารณาที่สร้างด้วยอิฐและศิลาทรายรวมทั้งศิลาแลงที่ยังคงเหลืออยู่ 
                เนื่องจากมีความซับซ้อน จึงมีความจำเป็นต้องผสมผสานวัสดุในการก่อสร้างเช่น ส่วนฐานมักใช้ศิลาแลง ส่วนอาคารมักใช้หินทราย และใช้ไม้เป็นในการประกอบ เช่นทำสลัก คาน หรือส่วนตกแต่ง เช่นเพดานเป็นต้น
                โบราณสถานแบบเขมรโดยทั่วไปใช้วัสดุก่อสร้างหลักสามชนิดได้แก่ อิฐ (ก่อน พศว. ๑๔ – ๑๕) ศิลาทราย (พศว. ๑๕ -๑๘) และศิลาแลง (พศว. ๑๘ เป็นต้นมา) กับใช้วัสดุรองคือไม้เป็นองค์ประกอบของโครงสร้างภายใน

การบูรณะปราสาทหิน (ANASTYLOSIS)

               คือการรื้อโบราณสถานที่พังทลายลงมาแล้วประกอบขึ้นมาใหม่ให้มีรูปร่างดีดังเดิมโดยการศึกษาถึงตำแหน่งหินที่ตกลงมาที่พื้นแล้ววิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ของตำแหน่งหิน การประกอบคืนมีหัวใจว่า

  “การบูรณะจะต้องไม่ทำของเก่าให้เป็นของใหม่”

              นักวิชาการชาวฮอลันดานำมาใช้ครั้งแรกกับบูโรพุทโธ อินโดนีเซีย จากนั้นนักวิชาการสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศใช้กับปราสาทหินในประเทศกัมพูชา สำหรับประเทศไทยมีการนำวิธีนี้มาใช้คือ นายBernard Philippe Groslier ร่วมกับ ศ.หม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์ นำมาใช้กับปราสาทหินพิมาย

วิธีการบูรณะปราสาทหินด้วยวิธีอนัสติโลซิสมีขั้นตอนดังนี้

           • ศึกษาโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมและรูปแบบทางศิลปกรรม

           • ทำผังแบบส่วนที่จะบูรณะ แล้วถ่ายสภาพประกอบทุกขั้นตอน

           • เคลื่อนย้ายศิลาที่พังทลาย ทำรหัสบนก้อนศิลา นำไปเรียงไว้กับพื้นเป็นกลุ่ม ๆ

           • ขุดค้นทางโบราณคดี ขุดแต่งโดยรอบโบราณสถาน

           • เสริมฐานล่าง ประกอบศิลากลับคืน เสริมโครงสร้างภายใน โดยใช้วิธีการสมัยใหม่

           • หากศิลาของเดิมไม่สามารถประกอบกลับคืนได้ ให้ใช้วัสดุใหม่ประกอบแทน แต่ต้องทำให้มีความแตกต่างจากของดั่งเดิม

           • จัดภูมิทัศน์ปรับปรุงทัศนียภาพโดยรอบ

 

สรุปความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับปราสาท

           • ศูนย์กลางการปกครอง คติเทวราชา ศูนย์กลางชุมชนชุมชน

           • สถานพยาบาล และเป็นที่พักพิงผู้คนเวลาเดินทางไกล

           • เป็นที่ประดิษฐาน รูปเคารพ และใช้ทำพิธีกรรมทางศาสนา

 

เอกสารประกอบการเขียน

หนังสือภาษาไทย

คู่มือมัคคุเทศก์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. ไม่ปรากฏครั้งที่พิมพ์ .กรุงเทพฯ : อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. ๒๕๔๑. ธวัชชัย องค์วุฒิเวทย์, วิไรรัตน์ ยังรอด. คู่มือท่องเที่ยว-เรียนรู้ : ปราสาทหิน พิมาย พนมรุ้ง เมืองต่ำ ตาเมือง เขาพระวิหาร. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : มิวเซียมเพรส. ๒๕๕๐. พิริยะ ไกรฤกษ์, รศ.ดร.. ราคเหง้าแห่งศิลปะไทย. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ริเวอร์บุคส์ จำกัด. ๒๕๕๓. ระพีศักดิ์ ชัชวาลย์. และคณะ. รายงานการขุดแต่งและบูรณะปราสาทเมืองสิงห์. ไม่ปรากฏครั้งที่พิมพ์. พระนคร : งานการศึกษาและประชาสัมพันธ์ กองพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ. ๒๕๒๐. รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. ปราสาทขอมในดินแดนไทย ความเป็นมาและข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ. พิมพ์ครั้ง แรก. กรุงเทพฯ : มติชน. ๒๕๔๘.  สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์. ศ.ดร.มรว.. ทับหลังในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เมืองโบราณ.๒๕๓๑. สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์. ศ.ดร.มรว..ปราสาทเขาพนมรุ้ง (ศาสนบรรพตที่งดงามที่สุดในประเทศไทย). พิมพ์ครั้งที่ ๕. สมุทรปราการ : เรืองบุญ. ๒๕๔๙.  สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์. ศ.ดร.มรว.. ศิลปะร่วมแบบเขมรในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เมืองโบราณ.๒๕๓๑.อุดม เชยกีวงศ์. วัฒนธรรมขอมกับความสัมพันธ์ไทยกัมพูชา. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : ภูมิปัญญา. ๒๕๕๒.

หนังสือต่างประเทศ
Michale Freeman and Claude Jacques. Anclent Angkor. Bangkok : River Books. 2006.

บทความ
เกียรติขจร ไชยเธียร. “มาตรวัดระยะและสัดส่วนในสถาปัตยกรรมฮินดู : กรณีศึกษา “ปราสาทนครวัด”.”       วรสาร สยำกุก. ฉบับที่ ๑ ฉบับที่ ๒. (กันยายน – ตุลาคม). ๒๕๔๖.

บทโทรทัศน์
พิเศษ  เจียจันทร์พงษ์   วิทยากร, ศุภรัตน์ ตี่คะกุล เขียน. เรื่อง ปราสาทหิน, ปราสาทพิมาย. บทโทรทัศน์ จดหมายเหตุกรุงศรีฯ. ออกอากาศโทรทัศน์กองทัพบกช่องเจ็ด.

วาทิน ศานติ์ สันติ : เรียบเรียง

* งานชิ้นนี้เกิดจาการเรียบเรียงหนังสือจากผู้รู้หลายท่าน และยังมีข้อตกหล่นอยู่มาก กรุณาอย่านำไปใช้อ้างอิง

หมายเลขบันทึก: 397369เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2010 15:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2014 19:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

วันนี้ การอัพโหลดช้ามากเลยครับ

เอาเป็นว่า ถ้าปผู้เขียนอารมณ์ดี ๆ จะมาจัดการใสรูปต่อให้เสร็จ

ขอบพระคุณล่วงหน้าสำหรับผู้ติดตาม

ดีมากๆ เลยครับ

กำลังอยากศึกษารายละเอียดเรื่องปราสาทหินพอดี

ขอบคุณสำหรับสาระดีๆ นะครับ

อยู่เมืองลิงค่ะ เห็นพระปรางค์สามยอดที่สวยงามทุกวัน ทราบว่าสร้างในสมัยขอม

ซึ่งน่าจะเป็นหนึ่งในจำนวนปราสาทหินที่บ้านเรามีอยู่ ใช่ไหมคะ

  • แวะมาอีกรอบเอาภาพปราสาทสามยอดมาฝากค่ะ ไม่ได้เข้าไปนานแล้วเหมือนกันเพราะกลัวลิง 555 ช่วงนี้ลิงออกลูกออกหลานเต็มบ้านเต็มเมือง
  • ลิงดุค่ะแย่งอย่าถืออะไรเดินผ่านลิงเด็ดขาดโดนแย่งแน่ๆ
  • ไม่ใช่คนเมืองลิงค่ะ แต่มาทำงานที่นี่ได้ 5 ปีแล้ว ลพบุรีมีโบราณสถานน่าสนใจเยอะ เพราะเป็นเมืองที่เคยรุ่งเรืองในอดีต ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มีความเจริญสูงสุดเรามีความสัมพันธ์กับยุโรปด้วย
  • ปัจจุบันลพบุรีเป็นเมืองเล็กๆ เงียบๆ มาหวือหวา ก็เรื่องทำ M79 หายนี่ละค่ะ เอหายไปอยู่ในมือใครต้องติดตาม ...^-^
  • เคยเล่าเรื่องเมืองลพบุรีไว้ที่นี่ค่ะ
  • Monkey city (2):ลวปุระ เมืองโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์กับดอกทานตะวัน
  • Lop0002

สวัสดีครับ...

ผมมาแวะอ่านได้ความรู้ดีมาก..

ด้วยความปรารถนาดีจากลุงหนาน...พรหมมา

สวัสดีค่ะอาจารย์ สบายดีนะคะ กำลังนึกรูปแบบปราสาทหิน เรียกว่าอะไร ได้ความรู้มากมาย

การบูรณะปราสาทหิน (ANASTYLOSIS) ... ขอบพระคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท