การบริโภคของภาคเอกชนเมื่อเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อด้านอุปทาน


ผลของการที่ระดับเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับรายได้ที่คงเดิม มีผลทำให้อำนาจซื้อของประชาชนลดลง (ตามกรอบแนวคิดเกี่ยวกับความต้องการถือเงินของ สำนักการเงินนิยม : การที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นจะทำให้ค่าของเงินลดลงตามราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น หรือค่าของเงินที่แท้จริงลดลง ทำให้อำนาจซื้อโดยรวมลดลงด้วย)

            การบริโภคของภาคเอกชน (Private Consumption) เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการขยายตัวของอุปสงค์รวม (Aggregate Demand) ซึ่งการตัดสินใจบริโภคของภาคเอกชนนั้นมีความสำคัญต่อการตัดสินใจผลิตสินค้าและบริการของหน่วยธุรกิจเพื่อมาสนองตอบต่อความต้องการของครัวเรือนหรือผู้บริโภค นอกจากนี้การบริโภคของภาคเอกชนยังมีผลต่อการออม เนื่องจากว่าการตัดสินใจบริโภคเพิ่มขึ้นจะทำให้การออมลดลง ในขณะที่การตัดสินใจลดการบริโภคก็จะทำให้การออมเพิ่มขึ้น

   

             ในกรณีที่ประเทศเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง (อันเนื่องมาจากราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น) ซึ่งการที่ราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้นมีผลทำให้ต้นทุนของสินค้าและบริการภายในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกัน ซึ่งหากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยตามปกติก็จะเป็นแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการในการลงทุนทางด้านธุรกิจ แต่ถ้าหากอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากและผันผวนเหมือนกับปัจจุบัน (เนื่องจากราคาน้ำมันโลกเพิ่มขึ้นและมีความผันผวนเป็นอย่างมาก) ก็จะสร้างความไม่แน่นอนและก่อให้เกิดปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการครองชีพของประชาชนโดยทั่วไป และส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งถือว่าเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

 

              ในกรณีดังกล่าวที่เผชิญอยู่กับปัญหา เงินเฟ้อทางด้านอุปทาน (Supply Inflation or Cost – Push Inflation) ซึ่งมีสาเหตุของเงินเฟ้อที่เกิดจากการติดต่อกับภาคต่างประเทศ (International Transmission of Inflation) กล่าวคือ เกิดจากสภาพเศรษฐกิจของแต่ละประเทศซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันไป โดยเฉพาะประเทศที่มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศค่อนข้างมาก ปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในประเทศดังกล่าวมักเป็นเงินเฟ้อที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยผ่านการนำเข้าและส่งออก กล่าวคือ ในด้านการนำเข้า เช่น กรณีที่ประเทศไทยสั่งซื้อน้ำมันจากต่างประเทศ เข้ามาใช้ในการผลิตสินค้าและบริการต่าง ๆ เมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้น ราคาสินค้าที่ใช้น้ำมันเป็นส่วนประกอบในการผลิตก็จะปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย หรือที่เรียกว่า เงินเฟ้อที่นำเข้าจากต่างประเทศ (Imported cost – push inflation) ส่วนในด้านการส่งออก เมื่อมีอุปสงค์ต่อสินค้าออกของไทยในต่างประเทศสูงขึ้น ซึ่งอาจเป็นเพราะอุปทานของสินค้าชนิดนั้นในตลาดโลกลดลง ต่างประเทศก็จะหันมาซื้อสินค้าของไทยมากขึ้น ทำให้อุปทานของสินค้าชนิดนั้นภายในประเทศลดลง ส่งผลให้ราคาสินค้าภายในประเทศสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดเงินเฟ้อในที่สุด

 

              ผลของการที่ระดับเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับรายได้ที่คงเดิม มีผลทำให้อำนาจซื้อของประชาชนลดลง (ตามกรอบแนวคิดเกี่ยวกับความต้องการถือเงินของ สำนักการเงินนิยม : การที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นจะทำให้ค่าของเงินลดลงตามราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น หรือค่าของเงินที่แท้จริงลดลง ทำให้อำนาจซื้อโดยรวมลดลงด้วย) ประชาชนก็จะเลือกที่จะชะลอหรือลดการบริโภคที่ไม่จำเป็นลงไป ซึ่งหากธนาคารกลางดำเนินนโยบายการเงินโดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ก็จะยิ่งทำให้ภาคเอกชนฝากเงินหรือลงทุนในพันธบัตรหรือหุ้นเพิ่มขึ้น เกี่ยวเนื่องจากได้รับผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นนั่นเอง

 

 

             เนื่องจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคของภาคเอกชน (Private Consumption  Expenditure) เป็นปัจจัยที่สำคัญอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่ออุปสงค์รวม (Aggregate Demand) ของประเทศ เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อโดยมีสาเหตุมาจากอุปทาน (เช่น ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น) ทำให้ความเชื่อมั่นโดยรวมของผู้บริโภคมีทิศทางที่สอดคล้องกับการลดลงของของการบริโภค เกี่ยวเนื่องจาก ผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับราคาสินค้าและค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ แม้ว่าผลกระทบดังกล่าวในระยะสั้นจะยังมีไม่มากนัก แต่ถ้าหากปล่อยให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงเรื่อย ๆ ก็จะส่งผลกระทบต่อการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนในระยะยาวต่อไป ดังนั้นภาครัฐต้องเร่งสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคโดยเร็ว โดยการหามาตรการรองรับและควบคุมระดับราคาสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อการดำรงชีพให้อยู่ในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับผู้บริโภคควบคู่ไปกับการใช้เมนูนโยบายทางการเงินและการคลังอย่างสมเหตุสมผล

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 396317เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2010 09:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 13:13 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท