สังคมที่คนเลวไล่คนดีออกจากระบบ


ประชาชนส่วนใหญ่ก็ถูกปลูกฝังทางอ้อมจากความชาชินดังกล่าวว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติในสังคมจนนำไปสู่การยอมรับในพฤติกรรมของนักการเมืองที่แสวงหาผลประโยชน์ดังกล่าวว่า “เป็นเรื่องปกตินักการเมืองก็เป็นอย่างนี้ทุกคนอยู่ที่ว่าจะเป็นมากหรือเป็นน้อยก็เท่านั้นเอง”

                หากใครเคยเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์การเงินคงเคยได้เห็นและได้ยินประโยคที่ว่า “เงินเลวขับไล่เงินดีออกจากการหมุนเวียน” (bad money drives good money out of circulation) ซึ่งเป็นกฎของเกรแซม (Gresham’s Law) โดยกล่าวไว้ว่า “ถ้ามูลค่าของโลหะชนิดใดต่ำลง (เงินเลว) ประชาชนจะเอาโลหะชนิดนั้นมาให้รัฐบาลทำเป็นเหรียญ และเก็บโลหะชนิดที่มีราคาสูงไว้ (เงินดี) บทสรุปท้ายที่สุดก็จะเหลือแต่เหรียญชนิดเดียวเท่านั้นที่หมุนเวียนในท้องตลาด ตัวอย่างเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงปลายทศวรรษที่ ๑๗๙๐ อัตราส่วนตลาดระหว่างทองคำกับโลหะเงินในตลาดโลกเท่ากับ ๑:๑๕.๕๐ ออนซ์ ในขณะที่อัตราส่วนของโรงกษาปณ์เท่ากับ ๑:๑๕ ออนซ์  แสดงว่ารัฐบาลตีราคาโลหะเงินสูงกว่าราคาตลาดโลก (overvalued silver) และตีราคาโลหะทองคำต่ำกว่าราคาคลาดโลก (undervalued gold) ดังนั้น เหรียญเงินจึงกลายเป็นเงินเลวและเหรียญทองคำเป็นเงินดี ประชาชนก็จะนำเอาเหรียญทองคำไปหลอมเป็นเนื้อโลหะ แล้วนำไปแลกเป็นเนื้อโลหะเงินซึ่งจะได้ถึง ๑๕.๕๐ ออนซ์ แล้วเอาไปขายให้รัฐบาลแลกเป็นเหรียญทองคำกลับมาซึ่งก็จะได้กำไรในส่วนต่าง ๐.๕๐ ออนซ์ ซึ่งก็จะทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนในที่สุด โรงกษาปณ์ก็จะไม่มีทองคำจ่ายให้ ทองคำก็จะหายไปจากการหมุนเวียนในตลาด คงเหลือไว้แต่เหรียญเงิน”

 

            ใจความสรุปโดยสาระสำคัญก็คือ “ในอดีตระบบการเงินเคยใช้เงินตราหลายสกุล เช่น เหรียญทองคำ เหรียญเงิน เป็นต้น โดยที่รัฐบาลกำหนดค่าเสมอภาคเอาไว้ โดยที่ค่าของโลหะทองและโลหะเงินนั้นมีการแปรผันได้ เช่น การค้นพบแหล่งโลหะเงินใหม่ โดยเมื่อปริมาณของโลหะเงินเพิ่ม ค่าของโลหะเงินก็จะลดค่าลง เป็นไปตามกฎอุปสงค์ – อุปทาน ประชาชนโดยส่วนใหญ่ก็จะไม่อยากเก็บเหรียญเงินเอาไว้ แต่จะเก็บเหรียญทองคำเอาไว้ เมื่อประชาชนได้รับเหรียญเงินมาก็จะรีบจ่ายเหรียญเงินนั้นออกไปทันที เพราะตระหนักดีว่าค่าของโลหะเงินเสื่อม ในท้ายที่สุดเงินตราที่หมุนเวียนแลกเปลี่ยนในท้องตลาด ก็จะมีแต่เหรียญเงิน (เงินเลว)  ไม่มีเหรียญทองคำ (เงินดี)

 

            เมื่อหันมองสังคมการเมืองในปัจจุบันที่มีความหลากหลายของคนมีทั้งคนดีและคนไม่ดี หากว่าใช้มาตรฐานของ คุณธรรมและจริยธรรม เป็นดัชนีชี้วัดแล้ว ในสังคมการเมืองปัจจุบันนักการเมืองที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องโดยการคอรัปชั่นเชิงนโยบายมีมากขึ้น จนเสมือนหนึ่งว่าเป็นเรื่องปกติที่ชาชินในสังคม ซึ่งจุดนี้ถือว่าสุ่มเสี่ยงต่อรากฐานทางความคิดเป็นอย่างมากในสังคม เมื่อปริมาณของนักการเมืองที่มีพฤติกรรมแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องมากขึ้น ก็สะท้อนออกมาถึงคุณค่าของคุณธรรมและจริยธรรมของนักการเมืองดังกล่าวนั้นได้ลดน้อยลง ประชาชนส่วนใหญ่ก็ถูกปลูกฝังทางอ้อมจากความชาชินดังกล่าวว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติในสังคมจนนำไปสู่การยอมรับในพฤติกรรมของนักการเมืองที่แสวงหาผลประโยชน์ดังกล่าวว่า เป็นเรื่องปกตินักการเมืองก็เป็นอย่างนี้ทุกคนอยู่ที่ว่าจะเป็นมากหรือเป็นน้อยก็เท่านั้นเองซึ่งพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจนชาชินดังกล่าวเปรียบเสมือนกับดักของนักการเมืองที่วางเอาไว้เพื่อให้เกิดมายาคติของสังคมให้ยอมรับในเรื่องของการแสวงหาผลประโยชน์และการจัดสรรผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องดังกล่าวว่า “เป็นเรื่องปกติ” ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ (เปรียบเสมือนเงินเลว) ก็จะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดก็จะไล่นักการเมืองที่มีคุณธรรมและจริยธรรม (เปรียบเสมือนเงินดี) ออกไปจากการหมุนเวียนในตลาดการเมือง เปรียบเสมือน สังคมที่คนเลวไล่คนดีออกจากระบบ” ถ้าหากว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมยังมองเห็นและยอมรับว่าพฤติกรรมเหล่านั้นเป็นเรื่องปกติอยู่อีก

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 394063เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2010 12:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 12:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท