ความคิดเห็นแตกต่าง & มิจฉาทิฏฐิ


หากสังคมไทยยังดำรงอยู่ท่ามกลางการแยกแยะในประเด็นดังกล่าวไม่ออก สังคมก็จะสุ่มเสี่ยงต่อความแตกแยกรุนแรงขึ้นไปอีก เพราะความไม่เข้าใจ และ/หรือความจงใจที่จะไม่เข้าใจในการใช้วาทะกรรม “ความคิดเห็นแตกต่าง” มาบิดเบือนแก่นแท้ของมาตรฐานของการแยกแยะถูก-ผิด และ ความดี –เลว แทนการมองถึงแก่นแท้และรากเหง้าของการถูก “มิจฉาทิฏฐิ” ครอบงำจนมืดบอดทางปัญญา แล้วสังคมในอนาคตจะดำรงอยู่ได้อย่างไร ?

           “ความคิดเห็นแตกต่าง” เป็นวาทะกรรมที่เข้ามามีบทบาทในสังคมไทยเป็นอย่างมากในช่วงระยะเวลากว่า ๕ ปีที่ผ่านมา ในการจัดแบ่งกลุ่มคนที่สนับสนุนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) กับกลุ่มคนที่สนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งนำโดยกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แท้ที่จริงแล้วเส้นแบ่งระหว่างกลุ่มคนทั้งสองกลุ่มนั้น เป็นเส้นแบ่งที่จัดอยู่ในวาทะกรรมของมายาคติ “ความคิดเห็นแตกต่าง” จริงหรือ ?

              “ความคิดเห็นแตกต่าง” ในทัศนะของผู้เขียนแล้วเห็นว่า วาทะกรรมของคำ ๆ นี้ที่เป็นปกติในสังคมทั่วไปนั้น ประการสำคัญควรจะจัดอยู่ในพลวัตรที่สะท้อนออกมาทางความคิดที่เป็นไปในลักษณะของ ความชอบ  ความไม่ชอบ   ความรัก  ความเกลียด เป็นต้น ซึ่งความคิดเห็นในลักษณะแบบนี้ เป็นพลวัตรที่สามารถแปรเปลี่ยนไปได้ในอนาคต จากที่ชอบอาจเปลี่ยนเป็นไม่ชอบ จากที่ไม่ชอบอาจเปลี่ยนเป็นชอบ  หรือ จากที่เคยรักอาจเปลี่ยนเป็นเกลียด จากที่เคยเกลียดอาจเปลี่ยนเป็นรัก หากว่ามีเหตุปัจจัยมาเป็นตัวกระตุ้นในการเปลี่ยนแปลงไปดังกล่าว ซึ่งเป็นไปในลักษณะรูปแบบของมายาคติที่ถือเอา ความคิด ของตัวเองเป็นที่ตั้งและเป็นศูนย์กลางของการขับเคลื่อนสะท้อนออกมาทางความคิดและการกระทำที่มีต่อสิ่งหนึ่ง ๆ เช่น

 

                    คุณ ก. เห็นว่าผู้หญิงที่หน้าคม ผิวสีแทน เป็นผู้หญิงที่สวยในสายตาของเขา

                    คุณ ข. เห็นว่าผู้หญิงหน้าหมวย ผิวขาว เป็นผู้หญิงที่สวยในสายตาของเขา

                     คุณ ง. เห็นว่าผู้ชายหน้าเข้ม มีกล้ามโต เป็นผู้ชายที่หล่อในสายตาของเธอ

                     คุณ จ. เห็นว่าผู้ชายหน้าตี๋ ผิวขาว เป็นผู้ชายที่หล่อในสายตาของเธอ

                     คุณ ท. เห็นว่าสีแดง เป็นสีที่ดี มีมงคลสำหรับชีวิตของเขา

                     คุณ น. เห็นว่าสีน้ำเงิน เป็นสีที่ดี มีมงคลสำหรับชีวิตของเขา

                     คุณ ส. เห็นว่าสีเหลือง เป็นสีที่ดี มีมงคลสำหรับชีวิตของเขา

เป็นต้น

 

               ความคิดเห็นที่แตกต่างกันเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ ปกติ ในทุกสังคมทั่วไปที่สะท้อนออกมาในเรื่องของความชอบหรือความไม่ชอบ ความรักหรือความเกลียด ซึ่งย่อมมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันเป็นเรื่องธรรมดาสามัญทั่วไป และไม่สามารถบอกได้ว่า ความชอบและ/หรือความไม่ชอบ ความรักและ/หรือความเกลียด ของใคร ถูก – ผิด หรือ ดี – เลว กว่ากันได้ ตราบใดที่ความชอบ/ไม่ชอบ หรือ ความรัก/เกลียด ในกรณีดังกล่าวไม่ได้ก้าวล่วงเข้าไปละเมิดสิทธิของบุคคลอื่นหรือทำให้บุคคลอื่นเดือดร้อน โดยปกติทั่วไป ความชอบ/ไม่ชอบ หรือ ความรัก/เกลียด ในเรื่องใด ๆ มักขึ้นอยู่กับ ทัศนคติและรสนิยม ส่วนตนของบุคคลนั้น ๆ เป็นประการสำคัญ

 

              ในภาวะปัจจุบันที่เกิดขึ้นในสังคมไทยระหว่างกลุ่มพธม.และผู้สนับสนุน กับ กลุ่มนปช.และผู้สนับสนุน “ความคิดเห็นแตกต่าง” ถือเป็นเส้นแบ่งระหว่างกลุ่มของทั้งสองฝ่ายอย่างนั้นหรือ ?

 

              การที่กลุ่มพธม.และผู้สนับสนุน กับ กลุ่มนปช.และผู้สนับสนุน ถูกมองจากหลาย ๆ ฝ่ายว่า ทั้งสองกลุ่มเป็นเพียงกลุ่มที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันเท่านั้นเอง ในทัศนะของผู้เขียนแล้วเห็นว่า มุมมองในลักษณะอย่างนี้อาจจะมองผิวเผินและสุ่มเสี่ยงไปซักหน่อยสำหรับผู้ที่มีทัศนคติแบบนี้ เกี่ยวเนื่องจาก จะกลับกลายเป็นว่า มองปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นเพียง ทัศนคติและรสนิยมของความชอบ/ไม่ชอบ และ ความรัก/ความเกลียด ของแต่ละกลุ่มให้อยู่เหนือตรรกะของเหตุผล ความถูก – ผิด และ ความดี – ความเลว ซึ่งเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงเป็นอย่างมากหากจะผูกโยงระหว่างมายาคติของความคิดเห็นแตกต่างกันที่ใช้ทัศนคติและรสนิยมในทางความคิดให้เข้าไปเสพติดเจือปนและเชื่อมโยงระหว่างการแยกแยะความถูก – ผิด และ ความดี – เลว แล้วจะอรรถาธิบายมาตรฐานของความถูก – ผิด และ ความดี –เลว ที่ถูกต้องตามครรลองคลองธรรมของสังคมไปในทิศทางใด ? หากสิ่งเหล่านี้ถูกทัศนคติและรสนิยมของความชอบ/ไม่ชอบ หรือ ความรัก/ความเกลียด เข้าครอบงำนำทางในสังคมอยู่อย่างนี้

                               

                             นาย ก. ทุจริตคอรัปชั่น ?

                             นาย ข. มีทัศนคติและการกระทำที่หมิ่นต่อสถาบัน ?

                             นาย ค. ใช้ตำแหน่งหน้าที่เอื้อผลประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้อง

 

เป็นต้น

           

           หากว่าใช้เกณฑ์ในการวัดด้านวาทะกรรมของ “ความคิดเห็นแตกต่าง” ที่ถูกเสพติดด้วยมายาคติที่ยึดติดถือมั่นใน ทัศนคติและรสนิยมส่วนตัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ถ้าหากไปถามคนที่ชื่นชอบนาย ก. นาย ข. และนาย ค. ส่วนใหญ่ก็จะมองว่าบุคคลเหล่านี้ถูกใส่ร้ายและถูกกลั่นแกล้ง หรือ ถ้าหากไปถามคนที่ไม่ชอบ นาย ก. นาย ข. และนาย ค. ส่วนใหญ่ก็จะมองว่าบุคคลเหล่านี้ผิดจริง เป็นคนไม่ดี ซึ่งภาวะของสังคมไทยในปัจจุบันส่วนใหญ่กำลังตกอยู่ในวังวนกับดักของมายาคติของความชอบ/ไม่ชอบ และ ความรัก/ความเกลียด และถือเอาสิ่งเหล่านี้มาเป็นดัชนีชี้วัดอยู่เหนือเหตุผลของการกลั่นกรองสิ่งที่ถูก – ผิด และ ดี – เลว ผ่านเส้นแบ่งของมิติคำว่า “ความคิดเห็นแตกต่าง” ในทัศนะของผู้เขียนมองว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจผิดเป็นอย่างมาก กลับกลายเป็นว่า อิทธิพลของความชอบ/ไม่ชอบ และ ความรัก/ความเกลียด อยู่เหนือเหตุผลและความถูกต้องตามจริง ทั้ง ๆ ที่แท้ที่จริงแล้วดัชนีชี้วัดในประเด็นดังกล่าวที่แยกแยะความถูก – ผิด และความดี – ความเลว ที่ถูกต้องตามครรลองคลองธรรม ต้องยืนอยู่บนเส้นแบ่งของ สัมมาทิฏฐิ และ มิจฉาทิฏฐิ

 

                - การที่เราชอบคน ๆ หนึ่งมาก ทั้ง ๆ ที่แท้ที่จริงแล้ว เขาคนนั้นเป็นคนเลว คดโกง แต่เราก็ยังเห็นเขาเป็นคนดีในสายตาและความคิดของเรา แสดงว่า เราถูกมิจฉาทิฏฐิ คือ ความรัก/ความหลง ครอบงำจนบดบังกระบวนการกลั่นกรองความคิดของตรรกะเหตุและผลที่ก่อให้เกิดปัญญาและตาสว่าง หาใช่ เป็นแก่นของความคิดเห็นแตกต่างจากคนอื่นไม่

ในขณะเดียวกัน

               - การที่เราเกลียดคน ๆ หนึ่ง ทั้ง ๆ ที่เขาเป็นคนดี ทำประโยชน์ให้กับสังคม แต่เราก็ยังมองเขาว่าเป็นคนไม่ดีในสายตาและความคิดของเรา แสดงว่า เราถูกมิจฉาทิฏฐิ คือ ความเกลียด/ความอาฆาต ครอบงำนำทางจนบดบังกระบวนการกลั่นกรองทางความคิดของตรรกะเหตุและผลที่ทำให้เกิดปัญญาและตาสว่าง หาใช่ เป็นแก่นแท้ของความคิดเห็นแตกต่างจากคนอื่นไม่

          

               ในภาวะปัจจุบันเราต้องทำความเข้าใจกับความหมายและนัยยะของ “ความคิดเห็นแตกต่าง” กับ “มิจฉาทิฏฐิ” ให้ชัดเจนเสียก่อนว่า กรณีใดแบบใดเป็นเรื่องของ “ความคิดเห็นแตกต่าง” และกรณีใดแบบใดเป็นเรื่องของการถูกครอบงำนำทางโดย “มิจฉาทิฏฐิ” ไม่ใช่ไปเหมารวมในเรื่องของความดี – เลว และ ความถูก – ผิด ตามครรลองคลองธรรมแล้วผลักภาระดังกล่าวไปให้กับ “ความคิดเห็นแตกต่าง” มาเป็นเส้นแบ่งในการตัดสินเรื่องดังกล่าว แล้วจะหามาตรฐานของเรื่องความถูก – ผิด และ ความดี – เลว ที่ถูกต้องตามครรลองคลองธรรมจนนำไปสู่ข้อยุติได้อย่างไร หากมองประเด็นดังกล่าวเป็นเพียงความคิดเห็นแตกต่างที่ขับเคลื่อนโดยความชอบ/ไม่ชอบ และความรัก/ความเกลียด เป็นสำคัญ

         

              หากสังคมไทยยังดำรงอยู่ท่ามกลางการแยกแยะในประเด็นดังกล่าวไม่ออก สังคมก็จะสุ่มเสี่ยงต่อความแตกแยกรุนแรงขึ้นไปอีก เพราะความไม่เข้าใจ และ/หรือความจงใจที่จะไม่เข้าใจในการใช้วาทะกรรม “ความคิดเห็นแตกต่าง” มาบิดเบือนแก่นแท้ของมาตรฐานของการแยกแยะถูก-ผิด และ ความดี –เลว แทนการมองถึงแก่นแท้และรากเหง้าของการถูก “มิจฉาทิฏฐิ” ครอบงำจนมืดบอดทางปัญญา แล้วสังคมในอนาคตจะดำรงอยู่ได้อย่างไร ? ในเมื่อเรื่องของความถูก – ผิด และ ความดี – เลว ที่ถูกต้องตามครรลองคลองธรรม ถูกผลักภาระไปยังมายาคติ “ความคิดเห็นแตกต่าง” ที่ไม่สามารถสะท้อนออกมาทางมาตรฐานของดัชนีชี้วัดในเรื่องดังกล่าวได้ หากเป็นเช่นนั้นสังคมคงดำรงอยู่บนกับดักของสองมาตรฐาน (double Standard) ของความถูก –ผิด และ ความดี –เลว ที่ใช้ดัชนีชี้วัดจากความชอบ/ไม่ชอบ และความรัก/ความเกลียด แทน ความสมเหตุสมผลตามจริง ที่เป็นผลผลิตจากคุณธรรมและจริยธรรมที่ดีงามและสั่งสมมายาวนานในสังคมไทย

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 397078เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2010 19:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มีนาคม 2012 22:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท