บริโภคเพื่อ GDP & ภาระหนี้สินของใคร ?


พฤติกรรมการบริโภคของคนในสังคมโดยส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรายได้ในปัจจุบัน แต่ จะขึ้นอยู่กับการพยายามสร้างมาตรฐานและเลียนแบบการบริโภคที่สูงขึ้นแบบผิด โดยการนำเอาหนี้สินในอนาคต (เครดิตต่าง ๆ ) มาบริโภคเพื่อบำบัดความต้องการของตนเองในปัจจุบัน (เป็นการบริโภคด้วยความมัวเมากิเลส) สุดท้ายก็จะติดกับดักของวัฏจักรการมีหนี้สินล้นพ้นตัวในเบื้องแรก และส่งต่อเป็นปัญหาทางสังคมในเบื้องถัดไป

                    ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่ถูกผลิตขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์ในปัจจุบันนั้น ประการสำคัญล้วนมีปัจจัยเหตุที่เกิดจากการสั่งสมปัญหาของการที่มนุษย์กำหนดการทำหน้าที่ของ “เงิน” ในการแสวงหาส่วนเกินทางเศรษฐกิจโดยใช้เงินเพื่อวัตถุประสงค์หลักในการ การเก็งกำไร เพื่อตอบสนองกับความต้องการบริโภคของตัวเองเพื่อให้บรรลุถึงความพอใจสูงสุดอย่างไม่มีขีดจำกัด ซึ่งจริง ๆ แล้วหากมนุษย์ปล่อยให้เงินได้ทำหน้าที่ที่ควรจะเป็นตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว ปัญหาของวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดถี่ขึ้นเฉกเช่นในยุคปัจจุบันอาจจะไม่รุนแรงและส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชน (ที่ไม่ได้มีส่วนเล่นเกมส์อัปยศในการเก็งกำไรด้วย) โดยส่วนรวมมากนัก และ หน้าที่หลักของเงิน (The function of money) ที่ควรจะเป็นตามหลักเศรษฐศาสตร์ คือ

 

            ประการแรก เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (Medium of exchange) หน้าที่หลักของเงินดังกล่าวคือ ต้องเป็นสิ่งที่อำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการของคนในสังคมเป็นไปอย่างคล่องตัว ซึ่งถือได้ว่าเป็นหน้าที่ที่สำคัญลำดับแรกสุดของเงิน

          ประการที่สอง เงินทำหน้าที่เป็นหน่วยวัดมูลค่า (Measure of value or unit of value) คนส่วนใหญ่ในสังคมที่จะทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการต่อกัน ต้องมีการวัดมูลค่าของสินค้าและบริการต่าง ๆ โดยการเปรียบเทียบค่าของสินค้าและบริการออกมาในรูปของหน่วยเงินตรา เพื่อความสะดวกในการแลกเปลี่ยน

          ประการที่สาม เงินทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการรักษามูลค่า (Store of value) เนื่องจากในระบบเศรษฐกิจมีทรัพย์สินหลายชนิดให้เลือกเก็บเพื่อให้ผู้เก็บได้รับประโยชน์มากที่สุด ซึ่งทรัพย์สินบางอย่างก็คงทนและบางอย่างก็ไม่คงทนหรือยิ่งนานไปมูลค่ายิ่งเสื่อมลง ซึ่งทางเลือกหนึ่งของการจะเก็บรักษาทรัพย์สินเหล่านี้ก็คือ การเปลี่ยนเป็นเงินก่อน ก็จะทำให้มูลค่าที่เก็บรักษาไว้มีความมั่นคง และเงินยังมีอำนาจซื้อสินค้าและบริการอื่นได้อีก การที่รักษามูลค่าทรัพย์สินไว้ในรูปของเงินจึงสะดวกและอาจก่อให้เกิดดอกผลด้วย

         ประการที่สี่ เงินทำหน้าที่เป็นมาตรฐานในการชำระหนี้ภายหน้า (Standard of deferred payment) การแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการมีทั้งที่ชำระเป็นเงินสด และชำระในรูปแบบการให้เครดิต หรือในการกู้ยืม ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้ถือเป็นการชำระในอนาคต ซึ่งปัจจัยที่นิยมกำหนดให้ใช้จ่ายหรือชำระหนี้คืนในอนาคตก็คือเงินนั่นเอง เนื่องจากเป็นสิ่งทีสะดวกและมีสภาพคล่อง (liquidity) สูง สามารถนำเงินไปซื้อสินค้าและบริการอื่น ๆ ได้ง่ายและคล่องตัว

 

           ในกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีกลุ่มที่รู้จักกันดีในชื่อ เฮดฟันด์ ต่าง ๆ ได้มอบภารกิจที่ยิ่งใหญ่และสำคัญให้กับ “เงิน” โดยการให้ทำหน้าที่ในการเก็งกำไรอีกอย่าง เพื่อแสวงหาส่วนเกินทางเศรษฐกิจมาตอบสนองลัทธิบริโภคนิยมอย่างบ้าคลั่ง แปรเปลี่ยนสถานะของเงินไปเป็น “สินค้า” อีกประเภทหนึ่ง ทุกวันนี้ในตลาดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นตลาดเงินหรือตลาดทุน ถูกปั่นและสร้างมูลค่าเกินจริงทั้งนั้น เป็นการใช้ต้นทุนของอนาคตมาบริโภคในปัจจุบันเพื่อตอบสนองตัณหาของตัวเองใน ยุคบริโภคนิยม

         

           ทุกครั้งที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ผู้มีอำนาจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดเมนูนโยบายทางเศรษฐกิจ จะมุ่งแก้ปัญหาเฉพาะในระยะสั้น (เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง) ไม่สนใจปัญหาในระยาวที่ต้องวางรากฐานและภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจเพื่อนำไปสู่วิถีแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน

          

           การแก้ปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจโดยการขับเคลื่อน GDP ทางด้านการใช้จ่าย (การบริโภค การลงทุน การใช้จ่ายภาครัฐ และ การส่งออกสุทธิ) ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทุกครั้ง โดยเฉพาะการเกิดวิกฤติที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นวิกฤติต้มยำกุ้ง รวมทั้งวิกฤติจากปัญหาซับไพร์มของสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะประเทศไทย ตลาดสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดใหญ่ในการส่งสินค้าและบริการออกของประเทศไทย กอปรกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สรอ. ทำให้เกิดผลกระทบต่อภาคการส่งออก ภาครัฐก็ต้องหันมากระตุ้นเศรษฐกิจโดยการใช้จ่ายภาครัฐและกระตุ้นการบริโภค พร้อมทั้งใช้ยาแรงทุกขนานเพื่อให้เกิดการใช้จ่ายในการบริโภคภายในประเทศ

           

            การแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโดยมองนัยทางหลักปรัชญาเศรษฐศาสตร์อย่างเดียว โดยไม่ได้มองนัยมิติทางด้านอื่น ๆ ประกอบนั้น ถือว่าสุ่มเสี่ยงต่อการแก้ปัญหาเพื่อผลักภาระวิกฤติไปสู่อนาคตเท่านั้นและก็จะเกิดการสั่งสมของปัญหาในที่สุดก็จะเกิดวิกฤติที่ทวีความรุนแรงเป็นอย่างมากในอนาคตอันใกล้ เพราะวิกฤติที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติที่เชื่อมโยงถึงทุกมิติ ต้องแก้ปัญหาเป็นองค์รวม ไม่ใช่มองมิติทางด้านปรัชญาทางเศรษฐศาสตร์อย่างเดียว   ปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมีลักษณะคล้ายคลึงกันแต่ต่างกันตรงที่เวลา การแก้ไขปัญหาก็อาจจะแตกต่างกันออกไป หรือแม้แต่กระทั่งปัญหาทางเศรษฐกิจที่คล้ายคลึงกันและเกิดขึ้น ณ เวลาเดียวกัน แต่ต่างสถานที่กัน การแก้ไขปัญหาก็อาจจะแตกต่างกันออกไปได้เหมือนกัน

        

           การที่รัฐบาลแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจโดยมุ่งเน้นการบริโภคภายในประเทศ เพื่อขับเคลื่อน GDP ให้บรรลุเป้าหมาย (ทางการเมือง) ที่ตั้งไว้นั้น รัฐบาลควรตระหนักให้ดีว่าการมุ่งเน้นสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อสนองอุดมการณ์และอำนาจทางการเมืองของตัวเองและพวกพ้องอย่างเดียว โดยการสร้างและผลักดันให้เกิดการบริโภคนิยมในประชาชน จนกลายเป็นสิ่งเสพติดเฉกเช่นช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ถือได้ว่าเป็นการผลักภาระและสร้างตราบาปให้กับประชาชน GDP ที่ถูกสร้างและปั่นขึ้นไม่ได้บ่งชี้ถึงวิถีชีวิตของประชาชนโดยส่วนใหญ่ที่จะดีขึ้นและมีความสุข รวมทั้งไม่ได้บ่งชี้ถึงการกระจายผลผลิตรวมทั้งการกระจายความเป็นธรรมจะตกอยู่ในมือของประชาชนโดยส่วนใหญ่ของประเทศ  แต่ ตราบาป ที่รัฐบาลได้สร้างแลผลักดันจากการมุ่งเน้นให้ได้ GDP ที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเจือปนด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองเพียงอย่างเดียว โดยการมุ่งเน้นให้ประชาชนบริโภคเพิ่มขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในที่สุดประชาชนก็จะติดกับดัก “ลัทธิบริโภคนิยม” อีกครั้ง ซึ่งจะทวีความรุนแรงกว่าเดิมมาก เพราะในปัจจุบันประชาชนโดยส่วนใหญ่ได้นำเอาหนี้สินในอนาคต (เครดิตต่าง ๆ ) มาบริโภคในปัจจุบันเพื่อตอบสนองนโยบายบริโภคนิยม ของรัฐบาลหลาย ๆ ชุดในช่วงที่ผ่านมาจนหมดแล้ว ผลของกรรมดังกล่าวที่เกิดหลงเหลือติดตัวประชาชนโดยส่วนใหญ่ คือ การมีหนี้สินล้นพ้นตัว

          

             ในภาวะที่วิกฤติเศรษฐกิจเริ่มเกิดถี่และทวีความรุนแรงลุกลามทั่วโลกเช่นนี้ ผู้มีอำนาจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดเมนูนโยบายเศรษฐกิจควรตระหนักและหันมาตั้งสติ และทบทวนเมนูนโยบายเศรษฐกิจที่ผ่านมา ที่ประเทศไทยของเราถูกผลักและถูกดึงเข้าสู่กระแสทุนนิยมฉบับบริโภคนิยม จนกลายเป็นสิ่งเสพติดของประชาชนโดยส่วนใหญ่ โดยการมุ่งเน้นหา “เงิน” ทุกรูปแบบเพื่อมาสนองตอบต่อการบริโภค (สร้างมาตรฐานในการบริโภคที่สูงขึ้นแบบผิด ๆ) องค์ความรู้ที่มีคุโณปการอันหาที่เปรียบไม่ได้ของปวงชนชาวไทยคือ “ทฤษฎีใหม่” หรือหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัฐบาลควรผลักดันและดำเนินการให้เกิดเป็นรูปธรรมเสียที ไม่ใช่เขียนไว้ในแผนพัฒนาและรัฐธรรมนูญ (ปีพ.ศ. ๒๕๕๐) ให้สวยหรูเท่านั้น

        

             เราคงหวังพึ่งรัฐบาล (แต่ละยุคสมัยที่บริโภคอุดมการณ์ทางด้านผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องเป็นอาหาร) ให้ผลิตเมนูนโยบายที่มีคุโณปการอย่างปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้าสู่ระบบสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรม (เพราะปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงทำให้พวกเหลือบที่คอยหาส่วนเกินทางเศรษฐกิจโดยขาดคุณธรรมเสียผลประโยชน์) ไม่ได้ แต่เรา (ประชาชนทั้งประเทศ) ทุกคนควรน้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติและดำเนินชีวิตอย่างจริงจัง ประกอบสัมมาอาชีพและบริโภคโดยใช้ปัญญา ไม่ถูกครอบงำโดยสิ่งยั่วยุและของอำนาจกิเลสที่พวกเห็นแก่ตัวได้วางกับดักให้ตกอยู่ในวังวนของ การบริโภคนิยมและหนี้สินล้นพ้นตัว 

           

           ความพอเพียงและความพอประมาณที่สำคัญในสังคมที่มีความทุกข์จากการมีหนี้สินล้นพ้นตัว คือ การบริหารจัดการกับรายได้และหนี้สินให้เหมาะสม ใช้จ่ายอย่างพอเพียงและสมเหตุสมผลไม่ต้องไปตามกระแสของการบริโภคนิยมจนต้องกู้หนียืมสินมาสนองตอบตัณหาเฉกเช่นสังคมในปัจจุบัน 

  

          พฤติกรรมการบริโภคของคนในสังคมโดยส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรายได้ในปัจจุบัน แต่ จะขึ้นอยู่กับการพยายามสร้างมาตรฐานและเลียนแบบการบริโภคที่สูงขึ้นแบบผิด โดยการนำเอาหนี้สินในอนาคต (เครดิตต่าง ๆ ) มาบริโภคเพื่อบำบัดความต้องการของตนเองในปัจจุบัน (เป็นการบริโภคด้วยความมัวเมากิเลส) สุดท้ายก็จะติดกับดักของวัฏจักรการมีหนี้สินล้นพ้นตัวในเบื้องแรก และส่งต่อเป็นปัญหาทางสังคมในเบื้องถัดไป

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 395815เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2010 16:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 23:55 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท