ข้อดี & - ข้อเสีย ของกรอบการดำเนินนโยบายการเงิน


            นโยบายการเงิน (Monetary Policy) ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในนโยบายทางเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomics) ที่สำคัญในการบริหารจัดการเศรษฐกิจของประเทศให้บรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจที่วางเอาไว้ เช่น  การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (economic growth) การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ (economic stabilization) และการกระจายความเป็นธรรม (distribution function) ซึ่ง

                   -  เป้าหมายทางด้านความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น เป็นหน้าที่หลักอย่างหนึ่งของภาครัฐที่ต้องพยายามเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของสังคมในอันที่จะยกระดับรายได้ต่อหัวให้สูงขึ้น เพื่อรองรับกำลังแรงงานภายในประเทศที่เพิ่มมากขึ้น

                   - เป้าหมายทางด้านการรักษาเสถียรภาพทางด้านเศรษฐกิจนั้น ประกอบด้วยการรักษาเสถียรภาพภายใน ได้แก่ การรักษาระดับราคาภายในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและมีเสถียรภาพ ส่วนการรักษาเสถียรภาพ ภายนอกนั้น ประกอบด้วย การรักษาดุลการค้าและบริการ ดุลบัญชีเดินสะพัด และดุลการชำระเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและมีเสถียรภาพ

                   - เป้าหมายในการกระจายความเป็นธรรมนั้น เป็นการทำหน้าที่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในด้านต่าง ๆ เช่น ในการกระจายรายได้ การกระจายผลผลิต ตลอดจนการได้รับบริการจากภาครัฐ  เป็นต้น ซึ่งหน้าที่ในการกระจายความเป็นธรรมของรัฐบาลทำได้โดยใช้นโยบายภาษีอากรโดยยึดหลักความสามารถ (ability-to-pay) และนโยบายการใช้จ่ายโดยการผลิตสินค้าสาธารณะให้กระจายไปสู่ชนบท หรือกลุ่มชนที่มีรายได้ต่ำ นโยบายการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต แรงงาน และเกษตรกร ตลอดจนนโยบายการจ่ายเงินเพื่อการประกันสังคม     

 

            หน่วยงานที่กำกับดูแลการใช้นโยบายการเงินของประเทศไทยก็คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand :BOT) ซึ่ง ธปท. เองก็จะมีกรอบเป้าหมายในการดำเนินนโยบายรวมทั้งเครื่องมือที่ใช้ในการบริหารจัดการเพื่อให้เศรษฐกิจบรรลุตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ ซึ่งการกำหนดเป้าหมายทางนโยบายการเงินก็อาจจะแตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลาขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของภาวะในเศรษฐกิจนั้น ๆ ซึ่งประเทศไทยเองก็เคยใช้เป้าหมายทางนโยบายการเงินแตกต่างกันมา

 

            ในการดำเนินนโยบายการเงินจะมีองค์ประกอบที่สำคัญก็คือ เครื่องมือทางการเงินเพื่อใช้บริหารจัดการเมนูนโยบายทางการเงินให้บรรลุเป้าหมายขั้นกลางและส่งผ่านไปสู่เป้าหมายปลายทางในขั้นสุดท้าย

 

               นโยบายการเงิน (monetary policy) เป็น แนวทางในการใช้เครื่องมือทางการเงินในการกำหนดมาตรการส่งผ่านช่องทางของการเงินเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจ ซึ่งการใช้นโยบายการเงินเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจ มีกระบวนการทำงานสองขั้น คือ

 

                      -   ขั้นตอนแรก เป็นการใช้มาตรการทางการเงินหรือเครื่องมือทางการเงินเพื่อ ควบคุมตัวแปรทางการเงินที่เป็นเป้าหมายขั้นกลาง โดยเจ้าหน้าที่ทางการเงินจะใช้มาตรการทางการเงิน เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวแปรทางการเงินที่ควบคุมได้โดยตรงก่อน เช่น การซื้อ (ขาย) หลักทรัพย์ในตลาด การ เพิ่ม (ลด) อัตราเงินสดสำรองตามกฎหมาย หรือ การเพิ่ม (ลด) อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในตัวแปรเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อตัวแปรทางการเงินที่เป็นเป้าหมายขั้นกลาง นั่นคือ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในปริมาณเงิน ปริมาณสินเชื่อ อัตราดอกเบี้ยในตลาด หรือฐานเงิน ไปในทิศทางและขนาดที่ต้องการ

                       -  ขั้นตอนที่สอง เป็นผลต่อเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงในตัวแปรทางการเงิน ที่เป็นเป้าหมายขั้นกลาง ส่งผลให้บรรลุเป้าหมายเศรษฐกิจที่ต้องการ ซึ่งเป็นเป้าหมายขั้นสุดท้าย ได้แก่ ความมีเสถียรภาพทางด้านราคา การเจริญเติบโตในระยะยาว โดยสามารถสรุปความสัมพันธ์ ได้ดังนี้

 

 

เครื่องมือทางการเงิน                     เป้าหมายขั้นกลาง                 เป้าหมายขั้นสุดท้าย     

 (monetary instrument)                  (intermediate)                              (ultimate)

-การซื้อขายหลักทรัพย์                     -ปริมาณเงิน                           -เสถียรภาพด้านราคา

-เงินสดสำรองตามกฎหมาย               -ปริมาณสินเชื่อ                            (price stability)

-อัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืน             -ฐานเงิน                                -การเติบโตระยะยาว

            ฯลฯ                                -อัตราดอกเบี้ย                         (long-term-growth)

 

         โดยทั่วไปแล้วกรอบของการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อให้บรรลุซึ่งเป้าหมายดังกล่าวนั้นมีทางเลือกของเป้าหมายดังนี้คือ

        ๑. Ad Hoc/No Announced Target เป็นลักษณะของการดำเนินนโยบายทางการเงินที่ไม่กำหนดตัวแปรใดตัวแปรหนึ่งเป็นเป้าหมายโดยเฉพาะ ซึ่งประเทศที่ใช้เป้าหมายนี้ได้แก่ สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น

                ข้อดี คือ มีความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายมาก

                ข้อเสีย คือ ขาดความโปร่งใสในการดำเนินนโยบาย ดังนั้น ธนาคารกลางที่จะประสบความสำเร็จภายใต้กรอบนโยบายการเงินนี้จึงมักต้องมีความน่าเชื่อถือสูงอยู่แล้ว

 

        ๒. Exchange Rate Targeting เป็นลักษณะของการดำเนินนโยบายโดยที่ธนาคารกลางใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือในการบรรลุซึ่งเป้าทางเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งประเทศที่ใช้เป้าหมานี้ได้แก่ จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ เวียดนาม

              ข้อดี สร้างบรรยากาศของความมั่นคงต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ รวมทั้ง สร้างวินัยให้การดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งนำไปสู่การรักษาเสถียรภาพราคาสำหรับ
ประเทศกำลังพัฒนา

             ข้อเสีย ขาดอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กฎเกณฑ์การเคลื่อนย้ายเงินทุนเสรี และ อาจเป็นจุดอ่อนนำไปสู่การเก็งกำไรค่าเงิน

 

      ๓. Inflation Targeting เป็นลักษณะของการดำเนินนโยบายโดยธนาคารกลางประกาศเป้าหมายเงินเฟ้อเป็นเป้าหมายหลักในการดำเนินนโยบายการเงิน และเปลี่ยนแปลง “อัตราดอกเบี้ยนโยบาย” เพื่อรักษาอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในช่วงเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งองค์ประกอบสำคัญของกรอบนโยบายการเงินนี้ คือ การดำเนินงานที่ เป็นระบบและความโปร่งใสในการสื่อสารกับสาธารณชน เริ่มใช้ในนิวซีแลนด์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๓ และได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ประเทศที่ใช้เป้าหมายนี้ได้แก่ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย สวีเดน แคนาดา สหภาพยุโรป เกาหลี อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวมทั้งประเทศไทย 

              ข้อดี ส่งผลโดยตรงต่อเป้าหมายสูงสุด (ระดับราคา) และ มีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินโดยไม่ต้องขึ้นกับนโยบายการเงินของต่างประเทศ

             ข้อเสีย มีความล่าช้า (Time lag) ของผลกระทบจากนโยบายการเงินไปสู่อัตราเงินเฟ้อ และ ต้องอาศัยแบบจำลองในการมองสถานการณ์ไปข้างหน้าซึ่งแบบจำลองอาจพยากรณ์ คลาดเคลื่อนและนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด

 

      ๔. Monetary Targeting เป็นลักษณะของการดำเนินนโยบายที่ธนาคารกลางตั้ง เป้าหมายปริมาณเงิน เป็นเป้าหมายในการดำเนินนโยบาย ประเทศที่ใช้เป้าหมายนี้ ได้แก่ ไต้หวัน และประเทศในโครงการของ IMF โดยมีตรรกะของความเชื่อว่าปริมาณเงินมีความสัมพันธ์โดยตรงกับระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจผ่านสมการการแลกเปลี่ยน

 

MV    =    PT                                       

โดยที่

           M คือ ปริมาณเงินทั้งหมดที่มีอยู่ในระบบเศรษฐกิจ

           V คือ จำนวนครั้งโดยเฉลี่ยที่เงินแต่ละหน่วยถูกใช้จ่ายออกไปในการแลกเปลี่ยนหรือ อัตราการหมุนเปลี่ยนมือของเงิน (turnover rate of money) เช่น สมมติว่า ในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ มีปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ๑๐๐ บาท โดยมีการซื้อขายสินค้าและบริการทั้งสิ้น ๕๐๐ บาท ดังนั้นจะได้ว่าในปีดังกล่าวเกิดการหมุนเวียนเปลี่ยนมือของเงินในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ๕ รอบต่อเงิน ๑ บาท

            P คือ ดัชนีราคาของรายการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ

            T คือ ปริมาณของสินค้าและบริการที่เกิดการแลกเปลี่ยน

        ข้อดี ส่งผลโดยตรงต่อเป้าหมายสูงสุด (ผลผลิตและระดับราคา) และ มีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินโดยไม่ต้องขึ้นกับนโยบายการเงินของต่างประเทศ

        ข้อเสีย ต้องอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณเงินและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันมีความไม่แน่นอน ยากแก่การคาดการณ์  รวมทั้งธนาคารกลางไม่สามารถควบคุมปริมาณเงินทั้งหมดในระบบเศรษฐกิจได้ และ ยากลำบากในการสื่อสารต่อสาธารณชน

 

กรอบการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศไทยแต่ละช่วงเวลา

 

               เป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยน  (หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ – ก.ค. ๒๕๔๐) เป็นการผูกค่าเงินไว้กับทองคำหรือเงินสกุลอื่น หรือตะกร้าเงิน โดยมีทุนรักษาระดับ (EEF) คอยรักษาค่าเงินบาทตามอัตราที่กำหนดในแต่ละวัน

 

               เป้าหมายปริมาณเงิน  (ก.ค. ๒๕๔๐ – พ.ค. ๒๕๔๓) เป็นช่วงที่เปลี่ยนมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวและขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF

 

              เป้าหมายเงินเฟ้อ  (พ.ค. ๒๕๔๓ – ปัจจุบัน) เพื่อดูแลเสถียรภาพด้านราคาโดยตรง หลังจากที่ใช้อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว โดยกำหนดเป้าหมาย อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในช่วงร้อยละ ๐.๕ ถึง ร้อยละ ๓.๐

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 394975เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2010 22:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 16:51 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท