ญี่ปุ่นฉก"กวาวเครือ"ของไทยจดสิทธิบัตร


กวาวเครือ (Pueraria mirifica )สมุนไพรสำคัญรู้จักแพร่หลายกันในหมู่หมอพื้นบ้าน และได้รับการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรเสริมความงามมานานหลายสิบปีในประเทศไทย

ญี่ปุ่นฉก"กวาวเครือ"ของไทยจดสิทธิบัตร

บริษัทเครื่องสำอางยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นจดสิทธิบัตรกวาวเครือ ชี้เป็นการกระทำเยี่ยงโจรสลัดชีวภาพ ละเมิดต่อกฎหมายไทย และละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศ กระทบอนาคตการวิจัยและพัฒนารวมถึงการส่งออกที่มีมูลค่ามหาศาล แนะให้ยกขึ้นเป็นประเด็นสำคัญในการเจรจาเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น และเป็นกรณีตัวอย่างในการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์ทรัพยากรชีวภาพซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพในต้นปีหน้า

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2547 เวลา 13.30 น. นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการองค์กรความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาไทยหรือไบโอไทย( BioThai) เปิดแถลงข่าวในในระหว่างการอภิปรายทางวิชาการที่จัดขึ้นโดยกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชนและ ICTSD/UNCTAD ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ว่า กวาวเครือพืชสมุนไพรของไทยได้ถูกจดสิทธิบัตรแล้วโดยบริษัทโคซี่ บริษัทเครื่องสำอางยักษ์ใหญ่ 1 ใน 3 ของญี่ปุ่น การจดสิทธิบัตรครั้งนี้ถือว่าเป็นการซ้ำรอยประวัติศาสตร์การจดสิทธิบัตรเปล้าน้อยของไทยของบริษัทซังเกียวเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว พฤติกรรมของบริษัทญี่ปุ่นครั้งนี้ถือว่าเป็นการกระทำเยี่ยงโจรสลัดชีวภาพ ละเมิดต่อกฎหมายไทย และละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศ

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เปิดเผยว่าขณะนี้กวาวเครือ (Pueraria mirifica )สมุนไพรสำคัญ

ของไทยซึ่งรู้จักแพร่หลายกันในหมู่หมอพื้นบ้าน และได้รับการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรเสริมความงามมานานหลายสิบปีในประเทศไทยนั้น ขณะนี้ได้ถูกบริษัทโคซี่ (Kose Corporation )บริษัทเครื่องสำอางยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นและของโลก และยาบริษัทชิราโตริ(Shiratori Pharmaceutical Co., Ltd. ) ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองชิบะ(Chiba)ประเทศญี่ปุ่นจดสิทธิบัตรแล้ว

สิทธิบัตรที่บริษัททั้งสองจดสิทธิบัตรเป็นสิทธิบัตรสหรัฐ หมายเลข 6,352,685 ได้รับอนุมัติเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2545 ทั้งนี้โดยอ้างคุณสมบัติของสารสกัดจากกวาวเครือที่สามารถรักษาผิวพรรณไม่ให้แก่เร็วรวมทั้งคุณสมบัติอื่นๆ เช่น ป้องกันการก่อตัวของเมลานีน (melanine formation inhibition) เป็นต้น

สิทธิบัตรในกวาวเครือที่ทั้งสองบริษัทได้จดสิทธิบัตรผูกขาดไว้นั้นครอบคลุมกว้างขวาง

ถึง 20 รายการ เช่น สารสกัดจากกวาวเครือ วิธีการสกัด รวมถึงการนำสารสกัดที่ได้ไปใช้เป็นส่วนประกอบของสารที่มีคุณสมบัติในการดูแลผิวอื่นๆเช่น การป้องกันแสงอุลตร้าไวโอเลต วิตาเอ วิตามินซี และอื่นๆ ด้วย

นายวิฑูรย์ กล่าวว่า การจดสิทธิบัตรของบริษัทญี่ปุ่นทั้งสองเป็นการกระทำเยี่ยงโจรสลัด

ชีวภาพเนื่องจากกวาวเครือจัดเป็นพันธุ์พืชป่าตาม พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชปี 2542 ผู้ใดที่นำไปวิจัยหรือใช้ประโยชน์ในทางพาณิชย์จะต้องได้รับการอนุญาตและต้องทำสัญญาแบ่งปันประโยชน์กับคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช สิทธิบัตรดังกล่าวอาจละเมิดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์ไทย พ.ศ. 2542 ด้วยเพราะคุณสมบัติในการดูแลผิวพรรณนั้นเป็นความรู้ที่แพร่หลายในหมู่หมอยาพื้นบ้านของไทยมาช้านาน เช่นเดียวกับคุณสมบัติอื่นๆ เช่น เป็นยาบำรุงเลือดลมและกระตุ้นเลือดลมและประจำเดือนให้มาตามปกติ เป็นยาอายุวัฒนะ ป้องกันผมหงอก แก้โรคตาฝ้าฟาง และต้อกระจก รวมทั้งกระตุ้นการเพิ่มขนาดของทรวงอก เป็นต้น

การจดสิทธิบัตรในกวาวเครือครั้งนี้ของญี่ปุ่นยังถือว่าเป็นการละเมิดข้อตกลงของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งมีประเทศต่างๆทั่วโลกมากกว่า 100 ประเทศได้ให้สัตยาบันเอาไว้ ผู้อำนวยการของไบโอไทยยังกล่าวด้วยว่า การจดสิทธิบัตรกวาวเครือครั้งนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก และจะส่งผลกระทบต่อการวิจัยและพัฒนาสมุนไพรกวาวเครือของไทยรวมถึงการส่งออกผลิตภัณฑ์จากกวาวเครือออกไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศอีกด้วย ผลกระทบในเรื่องนี้ในระยะยาวอาจมีมูลค่าหลายพันล้านบาท เรื่องนี้แม้แต่สมเด็จพระราชินีก็ทรงห่วงใยมากได้รับสั่งกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ต้นปีที่แล้วให้คุ้มครองมรดกภูมิปัญญาและทรัพยากรชีวภาพของประเทศ แต่ก็เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นอีกหน่วยงานที่จะต้องรับผิดชอบในกรณีนี้ มี 4 หน่วยงานคือ คณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชภายใต้กรมวิชาการเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, คณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ภายใต้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข, กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ และสำนักนโยบายและแผนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ

นายวิฑูรย์ ยังกล่าวสรุปว่ามีทางแก้ไขปัญหานี้ได้โดยใช้หลักกฎหมายภายในของไทย

เอง การใช้ช่องทางของกฎหมายสิทธิบัตรดังกรณีที่อินเดียประสบผลสำเร็จมาแล้วในการคัดค้านการจดสิทธิบัตรในขมิ้นชัน การนำปัญหานี้เป็นประเด็นสำคัญในการเจรจาเอฟทีเอกับประเทศญี่ปุ่น และการนำเรื่องนี้ขึ้นมาปรึกษาหารือในโอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมพิเศษว่าด้วยการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์ของประเทศสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ(CBD)ในประเทศไทยในต้นปี 2548

---------------------------

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 12 พฤศจิกายน 2547 18:55 น.

หมายเลขบันทึก: 396212เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2010 21:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 18:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท