ทรงเป็น ธ ผู้สถิตย์ในดวงใจคนไทยทั่วหล้า


เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า พระมหากษัตริย์ไทยทรงมีพระราชสถานะเป็นที่ชัดเจนแตกต่างจากพระมหากษัตริย์ของชาติใด ๆ ในโลก และทรงมีพระราชอำนาจต่าง ๆ ที่ชัดเจน ถึงแม้ว่าพระมหากษัตริย์ไทยจะทรงมีพระราชอำนาจ แต่รูปแบบของการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทย มิได้ ใช้แสดงอำนาจบาตรใหญ่กับราษฎรหรือประชาชนของพระองค์ไปในทางการปกครองตามอำเภอใจ แต่การใช้พระราชอำนาจทั้งปวงมี ธรรมะศาสตราเป็นอาวุธ คือ ทรงใช้ธรรมะเป็นเครื่องมือ เป็นอาวุธ เป็นเครื่องกำกับการใช้อำนาจในการปกครอง ปกป้อง รักษาคุ้มครองไร่ฟ้าประชาชนของพระองค์

                สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน ด้วยพระมหากษัตริย์ของไทยทุกพระองค์ทรงดำรงพระราชจริยาวัตรอันงดงาม และทรงตั้งมั่นในหลักธรรม คือ ทศพิธราชธรรม สังคหวัตถุ และจักรวรรดิวัตร ที่ทรงใช้ในการคุ้มครองและทำประโยชน์ให้แก่แผ่นดินและราษฎรของพระองค์ ทำให้พระมหากษัตริย์ของไทยทรงเป็น ธ สถิตย์ในดวงใจของคนไทยทั่วหล้า ทรงดำรงพระราชอิสริยยศอยู่ภายใต้การปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญมาแล้วกว่า ๗๐ ปี ทรงมีพระราชสถานะที่คนไทยยกย่องเทิดทูนมาตลอด ซึ่งพระราชสถานะของพระมหากษัตริย์ไทยตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่สำคัญ คือ

 

          ประการที่หนึ่ง ทรงเป็นพระประมุขแห่งรัฐ ทรงเป็นพระประมุขที่คอยแบกความทุกข์ยาก ความเดือดร้อนของประชาชน เหมือนบิดามารดาคอยเลี้ยงดูบุตร ต้องทรงตรากตรำพระวรกายและทรงวางพระองค์เป็นกลางทางการเมืองท่ามกลางฝ่ายการเมืองต่าง ๆ  

 

        ประการที่สอง ทรงเป็นที่เคารพสักการะ ทรงเป็นที่เคารพสักการะของคนไทยทั้งชาติ อันเป็นไปโดยสายเลือดและความศรัทราเลื่อมใสในพระราชปณิธานและพระราชกรณียกิจ และทรงเป็นศูนย์รวมแห่งความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ

 

         ประการที่สาม ทรงถูกละเมิดมิได้ ทรงมิอยู่ในฐานะที่จะถูกละเมิดหรือถูกฟ้องร้องใด ๆ ได้ การใช้พระราชอำนาจบริหารราชการแผ่นดินของพระองค์จะต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ อันได้แก่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ประธานองคมนตรี เพื่อให้บุคคลเหล่านี้เป็นผู้รับผิดชอบในความถูกต้อง เนื้อหาสาระที่สามารถตรวจสอบได้ ชี้แจงได้

 

        ประการที่สี่ ทรงเป็นพุทธมามกะและอัครศาสนูปถัมภก ทรงดำรงพระราชสถานะเป็นพุทธมามกะและอัครศาสนูปถัมภก ตามนิติราชประเพณีที่มีมาแต่โบราณ วิธีการอุปถัมภ์ศาสนาต่าง ๆ ก็มีแตกต่างกันไป แต่ในศาสนาพุทธ ยึดหลักการถวายสมณศักดิ์และค่านิตยภัตต์ให้แก่พระเถรานุเถระ เพื่อไปปกครองดูแลสงฆ์ เผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา ฯลฯ

 

         ประการที่ห้า ทรงเป็นจอมทัพไทย ดำรงพระราชสถานะ “จอมทัพไทย” เป็นมรดกตกทอดมาจากพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ไทยที่ต้องต่อสู้รบพุ่งเพื่อปกปักรักษาคุ้มครองเอกราชของชาติและปัจจุบันนี้รัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐ ยังได้ถวายพระราชอำนาจเหนือบรรดาทหารทั้งปวงด้วย

 

           เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า พระมหากษัตริย์ไทยทรงมีพระราชสถานะเป็นที่ชัดเจนแตกต่างจากพระมหากษัตริย์ของชาติใด ๆ ในโลก และทรงมีพระราชอำนาจต่าง ๆ ที่ชัดเจน ถึงแม้ว่าพระมหากษัตริย์ไทยจะทรงมีพระราชอำนาจ แต่รูปแบบของการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทย มิได้ ใช้แสดงอำนาจบาตรใหญ่กับราษฎรหรือประชาชนของพระองค์ไปในทางการปกครองตามอำเภอใจ แต่การใช้พระราชอำนาจทั้งปวงมี ธรรมะศาสตราเป็นอาวุธ คือ ทรงใช้ธรรมะเป็นเครื่องมือ เป็นอาวุธ เป็นเครื่องกำกับการใช้อำนาจในการปกครอง ปกป้อง รักษาคุ้มครองไร่ฟ้าประชาชนของพระองค์

 

           สมัยกรุงสุโขทัย มีพระมหากษัตริย์ที่เรียกว่า “พ่อขุน” เป็นเจ้าชีวิต – เจ้าแผ่นดิน ทรงเป็นผู้ครองนคร ที่คอยดูแลทุกข์สุข ปกครองบ้านเมืองให้อยู่อย่างปลอดภัย คอยปกป้องดูแลราษฎรให้มีความสุขและให้ได้รับความยุติธรรมเสมอหน้ากัน ราษฎรมีสิทธิ์ในการร้องทุกข์ต่อพระมหากษัตริย์ และมีสิทธิเสรีภาพในการทำมาค้าขาย เป็นการปกครอง เยี่ยงบิดากับบุตร หรือ “พ่อปกครองลูก”

 

           สมัยอยุธยา พระมหากษัตริย์ในฐานะเจ้าชีวิต – เจ้าแผ่นดิน ทรงเป็น “สมมติเทพ” ของคนไทยตามอิทธิพลลัทธิมหายานปนลัทธิพราหมณ์ที่มีความเชื่อว่า พระมหากษัตริย์เป็น พระจักรพรรดิ และได้มีการยกฐานะพระมหากษัตริย์เท่ากับพระอินทร์ ผู้เป็นใหญ่ในเทวภูมิ (ราชบัลลังก์ของพระมหากษัตริย์เหมือนแท่นบัลลังก์ของพระอินทร์ประดับด้วยรูปสิงห์และครุฑตามความเชื่อในเทพต่าง ๆ เช่น พระอิศวร พระพรหม พระนารายณ์ พระนามของพระมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์จึงทรงพระนามตามชื่อเทพพรหมเหล่านั้น เช่น พระนารายณ์มหาราช พระรามาธิบดี) ขณะเดียวกัน “พระมหากษัตริย์” ในสมัยอยุธยาก็ทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกในพระพุทธศาสนา คนไทยเชื่อว่าพระมหากษัตริย์ของตนคือ “ธรรมราชา” เป็นผู้มีพระบรมเดชานุภาพทรงความเข้มแข็งเด็ดขาดควบคู่ไปกับทรงต้องบำรุงพระพุทธศาสนา

 

         สมัยกรุงธนบุรี พระเจ้าตากสินมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ต้องใช้พระราชอำนาจเด็ดขาดในการกอบกู้บ้านเมือง ขับไล่ศัตรู ขณะเดียวกันพระองค์ก็ทรงรักษาความเป็น “ธรรมราชา” ด้วย แต่พระองค์ก็ทรงครองราชย์อยู่ในช่วงระยะเวลาอันสั้น

 

        สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ความเป็นเจ้าชีวิต – เจ้าแผ่นดิน เปลี่ยนแปลงรูปแบบอีกครั้ง จาก “สมมติเทพ” มาเป็น “อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ” คือ เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ประชาชนทั้งปวงยอมรับ ด้วยการที่ข้าราชการและราษฎรทั้งปวงพร้อมกันกราบทูลวิงวอนเชิญสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกขึ้นครองราชย์สมบัติ นอกจากประชาชนจะยอมรับในองค์พระมหากษัตริย์แล้ว ประชาชนยังมีความเชื่ออีกว่า พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์จะต้องทรงตั้งมั่นในหลัก ธรรมะ คือ ทศพิธราชธรรม สังคหวัตถุ และจักรวรรดิวัตร ที่จะทรงใช้ในการคุ้มครองและทำประโยชน์ให้แก่แผ่นดินและราษฎรของพระองค์

 

            จากพระราชสถานะของพระมหากษัตริย์ไทยดังกล่าว เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า ประชาชนหรือราษฎรของพระองค์ท่านมีความจงรักภักดีอย่างหาที่สุดไม่ได้ โดยเฉพาะ พระราชสถานะทรงเป็นที่เคารพสักการะ ซึ่งในปัจจุบันคนไทยได้ถวายความเคารพสักการะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน ด้วยความเคารพสักการะทั้งโดยสายเลือดและเลื่อมใสศรัทธาในพระราชปณิธาน พระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณต่าง ๆ ประกอบรวมเข้าด้วยกัน พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญประโยชน์ที่มีคุณูปการอย่างหาที่สุดไม่ได้ พระราชสถานะของพระองค์ในวันนี้จึงผูกพันกับคนไทยเกินกว่า “เป็นที่เคารพสักการะ” มาเป็น “เคารพ เทิดทูน บูชา”

 

           การแสดงออกถึงความ “เคารพ เทิดทูน บูชา” สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็นเรื่องที่ฝังลึกถึงรากอยู่ในจิตใจของคนไทยทุกคน ถึงแม้ว่าการกระทำใด ๆ บางอย่างที่เป็นเครื่องยืนยันถึงความ “เคารพ เทิดทูน บูชา” จะถูกบุคคลหรือกลุ่มบุคคลมองว่า ถ้าหากไม่ทำก็ไม่ผิดกฎหมาย และ/หรือ ไม่ได้เป็นอาชญากร นั่นย่อมเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงวุฒิภาวะทางจิตวิญญาณของความเป็นไทยได้เป็นอย่างดีว่า บุคคลหรือกลุ่มบุคคลเหล่านั้นมีวุฒิภาวะทางจิตวิญญาณของความเป็นไทยเหลืออยู่มากน้อยเพียงใด จะนำเอาการแสดงออกถึงความ “เคารพ เทิดทูน บูชา” ของปวงประชาที่มีต่อพระราชสถานะของพระองค์มาวัดที่ความถูก – ผิดตามกฎหมาย หรือ เป็น – ไม่เป็นอาชญากร ไม่ได้ เพราะ พระราชสถานะของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน ทรงฝังรากลึกอยู่ในจิตใจของประชาชนชาวไทยทุกคน ดังคำกล่าวที่ว่า “ทรงเป็น ธ ผู้สถิตย์ในดวงใจของคนไทยทั่วหล้า”

 

        การที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดที่มักอ้างว่า การกระทำที่ไม่แสดงออกถึงความ “เคารพ เทิดทูน บูชา” ไม่ผิดกฎหมาย และ/หรือ ไม่ใช่อาชญากร นั่นย่อม เป็นเครื่องชี้วัดถึงเจตนาของ วุฒิภาวะทางจิตวิญญาณ ของความเป็นไทยของบุคคลและกลุ่มบุคคลเหล่านั้นได้เป็นอย่างดีว่า วุฒิภาวะทางจิตวิญญาณมีความบกพร่อง เพียงใด

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 394480เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2010 14:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มีนาคม 2012 14:58 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท