ย้อนอดีต : มาตรการกันสำรองร้อยละ ๓๐


          จากกระแสข่าวที่นักลงทุนตื่นตระหนก (Panic) โดยเมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๓ ตลาดหุ้นปิดช่วงบ่ายที่ระดับ ๙๒๑.๓๙ จุด ลดลง ๑๕.๖๕ จุด(-๑.๖๗%) มูลค่าการซื้อขาย ๓๙,๖๗๑.๙๐ล้านบาท ปัจจัยเหตุสำคัญเพราะกลัวว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะหยิบยกมาตรการกันสำรองร้อยละ ๓๐ ขึ้นมาปัดฝุ่นใช้สกัดการแข็งค่าของเงินบาทที่มีอย่างต่อเนื่องนั้น ทำให้ตลาดหุ้นร่วงลงค่อนข้างมากจากกระแสข่าวดังกล่าว แต่ทว่า ธปท. ก็แถลงทันควันว่าไม่มีการปัดฝุ่นมาตรการดังกล่าวแต่อย่างไร

          

          เพื่อเป็นการทำความเข้าใจในมาตรการดังกล่าวขอย้อนไปถึงเหตุการณ์และผลกระทบที่เกิดจากการใช้มาตรการกันสำรองร้อยละ ๓๐ ที่ผ่านมา (ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙) นั้นอีกครั้ง ซึ่งผู้เขียนเคยวิเคราะห์เอาไว้ว่า :

 

             ภายหลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการเพื่อป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินบาท โดยได้ออกมาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้น โดยการกำหนดให้สถาบันการเงินที่รับซื้อหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินบาท ต้องกันเงินสำรองเป็นเงินตราต่างประเทศไว้ร้อยละ ๓๐ ของเงินตราต่างประเทศ ซึ่งสถาบันการเงินต้องนำส่งเงินที่กันดังกล่าวให้ ธปท.ทุกวันที่ ๗ ของเดือนถัดไป ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ ๗๐สามารถรับซื้อหรือแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทให้แก่ลูกค้าได้ ทั้งนี้ เงินที่กันสำรองจำนวนดังกล่าว ลูกค้าของสถาบันการเงินจะสามารถขอคืนเงินได้เมื่อครบกำหนด ๑ ปีนับตั้งแต่วันที่ถูกกันเงิน ซึ่งลูกค้าต้องแสดงเอกสารหลักฐานให้ชัดเจนว่าอยู่เกิน ๑ ปี และต้องแจ้งให้ ธปท.ทราบ เพื่อดำเนินการส่งเงินให้แก่ลูกค้าต่อไปด้วย แต่หากเงินที่กันสำรองอยู่ไม่ถึง ๑ ปี ลูกค้ารายนั้นจะได้รับเงินคืนเพียง ๒ ใน ๓ ของเงินที่กันไว้เท่านั้น       
            อย่างไรก็ตาม ธปท.ไม่บังคับใช้มาตรการกับธุรกรรมเงินตราต่างประเทศที่ตกลงกันก่อนวันที่ ๑๙ ธ.ค. และยังยกเว้นธุรกรรมเงินตราต่างประเทศที่เป็นการลงทุนโดยตรง (Foreign Direct Investment -- FDI) ซึ่งถือเป็นส่วนของทุนหรือเงินโอนให้แก่ลูกค้า โดยผู้ถูกกันเงินสามารถยื่นคำร้องผ่านสถาบันการเงินพร้อมเอกสารหลักฐาน และเมื่อสถาบันการเงินสามารถพิสูจน์และรับรองความถูกต้องได้ และ ธปท.เห็นสมควรก็จะคืนเงินดังกล่าวให้แก่ลูกค้าได้ นอกจากนี้ธุรกรรมเงินตราต่างประเทศที่รับซื้อหรือแลกเปลี่ยนเป็นเงินที่ได้รับจากค่าสินค้า บริการ หรือเงินที่บุคคลหรือนิติบุคคลไทยได้รับคืนจากการลงทุนในต่างประเทศไม่ต้องกันเงินตามมาตรการนี้เช่นกัน ส่วนนักท่องเที่ยว ธปท.ให้วงเงินไม่เกิน 2 หมื่นเหรียญสหรัฐ หากเกินต้องดำเนินการเช่นเดียวกัน


          หลังจากที่ ธปท.ประกาศมาตรการดังกล่าวเพียงข้ามคืน ปรากฏว่าตลาดหุ้นติดลบไปกว่า ๑๐๐ จุด ในวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๔๙ ทำให้ในช่วงเย็นของวันเดียวกันหลังจากที่ได้มีการประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงแล้ว ธปท. ได้ผ่อนปรนมาตรการลงมาโดยให้มาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในตลาดตราสารหนี้ ส่วนในตลาดหุ้นให้ยกเลิกไป การที่ ธปท. มีมาตรการดังกล่าวออกมาในเบื้องแรกนั้นต้องถือว่ามีเจตนาดีในการป้องกันอธิปไตยทางการเงินของประเทศจากพวกนักเก็งกำไรที่สะกดคำว่าคุณธรรมและจริยธรรมไม่เป็น นอกจากคำว่า ผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง (กำไร) แต่วิธีการที่กระทำก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ถูกพูดถึง ผู้เขียนเองมองในทางที่ดีอย่างไม่มีอคติกับ ธปท. และม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ว่า พวกท่านมีเจตนาดีในการดำเนินมาตรการแต่วิธีการที่ใช้ดูจะไม่สมเหตุสมผลและผิดกาลเทศะ ไปก็เท่านั้นเอง

        ในประเด็นที่บอกว่าไม่สมเหตุสมผลนั้น ก็คือว่า ในความเป็นจริงแล้วแน่นอนในประเด็นที่เก็งกำไรค่าเงินบาทนั้น มีแน่นอน ดังนั้นวิธีการที่จะปกป้องอธิปไตยทางการเงินนั้น ก็คือ มาตรการที่ไปสร้างแรงเสียดทานหรือไปชะลอการเคลื่อนย้ายเงินทุนต่างประเทศที่จะไหลเข้ามาในประเทศ ซึ่งมีหลากหลายวิธี ทั้งมาตรการทางอัตราดอกเบี้ย มาตรการทางภาษี เป็นต้น ซึ่งการที่ ธปท. เลือกใช้มาตรการดังกล่าวซึ่งถือว่าเป็นมาตรการที่รุนแรง ส่วนใหญ่ประเทศต่าง ๆ ที่เคยใช้ไม่ว่าจะเป็นอาร์เจนตินา ชิลี และมาเลเซีย (วิธีการคล้ายกันแต่อาจแตกต่างกันที่เครื่องมือทางการเงินของแต่ละประเทศ) จะนำเครื่องมือแบบนี้มาใช้เป็น มาตรการท้ายสุด เพราะเป็นยาแรงใช้แล้วเห็นผลทันที่ไม่มีความล่าช้า (time lag) ของเงื่อนไขเวลามาเป็นปัจจัยพิจารณา ดังนั้นการที่ ธปท.เลือกใช้มาตรการดังกล่าวนี้ทันทีเลยจึงมองได้ว่ายังไม่สมเหตุสมผลในภาวการณ์ เนื่องจาก ธปท. ให้มีผลบังคับใช้ทุกตลาดทั้งตลาดเงิน ตลาดทุน และตลาดตราสารหนี้ โดยไม่แยกตลาดออกมาควบคุมเปรียบเสมือนกับการไม่แยกหนี้ดีออกจากหนี้เสียเหมือนสมัยการประมูลของ ปรส. ผลสุดท้ายก็กลายเป็นหนี้เสียทั้งหมด

      ในประเด็นที่บอกว่าไม่ถูกกาลเทศะ ก็คือ ธปท.เลือกใช้มาตรการรุนแรงนี้โดยไม่มองเงื่อนไขของกาล (เวลา) และเทศะ (สถานที่เพราะเลือกทำในทุกตลาด) อย่างที่บอกไว้ยังมีเครื่องมืออีกหลายอย่างที่สามารถนำมาใช้ได้ก่อนและส่งผลกระทบได้น้อยกว่า และที่สำคัญเครื่องมือหรือมาตรการที่เคยใช้ในอดีตกับบางประเทศได้ผลไม่จำเป็นเสมอไปว่าจะนำมาใช้กับปัจจุบันได้ผลเพราะต่างที่ต่างเวลากัน โดยเฉพาะในภาวการณ์ปัจจุบันที่ประเทศไทยเองได้ยินยอมเปิดเสรีทางการเงินในโลกของทุนนิยมเอง ดังนั้นต้องยอมรับในประเด็นนี้เราเป็นประเทศเล็ก เราก็ควรเล่นตามกติกาเขาไปก่อนถึงแม้ว่ากติกาของโลกการเงินดังกล่าวจะไม่มีความเป็นธรรมสำหรับประเทศเล็ก ๆ อย่างเรา แต่ในเมื่อเราเข้าร่วมสังฆกรรมแล้วก็ต้องยอมรับในกติกา การที่ ธปท. เลือกดำเนินนโยบายรุนแรงดังกล่าวทั้ง ๆ ที่เจตนาของเราทำไปเพราะปกป้องอธิปไตยทางการเงินของเราที่ถูกคุกคามโดยพวกนักเก็งกำไร แต่พวกนักเก็งกำไรเขามองเฉพาะผลประโยชน์ (กำไร) จึงมองว่า ธปท. เล่นนอกกติกา ผลที่ได้รับจึงรุนแรงอย่างที่เห็น เพราะในโลกปัจจุบัน ตามรายงานของธนาคารเพื่อการชำระเงินระหว่างประเทศ (Bank of International Settlement – BIS) ระบุว่าสัดส่วนของการเปลี่ยนแปลงความสำคัญระหว่าง การค้าจริง กับ การเก็งกำไร ยิ่งมีแนวโน้มห่างกันเป็นอย่างมากโดยเฉพาะตั้งแต่ปี ๒๐๐๐ เป็นต้นมา เป็นการเก็งกำไรถึงร้อยละ ๙๘ และ มีการค้าขายสินค้าและบริการจริง ๆ เพียงร้อยละ ๒ เท่านั้น นี่สะท้อนให้เห็นถึงนักเก็งในทุกตลาดทั้งตลาดเงินและตลาดทุน คือกลุ่มผู้ทรงอิทธิพลในโลกเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีอย่างแท้จริง

       

            สิ่งที่สำคัญในการที่จะใช้มาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อสกัดกั้นการเก็งกำไรค่าเงินนั้น ต้องดูที่ปัจจัยเหตุของการเก็งกำไร และ ช่องทางของการนำเงินเข้ามาเพื่อเก็งกำไรเพื่อที่จะได้นำมาตรการไปอุดช่องทางนั้นได้ตรงจุดและตรงประเด็น

               ประการแรก ปัจจัยเหตุของการเก็งกำไรค่าเงินบาท (ถ้าสมมติว่าตัดประเด็นการกระทำไม่โปร่งใสในกรณีของการเก็งกำไรโดย ธปท. เป็นผู้เล่นซะเอง) ต้องยอมรับว่าเงินทุนต่างประเทศที่ไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกนั้นมีมากและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทาง ธปท. แจ้งว่าเนื่องมาจาก (๑)การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ (สรอ.)ที่มาจากปัญหาภายในของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเอง (๒) Global imbalance (ความไม่สมดุลระหว่างประเทศ) ซึ่งประเทศในภูมิภาคเอเชียเกินดุลในขณะที่สหรัฐอเมริกาขาดดุลอย่างมากและมีผลทำให้เงินเอเชียแข็งขึ้น   (๓) การไหลเข้าของเงินทุนในภูมิภาคอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา และ(๔)การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย  แต่ที่ผิดปกติก็คือ เงินทุนไหลเข้ามาในประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกันแล้วมีค่อนข้างมาก สะท้อนได้จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นร้อยละ ๑๒.๘๐ เป็นการแข็งค่าขึ้นมากที่สุดในภูมิภาค ในขณะที่ Rupiah ของอินโดนีเซีย, Dollar ของสิงคโปร์, Pero ของฟิลิปปินส์ และRinggit ของมาเลเซีย แข็งค่าขึ้นอยู่ที่ระดับร้อยละ ๗.๖๓, ร้อยละ  ๖.๘๒, ร้อยละ  ๖.๓๔  และร้อยละ ๓.๙๘ ซึ่งถ้ามองกันตามความเป็นจริงแล้วจะเห็นได้ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศเราอยู่ที่ระดับร้อยละ ๕ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้วถือว่าค่อนข้างที่จะสูงเป็นรองแค่อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ โดยที่สิงคโปร์อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับร้อยละ ๓.๔๔ มาเลเซียอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ ๓.๕  โดยอินโดนีเซียอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับร้อยละ ๙.๗๕ และเคยขึ้นไปสูงถึงร้อยละ ๑๒.๗๕ การที่อินโดนีเซียมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงเนื่องมาจากว่าเงินเฟ้อก็ค่อนข้างสูงอยู่ที่ระดับร้อยละ ๕.๒๗ และเงินเฟ้อเคยขึ้นไปสูงถึงระดับร้อยละ ๑๘ ในปีที่ผ่านมา ในส่วนของฟิลิปปินส์อัตราดอกเบี้ยก็ค่อนข้างสูงอยู่ที่ระดับร้อยละ ๙.๗๕ สาเหตุก็มาจากปัจจัยทางด้านเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับที่สูงร้อยละ ๖ (โดยที่ฟิลิปปินส์มีเป้าหมายเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับร้อยละ ๕)  อัตราดอกเบี้ยที่สูงเป็นเหตุปัจจัยสำคัญอีกตัวหนึ่งในหลาย ๆ ปัจจัย ที่เป็นแรงดึงดูดในด้านผลตอบแทนซึ่งเป็นสุดยอดปรารถนาของนักเก็งกำไรในคราบของนักลงทุนจอมปลอม เมื่ออัตราดอกเบี้ยของประเทศเราอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงในภูมิภาคเป็นรองแค่อินโดนีเซียกับฟิลิปปินส์แต่ทั้งสองประเทศก็มีอัตราเงินเฟ้อที่ค่อนข้างสูงมากตามไปด้วย ทำให้เมื่อเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (อัตราดอกเบี้ยในนามหักด้วยอัตราเงินเฟ้อ) ประเทศของเรายังดูดีกว่าเพราะอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของประเทศไทยอยู่ที่ระดับร้อยละ ๒.๗ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน(อัตราเงินเฟ้อนโยบาย) อยู่ที่ระดับร้อยละ ๑.๙ กอร์ปกับเมื่อเปรียบเทียบโดยรวมทั้งปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและแนวโน้มของเศรษฐกิจแล้วประเทศของเราดูจะมีอนาคตมากกว่าทั้งอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ จึงทำให้มีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมากและอย่างต่อเนื่อง จึงพอสรุปในเบื้องต้นได้ว่าเงินทุนต่างประเทศที่ไหลเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทนั้นมีปัจจัยเหตุมาจาก “อัตราดอกเบี้ยของประเทศอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง” เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

            ประการที่สอง  ช่องทางที่นักเก็งกำไรค่าเงินนำเงินมาพักไว้เพื่อใช้เก็งกำไรอยู่ที่ช่องทางของตลาดใด?

                 - ตลาดทุน จะสังเกตได้ว่าการเคลื่อนไหวและการลงทุนในตลาดหุ้นช่วงที่ผ่านมาเป็นการเคลื่อนไหวซื้อขายไม่ผิดปกติมากนัก และที่สำคัญตลาดหุ้นไม่มีความเหมาะสมสำหรับที่จะนำเงินมาพักไว้เพื่อเก็งกำไร เนื่องจากว่าตลาดหุ้นเป็นตลาดที่มีความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูง (จากราคาหุ้น) มากกว่าตลาดอื่น

               - ตลาดเงินและตลาดตราสารหนี้ เป็นตลาดที่เหมาะสำหรับการมาลงทุนในระยะสั้น โดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้ซึ่งมีการเคลื่อนไหวของเงินทุนที่ค่อนข้างผิดปกติโดยมีการเคลื่อนไหวเป็นอย่างมากในช่วง ๒-๓ เดือนที่ผ่านมามูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นผิดปกติ และที่สำคัญตลาดตราสารหนี้เป็นตลาดที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด เนื่องจากส่วนใหญ่จะเป็นพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ ตั๋วเงินคลัง เป็นต้น จึงเหมาะสำหรับการนำเงินมาพักไว้เพื่อเก็งกำไรมากกว่าตลาดอื่น ๆ

                 ดูจากสาเหตุดังกล่าว จะเห็นได้ว่าการที่มีเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทในช่วงนี้ น่าจะมีปัจจัยเหตุมาจาก การที่ระดับอัตราดอกเบี้ยของประเทศไทยอยู่ในระดับที่สูง สร้างแรงจูงใจในด้านของผลตอบแทนมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน (ยกเว้นจีน เนื่องจากว่าจีนถึงแม้จะมีแรงจูงใจมากกว่าประเทศไทย แต่ว่าจีนได้มีการควบคุมการไหลเข้าออกของเงินทุนต่างประเทศไม่ได้เปิดเสรีเหมือนประเทศไทย) และช่องทางที่นักเก็งกำไรนำเงินมาพักไว้น่าจะเป็นตลาดตราสารหนี้ ดังนั้นมาตรการของธปท.ที่ควรดำเนินการควรเป็นมาตรการที่ไปลดแรงจูงใจของการเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้นเพื่อเก็งกำไรและอุดช่องทางของการไหลเข้า

 

         มาตรการในระยะสั้น

            ๑.   เบื้องต้นในช่วงนี้เห็นด้วยกับการที่ ธปท. ผ่อนปรนการกันสำรองร้อยละ ๓๐ ในครั้งแรกที่ใช้กับทุกตลาดมาเป็นเหลือบังคับใช้กับตลาดตราสารหนี้ ซึ่งเป็นช่องทางของการนำเงินมาพักไว้เพื่อเก็งกำไร

           ๒.   ธปท.อาจเลือกใช้มาตรการทางด้านภาษีสำหรับเฉพาะเงินที่เข้ามาเก็งกำไรในระยะสั้น หรือ

          ๓.   ธปท.อาจใช้มาตรการทางด้านอัตราดอกเบี้ย โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (ปัจจุบันใช้อาร์พีระยะเวลา ๑๔ วัน) ลงมา เพราะนอกจากจะทำให้สามารถชะลอเงินทุนจากต่างประเทศที่ไหลเข้ามาในประเทศได้แล้ว ยังน่าจะเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในขณะนี้ด้วย เนื่องจากการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจภายใต้อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวและมีการไหลเข้าออกของเงินทุนที่เสรีในกรณีที่ระบบเศรษฐกิจขนาดเล็กอย่างประเทศไทยการใช้นโยบายการเงินจะมีประสิทธิภาพมากกว่านโยบายการคลัง

   (*** การลดอัตราดอกเบี้ยไม่มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อมากนัก เนื่องจาก กำลังการผลิตและการจ้างงานของประเทศไทยในขณะนี้ยังไม่อยู่ในระดับที่เต็มที่ ที่สำคัญการลดอัตราดอกเบี้ยเป็นการกระตุ้นทางด้านอุปสงค์รวม (Aggregate Demand) ภายในประเทศซึ่งตอนนี้ อุปสงค์รวมยังอยู่ในระดับที่ต่ำ ทำให้ต้นทุนในเงินเฟ้อด้านอุปสงค์รวมอยู่ในระดับที่ต่ำด้วย หรือถ้าหากเกิดเงินเฟ้อที่สูงเกินไปรัฐบาลยังสามารถบริหารจัดการได้ดีกว่าแรงกดดันเงินเฟ้อที่เกิดจากภาวะต้นทุนของสินค้า (cost push inflation) อย่างเช่น ราคาน้ำมัน เป็นต้น)

                หมายเหตุ : อัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันใช้อาร์พีระยะ ๑ วัน)

 

           มาตรการในระยะยาว 

           ถ้าเราเข้าใจตรงกันในประเด็นที่ว่า ในโลกปัจจุบันการเก็งกำไรทั้งในตลาดเงินและตลาดทุนนั้นถูกค้ำประกันความชอบธรรมโดยองค์กรโลกบาล (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ  องค์การการค้าโลก และธนาคารโลก) ผ่านทางเครื่องมือและกลไกที่ถูกรังสรรค์ประติมากรรมโดย “ฉันทมติแห่งวอชิงตัน” ทำให้การเก็งกำไรของกลุ่มทุนและกลุ่มกองทุนเพื่อปกป้องความเสี่ยง (hedge fund) ต่าง ๆ ที่แสวงหาผลประโยชน์ (กำไร) จากตลาดเกิดใหม่ทั้งในกลุ่มประเทศโลกที่สองและสาม ทวีความรุนแรงขึ้น และโดยเฉพาะในอนาคตจะยิ่งเพิ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น อันเนื่องมาจากเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยในการทำธุรกรรมทางการเงินในโลกทุนนิยมเสรีอย่างสุดโต่ง จากข้อมูลของธนาคารเพื่อการชำระเงินระหว่างประเทศ (Bank of International Settlement – BIS) ระบุว่าสัดส่วนของการเปลี่ยนแปลงความสำคัญระหว่าง การค้าจริง กับ การเก็งกำไร ยิ่งมีแนวโน้มห่างกันเป็นอย่างมากโดยเฉพาะตั้งแต่ปี ๒๐๐๐ เป็นต้นมา เป็นการเก็งกำไรถึงร้อยละ ๙๘ และ มีการค้าขายสินค้าและบริการจริง ๆ เพียงร้อยละ ๒ เท่านั้น นั่นย่อมสะท้อนให้เห็นถึงมหันตภัยของสงครามทางเศรษฐกิจที่มีอาวุธที่สำคัญคือ เงินตรา ที่สามารถที่จะทำให้ประเทศใดประเทศหนึ่งกลายเป็นประเทศที่ล้มละลายได้ในพริบตา ดังนั้นในการแก้ปัญหาของการเก็งกำไรค่าเงินในระยาวนั้นสิ่งที่ประเทศไทยต้องคำนึงถึงในการที่ป้องกันอธิปไตยทางการเงินของประเทศจากเกมส์ “อัปยศ” นั้นคือ

              ประการแรก  ทบทวนและพิจารณารูปแบบของระบบอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบันที่ใช้อยู่คือ “ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวภายใต้การจัดการ” ที่เริ่มใช้มาตั้งแต่หลังจากที่ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤติการเงินในวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๐ มาจนถึงปัจจุบันนี้ว่า เป็นระบบที่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจสามารถบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ดีหรือไม่? และที่สำคัญเป็นระบบที่สามารถรับมือเมื่อเผชิญกับการเก็งกำไรได้ดีหรือไม่? ซึ่งในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่าเราควรเลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ (Fixed Exchange Rate) เนื่องจากว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่เล็ก ประมาณร้อยละ ๐.๔ ของเศรษฐกิจโลก ถึงแม้ว่าการใช้เครื่องมือทางนโยบายการเงินและนโยบายการเงินระหว่างประเทศจะมีประสิทธิภาพในระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว แต่สิ่งสำคัญประเทศที่จะได้ประโยชน์จากระบบนี้มักจะเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่และตลาดเงินตลาดทุนมีศักยภาพ เท่านั้นจึงจะสามารถใช้นโยบายการเงินดูแลและจัดการระบบเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพในภาวการณ์ปัจจุบันที่เงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างเสรี แต่ สำหรับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเล็กและศักยภาพของตลาดเงินและตลาดทุนยังไม่ดีพอ ประเทศไทยก็เป็นได้แค่เพียง ตลาดใหม่ที่นักเก็งกำไรแสวงหาผลประโยชน์ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น  เครื่องมือและนโยบายทางการเงินก็ไม่ได้เอื้อต่อระบบเศรษฐกิจภายในประเทศมากนัก การจะใช้นโยบายการคลังก็ไม่เอื้อเนื่องจาก ถ้าใช้นโยบายการคลังมากไปภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวก็จะเป็นแรงกดดันทำให้อัตราดอกเบี้ยภายในประเทศสูงขึ้นเงินทุนต่างประเทศก็ไหลเข้าทำให้ค่าเงินบาทแข็งและส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกสินค้าและบริการ การใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวภายใต้การจัดการของประเทศไทยนอกจากเครื่องมือทางด้านการเงินจะให้ผลเป็นที่ไม่น่าพอใจเท่าที่ควรแล้วเนื่องจากเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็ก การใช้นโยบายการคลังก็ด้อยประสิทธิภาพเนื่องจากกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยภายในประเทศ  ดังนั้นในภาวการณ์และปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้น่าจะเหมาะกับการใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่มากกว่า เพราะประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทย ยังคงต้องพึ่งนโยบายทางด้านการคลังเป็นสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งถ้าใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่แล้วนโยบายการคลังจะมีประสิทธิภาพและที่สำคัญยังเป็นการป้องกันความผันผวนของค่าเงิน (ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนมากของประเทศ) ที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคตจากพวกนักเก็งกำไรซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลสูงสุดในโลกของทุนนิยมเสรีในปัจจุบัน

             ประการที่สอง สิ่งที่แน่นอนที่สุดถึงแม้ว่าประเทศไทยของเราจะใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบใดก็หลีกเลี่ยงการเก็งกำไรจากพวกที่ไร้ต่อมคุณธรรมและจริยธรรมไม่ได้ โดยเฉพาะในโลกทุนนิยมเสรีในปัจจุบัน และเมื่อเกิดการโจมตีค่าเงินจนระบบเศรษฐกิจของประเทศล้มละลาย ย่อมมีกลุ่มคนที่ได้รับความเดือดร้อนจากผลดังกล่าว แต่กลุ่มคนที่ไม่ได้มีส่วนร่วมสังฆกรรมกับเกมส์อัปยศนั้นกลับได้รับผลเสียหายเป็นอย่างมากและเป็นกลุ่มใหญ่ของประเทศ คือ เกษตรกร ดังนั้นภาครัฐต้องสร้างภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจรากฐานและเศรษฐกิจชุมชนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศให้มีความเข้มแข็งเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการผันผวนของระบบการเงินโลก โดยการ

                - ในด้านของการผลิต ควรส่งเสริมการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจของชุมชนแบบพอเพียงอย่างเป็นจริงเป็นจัง และที่สำคัญไม่ว่ารัฐบาลพรรคไหนจะเข้าใบริหารประเทศ ต้องให้การสนับสนุนและดำเนินการตามโครงการพระราชดำริอย่างเป็นจริงเป็นจังซึ่งอาจจะถือได้ว่าเป็นเป้าหมายหลักของรัฐบาลทุกชุดต้องดำเนินการและสานต่อให้เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง ตามโครงการพระราชดำริ

               -  ในด้านของการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ ควรส่งเสริมให้เศรษฐกิจชุมชนมีความหลากหลายในระบบการแลกเปลี่ยนระหว่างสินค้าแทนการเน้นที่ใช้เงินเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนอย่างเดียว เพราะเงินไม่ใช่เฉพาะธนบัตร ไม่ใช่เฉพาะเหรียญกษาปณ์ แต่ทั้งธนบัตรและเหรียญกษาปณ์เป็นส่วนหนึ่งของเงินเท่านั้น “เงิน คือ ข้อตกลงของชุมชนว่าจะใช้อะไรเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน” เท่านั้น ดังนั้นภาครัฐบาลควรส่งเสริมให้เศรษฐกิจของชุมชนมีการใช้สื่อกลางการแลกเปลี่ยนให้หลากหลาย แต่ยังคงระบบเงินตราของประเทศไว้เป็นปกติ โดยเงื่อนไขในการแลกเปลี่ยนต้องมีระบบเงินหลักของประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๐ ของมูลค่าการแลกเปลี่ยน ที่สำคัญสื่อกลางการแลกเปลี่ยนของชุมชนนั้น มีหน้าที่เดียวคือ “เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการเท่านั้น” ห้ามนำไปใช้เพื่อกิจกรรมอื่นโดยเฉพาะการเก็งกำไร โดยการใช้สื่อการแลกเปลี่ยนของชุมชนดังกล่าวนั้นสามารถทำผ่านทางด้านระบบของสหกรณ์

                - ในด้านการบริโภคสินค้าและบริการ ภาครัฐควรสนับสนุนและส่งเสริมให้ชุมชนเลือกบริโภคสินค้าและบริการที่ผลิตในชุมชนเป็นหลัก ส่วนสินค้าและบริการอื่น ๆ ควรเลือกใช้สินค้าที่จำเป็นและมีประโยชน์เป็นหลักไม่ใช่เลือกใช้สินค้าที่ฟุ่มเฟือยอย่างในปัจจุบันในลักษณะบริโภคนิยม จนนำไปสู่การเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว

                - ในด้านการกระจายผลการผลิต ภาครัฐควรเน้นการกระจายผลผลิตภายในชุมชนของประเทศเป็นหลักก่อนแล้วค่อยขยายตลาดไปต่างประเทศเมื่อมีความพร้อมในด้านต่าง ๆ

                - ในด้านของการกระจายรายได้ เน้นการกระจายรายได้โดยการจ้างงานและการผลิตสินค้าของชุมชนเป็นหลัก โดยที่ภาครัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนอย่างจริงจัง    

 

 

หมายเลขบันทึก: 394874เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2010 17:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 12:10 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท