หยุดเพื่อตั้งสติ ดีกว่า เดินหน้าก้าวไปอย่างไร้สติ


การหาข้อมูลที่ถูกต้องตามจริงก่อนตัดสินใจในการเข้าร่วมกิจกรรม (ชุมนุม) ยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความรับผิดชอบที่พึงมีต่อสังคม หากว่าท่านไม่แน่ใจก็ยังไม่ต้องเข้าไปร่วมชุมนุม (ไม่ต้องกลัวว่าจะตกกระแส) หรือหากว่าเข้าไปร่วมชุมนุมแล้วถูกชักจูงไปในทางที่กระทำผิดกฎหมายที่สร้างความเดือดร้อนให้กับสังคมส่วนใหญ่จนเกินจะทนรับได้ ไม่ว่าจะกล่าวอ้างวาทกรรมแบบไหนมารองรับ ท่านก็ต้องรีบถอนตัวออกมาไม่ใช่โหนกระแสไปตามอารมณ์ของส่วนรวมแบบบ้าคลั่งอย่างไร้สติ

          ปัจจุบันในภาคส่วนการเมืองนั้น กระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนได้เข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมาก ในกระบวนการที่เรียกว่า “การชุมนุม” หรือ การเมืองภาคประชาชน ดังนั้น ผู้ที่จะเข้าร่วมในกิจกรรม (ชุมนุม) ดังกล่าว ต้องมีจิตสำนึกต่อส่วนรวมอย่างเข้มข้น โดยการต้องใช้ปัญญาแสวงหาในการเสพข้อมูลหรือชุดความรู้ที่ถูกจับเหวี่ยงมาให้เสพจากบรรดาแกนนำทั้งหลาย ผู้ที่จะเข้าร่วมชุมนุมต้องพรึงตระหนักและหัดพกคำถามติดตัวไปตลอดเวลา (ไม่ใช่ว่ามีแต่คำตอบ ใช่ ในหัวอย่างเดียว) เพราะภาวะแวดล้อมของการชุมนุมทางการเมือง หากเราไม่ใช้สติ ทิฏฐิก็จะพร้อมที่จะจับเราเหวี่ยงเข้าไปใน

 

               - โลภะ (ความโลภ) : ในการชุมนุมแต่ละครั้งแกนนำโดยส่วนใหญ่ ก็จะเอาผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่จะได้รับจากการชุมนุมมาล่อ ดังนั้น  ผู้ที่จะเข้าร่วมชุมนุมต้องหัดพินิจพิจารณา วิเคราะห์ว่า แท้ที่จริงแล้วมันเป็นผลประโยชน์ของสังคมโดยส่วนรวมหรือผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องของแกนนำกันแน่

 

              - โมหะ (ความหลง) : ในการชุมนุมแต่ละครั้งแกนนำโดยส่วนใหญ่ ก็มักจะยัดเยียดข้อมูล ข่าวสารหรือชุดความคิด (สำเร็จรูป) ที่ย่อยจนแหลกละเอียดแล้ว (แกนนำตัดสินใจให้แล้ว) ให้ผู้ชุมนุมบริโภคได้เลย โดยที่ผู้เข้าร่วมชุมนุมไม่ต้องมาเสียเวลามากมาย นอกจากรับข้อมูลมาบริโภคและทำตาม ดังนั้น ผู้ที่จะเข้าร่วมชุมนุมต้องไม่หลงเชื่อในชุดข้อมูลเหล่านั้นง่าย ๆ จนกว่าจะได้หาข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนรอบด้านก่อน  

   

            - โทสะ (ความโกรธ อาฆาต) : ในการเข้าร่วมชุมนุม พลังแห่งโทสะอันตรายมาก หากมีแกนนำที่คอยปลุกปั่น ยั่วยุ ในทำนองที่สุ่มเสี่ยงไปในทางการใช้ความรุนแรง เช่น ขึ้นบนเวทีแล้วประกาศว่า  วันนี้ ! ต้องไปจับตัวไอ้ ... มาแขวนคอให้ได้   วันนี้ ! ต้องไปจับตัวไอ้ ... มากระทืบให้ได้  วันนี้ ! ต้องไปจับตัวไอ้ ... แล้วเอาเลือดหัวมันมาล้าง ...   บ้านของไอ้ ... อยู่ที่ ... ให้ไปเผาบ้านมันได้เลย   ฯลฯ  หากเราในฐานะที่ไปเข้าร่วมชุมนุม เราต้องตั้งคำถามกับตัวเองอย่างมีสติและใช้เหตุและผลแทนอารมณ์ (ร่วม) ว่าเรารับสิ่งเหล่านี้ได้หรือไม่ ? และพร้อมที่จะทำสิ่งเหล่านี้ได้หรือไม่ ? สิ่งนี้มันเป็นอุดมการณ์และแนวทางในการต่อสู้ของเราจริง ๆ หรือไม่ ? หากว่าเราที่ร่วมชุมนุมยอมรับในแนวทางและการกระทำดังกล่าวที่ผิดกฎหมาย สร้างความเดือดร้อนและไปละเมิดสิทธิ์ของบุคคลอื่น เราจะตอบคำถามให้กับตัวเองเกี่ยวกับเรื่องของการชุมนุมที่สันติ อหิงสา และประชาธิปไตยไปในทิศทางใด ?

 

  ๑.      โลภะ นั้นมีโทษน้อยแต่คลายช้า 

  ๒.     โทสะ นั้นมีโทษมากแต่คลายเร็ว 

            ๓.    โมหะ นั้นมีโทษมากและคลายช้าด้วย      

 

         โดยสรุป : โลภะ คือความชอบใจ ติดใจ อยากได้นี่ อยากได้นั่น เป็นรากฐานแห่งโทสะเป็นบ่อเกิดของโทสะ เช่น เกิดชอบใจอยากได้สิ่งใดก็ตาม เมื่อไม่ได้ดังใจชอบก็เสียใจ น้อยใจ คือเกิดโทสะขึ้น หรือติดใจชอบใจในสิ่งใดอยู่ สิ่งนั้นกลับมีอันเป็นให้พลัดพรากจาก สูญไป ก็เสียดาย เสียใจ กลุ้มใจ เหล่านี้เป็นต้น ดังนั้นถ้าไม่มีโลภะซึ่งเป็นต้นเหตุแล้ว โทสะอันเป็นปลายเหตุก็ย่อมไม่มีเป็นธรรมดา ส่วนโมหะนั้นย่อมต้องเกิดพร้อมกับโลภะหรือโทสะ โดยมีโลภะหรือโทสะ เป็นตัวนำ โมหะเป็นตัวสนับสนุน เมื่อไม่มีโลภะตัวนำแล้ว โมหะตัวสนับสนุน ก็มีไม่ได้ เพราะไม่มีสิ่งที่จะสนับสนุนเกื้อกูลซึ่งกันและกันนั่นเอง ตัวอย่างเช่น

 

           สมมติ : มีเหตุคนร้ายเข้าไปขโมยของในโกดังสินค้า แต่ปรากฏว่ามีรปภ. มาเจอ รปภ.ก็เลยถูกฆ่าตาย กรณีดังกล่าวนี้สาเหตุการตายของรปภ.เกิดจากพลังมืดทางด้านโทสะ (ความโกรธ โมโห) ไม่ใช่พลังมืดทางด้านโลภะ (ความโลภ) กล่าวคือ คนร้ายที่มีเป้าประสงค์เข้าไปขโมยสินค้าในโกดังนั้น ถูกชักนำพาโดยพลังแห่งโลภะ เป็นไปในลักษณะของการอยากได้สิ่งของดังกล่าวมาเป็นของตนเองเพื่อนำไปขาย จึงใช้วิธีการที่ผิดคือ การแอบเข้าไปลักขโมยแต่บังเอิญว่าในขณะที่กำลังลงมือปฏิบัติการอยู่นั้น รปภ.ของโกดังสินค้ามาเห็นเข้าพอดี ซึ่งในสภาวการณ์นั้นคนร้ายมีทางเลือกคือ

 

                 ๑. หนี : หากเลือกใช้วิธีนี้ นั่นย่อมแสดงถึงว่าในขณะที่รปภ. มาเจอนั้น คนร้ายดังกล่าวมีเฉพาะพลังอำนาจมืดโลภะปกคลุมจิตใจอยู่ จึงเลือกวิธีที่จะหนีเพื่อเอาตัวรอด แต่หากว่าในขณะที่หนีปรากฏว่ารปภ.เข้ามาขัดขวางการหลบหนี ทำให้ถูกคนร้ายฆ่าตาย นั่นย่อมแสดงว่า คนร้ายเกิดโทสะ (ความโกรธ โมโห) ผุดขึ้นมาแทรกกลางในระหว่างการหลบหนีเพราะถูกขัดขวางโดยรปภ. จึงทำให้ตัดสินใจทำร้ายทำลายชีวิตรปภ. โดยการถูกครอบงำนำทางด้วยอำนาจมืดแห่งโทสะ

 

                ๒. ลงมือฆ่ารปภ.ทันที : หากเลือกใช้วิธีนี้นั่นย่อมแสดงถึงว่าในขณะที่รปภ. มาเจอนั้น คนร้ายดังกล่าวนอกจากจะมีพลังอำนาจมืดโลภะที่มาปกคลุมจิตใจอยู่ก่อนแล้ว ยังมีอำนาจทมิฬผุดขึ้นมา ณ ขณะนั้นอีกก็คือโทสะ (ความโกรธ โมโห) ที่มีรปภ.มาเจอ ซึ่งถือได้ว่าเป็นตัวอุปสรรค ขัดขวางการปฏิบัติการ (ขโมย) จึงเกิดการทำร้ายทำลายชีวิตขึ้น เกี่ยวเนื่องจาก โกรธ โมโห รปภ.ที่มาขัดขวางความรื่นเริงบันเทิงใจในขณะที่กำลังขโมยสินค้าอยู่ ดังนั้น ในกรณีนี้ สาเหตุที่ทำให้ รปภ.เสียชีวิตจึงเป็นพลังอำนาจมืดทางด้านโทสะ (ความโกรธ โมโห) ไม่ใช่ พลังแห่งโลภะ (ความโลภ) อย่างที่หลาย ๆ คนเข้าใจ เกี่ยวเนื่องจากพลังอำนาจมืดแห่งโลภะไม่สามารถมีพลังมากพอที่จะทำให้เกิดการทำร้ายทำลายชีวิตกันได้ โลภะเป็นเพียงเหตุปัจจัยในการอยากได้ทรัพย์หรือสินค้าเท่านั้น ไม่ใช่ ความโลภอยากได้ชีวิต (ฆ่า) คนอื่น

      

          ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของกลุ่มไหน (สีไหน) ก็ตามที หากมีแกนนำที่มีพฤติกรรมอย่างนี้ก็ไม่ต่างกับการมี “จิตสำนึกที่ไร้สติต่อส่วนรวม” เป็นความคิดที่ก้าวข้ามผ่านเส้นแบ่งทุกอย่างไม่ว่าจะเป็น ความถูก - ผิด  ความดี – ชั่ว  กุศล – อกุศล แล้วจะให้สังคมตกอยู่ในวงจรและกับดักอย่างนี้หละหรือ จิตสำนึกที่ไร้สติต่อส่วนรวมอย่างนี้ก็ไม่ต่างไปจาก (อวิชชา + ขยัน) ขยันมาชุมนุมเรียกร้องกลัวตกกระแสและขบวนของการมีส่วนร่วมแต่ก็ไม่เคยหาข้อมูลและข้อเท็จจริงที่รอบด้านและถูกต้องตามจริงเป็นไปในลักษณะของการชุมนุมโดยไม่ยึดหลักกฎหมาย ไม่คำนึงถึงสิทธิของบุคคลอื่นที่อยู่ในสังคม สร้างความเดือดร้อนให้สังคมส่วนใหญ่โดยไม่สมเหตุสมผล

 

             หากประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมไม่ยอมเสียเวลาในการหาข้อมูล เหตุ – ผลตามจริง แต่อิงไปตามกระแสจนตกเป็นเครื่องมือให้เขาหลอกใช้เพื่อปีนป่ายไปสู่จุดหมายปลายทางของผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง โดยการกระทำที่ผิดกฎหมาย การสร้างความเสียหาย ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมส่วนอื่น หากเป็นเช่นนี้ คนที่เข้าร่วมชุมนุมก็มิอาจที่จะปฏิเสธในความรับผิดชอบไปได้เช่นกัน จะมาตีหน้าเศร้าป่าวประกาศว่า “โดนแกนนำหลอกใช้” เป็นเครื่องมือ ก็ไม่ต่างไปจากกับการที่ออกมาประจานตัวเองว่า “โคตรโง่” ต่อหน้าสาธารณชนหรอก

 

           แน่นอนที่สุดมนุษย์ทุกคนมีความรู้ ความสามารถที่แตกต่างกัน แต่ ถ้าหากว่าท่านคิดจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ การชุมนุม เรียกร้องอะไรซักอย่างจริง ๆ ยิ่งท่านที่อ้างว่ามีความรู้หรือมีปัญญาน้อยเท่าไหร่ ท่านก็ยิ่งต้องขวนขวายหาข้อมูล ข้อเท็จจริงรอบด้านให้มาก เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาบนพื้นฐานของความเป็นจริงที่มีสติ จะมาชูป้ายประจานตัวเองว่าโดนหรอกใช้อยู่ร่ำไปอย่างนั้นหรือ ยิ่งมีความรู้น้อย หากอยากเข้าไปมีส่วนร่วม (เหมือนคนอื่น) ในการชุมนุม ท่านก็ยิ่งต้องทำงานหนักหาข้อมูลให้รอบด้านมากกว่าคนอื่นก่อนตัดสินใจ

 

             มนุษย์ทุกคนเกิดมาพร้อมกับความไม่รู้ แต่สามารถที่จะเป็นผู้รู้ได้จากการเรียนรู้ทั้งจากในตำรา ประสบการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม มนุษย์แตกต่างจากสัตว์อื่นก็คือความสามารถในการฝึก พระพุทธศาสนามีลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งคือ ยืนยันในศักยภาพสูงสุดของมนุษย์ คำศัพท์ที่แท้ของท่านว่า “ทัมมะ” แปลว่า ผู้ที่จะพึงฝึก คือ ฝึกได้หรือต้องฝึก และฝึกได้จนถึงขั้นเป็นสัตว์ประเสริฐ มองอีกแง่หนึ่งก็ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก และจะประเสริฐสุดได้ด้วยการฝึก มนุษย์จึงมีศักยภาพสูงสุดในการฝึก ซึ่งหมายถึง การพัฒนาตน

 

              การหาข้อมูลที่ถูกต้องตามจริงก่อนตัดสินใจในการเข้าร่วมกิจกรรม (ชุมนุม) ยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความรับผิดชอบที่พึงมีต่อสังคม หากว่าท่านไม่แน่ใจก็ยังไม่ต้องเข้าไปร่วมชุมนุม (ไม่ต้องกลัวว่าจะตกกระแส)  หรือหากว่าเข้าไปร่วมชุมนุมแล้วถูกชักจูงไปในทางที่กระทำผิดกฎหมายที่สร้างความเดือดร้อนให้กับสังคมส่วนใหญ่จนเกินจะทนรับได้ ไม่ว่าจะกล่าวอ้างวาทกรรมแบบไหนมารองรับ ท่านก็ต้องรีบถอนตัวออกมาไม่ใช่โหนกระแสไปตามอารมณ์ของส่วนรวมแบบบ้าคลั่งอย่างไร้สติ

 

             “การก้าวออกมาจากการกระทำที่ไร้สติ ไม่ใช่มาตรวัดของความอ่อนแอ แต่เป็นความกล้าหาญที่ยิ่งใหญ่ธำรงไว้เพื่ออุดมการณ์อันถูกต้องตามครรลองคลองธรรม เป็นการเอาชนะมิจฉาทิฏฐิที่เข้ามากัดกินปัญญาของเรา”

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 397102เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2010 20:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:29 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท