มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน
มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน

“คันท่าเกวียน” ไร้รัฐ ไม่ไร้หวัง


“ขนาดลูกหมีแพนด้ามันยังได้สัญชาติไทยเลย... แล้วเราอยู่มาตั้งนานจะไม่ได้สัญชาติได้ยังไง”


“คันท่าเกวียน” ไร้รัฐ ไม่ไร้หวัง

 

นัน ภู่โพธิ์เกตุ

 

เช้านี้ ฉันขับมอเตอร์ไซค์เลาะเลียบขอบแดนไทย-ลาว ที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ทางดินสีแดงจัดทอดตัวพาฉันไปยังหมู่บ้านเล็ก ๆ ริมฝั่งโขงเพื่อพบกับเรื่องราวของคนลาวอพยพและคนไร้รัฐแห่งบ้านคันท่าเกวียน โชคดีที่มีโอกาสได้พบกับพ่อใหญ่กุชาวลาวอพยพรุ่นแรกที่ร้านก๋วยเตี๋ยวกลางหมู่บ้าน ถึงแม้ร่างกายของแกจะดูทรุดโทรมตามวัยแต่แววตาและรอยยิ้มยังฉายภาพของพ่อใหญ่ในวัยหนุ่มให้เห็นได้อย่างชัดเจน

“สมัยอยู่ฝั่งนู้นพ่อเป็นทหาร” พ่อใหญ่เริ่มเล่าเรื่องราวก่อนข้ามมายังฝั่งไทยให้ฉันฟังหลังจากก๋วยเตี๋ยวร้อน ๆ ถูกยกมาวางตรงหน้า  “สมัยลาวเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2518 พ่อเลยหนีตายมาฝั่งนี้ ตอนนั้นเข้ามาอยู่ในค่ายทหารลาวที่ฝั่งไทยตรงบ้านปากลา เลยจากคันท่าเกวียนไปไม่ไกล อยู่ได้ไม่นานพ่อก็เจอกับแม่ที่ข้ามมาอยู่ในค่ายทหารแล้วก็แต่งงานกัน ตอนนั้นคิดว่าสู้รบต่อไปคงไม่ไหวเพราะเรามีภาระแล้ว เลยย้ายมาอยู่ที่คันท่าเกวียนนี่ เพื่อนที่จะลี้ภัยไปไปสหรัฐฯ ก็ชวนพ่อไปแต่พ่อไม่ไป อยู่ที่นี่ดีกว่าพูดจาภาษาเดียวกัน ไปอยู่นั่นไม่รู้ความเป็นอยู่จะเปลี่ยนไปแค่ไหน”

พ่อใหญ่ว่าสมัยนั้นคันท่าเกวียนมีบ้านไม่เกินสามสิบหลัง พ่อมาขอปลูกกระต๊อบอยู่ในที่ดินของญาติพี่น้อง  เลี้ยงชีพด้วยการหาปลาในแม่น้ำโขง สมัยนั้นพี่ไทยน้องลาวข้ามไปหาสู่กันเป็นเรื่องปรกติ จนวันหนึ่งในปี 2534 ผู้ใหญ่บ้านเรียกลูกบ้านคันท่าเกวียนไปประชุมแจ้งว่าให้ผู้มีรายชื่อไปถ่ายบัตรลาวอพยพสีฟ้า (หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าบัตรสีเขียว) ที่ตัวอำเภอโขงเจียม วันนั้นนั่นเองที่เส้นพรมแดนสีปูนสายนี้ชัดเจนขึ้น

หลังจากนั้นในปี 2540 พ่อใหญ่กุต้องเดินทางไปโขงเจียมเพื่อถ่ายบัตรอีกครั้ง คราวนี้บัตรเปลี่ยนเป็นสีฟ้าขอบน้ำเงิน ใบเล็กลงพกพาสะดวก (ชาวบ้านเรียกว่าบัตรสีน้ำเงิน) ต่อมาในปี 2550 พ่อใหญ่กุเดินทางไปโขงเจียมอีกเพื่อถ่ายบัตรสีชมพู คราวนี้แกได้ทะเบียนบ้านกลับมาด้วย ถึงแม้รูปร่างหน้าตาบัตรจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน สถานะของผู้ถือก็คงยังเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายและได้รับอนุญาตให้อยู่เฉพาะในพื้นที่ที่ทำการออกบัตรเช่นเดิม

ฉันถามพ่อใหญ่ว่าแกไม่เหนื่อยเหรอที่จะต้องเดินทางไปถ่ายบัตรครั้งแล้วครั้งเล่า ในเมื่อชายแดนลาว-ไทยก็ไม่ได้เข้มเรื่องการจับกุมส่งกลับมากนัก พ่อใหญ่กุระบายยิ้มแทนคำตอบพร้อมเล่าความฝันสูงสุดของแกให้ฉันฟัง “พ่ออยากได้สัญชาติไทยอยากเป็นคนไทยเต็มตัวเสียที พ่ออยู่ที่นี่มานานรักแผ่นดินนี้ไม่ต่างจากคนไทย พ่อรักและเคารพในหลวงพระราชินี พ่อภูมิใจที่ได้อยู่แผ่นดินที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย อีกอย่างพ่ออยากเดินทางไปไหนมาไหนได้ ไปใช้บริการอะไรเท่าเทียมกับคนไทย ไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหนแต่พ่อก็จะรอเพราะพ่อกลับลาวไม่ได้ ถ้าพ่อกลับไปตอนนี้ก็มีแต่ตาย” ถึงตรงนี้น้ำตาของทหารใหญ่ไหลอาบหน้า แต่ไม่นานรอยยิ้มของแกก็ปรากฏอีกครั้งพร้อมกับมุขตลกแกมประชดที่ว่า “ขนาดลูกหมีแพนด้ามันยังได้สัญชาติไทยเลย... แล้วเราอยู่มาตั้งนานจะไม่ได้สัญชาติได้ยังไง” 

ทุกวันนี้พ่อกุและภรรยาถือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยสีชมพู มีเลขประจำตัวประชาชนนำหน้าด้วยเลข 6 แต่ลูก ๆ ของพ่อใหญ่กลับมีสถานะที่แตกต่างออกไป พ่อใหญ่เล่าให้ฟังว่าในการถ่ายบัตรสีฟ้าครั้งแรกเมื่อปี 2534 พ่อกุ ภรรยา และลูกอีก 3 คนมีสิทธิ์ในการถ่ายบัตร แต่แกกลัวว่าลูกสาวคนเล็กทั้งสองคนจะต้องหยุดเรียน การเดินทางไปถ่ายบัตรรอบนั้นจึงมีเพียงพ่อ ภรรยาและอุดรลูกชายคนโต ต่อมาเมื่อพ่อใหญ่พาลูกสาวอีกสองคนไปถ่ายบัตร ทั้งสองกลับได้เลขประจำตัวประชาชนนำหน้าด้วยเลข 0 แต่พ่อกุก็ยังเชื่อว่าพวกเธอจะได้สัญชาติไทยเพราะเกิดบนแผ่นดินไทย ต่างกับอุดรที่จู่ ๆ ข้อมูลก็หายไปจากทะเบียนทำให้ตอนนี้เขากลายเป็นคนไร้รัฐโดยสมบูรณ์

สายแล้วก๋วยเตี๋ยวหมดชาม ฉันขอให้พ่อใหญ่กุพาไปหาอุดรเพื่อพูดคุยถึงเลข 6 ที่หายไป เราใช้เวลาเดินแค่อึดใจไปบ้านพ่อใหญ่กุเพื่อพบกับชายหนุ่มร่างใหญ่ผู้มีหนวดเคราเข้มเขียวและรอยยิ้มพิมพ์ใจเป็นจุดจดจำ

“สวัสดีครับ ผมชื่ออุดร อายุ 32 ปี เป็นลูกพ่อใหญ่กุ แต่งงานแล้วมีลูกสองคน คนโต 7 ขวบ คนเล็ก 10 เดือน” ฉันอดแซวไม่ได้ว่าอุดรพูดเหมือนแนะนำตัวให้เจ้าหน้าที่ฟัง อุดรยิ้มอวดฟันขาวคลายความเกร็งไปบ้าง เขาเพิ่งกลับจากหาปลาซึ่งเป็นอาชีพหลัก บางวันคนที่นี่หาปลาได้ถึง50กิโลฯ ขายได้อย่างต่ำกิโลฯ ละ 80 บาท แต่ก็เฉพาะช่วงน้ำขึ้นเท่านั้นที่จะโชคดีอย่างนี้ ดูเหมือนอุดรจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่สุขสบายตามอัตภาพเฉกเช่นชาวบ้านคันท่าเกวียนคนอื่น แต่เลข 6 ที่หายไปกลับสร้างปมให้ชายยิ้มเก่งผู้นี้ถึงกับยิ้มไม่ออก

อุดรเกิดบนแผ่นดินไทยเมื่อปี 2521 เขาเรียนจนถึงชันประถมศึกษาปีที่ 6 ก็เดินทางไปทำงานนอกหมู่บ้านเช่นเดียวกับคนหนุ่มร่วมรุ่น แม้ชีวิตการเป็นแรงงานในจังหวัดอุบลฯ จะต้องอยู่อย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ แต่ก็ยังอุ่นใจว่ามีเงินส่งกลับไปจุนเจือพ่อแม่ที่บ้าน อุดรทำงานอยู่ในเมืองจนไม่มีโอกาสรู้ว่าในปี 2540 มีการเรียกให้ผู้มีบัตรสีฟ้าไปถ่ายบัตรใหม่เป็นบัตรสีฟ้าขอบน้ำเงิน พ่อใหญ่กุเองก็ไม่รู้จะแจ้งข่าวให้ลูกยังไงเพราะเทคโนโลยีการสื่อสารในสมัยนั้นยังไม่รวดเร็วอย่างทุกวันนี้และระยะเวลาที่รัฐฯ เปิดให้ถ่ายบัตรก็สั้นเพียงวันเดียว พ่อใหญ่กุจึงตัดใจไปถ่ายบัตรสีฟ้าขอบน้ำเงินกับภรรยาเพียงสองคน

จากนั้นไม่นานอุดรก็เดินทางกลับมาบ้านเกิดพร้อมกับแฟนสาว แม้รู้ว่าพลาดโอกาสในการทำบัตรใหม่ แต่เขาก็อุ่นใจว่าบัตรใบใหม่แตกต่างกับใบเก่าเพียงรูปลักษณ์ เขาจึงยังถือบัตรใบเดิมและรอโอกาสทำบัตรใหม่ แต่เมื่อโอกาสนั้นมาถึง อุดรกลับถูกปฏิเสธในการถ่ายบัตรสีชมพู เจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่าเขาไม่มีชื่อในฐานข้อมูลพร้อมกับยึดบัตรสีฟ้าของเขาไป วันนั้นนั่นเองที่เขากลายเป็นคนไร้รัฐเต็มขั้น

“ผมก็น้อยใจนะ ทั้ง ๆ ที่มีบัตรแล้วแท้ ๆ มันรู้สึกด้อยกว่าเขา จะพูดอะไรแสดงความเห็นอะไรมากก็ไม่ได้ บางเรื่องที่เรารู้เราก็พูดไม่ได้ ที่จริงแล้วคนที่มีบัตรส่วนมากรู้สึกดีกับเราให้เกียรติเราเสมอ แต่เรารู้สึกของเราเองว่าเราด้อยกว่า ผมรู้ว่ากว่าที่จะได้สัญชาติมันต้องใช้เวลานาน แต่ผมก็รอได้ กี่สิบปีผมก็จะรอ”

แม้ฝันในการพัฒนาสถานะไม่รู้จะเป็นจริงได้เมื่อไหร่แต่อุดรก็พยายามเข้าประชุมเรื่องสถานะบุคคลพร้อมกับพ่อใหญ่กุ จนสองพ่อลูกกลายเป็นที่ปรึกษาด้านสถานะของเพื่อนบ้าน “เวลาที่ประชุมกลับมาผมก็จะเอาความรู้ที่ได้มาเล่าให้คนในหมู่บ้านฟังแล้วก็มาช่วยกันดูว่าพวกเราจะทำตามแนวปฏิบัตินั้นได้ไหมหรืออย่างมีกองทุนคนไร้รัฐเราก็รับมาทำกัน ที่เราทำเพราะอยากให้ทางราชการรู้ว่าพวกเรามีตัวตนอยู่ตรงนี้ เราช่วยตัวเองได้ แต่ก็อยากให้รัฐฯ เข้ามาดูแลพวกเราบ้างเหมือนกัน”

บ่ายจัด ฉันบอกลาสองพ่อลูกตั้งใจจะขี่รถเลาะลำโขงไปหมู่บ้านข้างเคียงเพื่อเก็บบรรยากาศก่อนจากเมืองอุบลฯ ขับรถมาไม่เท่าไหร่ฉันก็ต้องหยุดรถเก็บภาพวิถีชีวิตการลงแขกสร้างเถียงนา ที่นี่ฉันได้พบกับไกรศร ชายวัยกลางคนรูปร่างสันทัดที่มาลงแรงช่วยเพื่อนบ้าน ด้วยรอยยิ้มที่ส่งให้กันไม่นานนักฉันก็ไปนั่งคุยกับไกรศรกลางวงสนทนาของพี่น้องชาวลาวอพยพ

“มาอยู่ที่คันท่าเกวียนนี่ตั้งแต่อายุเจ็ดขวบ ตอนนั้นลี้ภัยมากับพ่อแม่และพี่น้องห้าคน แรก ๆ เขาให้มาอยู่ที่อำเภอเขมราฐ จังหวัดอำนาจเจริญ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่เขาก็ให้ไปอยู่ในศูนย์อพยพที่ตัวจังหวัดอุบล จากนั้นก็ย้ายไปอยู่ศูนย์อพยพนาโพธิ์ จังหวัดนครพนม ไม่นานเจ้าหน้าที่ก็มาถามความสมัครใจว่าจะไปประเทศที่สามหรือจะออกไปอยู่ในหมู่บ้าน ตอนแรกก็อยากไปอเมริกาแต่แม่เป็นอัมพาตเลยมาอยู่ที่คันท่าเกวียนนี่จะได้ดูแลแก” ไกรศรเล่าเหตุผลที่มาลงหลักปักฐานในไทยให้ฉันฟัง

แต่การมีตัวตนของไกรศรที่คันท่าเกวียนกลับไม่ใช่การมีตัวตนทางกฎหมาย เขาไม่มีรายชื่อให้ไปถ่ายบัตรสีฟ้าเช่นเดียวกับเพื่อนบ้านชาวลาวอพยพอีกไม่น้อยและไม่เคยรู้เลยว่าเหตุผลในการมี-ไม่มีรายชื่อมาจากอะไร สำหรับพวกเขาการมีบัตรซักใบไม่ต่างกับการมีของขลังที่จะช่วยให้ไม่ต้องถูกจับกุมส่งกลับ ดังนั้นเมื่อมีโอกาสไกรศรและพรรคพวกก็จะคว้าไว้อย่างสุดกำลัง “ครั้งหนึ่งตม. เขาเข้ามาทำบัตรให้(บัตรควบคุมคนต่างด้าว สปปล.) คิดค่าธรรมเนียมคนละ 310 บาท แต่อยู่ ๆ เขาก็มาเก็บคืนไป เราก็ไม่รู้ว่าทำไมหาคำตอบไม่ได้จนทุกวันนี้”

สิงหาคม 2547 ผู้ใหญ่บ้านประกาศให้คนไม่มีสถานะอย่างไกรศรและเพื่อนบ้านไปขึ้นทะเบียนประวัติคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ หรือ ทร.38/1 มีเลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข 00 ถึงแม้ตามกฎหมายจะให้สิทธิ์แก่ผู้ที่ไปขึ้นทะเบียนได้อยู่อาศัยในประเทศไทยเพียงหนึ่งปีนับแต่ออกบัตรแบบเดียวกับแรงงานข้ามชาติ แต่นั่นก็หมายความว่าดีกว่าไม่มีสถานะอะไรเลย

“ถ้าเขาส่งกลับจริงก็คงต้องกลับ แต่ก็จะกลับมาใหม่ ไปฝั่งลาวญาติพี่น้องก็ไม่มี ลูกเมียอยู่ที่นี่กันหมด” ไกรศรตอบพลางหัวเราะเมื่อฉันถามว่าถ้ามีการส่งกลับจริงเขาจะทำอย่างไร ป้าคนหนึ่งที่หนึ่งฟังเราพูดกันก็เสริมว่าคนที่มีผัวไทยเมียลาวอย่างแกก็คงจะต้องกลับมาให้ได้ เพราะลูกและสามีอยู่ที่นี่ถ้าต้องไปอยู่ฝั่งลาวแล้วใครจะทำกับข้าวให้คนฝั่งไทยกิน

เมื่อสามปีก่อนทีมวิจัยเรื่องคนไร้รัฐมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้พานักกฎหมายเข้ามาให้คำปรึกษาเรื่องสถานะบุคคลแก่คนคันท่าเกวียน ไกรศรและเพื่อนที่ไปขึ้นทะเบียน ทร.38/1 จึงรู้ว่าพวกเขาจะได้รับสถานะที่ดีกว่านี้หากมีการสำรวจของรัฐฯ อีกครั้ง ทางออกในครั้งนั้นคือชาวบ้านคันท่าเกวียน บ้านทุ่งนาเมือง และบ้านปากลา เดินทางไปอำเภอทำเรื่องร้องขอออกจากทะเบียน ทร.38/1 เพื่อรอการสำรวจรอบใหม่ที่ไม่รู้ว่าจะมาถึงเมื่อไหร่

เหมือนว่าปัญหาจะคลี่คลาย แต่เมื่อไกรศรเดินทางไปขอใบสูติบัตรของสตาร์บอยลูกชายคนที่สาม เขาจึงได้รู้ว่าพันธะเลข 00 ยังคงผูกมัดเขาและครอบครัวไว้อย่างดิ้นไม่หลุด “ตอนนั้นเขาก็ถามว่าพ่อแม่เด็กเป็นคนลาวใช่ไหม ผมก็บอกว่าใช่ พอเขาทำใบเกิดออกมาลูกผมได้เลข 00ชื่อผมและเมียก็ยังเป็นเลข 00 อยู่ผมก็แปลกใจเพราะทำเรื่องยกเลิกไปแล้วเป็นปี เขาก็ไม่ได้อธิบายอะไร บอกแค่ว่าเสร็จแล้วครับกลับบ้านได้เลย

แต่สำหรับลูกสาวคนโตและคนรองของไกรศรดูเหมือนโชคดีกว่าที่ไม่ได้ไปขึ้นทะเบียน ทร.38/1 พร้อมกับพ่อและแม่เพราะทางโรงเรียนได้ทำการสำรวจและยื่นเรื่องไปยังกระทรวงมหาดไทย ทำให้เธอทั้งสองได้รับบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนหน้าขาวหลังชมพูเลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วย 0 บัตรนี้มีอายุใช้งานสิบปี นั่นหมายความว่าเธอทั้งสองได้รับการการันตีว่าจะไม่ถูกจับกุมส่งกลับภายในระยะเวลา 10 นี้แน่นอน

“ถ้าเป็นไปได้ผมก็อยากให้ลูกได้บัตรไทย ถึงมันจะยากแต่ว่าถ้าเขาได้แล้วก็จะได้สบาย ไม่ต้องลำบากเหมือนรุ่นผม ตัวผมยังไงก็ได้เพราะยังไงซะผมก็เป็นคนลาว แต่ไม่อยากให้ใครต้องมาว่าลูกว่าคนไทยก็ไม่ใช่คนลาวก็ไม่ใช่ แขวนอยู่เหมือนค้างคาว”  

ย่ำเย็น ฉันจอดมอเตอร์ไซค์ริมแม่น้ำโขงเพื่อบันทึกภาพเส้นพรมแดนสีปูนอีกครั้งก่อนลาจาก ถ้าไม่ได้มายืนอยู่ตรงนี้ฉันเองก็คงจะคิดเหมือนคนทั่วไปว่าแรงงานชาวลาวล้วนมาจากประเทศลาว ทั้งที่จริงแล้วยังมีแรงงานลาวที่ไม่สามารถกลับบ้านได้ บางคนเกิด โตและเชื่อมั่นว่าตนเป็นคนไทยแต่ก็ยังไม่มีสถานะใดรองรับ แน่นอนว่าทุกคนคงมายืนอยู่ที่นี่กับฉันเพื่อรับรู้เรื่องราวของพวกเขาไม่ได้ แรงงานไร้รัฐจากคันท่าเกวียนจึงยังต้องเผชิญโชคชะตาเช่นเดียวกับแรงงานข้ามชาติต่อไป

---------------------------------

หมายเหตุบรรณาธิการ

ลาวอพยพ หมายถึงคนลาวที่อพยพเข้ามาอยู่กับญาติพี่น้องของตนในประเทศไทย โดยมีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศลาวเมื่อปีพ.ศ.2517 และมาแต่งงานกับคนไทยจนกระทั่งมีบุตรด้วยกัน ร่วมถึงผู้ลี้ภัยจากเหตุการณ์นั้นที่เลือกไม่ไปประเทศที่สามและไม่สามารถกลับประเทศลาวได้เนื่องจากเหตุผลทางด้านความปลอดภัยในชีวิต รวมถึงคนลาวที่ถูกกวาดต้อนเข้าสู่เมืองมะริดและทวาย สมัยสงครามระหว่างสยามและอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทร์ ซึ่งต่อมาได้ลี้ภัยสงครามระหว่างรัฐบาลทหารพม่าและชนกลุ่มน้อยมายังประเทศไทยที่อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี  

ปัจจุบันยังไม่มีมติคณะรัฐมนตรีในการกำหนดสถานะอื่นให้ชาวลาวอพยพนอกเหนือจาก “คนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย” โอกาสที่จะแปลงสัญชาติเป็นไทยคงต้องรอนโยบายจากรัฐต่อไป มีเพียงชาวลาวอพยพที่แต่งงานกับบุคคลสัญชาติไทยเท่านั้นที่บุตรจะได้รับสัญชาติไทยตามพ่อหรือแม่ที่มีสัญชาติไทย

อย่างไรก็ดีการมีประกาศกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2552 เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับและกำหนดเขตพื้นที่ควบคุม อนุญาตให้บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน 5 กลุ่มได้แก่ ชนกลุ่มน้อยผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทย (เข้ามาหลังวันที่ 9 มีนาคม 2519), ผู้อพยพเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกง กัมพูชา (เข้ามาหลังวันที่15 พฤศจิกายน 2520), ผู้หลบหนีเข้าเมืองจากกัมพูชา, ลาวอพยพ และผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่า สามารถออกนอกเขตที่อยู่อาศัยเพื่อไปทำงานตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2521 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการพัฒนาสถานะของชาวลาวอพยพต่อไปในอนาคต

 

ข้อมูลประกอบบทความจาก

มูลนิธิพัฒนรักษ์, สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (Stateless Watch for Research and Development Institute of Thailand-SWIT) และ www.archanwell.org/

 

หมายเลขบันทึก: 396096เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2010 16:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 21:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท