กรรมการสิทธิมนุษยชนเป็นเหยื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนรายล่าสุด


ข้อเท็จจริงที่ปรากฏโดยมิต้องผ่านการคิดวิเคราะห์ให้วุ่นวายในช่วงตลอดระยะเวลา 5 ปีของรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร –'เป็นรัฐบาลที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางและรุนแรง' นโยบายสงครามยาเสพติด เหตุการณ์กรือเซะ-ตากใบ คดีทนายสมชาย นีละไพจิตร-เจริญ วัดอักษร-พระสุพจน์ สุวโจ การข่มขู่ คุกคาม สังหารแกนนำชาวบ้านที่ต่อสู้เรียกร้องในประเด็นต่างๆ ในหลายๆ พื้นที่ ฯลฯ
"ถ้ากรรมการสิทธิฯ ยังโดนอย่างนี้ แล้วชาวบ้านจะอยู่อย่างไร"
       
       • 5 ปีที่ผ่านมาองค์กรอิสระที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 อันมีเจตนารมณ์เพื่อควบคุม ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ถูกแทรกแซงจนอยู่ในสภาพพิกลพิการและไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเที่ยงตรง –คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ภายใต้การนำของศ.ดร.เสน่ห์ จามริก ถือได้ว่าเป็นองค์กรอิสระหนึ่งในน้อยแห่งที่เงื้อมเงาอำนาจยังไม่สามารถเอื้อมมือเข้าไปควบคุมได้ ...แต่อีก 1 ปีข้างหน้าคณะกรรมการชุดนี้จะหมดวาระลง
       
       
วสันต์ พานิช จบนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จับคดีการเมืองและประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนมาเกือบ 30 ปี วันนี้เขาเป็นหนึ่งในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและยังเป็นคณะอนุกรรมการอีกหลายชุด เขาวิพากษ์วิจารณ์การฆ่าตัดตอน 2,500 ศพในสงครามยาเสพติดของรัฐบาลอย่างเผ็ดร้อน งานล่าสุดของเขาคือการตรวจสอบศพนิรนาม 400 ศพในสุสานจีนที่จังหวัดปัตตานี งานนี้ล่อแหลมและสุ่มเสี่ยง บอกไม่ได้ว่าจะไปทับเท้าใครบ้าง แต่วันนี้วสันต์ พานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกำลังถูกตามข่มขู่ คุกคามจากอำนาจที่ใหญ่โตบางชนิด!!
       
       
• คำถามเดียว... -เกิดอะไรขึ้นกับสังคมที่ผู้นำประเทศประกาศว่าจะรักษา ‘ประชาธิปไตย’ ยิ่งชีวิต แต่เมื่อบุคคลเช่นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ บุคคลที่ดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชนกลับยังถูกข่มขู่ คุกคามเสียเอง โดยปราศจากความไยดีหรือแม้กระทั่งการซักถามใดๆ จากภาครัฐ แล้วชาวบ้านตาดำๆ จะอยู่กันอย่างไร??
       
       ก่อนที่คุณจะมาเป็นคณะกรรมการสิทธิฯ -->
       
       ผมเริ่มทำคดีการเมืองตั้งแต่ปี 2519 กระทั่งครั้งสุดท้ายสภาทนายความตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง เป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ผมก็เป็นรองประธานและอนุกรรมการอีกหลายชุด จนเมื่อมีการเสนอชื่อเข้ามาเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ช่วงต้นปี 2543 ทางสภาทนายความก็เสนอผมเป็นตัวแทน 1 ใน 2 คน และผมได้รับเลือกและโปรดเกล้าฯเมื่อ 13 กรกฎาคม 2544 ก็เริ่มทำงานกันมา
       
       เรื่องสิทธิมนุษยชนอาจดูเป็นเรื่องที่ใหม่ แต่จริงๆ แล้วผมกับอาจารย์เสน่ห์ อาจารย์จรัญ (ดิษฐาอภิชัย) เคยทำงานเรื่องสิทธิเสรีภาพมาก่อน คือสิทธิมนุษยชนก็คือสิทธิเสรีภาพที่กำหนดไว้ในกฎหมายซึ่งรัฐธรรมนูญก็รองรับอยู่บางส่วน เพิ่งมาพัฒนาไปเต็มที่ก็เมื่อเกิดรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่รับรองเรื่องสิทธิเสรีภาพไว้กว้างขวางมาก
       
       พูดง่ายๆ ผมจับเรื่องสิทธิเสรีภาพมาตั้งแต่ 2519 แล้ว เหมือนกับเราพอมีความเข้าใจอยู่บ้างเนื่องจากทำมาเป็นเวลานาน แต่ว่าแรกๆ เราเองก็ไม่คุ้นเคย เพราะกฎหมายที่ใช้มันต่างกันออกไป อย่างเช่นเราต้องเข้าไปตรวจสอบเรื่องเหมืองแร่โดยที่เรายังไม่เคยดูพ.ร.บ.แร่มาก่อนเลย แต่ทำงานมาเข้าปีที่ 3 ปีที่ 4 จึงเริ่มรู้หนทางแล้วว่าจะตรวจสอบยังไง จะแก้ไขยังไงโดยอาศัยกฎหมายอะไร
       อะไรผลักดันให้คุณสนใจปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนครับ
       
       เดิมเรามองเห็นกลุ่มการต่อสู้ทางการเมือง ชาวนา ชาวไร่ที่เดือดร้อน คนงานที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ เราต้องการเอาข้อมูล ข้อเท็จจริงด้านมืดต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมมาสู่ที่สว่าง
       
       ช่วยเล่าอีกครั้งครับว่าเกิดอะไรขึ้น คุณถูกข่มขู่คุกคามอย่างไร -->
       
       คือนับถึงตอนนี้มันเกิดขึ้นมาหลายวันแล้ว เริ่มตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน วันแรกก็คือโทรศัพท์เข้ามือถือ พอเรารับก็ไม่พูด แล้วก็กระหน่ำโทร.จนเราต้องปิดเครื่อง แต่พออีกเครื่องหนึ่งซึ่งเป็นโทรศัพท์เครื่องที่จะมีคนใกล้ชิดไม่กี่คนที่จะรู้เบอร์ ก็มีการกระหน่ำโทร.เข้ามาแต่ก็ไม่พูดอะไรจนเราต้องปิดเครื่องอีก
       
       แล้วต่อๆ มาก็จะโทร.เข้าบ้าน ไปไหนก็ถูกตามตลอด ขึ้นแท็กซี่ก็ปรากฏว่าเป็นแท็กซี่ของทีมของเขาทั้งหมด เป็นแท็กซี่สีส้ม สีน้ำเงินคาดแดง เราเพิ่งมาสรุปเดี๋ยวนี้เองว่ามันเกี่ยวพันกันทั้งหมดทุกคัน เพราะว่าแท็กซี่แต่ละสีก็จะเป็นของบริษัทต่างกัน แต่แท็กซี่ที่รับผมจะกี่สีๆ เป็นชื่อบริษัทเดียวกันหมดเลย ซึ่งมันไม่น่าเป็นไปได้
       
       หลังจากนั้นก็ตามให้เห็นเลยว่าฉันตามนะ อย่างวันก่อนตอนเช้าก็แท็กซี่ซ้าย-ขวาปรากฏให้เราเห็นเป็นระยะๆ แล้วก่อนหน้านั้นผมขึ้นแท็กซี่จะไปต่างจังหวัดมีคนนั่งไปด้วยเป็นเพื่อนผม ผลปรากฏว่าแท็กซี่คันนั้นพอจะออกจากสำนักงานไป ผมบอกกับน้องที่ไปกับผมว่าน้องช่วยชะโงกดูในซอยซิว่ามีรถสีส้มมั้ย พอเขาชะโงกดูปุ๊บ แท็กซี่คนนี้ก็ตกใจว่าเรารู้ว่าถูกติดตาม
       
       การตามก็ใช้วิธีตีไฟ มันจะผิดปกติคือตีไฟค้างเป็นเวลานาน เพื่อให้คันหลังรู้ว่าจะเลี้ยวไปไหน แท็กซี่คันนั้นผมก็เห็นหน้า จำหน้าได้ ผมขอดูบัตรเขาก็บอกว่าอย่าทำผมเลย ผมก็ทำเพื่อปากท้อง แท็กซี่คนนั้นเป็นคนเดิมที่คุกคามผม ปรากฏว่าอีกวันหนึ่งเขาก็มาสไตล์ใหม่ เปิดเผยหน้าตาเลย ถือกระเป๋า เอามือทำเป็นล้วงเข้าไปในกระเป๋าเหมือนกับจะควักปืนออกมายิง เดินมาข้างรถผมแล้วก็ข้ามถนนไป
       
       ดังนั้น มันจึงไม่ใช่ว่าผมตระหนกไปเอง แต่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น อย่างเมื่อวานเย็น (6 กรกฎาคม) ก็ตามอีกเช่นกัน เราเองก็พยายามทำใจให้เป็นปกติ จนตอนนี้ก็ยังมีการติดตามโดยตลอด เหมือนกับคุกคามให้เราตื่นกลัวและเลิกทำงานไป
       
       คุณกลัว? -->
       
       แรกๆ ก็กลัวนะ เอาอย่างนี้คือในชีวิตตอนที่ทำคดีการเมืองผมก็ถูกตาม แต่การตามจะไม่ได้เป็นในลักษณะนี้ เขาแค่ตามเราไปที่นั่นที่นี่ ทำให้เรารำคาญเท่านั้นเอง เราถูกตามมาเยอะ อย่างนั้นเราไม่มีปัญหา เราไปพูดที่ไหนคนที่ตามก็จะไปนั่งจดสิ่งที่เราพูด ซึ่งเราก็รู้ว่าเขาเป็นสันติบาล เป็นเรื่องปกติ เราไม่ว่ากัน แม้กระทั่งเวลาลงพื้นที่ก็มีสันติบาลตามไปทำรายงาน ผมก็ไปบอกเขาว่าเขียนรายงานให้ตรงหน่อยแล้วกัน อย่างนี้เรายินดีให้ความร่วมมือเต็มที่ แต่ว่าอย่างที่เกิดขึ้นกับผมตอนนี้มันต่างกันมั้ย เพราะมันมีท่าทีคุกคามชัดเจน
       
       โดยส่วนตัวคุณมองว่าเรื่องนี้น่าจะมีสาเหตุมาจากอะไร -->
       

       ขณะนี้เรากำลังทำเรื่องการขุดศพที่ปัตตานี ผมคิดว่านี่น่าจะเป็นสาเหตุหลักเลย
       
       ทำไมคุณจึงเชื่อเช่นนั้น -->
       
       เนื่องจากว่าภายในสุสานจีนที่จังหวัดปัตตานีมีอยู่ประมาณ 400 ศพซึ่งทางเจ้าหน้าที่แจ้งว่าเป็นแรงงานต่างด้าว ซึ่งเราคิดว่าถ้าเป็นแรงงานต่างด้าวจริงก็ควรเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวได้รับการพิสูจน์ว่าญาติพี่น้องเขาเป็นใคร ตอนนี้เราก็พยายามติดต่อประสานงานไปยังสถานทูตกัมพูชาและพม่า ให้เขาช่วยแจ้งประชาชนของเขาว่าใครมีญาติที่มาทำงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้วสูญหายไปบ้าง แล้วเราจะบินไปตรวจดีเอ็นเอที่ประเทศเขาเลย
       
       แต่ปรากฏว่าเท่าที่เราได้ข้อมูลจากคนดูแลสุสานจีน จากบันทึก เราพบว่าส่วนหนึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวจริง แต่ส่วนหนึ่งเป็นชาย-หญิงไม่ทราบชื่อ ไม่ทราบสัญชาติ มีอยู่เป็นจำนวนพอสมควรซึ่งเราก็ไม่รู้ข้อเท็จจริงเป็นยังไง เราเองก็หวังว่าจะอำนวยความยุติธรรมตรงนี้ เมื่อขุดขึ้นมาตรวจดีเอ็นเอแล้ว เป็นแรงงานต่างด้าวจริง ก็จบ รัฐบาลก็ได้รับการยอมรับด้วย ตรงนี้เท่ากับเราช่วยรัฐบาลด้วยซ้ำไป แต่ถ้าไม่ใช่มันก็มีคนพยายามขัดขวางไม่ให้เราทำ
       
       สาเหตุที่ผมคิดอย่างนั้นเพราะว่าคุณหมอพรทิพย์ไม่มีอำนาจทางกฎหมายที่จะไปดำเนินการได้ แต่กรรมการสิทธิฯเรามีอำนาจตรงที่สามารถขอหมายจากศาลไปดำเนินการ ขณะนี้เราอายัดทั้ง 400 นั้นแล้ว ห้ามใครมาขุด เว้นแต่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ตอนนี้ก็รออย่างเดียวว่าจะเคลื่อนย้ายเมื่อไหร่ การเคลื่อนย้ายต้องมีกระบวนการอยู่พอสมควร ดังนั้น พอเราขอหมายไปวันก่อน ศาลอนุญาตแล้ว เพียงแต่คุณหมอพรทิพย์จะลงไปเอาศพขึ้นมาเมื่อไหร่เท่านั้นเอง ตรงนี้คงจะเป็นเงื่อนไขหนึ่ง
       
       กรณีคดีทนายสมชาย คุณคิดว่ามีส่วนมั้ย? -->
       
       คงไม่ เพราะว่าเราไม่ได้ทำ คนที่ทำขณะนี้คือกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เราเองก็ทำได้แค่ถามความคืบหน้าเท่านั้นเอง ไม่ได้ลงไปตรวจสอบ เพราะเราเองก็ไม่มีปัญญาเนื่องจากมันเกิดขึ้นนานแล้ว และเราก็ไม่มีเจ้าหน้าที่มากมายขนาดนั้น
       
       ได้แจ้งตำรวจไปหรือเปล่า -->
       
       ยังครับยัง จนกว่าเราจะได้พยานหลักฐานชัดเจนก่อน ไม่ว่าใคร กลุ่มไหนเป็นคนโทรศัพท์เข้ามา ถ้าได้ข้อมูล พยานหลักฐานชัดเจนทั้งหมดแล้ว เราจึงจะไปแจ้งความดำเนินคดีอีกที
       
       กับเรื่องนี้คุณคิดจะดำเนินการอย่างไรต่อครับนอกจากการรวบรวมหลักฐานเพื่อแจ้งความ -->
       
       คืออย่างนี้ ถ้าชาวบ้านคิดว่าเราเป็นประโยชน์ รวมทั้งรัฐบาลเองมองว่างานที่เราทำเป็นประโยชน์ต่อสังคม ก็ควรจะมาใส่ใจให้ผมมีชีวิตที่เป็นสุข เลิกคุกคามเถอะ ปล่อยให้เราทำงานต่อไปอย่างสงบสุขซึ่งเราก็หวังว่าในช่วงเวลาที่เหลือเราจะได้ทำงานอย่างเต็มที่
       
       คุณคิดว่า ‘ใคร’ เป็นคนบงการครับ -->
       
       คงไปกล่าวหาเขาอย่างนั้นไม่ได้ แต่ว่าน่าจะมีสาเหตุเนื่องจากเรื่องนี้
       
       แต่ในใจคุณก็พอจะมีธงอยู่ว่าเป็นใคร -->
       
       ก็พอจะรู้อยู่ครับ
       
       แล้วรัฐบาลได้ดำเนินการ มาดู มาถามกับเรื่องที่เกิดขึ้นนี้อย่างไรบ้าง -->
       
       ไม่มี ไม่มีเลยครับ และผมคงไม่วิพากษ์วิจารณ์ จริงๆ แล้วรัฐบาลกลับน่าจะช่วยเหลือให้เราสามารถเดินหน้าต่อไปได้ เพราะงานนี้เราทำเพื่อชื่อเสียงประเทศเป็นหลัก
       
       ทางครอบครัวของคุณพูดถึงเรื่องนี้อย่างไรบ้าง -->
       
       เขาก็เป็นห่วงครับ แต่ไม่ได้พูดอะไร ไม่ได้บอกให้เลิก ผมต้องเรียนว่าถ้าขนาดกรรมการสิทธิฯ ยังโดนอย่างนี้ ถ้าชาวบ้านยังพึ่งกรรมการสิทธิฯไม่ได้ แล้วชาวบ้านจะพึ่งใคร ชาวบ้านจะอยู่ยังไง
       
       อย่างเราทำเรื่องทรัพยากรน้ำและแร่ ที่ดินและป่า ก่อนหน้าที่เราจะมาจับเรื่องนี้มีแกนนำในที่ต่างๆ ถูกทำร้ายไปถึง 21 คน จะเห็นว่าจริงๆ แล้วปัญหานี้มันดำรงอยู่ เราต้องมาดูแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศของเรา
       
       คุณมองว่าการที่คนไทยไม่ค่อยใส่ใจเรื่องสิทธิของตัวเองและผู้อื่นนั้นเป็นเพราะลักษณะอำนาจนิยมที่ฝังแน่น และความที่เป็นคนประนีประนอมของคนไทย อะไรนิด อะไรหน่อยก็ไม่เป็นไร ยอมๆ กันไปหรือเปล่า
       
       คือส่วนใหญ่แล้วคนเรามองตัวเองเป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่นกรณีการสร้างท่อแก๊สที่จะนะ ไปมองว่าคนที่นั่นจะขัดขวางทำไม ในเมื่อความเจริญจะเข้าไป แต่ทำไมไม่ลองเอาใจเขามาใส่ใจเรา ชุมชนเขาอยู่อย่างปกติสุข ทำประมงพื้นบ้าน ในชุมชนมีการเลี้ยงนกเขา นกเขาบางตัวราคาเป็นแสนเป็นล้าน แล้วกลับเอาสิ่งแปลกปลอมเข้าไปโดยมองแต่เพียงว่าต้องให้เกิด ผมถามว่าเมื่อเกิดแล้ว ใครได้อะไร เรื่องแก๊สปัจจุบันนี้ใครได้ประโยชน์ ปตท. แล้วปัจจุบันนี้ปตท.อยู่ในรูปแบบไหน ประชาชนได้อะไรล่ะ ผู้ถือหุ้นได้ใช่มั้ย
       
       เรามองว่าเขาต้องเสียสละ แล้วทำไมเราต้องให้เขาเสียสละด้วยล่ะ แต่พอเราเองโดนบ้าง สังคมที่เป็นสุขอยู่แล้ว เอาสิ่งแปลกปลอมเข้ามาใส่ ผมถามว่าคุณอยากจะโดนแบบนั้นบ้างมั้ย ถ้าคุณต้องเสียสละบ้างคุณจะยอมมั้ย เขาเองก็ต้องการชีวิตที่ปกติสุขอย่างที่เขาเคยอยู่มาตั้งแต่บรรพบุรุษเหมือนกัน แล้วทำไมถ้าคิดว่ามันได้ จึงไม่ให้ค่าตอบแทนหรือชีวิตที่คุ้มค่าแก่เขา อย่าลืมว่าพวกเขามีชีวิตพอมีพอกิน การจับปลาก็พอเลี้ยงลูก เลี้ยงหลาน แต่พอไปเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเขา แล้วเขาจะอยู่ยังไง เคยชดเชยให้เขาไหม ดังนั้น เราอย่ามองโดยเอาตัวเราเองเป็นตัวกำหนด ต้องมองถึงบทบาทที่เขาต้องเสียสละ
       
       มีการพูดถึงสิทธิเชิงซ้อน สิทธิของชุมชนมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็พบว่าแนวทางทุนนิยมกลับเป็นตัวส่งเสริมสิทธิเชิงปัจเจกจนเกิดการละเลยสิทธิของชุมชน ทำให้สิทธิชุมชนอ่อนแอ เพราะทุกคนมุ่งแต่สิทธิเชิงปัจเจกของตนเอง ทางคณะกรรมการสิทธิฯ มองปัญหาตรงนี้ยังไง --->
       
       ตรงนี้ชัดเจนที่สุด ยกตัวอย่างที่เราเจอปัญหาอยู่ในกรณีปัญหาที่ดินจากภัยพิบัติสึนามิ เดิมชาวบ้านอาศัยอยู่ริมทะเลเนื่องจากทำประมงพื้นบ้าน แต่เมื่อหน่วยงานของรัฐเข้าไปแก้ไขปัญหาโดยไม่เข้าใจวิถีชีวิตของเขาเลย ไปเอาเขาขึ้นมาจากทะเล แล้วจะอยู่ยังไงล่ะครับ เอาล่ะ เขาได้รับผลกระทบจากสึนามิแต่ถ้าไปดูในพื้นที่ที่มีป่าชายเลนอุดมสมบูรณ์ ปรากฏว่าเขาไม่ได้เสียหายเลย เสียชีวิตน้อยกว่าน้อย เพราะเขาช่วยกันปกป้องธรรมชาติ และอย่าลืมว่าเรือคือเครื่องมือในการประกอบอาชีพ เขาจึงจำเป็นต้องเฝ้าไม่อย่างนั้นของหายหมด วิถีชีวิตเขาก็ต้องอยู่ตรงนั้น ทุกวันนี้เขาก็จะนอนกันในเรือ
       
       เราจึงนำเสนอแนวความคิดใหม่ว่า ที่ดินของชุมชนจะต้องไม่เป็นของปัจเจก เพราะถ้าเป็นของปัจเจกที่ดินริมทะเลมันขายได้ราคา ต่างคนก็ต่างขาย แต่เรามองถึงสิทธิของชุมชนที่จะอยู่ร่วมกัน ให้เขาจัดสรรกันเอง และออกโฉนดในชื่อรวม จำหน่าย จ่าย โอนไม่ได้ เป็นเอกสารชุมชน ทำให้ทุนไม่สามารถเข้าไปซื้อเขาได้ ดังนั้น หลักของชุมชนที่จะเข้มแข็ง คือคุณต้องช่วยดูแลไม่ให้มีการทำลาย
       
       วิพากษ์วิจารณ์กันว่าคณะกรรมการสิทธิฯ เหมือนยักษ์ไม่มีกระบอง ถึงที่สุดแล้วคณะกรรมการสิทธิฯ ก็ทำอะไรได้ไม่มากอย่างที่คิด -->
       

       ใช่ เราสั่งหน่วยงานรัฐไม่ได้ไงเราไร้สภาพบังคับ ถ้าสั่งได้จะวิเศษสุด สมมติถ้าสังคมเห็นด้วยว่าเราควรจะมีสภาพบังคับก็ต้องแก้ไขกฎหมาย ซึ่งเดิมมันมีแนวความคิดตรงนี้อยู่ เพียงแต่ว่าจะเอาไว้กับองค์กรไหนระหว่างผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภากับคณะกรรมการสิทธิฯ อย่าลืมว่าเราดูเรื่องสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญ ถ้าอำนาจมาอยู่ที่เรา กฎหมายใดที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเราก็สามารถฟ้องต่อศาลปกครองได้เหมือนกับผู้ตรวจการฯ ในความเป็นจริงเราทำอย่างนี้ไม่ได้ ซึ่งถ้าปล่อยให้เราทำป่านนี้คดีก็คงเต็มไปหมด ทุกวันนี้แม้แต่อำนาจในการฟ้องศาลแทนชาวบ้านคณะกรรมการสิทธิฯ ก็ไม่มี มันไปอยู่ที่ผู้ตรวจการฯ
       
       แล้วอย่างนี้ประชาชนจะมีวิธีอะไรบ้างที่พอจะปกป้องตัวเองจากอำนาจรัฐที่เข้าไปกระทำกับพวกเขา -->
       
       คงต้องให้ความรู้แก่ประชาขน คืออย่างนี้ เรื่องสิทธิมนุษยชนศึกษาแต่ละเรื่องๆ มันมีตัวอย่างให้ประชาชนได้เรียนรู้ว่าสิทธิของเขาเองคืออะไร อย่างเช่นเราพูดสิทธิชุมชนนี่มันมองไม่เห็นหรอก
       
       มันไม่สามารถเกิดภาพได้ถ้าเราไม่มีตัวอย่างให้เห็นว่าคุณมีสิทธิอย่างนี้อยู่นะ เพียงแต่ว่าคุณจะรวมกันและใช้สิทธิเหล่านี้อย่างไร จริงๆ แล้วคนที่จะมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ความรู้เรื่องสิทธิ ผมว่าก็คือสื่อนั่นแหละ ช่วยกัน แต่สังเกตดู พอเรามีรายการออกมาฉบับหนึ่งก็มันกัน 2 ฉบับ 3 ฉบับ ไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญเลย
       
       คณะกรรมการสิทธิฯ กำลังจะหมดวาระในเดือนกรกฎาคมปีหน้า และก็มีข่าวลือว่าคณะกรรมการสิทธิฯ ชุดใหม่ถูกวางตัวเอาไว้แล้วไม่ว่าจะจากใครก็ตาม เลยอยากรู้จากกรรมการสิทธิฯเองว่าเรื่องนี้จริง-เท็จแค่ไหน -->
       
       ไม่ทราบ ไม่ทราบเลย เราคงกำหนดอนาคตไม่ได้หรอก แต่ผมมองว่าในปีหนึ่งที่เหลือสิ่งที่เป็นภาระสำคัญที่สุดที่เราอยากทำให้เกิดขึ้นได้ คือต้องเร่งรัดสร้างองค์ความรู้ สร้างองค์กรที่เข้มแข็ง คือจะทำยังไงให้เจ้าหน้าที่ของเราได้เรียนรู้และมีบทบาทอย่างแท้จริง ถ้าเราสามารถพัฒนาเจ้าหน้าที่เราได้ ทำให้องค์กรเข้มแข็ง พูดง่ายๆ ทางสำนักงานทำรายงานเบื้องต้นแล้ว เสนอรายงานขึ้นมาแล้ว คณะกรรมการสิทธิฯ จะเอาหรือไม่เอาก็เป็นเรื่องของคณะกรรมการ แต่ว่าสำนักงานมีความเห็นอย่างนี้คุณก็หักดิบเอาสิ
       
       ผมจึงมองตรงนี้มากกว่าว่าจะทำยังไง ไม่ว่าใครจะมาเป็นคณะกรรมการฯก็แล้วแต่ แต่ถ้าเราสร้างองค์กรของเราให้เข้มแข็ง ให้เป็นหลักได้ก็ไม่สำคัญว่าคณะกรรมการฯจะเป็นใคร นี่คือภาระหน้าที่ในช่วงปีที่เหลือของเรา เราคิดว่าจะพยายามทำอย่างเต็มที่ แต่ก็ไม่รู้จะทำได้แค่ไหน
       
       งานกรรมการสิทธิฯ ถือว่าหนักกว่าที่เคยทำมา? -->
       
       เออ.....พูดง่ายๆ ว่าผมไม่เคยหนักเท่านี้ในชีวิตเลย 5 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ลำเค็ญมาก แรกๆ ยังไม่เท่าไร แต่ขณะนี้เราพยายามจะทำให้เรื่องที่ร้องเรียนเข้ามาให้มันเสร็จในชุดของกรรมการชุดเรา เราไม่อยากทิ้งภาระไว้ จะทำยังไงให้งานสามารถเสร็จสิ้นได้และสามารถยังความยุติธรรมให้แก่ชาวบ้านได้ จริงๆ เราไม่ได้เข้าข้างชาวบ้าน
       
       เพียงแต่รัฐธรรมนูญรองรับสิทธิของเขาไว้ เราเพียงแต่ทำให้สิทธิของเขาปรากฏเป็นจริงขึ้นมา แค่นั้นเอง นั่นคือภาระหน้าที่ของเรา ถ้าถามว่าชอบทำมั้ย ชอบสิ เพราะว่าเราเองอาศัยรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศเป็นฐานในการทำงานและวินิจฉัย
       
       ที่คุณว่าหนักนี่นอกจากเนื้องานแล้ว ยังหมายถึงความหนักในแง่ต้นทุนทางอารมณ์ ความรู้สึก ยามเมื่อพบเห็นความเดือดร้อนของชาวบ้านด้วยหรือเปล่า -->
       

       ใช่ ใช่ด้วย เรื่องที่ร้องเรียนมามันต้องได้รับข้อยุติในส่วนของเรา แต่มันก็พูดไม่ได้นะครับเนื่องจากขณะนี้เราเองเจอเรื่องร้องเรียน เฉพาะผมก็มีประมาณ 200 เกือบ 300 เรื่อง
       
       หลังจากหมดวาระการเป็นกรรมการสิทธิฯในปีหน้า คุณวางแผนชีวิตตัวเองไว้หรือยังครับ -->
       
       ยัง ไม่มีเลย อาจจะไปเป็นชาวเกาะมั้ง คือภรรยาผมเป็นข้าราชการก็คงต้องพึ่งภรรยาแหละ (หัวเราะ) ในขณะนี้ยังไม่วางแผนในอนาคตเลย แต่คิดว่าช่วงเวลา 3 เดือน 6 เดือนหลังหมดวาระเราคงจะหยุดพักผ่อน ใช้ชีวิตอย่างสงบสุข ไม่มีมือถือ ตัดขาดสังคมเพื่อที่จะฟื้นฟูสภาพร่างกายตัวเอง
       
       แล้วงานด้านสิทธิมนุษยชนล่ะครับ -->
       
       เรามีอำนาจตรงไหนล่ะ ขนาดมีกฎหมายเราก็ทำได้แค่นี้ แล้วถ้าไม่มีกฎหมายล่ะ แต่ถ้าในแง่การเขียน การเสวนาให้ความรู้ อย่างนั้นก็ได้เลย ไม่มีปัญหา
       
       ***********************
       เรื่อง – กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
หมายเลขบันทึก: 39373เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2006 10:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท