ระบบเศรษฐกิจแบบต่าง ๆ กับการแก้ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ


           ระบบเศรษฐกิจ หมายถึง องค์ประกอบของสถาบันต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจที่มีบทบาทและหน้าที่ในการก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (economic activities) ในการที่จะผลิตอะไรด้วยวิธีใด และจะแจกจ่ายผลผลิตให้แก่ใคร ซึ่งระบบเศรษฐกิจเกิดขึ้นเพื่อทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ร่วมกันในการที่จะแก้ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ซึ่งเกิดจากการที่ทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีอยู่นั้นไม่สามารถบำบัดและตอบสนองต่อความต้องการทุกอย่างของมนุษย์ได้ สถาบันทางเศรษฐกิจทำหน้าที่ในการควบคุมดูแลหน่วยธุรกิจ  ต่าง ๆ ที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจเพื่อไม่ให้ขัดแย้งในการจัดสรรทรัพยากรจนก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจขึ้น โดยทั่วไปอาจแบ่งระบบเศรษฐกิจออกเป็น ๓ รูปแบบคือ

                ๑.ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (Capitalism) โดยที่ระบบนี้ยังมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันทั้ง ระบบเสรีนิยมและระบบตลาด (Market System) ลักษณะที่สำคัญเด่นชัดของระบบนี้คือ

                       ประการที่หนึ่ง มีกรรมสิทธิ์ในทรัพยากร (ownership of resources) เกี่ยวเนื่องจากหน่วยเศรษฐกิจพื้นฐานที่สำคัญของระบบนี้คือ หน่วยครัวเรือน (household) และหน่วยธุรกิจ (firms) มีสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของทรัพย์สินและปัจจัยการผลิตอย่างเต็มที่

                      ประการที่สอง มีเสรีภาพในธุรกิจ (freedom of enterprise) เจ้าของปัจจัยการผลิตมีเสรีภาพในการเลือกดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ โดยที่รัฐบาลจะไม่เข้ามาก้าวก่ายหรือแทรกแซงในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ นัยก็คือ รัฐบาลมีหน้าที่หลักในด้านการป้องกันประเทศ การรักษากฎหมายเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และอาจจะเข้ามาดำเนินกิจการบางอย่างที่เอกชนไม่สามารถหรือพึงประสงค์ที่จะลงทุน อาทิ การลงทุนที่ต้องใช้ทุนมากในกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (infrastructure) อันได้แก่ ถนนหนทาง ไฟฟ้า ประปา การชลประทาน เป็นต้น

                     ประการที่สาม มีกำไรใช้เป็นแรงจูงใจ (profit motive) กำไรถือได้ว่าเป็นผลตอบแทนของปัจจัยการผลิตทางด้านผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการจึงพยายามที่จะหาเทคนิคการผลิตใหม่ ๆ มาใช้เพื่อที่จะลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำที่สุด ในการนำไปสู่เป้าหมายปลายทางที่กำไรสูงสุด ซึ่งกำไรในตลาดทุนนิยมนอกจากจะมีผลต่อวิวัฒนาการด้านการผลิตแล้วยังสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ได้เข้ามาแข่งขันเพิ่มเติม ช่วยสร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภคได้หลากหลายยิ่งขึ้น

                     ประการที่สี่ ระบบราคา (price system) ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมตัดสินปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจโดยใช้กลไกราคาเป็นเครื่องมือที่สำคัญ ซึ่งราคาจะทำงานยืดหยุ่นตามอุปสงค์และอุปทานของตลาดโดยที่

                           -  หากจำนวนซื้อมากกว่าจำนวนขายจะส่งผลทำให้ราคาสิ้นค้านั้น ๆ สูงขึ้น

                           -  หากจำนวนซื้อน้อยกว่าจำนวนขายจะส่งผลทำให้ราคาสินค้านั้น ๆ ลดลง

                           -  หากจำนวนซื้อเท่ากับจำนวน ราคาจะคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปในขณะนั้น ๆ

 

"มีกรรมสิทธิ์ในทรัพยากร  แน่นอนมีเสรีภาพในธุรกิจ  ยึดติดกำไรในการจูงใจ 

 ใช้กลไกราคาตัดสินปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ"

 

            ๒.ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม (Socialism) หรือมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ระบบเศรษฐกิจที่มีการวางแผนจากส่วนกลาง (Central Planning System) เป็นระบบเศรษฐกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตส่วนใหญ่ แต่ยังคงให้เอกชนมีสิทธิ์ในการถือทรัพย์สินส่วนตัว อาทิ ที่พักอาศัย ดังนั้นรัฐจึงเข้าไปควบคุมการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความยุติธรรมแลความเป็นธรรมในสังคมเป็นสำคัญ การแก้ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม เอกชนยังคงมีอิสระในการดำเนินธุรกิจขนาดเล็ก มีเสรีภาพในการเลือกอาชีพ รวมถึงการเลือกซื้อสินค้า และบริการ ในการตัดสินปัญหาเศรษฐกิจพื้นฐานโดยใช้อำนาจรัฐเป็นสำคัญ

 

"ไม่มีสิทธิ์เสรีภาพในธุรกิจและทรัพยากร  ที่แน่นอนมีความยุติธรรม  นำอำนาจรัฐตัดสินปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ"

 

            ๓. ระบบเศรษฐกิจแบบผสม (Mixed Economy) เป็นไปในลักษณะของการผสมระหว่างระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและสังคมนิยม เป็นระบบเศรษฐกิจที่ยังคงให้เอกชนมีเสรีภาพ ในการเป็นเจ้าของปัจจัยในการผลิต และการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่รัฐจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตบางอย่าง และมีบทบาทในกิจกรรมที่จำเป็นบางอย่าง เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยทางเศรษฐกิจและสังคม โดยการออกกฎหมายห้ามการผูกขาดหรือรัฐเข้าไปเป็นเจ้าของกิจการบางอย่างที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนโดยส่วนรวม เช่น การคมนาคม การสื่อสาร การพลังงาน และสาธารณูปโภคพื้นฐาน เป็นต้น ในการตัดสินปัญหาเศรษฐกิจพื้นฐานนั้นกลไกราคามีบทบาทในการจัดสรรทรัพยากรการผลิตแต่จะมีความเข้มข้นน้อยกว่าในระบบทุนนิยม

 

              ข้อพึงสังเกต : ในปัจจุบันไม่มีประเทศใดในโลกที่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมหรือสังคมนิยมอย่างแท้จริง ส่วนใหญ่จะใช้ระบบเศรษฐกิจแบบผสมอยู่ที่ว่าจะให้ความเข้มข้นหรือน้ำหนักไปในทิศทางใด เช่น

                       - กลุ่มประเทศที่ใช้ส่วนผสมเข้มข้นไปทางทุนนิยมได้แก่ สหรัฐอเมริกา  เยอรมัน ญี่ปุ่น และไทย เป็นต้น

                       - กลุ่มประเทศที่ใช้ส่วนผสมเข้มข้นไปทางสังคมนิยม ได้แก่ รัสเซีย จีน ฝรั่งเศส และแคนาดา เป็นต้น

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 396058เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2010 14:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:26 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท