II : การฝึกกระบวนการทางความคิด


“การฝึกกระบวนการความคิด ทำให้ งบดุลแห่งการดำเนินชีวิตมีความแข็งแกร่ง”

7

“พระพุทธศาสนามีลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งคือ ยืนยันในศักยภาพสูงสุดของมนุษย์ ศักยภาพนี้เป็นศัพท์สมัยใหม่ ยืมเอามาใช้ เดิมนั้นเราพูดว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ คำศัพท์ที่แท้ของท่านว่า

“ทัมมะ” 

แปลว่า ผู้ที่จะพึงฝึก คือ ฝึกได้หรือต้องฝึก และฝึกได้จนถึงขั้นเป็นสัตว์ประเสริฐ มองอีกแง่หนึ่งก็ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก และจะประเสริฐสุดได้ด้วยการฝึก มนุษย์จึงมีศักยภาพสูงสุดในการฝึก ซึ่งหมายถึง การพัฒนาตน

จากหนังสือ “วาทะธรรมเพื่อการพัฒนาตนของ

 พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) หน้า. ๓๙

 

 

II : การฝึกกระบวนการทางความคิด

 

            ารเริ่มต้นฝึกกระบวนการคิด เพื่อพัฒนาการดำรงชีวิตที่มีภูมิคุ้มกัน รู้เท่าทันในความเป็นจริง ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด

                 การฝึกคิดไล่เรียงจากเหตุไปหาผล : เป็นกระบวนการฝึกความคิดที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเลือก บนทางเลือกที่มีหลากหลายให้ได้ทางเลือก (ผล) ที่ดีที่สุด

                การฝึกคิดไล่เรียงจากผลไปหาเหตุ : เป็นกระบวนการฝึกความคิดที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาที่ปัจจัยเหตุอย่างเป็นระบบ ต่อยอดถึงช่วยสร้างเป็นทำนบเพื่อป้องกันภัยในภายภาคหน้าอย่างรู้เท่าทัน

 

การฝึกกระบวนการความคิด

ทำให้ 

งบดุลแห่งการดำเนินชีวิตมีความแข็งแกร่ง

     

            ารศึกษาและการเรียนรู้ที่ถูกต้อง เป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนากระบวนการทางความคิด ศาสตร์ทุกศาสตร์ถือเป็นแหล่งเพาะความรู้และช่วยต่อยอดทางพัฒนาการด้านความคิดจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง ปรัชญาหรือภูมิปัญญาที่สะท้อนออกมาเป็นศาสตร์หลาย ๆ แขนงย่อมมีปัจจัยพื้นฐานมาจากวัฒนธรรม วีถีชีวิตที่แตกต่างกัน ดังนั้นการสะท้อนออกมาทางความคิดจึงแตกต่างกันหรือแม้แต่ปรัชญาที่มาจากภูมิภาคเดียวกันยังมีความแตกต่างกันทางกระบวนการทางความคิด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงอิสรภาพทางความคิดและความสวยงามของศาสตร์

                

“พัฒนาการและอิสรภาพทางความคิด เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญ แต่ต้องผ่านกระบวนการที่สกัดเอา อวิชชา ออกมาในเบื้องแรกก่อน เพื่อที่จะนำไปสู่การเข้าถึงและเข้าใจในกระบวนการทางความคิดที่ถูกต้องตามจริง”

 

         คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตล้วนแล้วแต่เป็นคนที่ฝึกฝนกระบวนการทางความคิดอย่างเป็นระบบ (คิดจากเหตุไปหาผลและผลไปเหตุ) ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น เซอร์ไอแซ็ค นิวตัน (ผู้คนพบกฎแรงโน้มถ่วง)  อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (นักวิทยาศาสตร์นามอุโฆษ ผู้ค้นพบทฤษฎีสัมพัทธภาพ)  พี่น้องตระกูลไรท์ (ผู้คิดค้นเครื่องบินลำแรกของโลก)  บิล เกตส์ (อภิมหาเศรษฐีชาวสหรัฐอเมริกา)  ปาโบล ปีกัสโซ (จิตรกรระดับโลก) ฯลฯ  ซึ่งบุคคลเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่มีความสำเร็จเป็นอย่างสูงหรือที่หลาย ๆ คนเรียกว่า “อัจฉริยะ” ทั้ง ๆ ที่ในวัยเด็กบางคนอาจเริ่มต้นด้วยความผิดปกติจนถูกปรามาสว่าเป็นเด็กสมองทึบ ด้อยปัญญา แต่คนเหล่านี้จะมีจุดเด่นที่ชัดเจนเหนือคนทั่วไปคือ “ความสงสัย” อยู่ในหัวตลอดเวลา ครั้งหนึ่งไอน์สไตน์เคยพูดเอาไว้ว่า “ผมอยากรู้ว่าแสงคืออะไรมาตลอดทั้งชีวิต” จนทำให้เขาได้ก้าวขึ้นไปเป็นเจ้าของทฤษฎีที่ลือลั่น สั่นสะเทือนไปทั่วพื้นพิภพโลก ซึ่งทฤษฎีที่เขาคิดผลิตออกมาล้วนเกี่ยวเนื่องกับแสงทั้งหมด

          “ความสงสัย” ถือเป็นปฐมฐานของการกระตุ้นการทำงานของสมอง (โดยเฉพาะสมองซีกขวาที่จะมีวิธีคิดแบบองค์รวมและจินตนาการ) ได้เป็นอย่างดี นำไปสู่การตั้งคำถาม เหมือนกับครั้งหนึ่งซึ่งนิวตันเห็นลูกแอ๊ปเปิ้ลหล่นลงมาจากต้น ด้วยความสงสัยเขาจึงเพียรตั้งคำถามกับตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่า “เหตุใดลูกแอ๊ปเปิ้ลจึงตกลงมา ทำไมมันถึงไม่ลอยขึ้นไปบนฟ้า” เมื่อเกิดคำถามขึ้นในใจทำให้กระบวนการทางความคิดตามติดมาเสมือนคู่แฝด ดังนั้น ความสงสัยใคร่รู้จึงเป็นเสมือนประตูที่เปิดไปสู่การเรียนรู้และฝึกฝนกระบวนการทางความคิด

         ปีเตอร์ เอ็ม เซงเก (Peter M. Senge) อาจารย์อาวุโสและผู้อำนวยการศูนย์กลางองค์กรแห่งการเรียนรู้ที่เอ็มไอที เจ้าของวลีที่ว่า “learning organization” ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นปรมาจารย์ทางด้านหลักการบริหารที่ทำให้องค์กรมีการเรียนรู้อยู่ต่อเนื่องตลอดเวลา ได้กล่าวถึงการพัฒนาองค์กรเรียนรู้ให้มุ่งสู่ความสำเร็จมีเคล็ดลับอยู่ ๕  ประการด้วยกันคือ  (๑) ความมีทักษะของพนักงาน  (๒) สภาพความพร้อมทางจิตใจของพนักงาน  (๓) การแชร์คุณค่าร่วมกัน  (๔) เรียนรู้กันทั้งทีมและคิดอย่างเป็นระบบ และ (๕) ความสามารถที่มองอะไรเป็นภาพรวมไม่แยกส่วน มีตอนหนึ่งในหนังสือ The Fifth Discipline (ปี ค.ศ. ๑๙๙๐) เขากล่าวไว้ว่า

         “ความคิดอย่างเป็นระบบ เป็นมุมมองของกรอบความคิดที่เป็นไปในลักษณะวงกลมไม่ใช่เส้นตรง

     

           ตัวอย่างเช่น : หากเปรียบเทียบในสถานการณ์ทางการเมือง  เมื่อมีผู้ชุมนุม (ม็อบ) เกิดขึ้น หากคิดในทางเส้นตรง กลุ่มผู้ชุมนุมก็จะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาเพื่อข้อเรียกร้อง ฝ่ายรัฐบาลก็จะทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะขอคืนพื้นที่ (สลายม็อบ) เหตุการณ์ในทางเส้นตรงก็จุดชนวนเดินหน้าเข้าสู่ภาวะแตกหักและความสูญเสีย  แต่หากคิดในลักษณะวงกลมก็จะเกิดความยืดหยุ่นมองถึงเหตุและผลรอบด้านเข้าสู่กระบวนการเจรจา ต่อรองเพื่อหาข้อยุติ ไม่ได้เกิดเหตุการณ์วุ่นวายบานปลายจนนำไปสู่ความสูญเสีย เป็นต้น

             บิล เกตส์  ก็มีวิธีคิดแบบองค์รวมที่มีความยืดหยุ่น มองภาพของธุรกิจที่มีการแข่งขันกันสูงมากในโลกทุนนิยมเสรี เขาไม่คิดว่าตัวเองเป็นที่หนึ่ง จึงทำให้เกิดกระบวนการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกมาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า เพราะหากว่าเขาคิดแบบเส้นตรงโดยมองว่าตัวเองเป็นที่หนึ่งก็จะเกิดความชะล่าใจ ขาดความมุ่งมั่นที่จะคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกมา

            นี่ถือได้ว่าเป็นเคล็ดลับอันสำคัญของการบริหารจัดการธุรกิจรวมถึงการดำเนินชีวิตที่ต้องใส่ใจในการฝึกกระบวนการทางความคิดที่เป็นระบบและมีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยการฝึกวิธีคิดแบบไล่เรียงจากเหตุไปหาผล และจากผลไปหาเหตุ กล้าที่จะก้าวออกมาจากกับดักของกรอบความคิดแบบเดิม ๆ ที่ไม่มีประโยชน์ (สงสัยในสิ่งที่ไม่ใช่สาระสำคัญ) สร้างแนวทางความคิดใหม่ ๆ ในหลาย ๆ ทางเพื่อเป็นทางเลือกในการนำไปสู่ การเลือก ที่ดีที่สุด ซึ่งถือได้ว่าเป็นการพัฒนาศักยภาพเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จของชีวิต

              

 “บัณฑิตย่อมฝึกตน”

 

 

 

 เพิ่มเติม II : วิวาทะว่าด้วยความสมเหตุสมผล

              มนุษย์กับความสมเหตุสมผลของการดำเนินชีวิตในสังคมเป็นสิ่งจำเป็นที่สำคัญในการขับเคลื่อนให้สังคมบรรลุสู่จุดหมายที่ต้องการ ความแตกต่างและความหลากหลายของมนุษย์เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของระดับของเหตุผลในตัวมนุษย์ ที่จะสะท้อนออกมาทางพฤติกรรมของกิจกรรมทางสังคมของมนุษย์ เหตุผลและความไม่มีเหตุผลดูเสมือนหนึ่งว่า ยืนอยู่คนละขั้วชัดเจน เหมือนถูกกับผิด ขาวกับดำ ดีกับชั่ว เป็นต้น แต่แท้ที่จริงความมีเหตุผลและไม่มีเหตุผลเป็นเพียงยี่ห้อของมายาคติทางปรัชญาเท่านั้น การที่จะเข้าใจถึงแก่นแท้และรากเหง้าของความมีเหตุผลและความไม่มีเหตุผล ต้องพิจารณาจากองค์ประกอบหลาย ๆ อย่างร่วมกัน เปรียบเสมือนการพิจารณาประชาธิปไตยที่ไม่ควรพิจารณาเฉพาะยี่ห้อที่มีเพียงคำว่า “ประชาธิปไตย” เท่านั้น แต่ควรพิจารณาถึงองค์ประกอบของการกระทำและการได้มาซึ่งยี่ห้อว่าเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ เฉกเช่นเดียวกันกับคำว่าเหตุผลและไม่มีเหตุผลที่จะต้องพิจารณาถึงความสมบูรณ์ทางตรรกะขององค์ประกอบทางด้านแนวความคิดเป็นหลักด้วย

            วิวัฒนาการทางสังคมและความสมเหตุสมผล : การที่มนุษย์เกิดมานั้นต้องมีสังคม เกี่ยวเนื่องมาจากเหตุปัจจัยทางด้าน มนุษย์เป็นสัตว์สังคมและมนุษย์ไม่สามารถสนองตอบความต้องการของตนเองได้ทั้งหมด ซึ่งจากตรรกะดังกล่าวมนุษย์จึงต้องอาศัยพึ่งพาซึ่งกันและกันเพื่อบริหารจัดการสิ่งเหลือ (สิ่งขาด) ของตัวเองและสังคม เมื่อมีการทำกิจกรรมร่วมกันในสังคมแล้ว มนุษย์แต่ละคนพึงต้องการผลประโยชน์ส่วนตนสูงสุดและเกิด ความกลัว ที่จะรักษาผลประโยชน์ส่วนตนไว้ ซึ่งความกลัวที่สำคัญคือ ความกลัวที่จะเสียสิทธิและความกลัวที่จะถูกละเมิดสิทธิ เมื่อมนุษย์ถูกความกลัวเข้าครอบงำก็ย่อมแสวงหาทางออกร่วมกันในสังคมโดยการคิดหาวิธีจัดระเบียบทางสังคมนั้นโดยการหาค่าเฉลี่ยความกลัวของปัจเจกชน เพื่อบริหารจัดการความกลัวเหล่านั้นให้หมดไป ซึ่งปัจจัยเหตุของการบริหารจัดการด้านความกลัวของสังคมเพื่อให้สังคมได้ก้าวข้ามพ้นผ่านไปสู่สังคมในอุดมคติที่พึงปรารถนานั้นมีรากฐานที่สำคัญมาจากแนวความคิดของเพลโต และอริสโตเติล

             เพลโตและอริสโตเติลถือได้ว่าเป็นนักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ ปรัชญาที่มาจากแนวความคิดของทั้งคู่มีคุณูปการอย่างยิ่งใหญ่ในการพัฒนาศาสตร์ทั้งมิติทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ จากอดีตจวบจนปัจจุบัน ถึงแม้ว่า เพลโตและอริสโตเติลจะมีความผูกพันกันในฐานะที่เป็นอาจารย์กับลูกศิษย์ แต่ทัศนคติในบางอย่างบางเรื่องก็มีความแตกต่างกัน บ่งชี้ถึงอิสรภาพทางความคิดซึ่งเป็นสิ่งสวยงามได้เป็นอย่างดี แต่บนความแตกต่างของกระบวนการทางความคิด บทสรุปท้ายสุดก็มีความปรารถนาและเป้าหมายเดียวกันคือ “ขับเคลื่อนสังคมให้บรรลุซึ่งผลประโยชน์สูงสุดร่วมกันทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ” เพื่อพิจารณาและเปรียบเทียบให้เห็นถึงความชัดเจนทางตรรกะของความคิดทางด้านความสมเหตุสมผลในการดำเนินชีวิตในสังคมของเพลโตและอริสโตเติลแล้ว จะได้ว่า

           

เพลโต (Plato, ๔๒๗ – ๓๔๗ ก่อน ค.ศ.)

 

“มีความดีเพียงอย่างเดียว  คือ  ความรู้ของมนุษย์ และมี

ความเลวเพียงอย่างเดียว  คือ  ความโง่ของมนุษย์

               เพลโตถึงแม้จะรู้ว่ารัฐในอุดมคติแบบ “อุตมรัฐ” ของตนเองไม่มีตัวตนอยู่จริง แต่เพลโตก็มิพักสงสัยในความเชื่อของตนเองและตระหนักแน่ชัดว่า ควรจะเป็นเช่นนั้น

              “หน้าที่ใหญ่ของรัฐในอุตมคติ คือ จัดระเบียบให้อำนวยส่งเสริมต่อการปกครองโดยชนชั้นนำผู้ทรงคุณธรรมนี้ เพลโตมีแต่ความชิงชังต่อนักการเมืองซึ่งคอยรักษาตำแหน่งงานของรัฐด้วยการพินอบพิเทาต่อฝูงชน ซึ่งโดยกลับกันไม่เหมาะสมที่จะปกครองตนเองรวมทั้งที่จะเลือกผู้ปกครองที่สามารถด้วย”

           “ผู้ปกครองที่ยุติธรรมไม่แสวงหาผลประโยชน์เฉพาะตัว หากแต่แสวงหาผลประโยชน์ของส่วนรวมโดยที่รู้อยู่ว่า ความสุขสบายของตนไม่อาจแยกจากของประชาชนของตนได้ ผู้ปกครองที่ยุติธรรมไม่ใส่ใจในเรื่องเงินทองหรืออำนาจ สำหรับเพลโตแล้วย่อมเป็นการเพียงพอว่าด้วยการเสียสละในฐานะที่เป็นผู้ปกครอง”

 

            การที่เพลโตมีแรงจูงใจที่จะสร้างรัฐในอุดมคติให้สำเร็จเนื่องมาจากเขายึดมั่นอยู่กับรากฐานคติทางความคิดของโสกราติสที่ว่า “คุณธรรมคือความรู้” เพลโตจึงให้ความสำคัญกับคุณธรรมของอุตมรัฐมากที่สุด เพลโตไม่เคยทรยศต่อความคิดของตัวเองที่มีต่อรูปแบบของรัฐในอุดมคติของเขา แต่การที่รัฐในอุดมคติแบบอุตมรัฐของเพลโตไม่มีตัวตนจริงในสังคม เกี่ยวเนื่องมาจากสมมติฐานที่สำคัญ คือ

          ๑. คนเรามีความสามารถแตกต่างกันในการเรียนรู้

          ๒. มนุษย์ตามธรรมชาตินั้นมีข้อจำกัดเนื่องจากมนุษย์ได้เสื่อมถอย (a fall from grace) จากสภาพสมบูรณ์นิรันดร์กาล

          ๓. รัฐที่ดีที่สุดคือรัฐที่มีคุณธรรมสูงสุด

          ๔. ความยุติธรรม คือ ผลของการแบ่งแยกชนชั้นและการแบ่งหน้าที่

 

             จากสมมติฐานดังกล่าวของเพลโต เมื่อพิจารณา จะเห็นได้ว่า เพลโตมององค์ประกอบพลังรากฐานที่จูงใจคนในสังคม ๓ ประการ คือ (๑)พลังของความปรารถนาหรือความอยาก (๒)จิตหรือกำลังขวัญ และ (๓)เหตุผล ซึ่งแต่ละอย่างมีอยู่ในตัวคนทุกคนในขนาดปริมาณต่าง ๆ กันไป แต่จะมีอย่างหนึ่งที่เป็นใหญ่อยู่เสมอ สังคมอาจแบ่งออกได้เป็นสามชนชั้นตามขนาดจำนวนของแต่ละประเภทที่มีอยู่ในบุคคลซึ่งประกอบรวมกันเป็นประชาคม ชนชั้นหนึ่งชั้นใดจะมีบทบาทอันเหมาะสมที่สุดตามประเภทพลังจูงใจที่เป็นใหญ่ คนที่จูงใจด้วยประเภทความอยากหรือปรารถนาเป็นใหญ่จะประกอบเป็นชนชั้นที่ใหญ่ที่สุด ชนชั้นจำนวนน้อยลงไปจะจูงใจด้วยจิตหรือกำลังขวัญมากกว่าด้วยความปรารถนา แต่ชนชั้นนี้จะยังคงมีจำนวนมากกว่าชนชั้นที่อยู่ภายใต้เหตุผล ดังนั้น ในแง่ของจำนวนชนชั้นที่ทรงเหตุผลจะเล็กที่สุด ชนชั้นที่กล้าหาญและทรงกำลังขวัญจะอยู่ในฐานะระหว่างกลาง และชนชั้นที่มีความอยาก (กิเลส) จะมีขนาดใหญ่ที่สุด 

                เหตุผลเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาที่สุดในการสร้างรัฐในอุดมคติ ซึ่งการสร้างความมีเหตุผลต้องอาศัยองค์ประกอบที่สำคัญคือ ระดับของความเสียสละสูงสุด โดยอาศัย ศีลธรรม สมาธิ และปัญญา ซึ่งเพลโตมองว่าไม่มีทางที่มนุษย์โดยทั่วไปจะก้าวข้ามผ่านไปถึงยังจุดนั้น เพราะมีอุปสรรคและแรงเสียดทานที่สำคัญคือ แรงปรารถนาหรือความอยากที่อาศัย กิเลส เป็นตัวขับเคลื่อน ที่สร้างได้ง่ายในสังคม และมนุษย์ก็สามารถปีนขึ้นสู่พลังรากฐานแห่งจิตหรือกำลังขวัญ โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ ความเสียสละส่วนตัวระดับหนึ่ง ซึ่งต้องอาศัยความรู้  เป็นรากฐานสำคัญ การที่จะฟันฝ่าไปถึงทัศนะของผู้ปกครองที่มีเหตุผลตามอุดมคติของเพลโตจึงเป็นไปไม่ได้เลย ดังข้อสมมติฐานที่ ๒ ของเพลโตที่มองว่า มนุษย์ตามธรรมชาตินั้นมีข้อจำกัดเนื่องจากมนุษย์ได้เสื่อมถอย (a fall from grace) จากสภาพสมบูรณ์นิรันดร์กาล ซึ่งโดยนัยก็คือ ไม่มีทางเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบได้ทุกกรณี และมองว่ามนุษย์ไม่มีเหตุผล หากปล่อยให้เหตุผลของมนุษย์สามารถกำหนดทุกสิ่งทุกอย่างได้ในสังคมก็จะไม่มีความสงบสุข เพราะมนุษย์จะใช้เหตุผลตีความเข้าข้างตนเองเสมอ ซึ่งความคิดดังกล่าวถูกเรียกว่า กระแสต่อต้าน (opposing view) โดยมีนักปรัชญาร่วมอุดมการณ์ที่สำคัญคือ เซนต์ออกุสติน (St. Augustine of Hippo, ๓๕๔ – ๔๓๐) มาร์ติน ลูเธอร์ (Martin Luther, ๑๔๘๓ – ๑๕๔๖) และจอห์น คาลวิน (John Calvin, ๑๕๐๙ – ๑๕๖๔)

        

อริสโตเติล (Aristotle, ๓๘๔ – ๓๒๒ ก่อน ค.ศ.)

 

“ความปรารถนาอยากเป็นเพื่อน เป็นงานที่ทำได้ง่าย แต่

มิตรภาพเป็นผลไม้ที่สุกช้า

 

            อริสโตเติลมีความเชื่อเช่นเดียวกับเพลโตที่ว่า รัฐในอุดมคติแบบอุตมรัฐไม่มีตัวตน แต่อริสโตเติลเชื่อว่ามนุษย์สามารถที่จะสร้างรัฐที่สมบูรณ์ได้ ซึ่งความเหมือนที่แตกต่างทางกระบวนการทางความคิดที่มีต่อยี่ห้อ “รัฐที่สมบูรณ์” ของอริสโตเติลทำให้เขามีมุมมองที่ต่างจากเพลโตในเรื่องดังกล่าว

               “รัฐที่สมบูรณ์เป็นรัฐที่ไม่ถือเอาคุณธรรมและความสามารถเกินไปกว่าที่คนมีอยู่จริง ๆ รัฐเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับคน เฉพาะภายในแวดล้อมของรัฐเท่านั้นที่คนอาจจะดำเนินชีวิตที่ดีและมีทางใช้กำลังปัญญาความสามารถของตนได้เต็มที่ รัฐอันสมบูรณ์จะสร้างเสริมคนได้อย่างสมบูรณ์ แต่เมื่อมีรัฐที่สมบูรณ์ไม่ได้ ภารกิจนี้ก็จะต้องปฏิบัติให้ดีเท่าที่จะทำได้ รัฐอะไรก็ตามย่อมดีกว่าไม่มีรัฐเลย”

                อริสโตเติลเชื่อมั่นในเหตุผลของตัวตนแห่งมนุษย์อย่างมิพักสงสัย ว่ามนุษย์สามารถสร้างรัฐที่สมบูรณ์ได้ ถึงแม้ว่าจะมีความลำบากและอุปสรรคมากมายขวางอยู่ในการที่จะก้าวข้ามผ่านไปยังจุดนั้น แต่ด้วยพลังของการขับเคลื่อนโดยส่งผ่านกลไกทางเหตุและผลของมนุษย์ ทำให้อริสโตเติลเชื่อว่า มนุษย์สามารถบรรลุสู่รัฐที่สมบูรณ์ได้ตามนัยแห่งรัฐสมบูรณ์ตามแบบฉบับของเขาเอง การที่อริสโตเติลเชื่อเช่นนั้น มีปัจจัยเหตุมาจากสมมติฐานที่สำคัญทางความคิด คือ

                ๑. ไม่มีมนุษย์ที่สมบูรณ์ที่สุด

                ๒. รัฐที่ดีที่สุดต้องใช้ปฏิบัติได้จริง

                ๓. ระดับคุณธรรมและความสามารถต้องไม่เกินไปกว่าที่มนุษย์จะมีอยู่จริง

                จากข้อสมมติฐานดังกล่าวของอริสโตเติล เขามีความเชื่อว่า ถึงแม้พลังรากฐานที่จูงใจคนในสังคม ๓ ประการ จะมีองค์ประกอบที่ระดับพื้นฐานที่เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย คือ (๑)พลังของความปรารถนาหรือความอยาก (๒)จิตหรือกำลังขวัญ และ (๓)เหตุผล ก็ตาม แต่อริสโตเติลมองว่า ด้วยพลังของเหตุผล ที่เป็นพื้นฐานสำคัญที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคน สามารถที่จะผลักดันและขับเคลื่อนความเป็นเหตุเป็นผลของมนุษย์ออกมาได้ แม้จะไม่สมบูรณ์ถึงระดับที่สูงสุดก็ตาม แต่ก็สามารถสร้างและผลิตออกมาได้อยู่ในระดับที่พึงพอใจและควรจะเป็นของมนุษย์จริง ๆ ซึ่งอริสโตเติลให้ความสำคัญขององค์ประกอบทั้ง ๓ ประการ โดยมองว่าองค์ประกอบทั้งสามนั้นมี ความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนได้เพราะความมีเหตุและผลของมนุษย์เป็นสำคัญ โดยเชื่อว่า มนุษย์นั้นมีเหตุผลและสามารถใช้เหตุผลในการแสวงหาความรู้และแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ ความคิดดังกล่าวถูกเรียกว่าเป็นความเชื่อจารีตนิยม (traditional believe) หรือกระแสหลัก โดยมีนักปราชญ์ร่วมอุดมการณ์ที่สำคัญ คือ เซนต์ โธมัส อไควนัส (St. Thomas Aquinas, ๑๒๒๕ – ๑๒๗๔) เซโน (Zeno, ๓๓๖ – ๒๖๔ ก่อน ค.ศ.) และ มาร์คัส ทูเรียส ซิเซโร (Marcus Tullius Cicero, ๑๐๖ – ๔๓ ก่อน ค.ศ.)

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 393664เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2010 08:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:31 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท