อวสานของ Keynesian Consensus และแนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์หลังยุคเคนส์


              Keynesian Consensus (ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ได้ให้คำจัดความว่าเป็น ฉันทมติว่าด้วยนโยบายเศรษฐกิจมหภาคแบบเคนส์) มีพื้นฐานมาจากเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ แต่ไม่อาจกล่าวอ้างได้ว่า แนวนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่เรียกว่า Keynesian Consensus นี้ทั้งหมดเป็นความคิดของเคนส์ เนื่องจากเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์มีพัฒนาการที่เบี่ยงเบนไปจากแนวคิดพื้นฐานดั้งเดิมของเคนส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง American Keynesianism ด้วยอิทธิพลของ American Keynesianism เป้าหมายหลักของนโยบายเศรษฐกิจมหภาคเริ่มแปรเปลี่ยนไปในปลายทศวรรษที่ ๒๕๐๐ การเติบโตทางเศรษฐกิจเข้ามาแทนที่เป้าหมายการจ้างงานเต็มอัตรา นับเป็นการเลี่ยนแปลงที่เบี่ยงเบนจากหลักการพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ดั้งเดิม

                ภายหลังจากภาวะสงครามไม่ว่าจะเป็นครั้งใด และไม่ว่าสงครามจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่เพียงใดก็ตาม ผลที่ตามมาของสงครามเสมอ ๆ ก็คือ การตกต่ำของเศรษฐกิจเป็นผลทำให้อำนาจซื้อของประชาชนในประเทศต่าง ๆ ตกต่ำลงหรือที่เรียกว่า อุปสงค์สมบูรณ์ (effective demand) ซึ่งกระบวนการและแนวความคิดของเคนส์ถูกมองว่าเป็นทฤษฎีระยะสั้น (short-period theory) ถึงแม้ว่าการลงทุนตามแนวคิดของเคนส์จะมีบทบาทที่สำคัญก็ตาม แต่การสะสมทุน (capital accumulation) ถือได้ว่าเป็นที่มาของทุนในการที่จะนำไปลงทุนดังกล่าว ซึ่งถือได้ว่าเป็นกระบวนการในระยะยาวที่จำเป็น ทำให้สาระสำคัญหลักในการมุ่งเน้นศึกษาของแวดวงเศรษฐศาสตร์คือ ปัญหาการพัฒนาในระยะยาว (Long-run development) Keynesian Consensus ทรงอิทธิพลในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในระบบทุนนิยมโลก ทั้งในกลุ่มประเทศที่พัฒนาและกลุ่มประเทศที่ด้อยพัฒนา ตลอดระยะเวลาประมาณ ๒๕ ปีหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ นักเศรษฐศาสตร์บางคนถือเอาปี ๒๕๑๔ อันเป็นปีที่ระบบเบรตตันวูดส์ (Bretton Woods System) ล่มสลาย เป็นจุดจบของ Keynesian Consensus บางคนก็ถือเอาปี ๒๕๑๖ อันเป็นปีที่เกิดวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่ ๑ เป็นปีอวสานของ Keynesian Consensus

                  ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจจารึกว่า ทศวรรษ ๒๔๙๐ และทศวรรษ ๒๕๐๐ เป็นยุคทองของระบบทุนนิยม (the golden age of capitalism) ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจสามารถเติบโตในอัตราที่ค่อนข้างสูง สังคมเศรษฐกิจโลกค่อนข้างมีเสถียรภาพ อัตราการว่างงานและเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ตลาดการเงินระหว่างประเทศมีความผันผวนไม่มาก และอัตราการแลกเปลี่ยนของเงินตราสกุลหลักไม่สู้แปรปรวน ครั้นย่างเข้าสู่ทศวรรษ ๒๕๑๐ สภาวการณ์ในระบบทุนิยมโลกแปรเปลี่ยนอย่างสำคัญประเทศมหาอำนาจทั้งในยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกาเผชิญปัญหาเงินเฟ้อควบคู่ไปกับการชะงักงันทางเศรษฐกิจ หรือที่เรียกกันในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ว่า Stagflation (มาจาก stagnation + inflation) โดยปรากฏการณ์ดังกล่าวของเงินเฟ้อเกิดขึ้นพร้อมกันกับการว่างงาน ซึ่งขัดแย้งกับความเชื่อและแนวความคิดของนักเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์ (ฟิลลิปส์) ที่เชื่อว่า เงินเฟ้อกับการว่างงานจะเกิดขึ้นพร้อมกันไม่ได้ ถ้าหากรัฐบาลต้องการให้การว่างงานลดลงต้องยินยอมแลกกับการให้เกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้น หรือถ้าต้องการให้ภาวะเงินเฟ้อลดลงก็ต้องยินยอมแลกกับการว่างงานที่เพิ่มขึ้น แต่ภาวการณ์ที่เผชิญในทศวรรษ ๒๕๑๐ นั้นกลับเกิดสถานการณ์ (เงินเฟ้อและการว่างงาน) ขึ้นพร้อมกัน นอกจากนี้ยังมีการเก็งกำไรซื้อขายเงินตราสกุลหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งดอลลาร์สหรัฐ จนตลาดการเงินระหว่างประเทศเผชิญกับภาวะผันผวน ถึงขั้นที่สหรัฐอเมริกาต้องประกาศละทิ้งระบบเบรตตันวูดส์ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ ซึ่งสาเหตุที่ยุคทองของระบบทุนนิยมถึงบทอวสานลงในทศวรรษ ๒๕๑๐ มีการอรรถาธิบายจำแนกเป็น ๒ กลุ่มคือ

 

                 กลุ่มแรก โยนความผิดให้แก่ปัจจัยสั่นคลอนจากภายนอกประเทศ (external shocks) ไม่ว่าจะเป็นการล่มสลายของระบบเบรตตันวูดส์ หรือวิกฤติการณ์น้ำมัน ซึ่งผลักดันให้พลังงานมีราคาแพงอันส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต และส่งผลกระทบต่อแรงกดันของของภาวะเงินเฟ้อ โดยนัยแฝงเร้นของอรรถาธิบายดังกล่าวนี้ก็คือ เมื่อปัจจัยสั่นคลอนจากภายนอกประเทศหายไป ยุคทองของระบบทุนนิยมจะสามารถฟื้นคืนกลับมาได้ดังเดิม หรือเป็นเพียงแค่ช่วงส่งผ่านของวัฏจักรเศรษฐกิจช่วงสั้น ๆ เท่านั้น ซึ่งลำดับของเหตุการณ์ในเวลาต่อมาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เหตุผลดังกล่าวหาได้เป็นจริงไม่

               กลุ่มที่สอง เน้นว่าจุดจบของยุคทองแห่งระบบทุนนิยมมิได้เป็นเพียงปรากฏการณ์ชั่วคราว หากแต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างอันมีที่มาจากปัญหาความขัดแย้งและการไม่ประสานงานภายในระบบทุนนิยมนั้นเอง โครงสร้างทางสังคมของการสะสมทุน (social structure of accumulation) มีบทบาทในการกำกับการประสานงานระหว่างหน่วยเศรษฐกิจและลดทอนปัญหาความขัดแย้งภายในระบบทุนนิยม โครงสร้างทางสังคมของการสะสมทุนดังกล่าวนี้ มีองค์ประกอบสำคัญอย่างน้อย ๔ ส่วน ส่วนแรกได้แก่ ระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งกำหนดกติกาที่ภาคีระบบทุนนิยมโลกต้องปฏิบัติ ส่วนที่สองได้แก่ แนวทางการจัดการอุปสงค์มวลรวมเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ส่วนที่สามได้แก่ การกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มทุนกับกลุ่มผู้ใช้แรงงานเพื่อลดทอนความขัดแย้งภายในระบบ และส่วนที่สี่ได้แก่ กลไกหรือกฎเกณฑ์ในการประสาน (rules of coordination) ระหว่างหน่วยเศรษฐกิจต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทุน กลุ่มผู้ใช้แรงงาน แลรัฐ กลไกราคานับเป็นกลไกหลักในการประสานงาน กำไรจากการประกอบการมีบทบาทสำคัญต่อการสะสมทุนและการจัดสรรทุน และอัตราค่าจ้างมีบทบาที่สำคัญต่อแรงจูงใจในการทำงานและการจัดสรรแรงงาน ท้ายที่สุดกลไก กลไกของรัฐมีบทบาทสำคัญในการควบคุมและกำกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจประเภทต่าง ๆ

                ในยามที่องค์ประกอบทั้งสี่ของโครงสร้างทางสังคมของการสะสมทุนสามารถทำหน้าที่ชนิดสอดคล้องต้องกัน ระบบทุนนิยมย่อมเติบโตในอัตราสูง ดังที่เกิดขึ้นในทศวรรษ ๒๔๙๐ และทศวรรษ ๒๕๐๐ แต่ความสำเร็จในช่วงเวลาดังกล่าวนี้กลับทำลายระบบทุนนิยมเสียเอง เนื่องจากปัจจัยทางสถาบัน ซึ่งเกื้อกูลต่อกลไกการทำงานของระบบทุนนิยม ถูกบั่นทอนให้เสื่อมสภาพ

                  ในยุคสมัยที่การว่างงานอยู่ในระดับต่ำและประชาชนมีความมั่นคงทางรายได้ อันเกิดจากหลักประกันของรัฐสวัสดิการ เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “การลดทอนกำไร” (profit squeeze) การลดทอนกำไรส่วนหนึ่งเกิดจากการที่รัฐเก็บภาษีอากรเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการ อีกส่วนหนึ่งเกิดจากการเรียกร้องขอขึ้นค่าจ้างของผู้ใช้แรงงาน สภาวะที่การว่างงานอยู่ในระดับที่ต่ำ เกื้อกูลการเรียกร้องขอขึ้นค่าจ้างมากกว่าสภาวะการว่างงานมาก นอกจากนี้การรวมหัวกันของกลุ่มประเทศ OPEC ในการขึ้นราคาน้ำมันดิบยิ่งซ้ำเติมการลดทอนกำไร กำไรที่ควรได้จากการประกอบการส่วนหนึ่งถูกถ่ายโอนไปเป็นราคาน้ำมัน การที่กำไรถูกลดทอนส่งผลให้การลงทุนตกต่ำลง ซึ่งก่อให้เกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกัน การเรียกร้องขอขึ้นค่าจ้างและการขึ้นราคาน้ำมันดิบผลักดันให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออันเกิดจากสาเหตุทางด้านอุปทาน (supply inflation) ซึ่งต้องอาศัยการแก้ปัญหาด้วยนโยบายการจัดการอุปทาน (supply management policy) ซึ่งเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์มีคำตอบเกี่ยวกับนโยบายการจัดการ อุปสงค์ (demand management policy) แต่ไม่มีคำตอบเกี่ยวกับนโยบายการจัดการอุปทาน นับเป็นวิกฤตการณ์ครั้งร้ายแรงของสำนักเคนส์

                 เศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ไม่สามารถให้คำตอบเกี่ยวกับภาวะ stagflation* ซึ่งก่อตัวตั้งแต่ประมาณปี ๒๕๑๑ และถูกซ้ำเติมด้วยการล่มสลายของระบบเบรตตันวูดส์ในปี ๒๕๑๔ และต่อเนื่องด้วยวิกฤติการณ์น้ำมันในปี ๒๕๑๖-๒๕๑๗ Keynesian Consensus ถูกสั่นคลอนจนเสื่อมอิทธิพลลงในที่สุด เศรษฐศาสตร์แบบเคนส์เสื่อมอิทธิพลทั้งในกระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจและในวงวิชาการ ภายหลัง Keynesian Revolution เศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิคและนีโอคลาสสิคถูกขับต้อนเข้าสู่มุมอับ แม้แต่ผู้นำสำนักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยม อย่างมิลตัน ฟรีดแมน (Milton Friedman) ยังต้องยอมรับความมีอิทธิพลของสำนักเคนส์ ในปี ๒๕๐๙ ฟรีดแมนเปล่งอมตพจน์ว่า “We are all Keynesian now” โดยประโยคเดียวกันนี้ก็หลุดจากปากของประธานาธิบดีริชาร์ด    นิกสัน ในปี ๒๕๑๕ ด้วย ซึ่งปรากฏการณ์ของสำนักเคนส์ดังกล่าวทำให้บรรดาสาวกของสำนักคลาสสิคและนีโอคลาสสิคเพียรพยายามพัฒนาทฤษฎีเพื่อตอบโต้ เริ่มต้นด้วยการฟื้นคืนอิทธิพลของแนวความคิด การเงินนิยม (Monetarism) โดยมิลตัน ฟรีดแมน ในปี ๒๕๑๑ ตามมาด้วยการพัฒนาแนวความคิดว่าด้วย การคาดคะเนที่สมเหตุสมผล (Rational Expectation) ในทศวรรษ ๒๕๑๐ โดยโรเบิร์ต ลูคัส (R obert Lucas) แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก (ซึ่งต่อมาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์) และโธมัส ซาร์-เยนต์ (Thomas Sargent) แห่งมหาวิทยาลัยมินนิโซตา จนก่อเกิดสำนักคลาสสิคใหม่ (new classical macroeconomics) ทำให้สำนักเคนส์ต้องถอยร่น ทั้งแนวความคิดทางด้านนโยบายและแนวความคิดทางด้านวิชาการ ซึ่งภายในสำนักเคนส์เองก็มีพัฒนาการในทางที่เกิดความแตกแยกทางความคิดด้วยเหมือนกัน

             สิ่งที่เรียกว่า “เศรษฐศาสตร์แบบเคนส์” ในทัศนะของสาวกดั้งเดิมของเคนส์จำนวนมาก เบี่ยงเบนไปจากแนวความคิดพื้นฐานของจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ “เศรษฐศาสตร์เคนส์แบบอเมริกัน” (American Keynesianism) มีการพัฒนาไปในแนวทางประนีประนอมกับสำนักเศรษฐศาสตร์คลาสสิคและนีโอคลาสสิค กล่าวคือ กลับไปยึดลัทธิเสรีนิยมทางเศรษฐกิจเป็นสรณะ เพียงแต่มีการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้เครื่องมือของรัฐในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้โดยใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์ชั้นสูง เศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ดังกล่าวนี้เรียกกันว่า Neoclassical Synthesis Keynesianism โดยที่โจน โรบินสัน สาวกคนสนิทของเคนส์ตั้งชื่อว่า Bastard Keynesianism ซึ่งอาจแปลได้ว่า “ ลัทธิเคนส์แบบจัณฑาล”

                ผู้นำสำนักเคนส์ส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกาล้วนแล้วแต่เลือกแนวทาง Neoclassical Synthesis Keynesianism ไม่ว่าจะเป็นศาสตราจารย์พอล แซมมวลสัน (Paul A. Samuelson) แห่ง M.I.T. หรือศาสตราจารย์เจมส์ โทบิน (James Tobin) แห่งมหาวิทยาลัยเยล มีเพียงส่วนน้อยที่เรียกร้องให้กลับไปยึดแนวความคิดพื้นฐานของเคนส์ดังที่ปรากฏในหนังสือ The General Theory of Employment, Interest and Money (ปี ค.ศ. ๑๙๓๖) ในจำนวนนี้ประกอบไปด้วยศาสตราจารย์ซิดนีย์ ไวนฺทรอป (Sidney Weintraub) แห่ง มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย และศาสตราจารย์พอล เดวิดสัน (Paul Davidson) แห่งมหาวิทยาลัยเทนเนสซี โดยบรรดาสาวกของเคนส์ที่ไม่พอใจพัฒนาการของ Neoclassical Synthesis Keynesianism ต่างพากันเรียกร้องให้กลับคืนสู่ “รากเหง้าของเคนส์” และร่วมกันจัดตั้งสำนักเศรษฐศาสตร์ยุคหลังเคนส์หรือที่เรียกว่า Post- Keynesianism ด้วยเหตุนี้นับตั้งแต่ปลายทศวรรษ ๒๕๐๐ เป็นต้นมา มีสงครามกระบวนทัศน์ในสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์อย่างน้อย ๒ ระดับ ระดับหนึ่งเป็นการต่อสู้ระหว่างสำนักคลาสสิคและนีโอคลาสสิค และอีกระดับหนึ่งเป็นการทดสอบกำลังภายในกันระหว่าง Neoclassical Synthesis Keynesianism กับ Post- Keynesianism โดยที่การปะทะที่สำคัญได้แก่ วิวาทะว่าด้วยทฤษฎีทุน (capital theory)

                 New Classical Macroeconomics นำเสนอเศรษฐทรรศน์ที่ว่า เศรษฐศาสตร์มหภาคจะต้องพัฒนาบนพื้นฐานที่มั่นคงของเศรษฐศาสตร์จุลภาค การพัฒนา Microeconomic Foundation of Macroeconomics จึงเป็นเรื่องสำคัญ หากยอมรับหลักการดังกล่าวนี้ ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มหภาคจะต้องยึดถือสมมติฐานสำคัญอย่างน้อย ๒ ประการคือ ประการแรก กลไกตลาดสามารถ “เกลี่ย” ให้ตลาดอยู่ในภาวะสมดุลได้เสมอ และประการที่สอง หน่วยเศรษฐกิจทั้งปวงล้วนต้องการสภาวะที่เรียกว่า อุตมภาพ (optimization) นัยสำคัญของบทวิเคราะห์นี้ก็คือ กลไกราคาสามารถก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเสมอ การเติบโตของ New Classical Macroeconomics ในทศวรรษ ๒๕๑๐ นำไปสู่การพัฒนา Real Business Cycle Theory ในทศวรรษ ๒๕๒๐ โดยหวังที่จะอัดให้สำนักเคนส์สูญพันธุ์ ในส่วนของสำนักเคนส์สาขาสหรัฐอเมริกา Neoclassical Synthesis Keynesianism ก็ได้พัฒนาทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มหภาคเพื่อตอบโต้ Neoclassical Synthesis Keynesianism จนก่อให้เกิดสำนัก New Keynesian Economics ในทศวรรษ ๒๕๒๐

                  กระแสเคนสานุวัตรและอิทธิพลของ Keynesian Consensus เติบใหญ่ในทศวรรษ ๒๔๙๐ และทศวรรษ ๒๕๐๐ และท่ามกลางสงครามกระบวนทัศน์นับตั้งแต่ทศวรรษ ๒๕๑๐ เป็นต้นมา Keynesian Consensus เสื่อมอิทธิพลลงตามลำดับ ประเทศอุตสาหกรรมเผชิญกับภาวการณ์ว่างงานและภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงพร้อม ๆ กัน ภาระทางการคลังของรัฐสวัสดิการหนักอึ้ง จนหลายประเทศไม่อาจแบกรับต่อไปได้ นานาประเทศเริ่มละทิ้ง Keynesian Consensus แม้แต่ในสหราชอาณาจักรอันเป็นบ้านเกิดของสำนักเคนส์ Keynesian Consensus ก็พบกับบทอวสาน เมื่อนายเจมส์ คาลลาฮาน (James Callaghan) นายกรัฐมนตรีแห่งพรรคกรรมกรกล่าวในปี ๒๕๑๙ ว่ารัฐบาลไม่อาจอัดฉีดเงินเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจหลุดพ้นจากวังวนของภาวะถดถอยต่อไปได้อีก เพราะคราใดที่รัฐบาลอัดฉีดเงินเพื่อแก้ปัญหาการว่างงาน ภาวะเงินเฟ้อจะทะยานขึ้นครานั้น ในขณะที่บรรยากาศการเมืองโลกเคลื่อนไปทางซ้าย พรรคฝ่ายซ้ายยึดกุมอำนาจในรัฐในยุโรปตะวันตก พรรคเดโมแครตยึดอำนาจการปกครองในสหรัฐอเมริกา รายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมขยายตัวในประเทศมหาอำนาจทั้งสองฟากฝั่ง วิกฤติการณ์เสถียรภาพทางเศรษฐกิจในทศวรรษ ๒๕๑๐ ไม่เพียงแต่นำไปสู่บทอวสานของ Keynesian Consensus เท่านั้น หากนำไปสู่จุดจบของฝ่ายซ้ายในทางการเมืองอีกด้วย ชัยชนะของพรรคอนุรักษ์นิยมภายใต้การนำของนางมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ (Margaret Thatcher) ในสหราชอาณาจักรในปี ๒๕๒๒ และชัยชนะของรีพับลิกันภายใต้การนำของนายโรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) ในสหรัฐอเมริกาในปี ๒๕๒๓ นับเป็นการรูดม่านปิดฉากของ Keynesian Consensus

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 395686เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2010 05:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 15:47 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท