อุปสงค์ (Demand)


         ผู้ที่สนใจในข้อมูลทางเศรษฐกิจหรือเคยติดตามข้อมูลข่าวสารทางเศรษฐกิจตามสื่อต่าง ๆ  อาจจะเคยได้เห็นและได้ยินคำว่า “อุปสงค์” มาบ้างพอสมควร บางท่านอาจจะยังมีความสงสัยในความหมายที่แท้จริงของคำดังกล่าวว่าในทางเศรษฐศาสตร์แล้วอุปสงค์หมายความว่าอย่างไรและมีความสำคัญอย่างไร

 

          อุปสงค์ (demand) คือ ปริมาณสินค้าและบริการชนิดใดชนิดหนึ่งที่ผู้บริโภคต้องการและเต็มใจที่จะซื้อ ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ณ ระดับราคาต่าง ๆ กัน ของสินค้าชนิดนั้น หรือ ณ ระดับรายได้ต่าง ๆ ของผู้บริโภค หรือ ณ ระดับราคาต่าง ๆ กันของสินค้าชนิดอื่นที่เกี่ยวข้อง

 

             ข้อพึงสังเกตเพิ่มเติม : ในความหมายของอุปสงค์

            ๑. อุปสงค์จะสมบูรณ์ในทางเศรษฐศาสตร์ คือ ต้องมีความต้องการร่วมกับมีอำนาจซื้อ (เงิน) หากมีแค่ความต้องการแต่ไม่มีอำนาจ (เงิน) ที่จะซื้อก็ไม่ถือว่าเป็นอุปสงค์ เช่น

                      - นาย ก. มีความต้องการที่จะซื้อทีวีและมีเงินพอในการชำระค่าทีวี ถือว่า เป็นอุปสงค์

                     - นาย ข. มีความต้องการโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่แต่เงินมีไม่พอจึงซื้อไม่ได้ ถือว่า ไม่ใช่อุปสงค์

         

           ๒. สามารถแบ่งอุปสงค์ตามความหมายได้ ๓ ประเภท (ซึ่งในแต่ละประเภทก็จะมีข้อ สมมติ เพื่อขจัดข้อจำกัดทางพฤติกรรมการบริโภคออกไป ให้ง่ายต่อความเข้าใจ) คือ

                 ๒.๑ อุปสงค์ต่อราคา (price demand) หมายถึง ปริมาณของสินค้าและบริการที่มีผู้บริโภคต้องการซื้อ ณ ระดับราคาต่าง ๆ ของสินค้าและบริการชนิดนั้น ๆ ในระยะเวลาที่กำหนด โดยสมมติ กำหนดให้ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการบริโภคอื่น ๆ คงที่ เช่น

                       - หากต้องการศึกษาอุปสงค์ต่อราคาของสินค้า ก. นั้น ก็จะพิจารณาเฉพาะการเปลี่ยนแปลงไปในราคาสินค้า ก. อย่างเดียว ว่ามีผลกระทบต่อความต้องการของผู้บริโภคอย่างไร โดยที่สมมติ กำหนดให้ปัจจัยอื่น ๆ เช่น รายได้ของผู้บริโภค ราคาสินค้าชนิดอื่น (สินค้า ข.) ที่เกี่ยวข้องไม่เปลี่ยนแปลง เป็นต้น

 

                ๒.๒ อุปสงค์ต่อรายได้ (income demand) หมายถึง ปริมาณของสินค้าและบริการที่มีผู้บริโภคต้องการซื้อ ณ ระดับรายได้ต่าง ๆ กัน ในระยะเวลาที่กำหนด โดยสมมติ กำหนดให้ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการบริโภคอื่น ๆ คงที่ เช่น

                       - หากต้องการศึกษาอุปสงค์ต่อรายได้ของนาย ก. ที่มีต่อสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่ง ก็จะพิจารณาเฉพาะการเปลี่ยนแปลงไปในรายได้ของนาย ก. อย่างเดียว ว่ามีผลกระทบต่อความต้องการในสินค้านั้น ๆ อย่างไร โดยที่สมมติ กำหนดให้ปัจจัยอื่น ๆ เช่น ราคาของสินค้าชนิดนั้น ราคาสินค้าชนิดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องไม่เปลี่ยนแปลง เป็นต้น

 

              ๒.๓ อุปสงค์ต่อราคาสินค้าชนิดอื่นที่เกี่ยวข้อง (cross demand) หมายถึง ปริมาณของสินค้าและบริการที่มีผู้บริโภคต้องการซื้อ ณ ระดับราคาต่าง ๆ ของสินค้าและบริการชนิดอื่นที่เกี่ยวข้องกัน ในระยะเวลาที่กำหนด โดยสมมติ กำหนดให้ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการบริโภคอื่น ๆ คงที่ เช่น

                 - หากต้องการศึกษาอุปสงค์ต่อราคาสินค้าชนิดอื่นที่เกี่ยวข้องกัน หากว่าเราบริโภคสินค้า ก. เป็นประจำ ในกรณีของการศึกษาดังกล่าวก็จะพิจารณาเฉพาะการเปลี่ยนแปลงไปในราคาสินค้าอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสินค้า ก. เช่น สินค้า ข. ว่ามีผลกระทบต่อความต้องการสินค้า ก.ที่เราบริโภคเป็นประจำนั้นอย่างไร โดยที่สมมติ กำหนดให้ปัจจัยอื่น ๆ เช่น ราคาของสินค้าชนิดนั้น รายได้ของผู้บริโภค ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นต้น

 

                   เพิ่มเติม : สินค้าที่เกี่ยวข้องกัน

                         - สินค้าที่ใช้ทดแทนกัน (substitution goods) เช่น เนื้อหมูกับเนื้อไก่  ปากกากับดินสอ เป็นต้น

                         - สินค้าที่ใช้ประกอบกัน (complementary goods) เช่น กาแฟกับคอฟฟีเมต แปรงสีฟันกับยาสีฟัน เป็นต้น

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #อุปสงค์ (demand)
หมายเลขบันทึก: 396995เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2010 15:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:17 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท