VII : พันธนาการด้าน “ความชอบ – ไม่ชอบ”


“หากปล่อยให้ค่านิยมทางความชอบ – ไม่ชอบ ถูกใจ – ไม่ถูกใจ ครอบงำนำทางอยู่เหนือเหตุผลทางกระบวนการความคิด ก็เท่ากับผลักชีวิตให้ไปเสพติดในอวิชชา”

12

“คนสลัดความคิดเก่าได้ช้ามาก เพราะไม่ได้เป็นรูปแบบ

หรือประเภทของความคิดแบบนามธรรมที่มีเหตุผล  มันเป็นความเคยชิน 

 ความลำเอียง ทัศนคติ ที่ฝังลึกด้วยความชอบและไม่ชอบ

จอห์น  ดิวอี้ (John Dewey : ค.ศ. ๑๘๕๙ – ๑๙๕๒)

อาจารย์ด้านปรัชญาชาวสหรัฐอเมริกา

 

 

 

VII : พันธนาการด้าน “ความชอบ – ไม่ชอบ”

 

                ค่านิยมปฐมฐานของความชอบ – ไม่ชอบ ถูกใจ – ไม่ถูกใจ บดบังทำให้กระบวนการตรรกะเหตุและผลทางความคิดด้อยค่าลง การตัดสินใจหลักถูกผลักภาระไปให้รสนิยมที่สมประโยชน์ส่วนตน แล้วจับเอาเหตุผล (เทียม) มาเป็นตัวประกัน ในการตีตราประทับรองเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ

 

“หากปล่อยให้ค่านิยมทางความชอบ – ไม่ชอบ

 ถูกใจ – ไม่ถูกใจ ครอบงำนำทางอยู่เหนือเหตุผลทางกระบวนการความคิด ก็เท่ากับผลักชีวิตให้ไปเสพติดในอวิชชา”

 

         ในการดำเนินชีวิตของเรานั้น ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเสพ “วัตถุ (สินค้าและบริการ)” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งในทางตรงและทางอ้อม แต่ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า

              - ในการเสพ “วัตถุ (สินค้าและบริการ)” เราเสพบนพื้นฐานของ ความจำเป็นตามจริง หรือ ความอยาก

              - หากเสพบนพื้นฐานของความจำเป็นตามจริง ก็จะสามารถควบคุมความอยาก (ที่ไม่มีสิ้นสุด) ของเราได้ แต่

              - หากเสพบนพื้นฐานของความอยาก “วัตถุ (สินค้าและบริการ)” ทุกอย่างก็จะถูกจับมาเป็นตัวประกันตีตราประทับรับรองให้กับความจำเป็น (เทียม) ที่เราสร้างขึ้นโดยใช้เกณฑ์ของรสนิยมความชอบ - ไม่ชอบ มาตัดสินใจแทนเหตุและผลแห่งความจำเป็นตามจริงที่พึงมี

 

             ความต้องการบริโภคสินค้าและบริการนั้น :

                  - หากให้ความสำคัญกับความอยากมากกว่าประโยชน์ใช้สอย (คุณค่า) ตามจริง ก็จะนำพาไปสู่ลู่ทางของการเสพติดในลัทธิการบริโภคนิยมที่ผสมปนเปื้อนในการคิดแปลงค่ามองว่าสินค้าและบริการทุกอย่างที่ตนเองมีความต้องการอยากได้มานั้น มีความสำคัญสมประโยชน์ (เทียม) แห่งการใช้สอยทั้งหมด เป็นไปในลักษณะของการผลิตความต้องการ (ความอยาก) ออกมาโดยมีอวิชชาครอบงำนำทาง  เช่น หากว่าเรามีสินค้าอย่างหนึ่งในการใช้สอยอยู่แล้ว เมื่อสินค้าชนิดนั้นผลิตออกมาใหม่ (รุ่นใหม่) หากในกระบวนการความคิดของเราถูกมอมเมาด้วยอวิชชาในทัศนะของความชอบ - ไม่ชอบ ครอบงำนำทาง ความทะยานอยากได้ (รุ่นใหม่) ก็จะทำงานอย่างขยันขันแข็งแม้ในเวลาหลับนอนก็จะมีภาพหลอนของความอยากได้ก่อตัวขึ้นอยู่ทุกขณะจิต พยายามหยิบยกหาเหตุและผลขึ้นมาเพื่อตีตราประทับรับรองมองให้สมประโยชน์กับความอยากของตัวเอง โดยมองข้ามประโยชน์ใช้สอยตามจริงว่าอันเก่าของเราก็ยังใช้ได้ดีอยู่ ความทะยานอยากที่เสพติดในอวิชชาเป็นอาหารของความคิด ก็จะหยิบยกข้ออ้างเรื่องความเก่าและล้าสมัยหรือยัดเยียดข้อหาของการตกรุ่นมาหนุนความอยากได้ (รุ่นใหม่) ให้กับตนเอง

 

 

 เพิ่มเติม VII : วิธีคิด

 

             “ควรสอนวิธีคิดที่ถูกต้องให้แก่เด็กตั้งแต่อยู่ในวัยแรก อาจจะโดยการใช้วิธีคำถามคำตอบ ซึ่งเป็นวิธีที่แม้แต่พระพุทธเจ้าเองก็ทรงใช้มากและใช้บ่อย บางคนอาจจะนึกว่า ขั้นเด็กเล็กนี่ยังไม่จำเป็น ที่แท้แล้ว การฝึกตั้งแต่เด็กมีความสำคัญมาก

         ขอยกตัวอย่างของการฝึกเด็กที่นำไปสู่วิถีชีวิตและชะตากรรมของสังคมในสังคมไทย คนมีค่านิยมบริโภคมาก ไม่ค่อยมีค่านิยมการผลิตหรือการใฝ่รู้ มองดูให้ลึกแล้วจะเห็นได้ว่า เริ่มมาตั้งแต่การเลี้ยงดูของพ่อแม่ เพราะเด็กกำลังโตจะมีศักยภาพที่จะเป็นไปได้สองทาง คือ  

 

                     ๑. ศักยภาพในการรับรู้แบบชอบ – ชัง และ

                    ๒. ศักยภาพในการรับรู้ไว้เป็นข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ อันนี้สุดแต่เราจะฝึกเด็กไปทางไหน 

 

             อาตมาสังเกตว่า ในสังคมไทยมีการเลี้ยงดูแบบส่งเสริมปฏิกิริยาแบบชอบ – ชัง ซึ่งจะนำไปสู่ค่านิยมบริโภค เช่น เวลานำเด็กไปในสถานที่ต่าง ๆ เด็กก็จะสนใจใฝ่รู้ว่า สิ่งนั้นคืออะไร สิ่งนี้คืออะไร ตอนนี้ผู้เลี้ยงดูก็จะมีบทบาทในการชี้นำทางความคิด ก็จะบอกว่า อันนี้ดี อันนี้ไม่ดี อันนี้สวย อันนั้นไม่สวย นี่คือการชี้นำทางความคิดที่ไม่ก่อให้เกิดปัญญา เป็นการส่งเสริมความรู้สึกแบบชอบ – ชัง ที่จะนำไปสู่ค่านิยมบริโภคต่อไป

     

          แต่ถ้าหากเลี้ยงดูเป็น พ่อแม่ก็จะบอกเด็กว่า สิ่งนี้คืออะไร ปกติใช้ทำอะไร นอกจากนั้นแล้วยังใช้ทำอะไรได้อีก ถ้าจะทำสิ่งนี้ต้องใช้วัสดุอะไร จะทำได้อย่างไร ถ้ารู้ลึกไปกว่านั้น ก็อาจจะบอกถึงข้อบกพร่องหรือข้อเสียว่ามีอย่างไร ถ้าสอนอย่างนี้ปัญญาเกิด ฉะนั้น บางทีเราก็ไม่รู้ว่า ได้ให้การศึกษาหรือทำให้เสียการศึกษากันแน่ 

       การให้การศึกษาแก่เด็ก จึงมีความจำเป็นที่จะต้องตั้งแต่เล็ก ๆ มีระดับที่ทำได้ และต้องทำให้ถูกต้อง หากเด็กได้รับการสอนที่ถูกต้อง เมื่อไปสู่โรงเรียน ครูก็จะอบรมง่ายขึ้น เพราะมีรากฐานของการคิดแบบโยนิโสมนสิการ (คิดโดยแยบคาย) มาตั้งแต่เดิมแล้ว

 

จากหนังสือ “วิถีแห่งปราชญ์ : ปฏิปทา จริยาวัตร ของ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)  หน้า. ๖๘ - ๗๐

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 394628เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2010 21:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:32 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท