Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2553 เรื่อง การถอนข้อสงวนของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อ 7


               คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการถอนข้อสงวนอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อ 7 และมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการถอนข้อสงวนของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อ 7 ต่อคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ

                   สาระสำคัญของเรื่อง

                   1. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รายงานว่า

                             1.1 ประเทศไทยได้ลงนามเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2535 โดยตั้งข้อสงวน 3 ข้อ คือ ข้อ 7 เรื่องสถานะบุคคล ข้อ 22 เรื่องสถานะผู้ลี้ภัย และข้อ 29 เรื่องการจัดการศึกษา

                             1.2 ต่อมาประเทศไทยได้ถอนข้อสงวนข้อ 29 เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2540

                             1.3 ประเทศไทยได้รายงานผลการดำเนินงานตามอนุสัญญาต่อคณะกรรมการสิทธิเด็ก แห่งสหประชาชาติแล้ว รวม 2 ฉบับ คือ ฉบับที่ 1 เมื่อปี 2539 และฉบับที่ 2 เมื่อปี 2547 โดยคณะกรรมการสิทธิเด็ก แห่งสหประชาชาติ ขอให้ประเทศไทยทบทวนเรื่องการถอนข้อสงวนทั้ง 2 ข้อ (ข้อ 7 และข้อ 22) ดังกล่าว รวมทั้งขอให้พิจารณา ข้อ 2 และข้อ 24 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ไทยรับรองโดยไม่ตั้งข้อสงวนในเรื่องสถานะบุคคลและสถานะผู้ลี้ภัย

                   2. พม.ได้ดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนเพื่อตอบสนองให้เกิดสิทธิตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก โดยกำหนดถอนข้อสงวนข้อ 7 เป็นลำดับต้น ดังนี้

                             2.1 คณะอนุกรรมการเรื่อง “สิทธิเด็ก” ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2553 วันที่ 12 พฤษภาคม 2553 มีมติเห็นชอบการถอนข้อสงวนอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อ 7 และให้เสนอเรื่องการถอนข้อสงวนของอนุสัญญาว่าด้วย สิทธิเด็ก ข้อ 7 ต่อคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ

                             2.2 คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2553 วันที่ 11 มิถุนายน 2553 มีมติเห็นชอบการถอนข้อสงวนของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อ 7 และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป โดยมีข้อเท็จจริง เหตุผลประกอบ รวมทั้งการดำเนินงานของไทยที่มีการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานแก่เด็กทุกคนแล้ว ซึ่งเอื้อต่อการถอนข้อสงวนดังกล่าว สรุปได้ดังนี้

                                      2.2.1 สาระของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อ 7 คือ “เด็กทุกคนต้องได้รับการจดทะเบียนทันทีหลังเกิด มีชื่อ และสิทธิที่จะได้สัญชาติ” ได้มีการตีความ โดยหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องสรุปได้ว่า “ไม่มีผลผูกพันต้องให้สัญชาติไทยแก่เด็กทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย” ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้ระบุในเอกสารข้อคิดเห็นทั่วไปเกี่ยวกับสิทธิเด็กตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองว่า “ในบริบทของการปกป้องเด็ก ควรมีการให้ความสนใจพิเศษในสิทธิของเด็กทุกคนที่จะได้มาซึ่งสัญชาติตามที่บัญญัติในกติการะหว่างประเทศฯ ข้อ 24 (3) ที่ไม่ด้อยลงจากสังคมและรัฐอันเนื่องมาจากการเป็นคนไร้รัฐ ซึ่งไม่จำเป็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวก่อภาระหน้าที่แก่รัฐในการที่จะให้สัญชาติกับเด็กทุกคนที่เกิดในดินแดนของรัฐนั้นแต่อย่างใด”

                                      2.2.2 คณะอนุกรรมการเรื่อง “สิทธิเด็ก” ในคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและ เยาวชนแห่งชาติ ได้จัดการประชุมและชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจเรื่องสิทธิที่จะได้สัญชาติของเด็กให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง อาทิ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สภาทนายความ คณะทำงานด้านเด็ก และรัฐสภา ซึ่งสรุปผลได้ว่า “ประเทศไทยมีนโยบายและกฎหมายภายในที่สอดคล้องและตอบสนองต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กข้อ 7 ครบถ้วนแล้ว จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะคงข้อสงวนดังกล่าวต่อไป”

                             2.2.3 ปัจจุบันประเทศไทยมีการดำเนินงานเพื่อประกันสิทธิขั้นพื้นฐานแก่เด็กทุกคนในประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว ทั้งในด้านกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติและมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดผลแก่เด็กอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 และพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 การดำเนินงานสำรวจและจัดทำทะเบียนเพื่อให้สถานะบุคคลแก่บุคคลกลุ่มต่าง ๆ ที่อยู่ในประเทศไทย ตลอดจนการจัดการศึกษาและบริการด้านสุขภาพอนามัยแก่บุคคลที่ขาดหลักฐานทะเบียนราษฎร ที่ประชุมมีข้อคำถามกรณีถอนข้อสงวนดังกล่าวจะมีผลให้ประเทศไทยต้องมีการปฏิบัติใดที่แตกต่างไปจากที่ปฏิบัติอยู่หรือไม่ หากไม่มีก็เห็นชอบการถอนข้อสงวน ซึ่งในประเด็นนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ และสภาความมั่นคงแห่งชาติยืนยันว่าไม่มีผลให้ต้องมีการปฏิบัติแตกต่างไปจากเดิมและไม่จำเป็นต้องให้สัญชาติไทย

 

หมายเลขบันทึก: 396916เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2010 12:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 22:06 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท