โจเซฟ สติกลิตส์ : สุภาพบุรุษนักวิชาการแห่งองค์กรโลกบาล


สติกลิตส์เป็นนักวิชาการที่มีจิตวิญญาณเสรี (Free Spirit) เป็นผู้เคารพสัจจะแห่งวิชาการมากกว่าความเชื่ออันงมงาย ดังนั้น วาระการวิจัยที่สติกลิตส์ขับเคลื่อนในฐานะที่เป็นหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่งธนาคารโลกจึงมุ่งเน้นตรวจสอบพื้นฐานทางวิชาการของ “ฉันทมติแห่งวอชิงตัน”

             ปัจจุบันในแวดวงต่างๆ หรือไม่ว่าจะเป็นองค์กรใดย่อมมีกลุ่มอยู่หลายกลุ่ม หรือมีการแบ่งขั้วแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทั้งแบบชัดเจน (แสดงตัว) และแบบแอบแฝง (ไม่แสดงตัว) อยู่ในทุกวงการไม่เว้นแม้แต่ในองค์กรระดับโลก แต่เนื่องจากว่าองค์กรระดับโลกเป็นองค์กรที่ไม่ว่าจะเป็นอำนาจในการกระทำหรืออำนาจในการละเว้นใด ๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อมวลมนุษยชาติทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กว่าสองทศวรรษที่ผ่านมาองค์กรโลกบาลไม่ว่าจะเป็น ธนาคารโลก (World Bank), กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และองค์การการค้าโลก (WTO) ถูกมองว่า ทำงานสอดประสานเพื่อแสวงหาและรักษาผลประโยชน์ให้กับกลุ่มประเทศมหาอำนาจทางด้านเศรษฐกิจของโลกได้อย่างลงตัวและเหมาะเจาะกันเหลือเกิน  

           

             บุคคลที่จะเข้ามากุมบังเหียนจึงต้องเป็นบุคคลที่มีคุณลักษณะพิเศษคือ ต้องมีวิสัยทัศน์ตามแนวทางของกลุ่มประเทศมหาอำนาจเหล่านี้ได้วางกรอบไว้เท่านั้นเอง ดังนั้นเมื่อกลุ่มบุคคลหรือนักวิชาการที่มีความรู้ความสามารถเหล่านี้ขายตัวและจิตวิญญาณเพื่อสนองตอบต่อกิเลสคือ ตำแหน่งระดับสูงของตนเอง ผลกระทบในด้านลบที่ตกกับกลุ่มประเทศโลกที่สามจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ เฉกเช่น “ฉันทมติแห่งวอชิงตัน” ที่ถูกมองว่าองค์กรโลกบาลนำมาเป็นเมนูนโยบายทางเศรษฐกิจ โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่ด้อยพัฒนาอย่างรอบด้าน เป็นการมองเฉพาะผลประโยชน์ของกลุ่มประเทศมหาอำนาจ (ส่วนน้อย) เป็นสาระสำคัญ แต่ในกลุ่มของนักวิชาการขององค์กรโลกบาลยังมีอีกหนึ่งบุคคลที่กล้าทำตัวแหกคอกวิพากษ์วิจารณ์ “ฉันทมติแห่งวอชิงตัน” อย่างตรงไปตรงมา และเป็นการวิพากษ์ที่กลุ่มคนจำนวนไม่น้อยมองว่า วิพากษ์อย่างตรงประเด็นและยึดถือเอาผลประโยชน์ของมวล มนุษยชาติเป็นที่ตั้ง เขาผู้นั้นคือ ศาสตราจารย์โจเซฟ สติกลิตส์ (Joseph Stiglitz)

 

              ศาสตราจารย์โจเซฟ สติกลิตส์ (Joseph Stiglitz) เข้ารับตำแหน่งรองประธานธนาคารโลกเมื่อครั้งที่ธนาคารโลกเป็นกลไกในการขับเคลื่อน “ฉันทมติแห่งวอชิงตัน” เข้าสู่กระแสโลกานุวัตรแล้ว (Globalization of Washington Consensus) แต่สติกลิตส์เป็นนักวิชาการที่มีจิตวิญญาณเสรี (Free Spirit) เป็นผู้เคารพสัจจะแห่งวิชาการมากกว่าความเชื่ออันงมงาย ดังนั้น วาระการวิจัยที่สติกลิตส์ขับเคลื่อนในฐานะที่เป็นหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่งธนาคารโลกจึงมุ่งเน้นตรวจสอบพื้นฐานทางวิชาการของ “ฉันทมติแห่งวอชิงตัน”

 

                ปราการแรก “ฉันทมติแห่งวอชิงตัน” กดดันให้ประเทศในโลกที่สามเลือกยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก (Export Oriented Industrialization) แทนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้า (Import Substitution Industrialization) แต่ดังที่นักเศรษฐศาสตร์ผู้มีใจเป็นกลางจำนวนไม่น้อยชี้ให้เห็น ความสัมพันธ์ระหว่างการส่งออกกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ชัดเจน นอกจากจะมีปัญหาในการระบุว่า อะไรเป็นเหตุ และอะไรเป็นผลแล้ว งานวิจัยจำนวนไม่น้อยยังพบว่า สหสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรทั้งสองมีนัยสำคัญทางสถิติต่ำอีกด้วย

 

             ประการที่สอง “ฉันทมติแห่งวอชิงตัน” กดดันให้ประเทศในโลกที่สามให้ความสำคัญแก่เป้าหมายเสถียรภาพของราคา (Price Stability) ด้วยการรัดเข็มขัดทางการคลัง แต่การกดเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำมาก ๆ นั้นมีต้นทุนที่สังคมต้องแบกรับ เพราะไม่อาจเติบโตได้เท่าที่ควร และยังเสี่ยงต่อการแลกกับอัตราการว่างงานซึ่งอาจมีมากกว่าที่ควร ซึ่งงานวิจัยจำนวนไม่น้อยสนับสนุนความคิดข้อนี้

 

             ประการที่สาม “ฉันทมติแห่งวอชิงตัน” กดดันให้ประเทศในโลกที่สามดำเนินนโยบายเสรีนิยมทั้งทางด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศรวมตลอดจนนโยบายเสรีนิยมทางการเงิน แต่แนวนโยบายเสรีนิยมเหล่านี้ล้วนทำให้ขนาดของการเปิดประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ประเทศในโลกที่สามถูกสั่นคลอนจากความผันผวนภายนอกประเทศได้โดยง่าย

 

               ประการที่สี่ “ฉันทมติแห่งวอชิงตัน” กดดันให้ประเทศในโลกที่สามถ่ายโอนการผลิตจากภาครัฐบาลไปสู่ภาคเอกชน (Privatization) ลดการกำกับและการควบคุมโดยรัฐบาล (Deregulation) และลดขนาดของภาครัฐบาล เพื่อให้กลไกราคามีบทบาทในการจัดสรรทรัพยากรในการผลิตสินค้าและบริการต่าง ๆ มากขึ้น แต่การลดบทบาทของภาครัฐบาลตามแนวทาง “ฉันทมติแห่งวอชิงตัน” ทำให้ประชาชนผู้ยากไร้และกลุ่มชนผู้ด้อยโอกาสไม่ได้รับความช่วยเหลือเกื้อกูลจากรัฐบาลท่าที่ควร

       

             โจเซฟ สติกลิตส์ เป็นนักวิชาการชั้นแนวหน้าของโลก สติกลิตส์มีผลงานหลากหลายสาขาที่ลุ่มลึก และมีบทบาทในการบุกเบิกพรมแดนแห่งความรู้ทั้งในสาขาเศรษฐศาสตร์การพัฒนา (Development Economics) เศรษฐศาสตร์สาธารณะ (Public Economics) เศรษฐศาสตร์การเกษตร (Agricultural Economics) เศรษฐศาสตร์สถาบัน (Institutional Economics) และเศรษฐศาสตร์สารสนเทศ (Economics of Information) สติกลิตส์ได้รับอิทธิพลจากกระบวนทัศน์ของเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ (Keynesian Economics) โดยตระหนักถึงความไม่สมบูรณ์ของตลาดและความล้มเหลวของกลไกราคา ในทัศนะของสติกลิตส์ ความไม่สมบูรณ์ของตลาดและความล้มเหลวของกลไกราคาที่สำคัญเกิดจากความไม่สมบูรณ์และความไร้สมมาตรของสารสนเทศ ความข้อนี้เป็นจริงอย่างยิ่งในกรณีตลาดการเงิน สติกลิตส์ชี้ให้เห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ที่เกิดขึ้นในเอเชียแปซิฟิกในปลายทศวรรษ ๒๕๓๐ ส่วนหนึ่งเกิดจากสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ในประเทศมหาอำนาจปล่อยกู้แก่สถาบันและผู้ประกอบการในเอเชียตะวันออก ซึ่งนำไปใช้เก็งกำไรทั้งในตลาดหลักทรัพย์และตลาดอสังหาริมทรัพย์ เมื่อเศรษฐกิจฟองสบู่แตกสลายเงินให้กู้เหล่านั้นถูกถอนกลับประเทศเมืองแม่ด้วยความตื่นตระหนก (panic) จนก่อเกิดวิกฤตการณ์การเงินที่รุนแรง ด้วยเหตุนี้ สติกลิตส์จึงไม่ได้สนับสนุนแนวทางเสรีนิยมทางการเงิน มิหนำซ้ำยังเสนอให้นานประเทศพิจารณาใช้มาตรการการกำกับและควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้นอีกด้วย  

 

                 โจเซฟ สติกลิตส์ รับตำแหน่งหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่งธนาคารโลกในขณะที่เอเชียตะวันออกกำลังเผชิญวิกฤติการณ์การเงิน สติกลิตส์ไม่ลังเลที่จะวิพากษ์กองทุนการเงินระหว่างประเทศในฐานที่บังคับให้ประเทศเหล่านี้รัดเข็มขัดทางการคลัง โดยชี้ให้เห็นว่า การรัดเข็มขัดจะยิ่งซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ กองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลกมีฐานะสถาบัน “น้องพี่” อันเกิดจากผลการประชุม ณ เมืองเบรตตันวูดส์ มลรัฐนิวแฮมเชียร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เรียกย่อ ๆ ว่า Bretton Woods Institution (BWIs) ในอดีตกาล องค์กรโลกบาลทั้งสองให้ความสำคัญและถ้อยทีถ้อยอาศัยทำงานสอดประสานผลประโยชน์ให้แก่ประเทศมหาอำนาจได้อย่างลงตัว ในลักษณะ ว่าอะไรว่าตามกัน แต่สติกลิตส์ได้ทำลายจารีตดังกล่าวนี้ ด้วยการวิพากษ์กองทุนการเงินระหว่างประเทศในที่สาธารณะ พฤติกรรมดังกล่าวนี้ของสติกลิตส์สร้างความไม่สบายใจไม่เฉพาะแต่ในกองทุนการเงินระหว่างประเทศเท่านั้น หากยังได้สร้างภาวะกระอักกระอ่วนแก่กระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกา และสร้างความไม่พอใจให้แก่กลุ่มทุนการเงินแห่ง Wall Street อีกด้วย เนื่องจากสติกลิตส์กำลังตั้งข้อกังขาเกี่ยวกับความชอบธรรมของ “ฉันทมติแห่งวอชิงตัน” ในที่ประชุมทางวิชาการทุกแห่งหนที่ย่างกราย สติกลิตส์มักจะถือโอกาสวิพากษ์ “ฉันทมติแห่งวอชิงตัน” ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ในแง่นี้ สติกลิตส์ทำตัวเป็นพันธมิตรของนักวิชาการฝ่ายซ้ายและขบวนการองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ (International NGOs) ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้ทำให้เส้นทางของสติกลิตส์บนเก้าอี้รองประธานธนาคารโลกเสี่ยงต่อการอวสานในเร็ววัน

      

                ในท้ายที่สุด สิ่งที่ทุกคนคาดคิดก็เป็นจริง เมื่อศาสตราจารย์โจเซฟ สติกลิตส์ ได้ลาออกจากตำแหน่งรองประธานธนาคารโลกนับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๓ เป็นต้นมา ท่ามกลางความโล่งอกของกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และกลุ่มทุนการเงินแห่ง Wall Street หนังสือพิมพ์ Financial Times (๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๒) รายงานว่า บุรุษที่จัดการให้สติกลิตส์ลงจากเก้าอี้หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่งธนาคารโลกก็คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกาที่ชื่อ ลอเรนส์ ซัมเมอร์ส มิตรเก่าในแวดวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ของสติกลิตส์นั่นเอง ซัมเมอร์สตกลงใจที่จะให้เจมส์ โวลเฟนซอห์น (James Wolfensos) ดำรงตำแหน่งประธานธนาคารโลกต่อไปอีก ๕ ปี โดยมีข้อแม้ว่า จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงตัวรองประธาน และนี่เองที่ทำให้สติกลิตส์ประกาศลาออกจากตำแหน่งในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งการลาออกจากธนาคารโลกของสติกลิตส์ ไม่เพียงแต่ทำให้ Web site ทางเศรษฐศาสตร์อันเป็นที่นิยมมากที่สุดในโลกตามการสำรวจของนิตยสาร The Economist ต้องลาจากธนาคารโลกเป็นเงาตามติดสติกลิตส์ไปด้วยเท่านั้น หากยังหมายถึงการสูญเสียแรงคัดง้าง “ฉันทมติแห่งวอชิงตัน” ภายในองค์กรโลกบาลนี้ไปอีกด้วย กระนั้นก็ตาม ช่วงเวลาอันแสนสั้นของสติกลิตส์ในธนาคารโลก ได้ช่วยเพิ่มพูนข้อกังขาเกี่ยวกับความชอบธรรมของ “ฉันทมติแห่งวอชิงตัน” ได้เป็นอย่างดีและมีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก และยังช่วยฉุดให้นักวิชาการหลาย ๆ ท่านตื่นจากภวังค์ที่เคยหลับใหลมาเป็นเวลายาวนานอีกด้วย

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 397223เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2010 08:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 09:43 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท