แม่สอดและอุ้มผางศึกษา


อีกสิ่งที่ผู้เขียนตระหนักในหัวใจที่ยิ้มด้วยความสุขก็คือ จุดเริ่มต้นของการใช้กฎหมายและนโยบายเพื่อจัดการปัญหาของคนรากหญ้าที่แม่สอดและอุ้มผางได้เริ่มต้นอีกครั้งแล้ว ด้วยคนทำงานเพื่อคนรากหญ้าที่มีผลงานและประสบการณ์มายาวนาน

แม่สอดและอุ้มผางศึกษา : การเชื่อมโยงนักวิชาการกับหน่วยปฏิบัติการในพื้นที่

โดย นางจันทราภา นนทวาสี จินดาทอง

เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๓

--------------------------------------------

       ผู้เขียนเริ่มปฏิบัติงานในหน้าที่นักสังคมสงเคราะห์ของโรงพยาบาลอุ้มผาง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตากตามคำชักชวนของนายแพทย์วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2553 โดยคุณหมอมอบหมายให้รับหน้าที่ดูแลคนไข้ที่ประสบปัญหาด้านสถานะบุคคลและสิทธิในการรักษาพยาบาล ด้วยความที่ห่างหายจากการทำงานด้านสถานะบุคคลเป็นเวลาร่วม 3 ปี ทำให้ต้องรื้อฟื้นความรู้เดิมและขวนขวายหาความรู้ใหม่ ๆ ซึ่งบุคคลที่ผู้เขียนระลึกถึงมากที่สุดคือ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร และทีมงานคนไร้รัฐที่เคยร่วมงานกันมา

       เมื่อทราบข่าวว่าอาจารย์พันธุ์ทิพย์ ร่วมกับ อาจารย์วิจารณ์ พานิช นายกสภามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิและสถานะบุคคลของผู้ไร้สัญชาติ ไทยพลัดถิ่น ผู้อพยพและชนพื้นเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ ผศ.ดร.บุญญรัตน์ โชคบันดาลชัย คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วยคณะผู้เชี่ยวชาญจากหลายแห่ง จัดตั้งเป็นคณะทำงานเพื่อรับฟังและตรวจสอบสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อกลุ่มผู้มีปัญหาสถานะ กรณีการเข้าถึงสิทธิทางสาธารณสุข สิทธิในหลักประกันสุขภาพและสิทธิในการได้รับการจดทะเบียนการเกิดในพื้นที่อำเภอแม่สอดและอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ระหว่างวันที่ 3-5 กันยายน 2553 ผู้เขียนจึงรู้สึกยินดีอย่างยิ่งและรับทำหน้าที่ผู้ประสานงานในพื้นที่ให้กับคณะทำงานฯ

       วันที่ 3 กันยายน 2553 โดยจุดแรกที่เข้าร่วมรับฟังสถานการณ์คือ โรงพยาบาลแม่สอด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก นำทีมโดย นายแพทย์รณไตร เรืองวีรยุทธ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ได้ให้ข้อมูลว่า โรงพยาบาลแม่สอด ปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลขนาด 317 เตียง มีแพทย์ 50 คน (แพทย์เพิ่มพูนทักษะ 19 คน) ระหว่างปี 2550-2552 มีคนไข้เฉลี่ย 1,300 กว่าคน ในจำนวนคนไข้ทั้งหมดเป็นคนไร้หลักประกันสุขภาพที่เป็นผู้ป่วยนอก 17% และผู้ป่วยใน 32% ซึ่งค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ป่วยในที่ไร้หลักประกันสุขภาพเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง และเป็นภาระที่โรงพยาบาลต้องแบกรับปีละไม่น้อยกว่า 30-40 ล้านบาท

       ในส่วนของการจดทะเบียนการเกิด โรงพยาบาลแม่สอดดำเนินการออกหนังสือรับรองการเกิดให้กับเด็กทุกคนที่คลอดในโรงพยาบาลและระหว่างเดินทางมา โดยไม่คำนึงถึงสถานะบุคคลของพ่อและแม่เด็ก และมีการจัดเก็บข้อมูลย้อนหลังไปถึงปี พ.ศ. 2522 ทำให้สามารถขอหนังสือรับรองการเกิดย้อนหลังได้

       ต่อมาคณะทำงานฯ ได้เดินทางไปยังคลีนิกแม่ตาว ภายใต้การนำของคุณหมอซินเทีย หม่อง แพทย์หญิงผู้ได้รับรางวัลแม็กไซไซ สาขา”ผู้นำชุมชนดีเด่น” โดยคุณหมอซินเทียเป็นผู้นำเสนอเรื่องราวของคลีนิกด้วยตัวเองว่า คลินิกแม่ตาวตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1989 เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขแก่คนอพยพและแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารใด ๆ การให้บริการที่ผ่านมา มีจำนวนคนไข้เพิ่มขึ้น 10-15% ทุกปี

       ปัจจุบัน คลินิกดูแลคนไข้ที่เป็นผู้ป่วยนอก 300-350 คนต่อวัน คนไข้ใน 200 เตียง และได้ดำเนินการจดทะเบียนเป็นมูลนิธิที่ถูกต้องตามกฎหมายไทย ที่ผ่านมามีเด็กคลอดในคลินิกจำนวน 2,000 กว่าราย ซึ่งเพิ่งดำเนินการออกหนังสือรับรองการเกิดโดยคลินิกแม่ตาวตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2551 ส่วนเด็กที่เกิดก่อนหน้านี้ ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ สิ่งที่หมอซินเทียและทีมงานวิตกกังวลมาก คือ เรื่องของความถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ของตัวคลินิก ซึ่งอาจส่งผลให้การออกหนังสือรับรองการเกิดเป็นโมฆะ

       เช้าวันที่ 4 กันยายน 2553 คณะทำงานเริ่มต้นโดยการเดินทางเข้ารับฟังสถานการณ์ด้านการเข้าถึงบริการสาธารณสุขและการจดทะเบียนการเกิดในพื้นที่อำเภออุ้มผาง โดยทั่วไปสภาพปัญหาของโรงพยาบาลอุ้มผางจะใกล้เคียงกับโรงพยาบาลแม่สอดเป็นพื้นที่ติดชายแดนเช่นกัน การดำเนินงานด้านสุขภาพที่ผ่านมาของโรงพยาบาลอุ้มผาง ไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ป่วย บุคคลที่ยังไร้สถานะและสิทธิใด ๆ ทางโรงพยาบาลจะออกบัตรสุขภาพให้เรียกว่า “บัตรขาว” และให้การรักษาโดยไม่เรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายจากผู้ป่วย ในส่วนของการจดทะเบียนการเกิดก็ดำเนินการเช่นเดียวกับทางโรงพยาบาลแม่สอด และมีข้อมูลย้อนหลังถึงปี พ.ศ. 2542

       ช่วงบ่าย คณะทำงานเข้ารับฟังสถานการณ์ภายในพื้นที่พักพิงผู้ลี้ภัยจากการสู้รบบ้านนุโพ โดยมีปลัดสิงคาร อ้นมั่น ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าศูนย์ฯ เป็นผู้รายงานให้ทราบว่า คนที่อยู่ในความดูแลของศูนย์ฯมีอยู่ราว 15,800 กว่าคน เพิ่งเริ่มมีการดำเนินการจดทะเบียนการเกิดตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2553 โดยเด็กที่เกิดในโรงพยาบาลของหน่วยงาน ARC ซึ่งดูแลผู้ป่วยในศูนย์ฯ ทางARC จะเป็นผู้ออกหนังสือรับรองการเกิดให้พ่อแม่เด็กนำมายื่นต่อปลัดสิงคาร ให้สอบปากคำพยานและดำเนินการออกสูติบัตรสำหรับผู้ไม่มีสัญชาติไทย ให้เลขประจำตัวเด็กนำหน้าด้วยเลฃ 0

       แม้ระยะเวลาการติดตามคณะทำงานฯ จะเป็นเพียงช่วงสั้น ๆ แต่ผู้เขียนก็ได้ตระหนักว่า เป็นเวลาอันมีค่าที่ได้พบเห็นการทำงานของนักวิชาการมืออาชีพที่ลงมาสัมผัสกับหน่วยปฏิบัติการในพื้นที่ทำให้เห็นปัญหาที่ครบถ้วน แท้จริงเพื่อนำไปสู่การแก้ไขอย่างถูกวิธีต่อไป

       แต่อีกสิ่งที่ผู้เขียนตระหนักในหัวใจที่ยิ้มด้วยความสุขก็คือ จุดเริ่มต้นของการใช้กฎหมายและนโยบายเพื่อจัดการปัญหาของคนรากหญ้าที่แม่สอดและอุ้มผางได้เริ่มต้นอีกครั้งแล้ว ด้วยคนทำงานเพื่อคนรากหญ้าที่มีผลงานและประสบการณ์มายาวนาน ในวันรุ่งขึ้นจากที่คณะผู้เยี่ยมกลับไป โรงพยาบาลอุ้มผางประชุมกันตั้งแต่เช้า เราสัญญากันที่จะนับหนึ่งในทันที ถ้าเราเจอคนไข้ไร้รัฐ เราจะรักษาทันที...เขาจะต้องหายป่วย เขาจะต้องหายเจ็บ ...เขาจะต้องมีรัฐเจ้าของตัวบุคคล

หมายเลขบันทึก: 393618เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2010 22:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 23:31 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีเจ้า...

บ่นึกบ่ฝันว่าจะได้ป๊ะในนี้

คาดว่าหมอวิจารณ์น่าจะเป็นคนยุให้เขียนแม่นก่อ...

ยินดีขนาด

เขียนมานัก ๆ เน่อจะรออ่าน

ตามเรื่องราวนี้อยู่เหมือนกัน

ได้ดูรูปพ่องแล้วที่เอามาเผยแพร่ทั้งใน FB และ G2K

แม้ไม่ได้ตามไปด้วยแต่อ่านบันทึกนี้แล้วเหมือนกับว่าอยู่ในเหตุการณ์ด้วยเลยทีเดียว

พี่แมว สู้ ๆ นะคะ อยากไปอุ้มผางบ้างแล้วจัง สัญญากับพี่แมวตั้งหลายปีมาแล้วก็ไม่ได้ไปเสียทีอ่ะ

คุณแมวเจ๊า

ดีใจที่ทราบว่าคุณแมวได้กลับมาทำงานสถานะบุคคลอีกครั้งหนึ่ง นับว่าเป็นประโยชน์อย่างมากมายที่มีนักวิชาการทำงานชายแดนอุ้มผางเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน ซื่งที่จริงคุณแมวก็ทำมานานนมแล้ว

เจนอยากจะขอความช่วยเหลือจากคุณแมวค่ะ เพราะมี นศ. ปีสามจากพายัพคนหนึ่ง (กะเหรี่ยง) มาหา มาปรึกษาเรื่องสถานะบุคคล เพราะเขาเกิดที่อุ้มผางและถือบัตรสีชมพูอยู่ ปัญหาคือพ่อ (กะเหรี่ยง) ตายไปนานแล้ว เหลือแต่แม่ (คนลาว-ทำงานที่ชลบุรี) ใน ทร. 13 ระบุว่านายสมศักดิ์ สัญชาติลาว......

กำลังพยายามติดต่อ อจ. วรรณทนี (มพย) แต่หาเบอร์อีเมล์และมือถือไม้่ได้ รวมทั้งน้องมึดาด้วย หากคุณแมวมีเบอร์ติดต่อ ขอรบกวนด้วยนะคะ และอาจจะขอรบกวนเรื่องตรวจสอบประวัติของน้อง นศ. ที่อุ้มผางให้ ถ้าไม่รบกวนเกินไป

ขอขอบพระคุณคุณแมวล่วงหน้านะคะ ขอให้ทำงานอย่างมีความสุข และมีสุขภาพดีค่ะ ขอพระเจ้าอวยพรนะคะ

เคารพ

เจนจินดา

คุณเจนจินดา ดีใจจังที่ทักทายมา ปัญหาบุคคลระบุสัญชาติลาวที่อุ้มผาง เจอเยอะบริเวณบ้านเปิ่งเคลิ่ง ต.แม่จัน สอบถามได้ความว่า คนรุ่นปู่ย่าตายายเป็นคนลาว มาจากฝั่งพม่า(ยังงงงงเหมือนกันว่ามาได้ไง) นศคนดังกล่าวคงต้องเริ่มจากที่ว่าบัตรสีชมพูของเขาจัดทำที่ไหน วันเดือนปีเกิดของเขาคือเมื่อไหร่ ถ้าให้ดีรบกวนสแกนส่งเป็นเมล์มานะคะ ที่ [email protected] ส่วนเบอร์โทรคือ 081-9500080 ค่ะ

ติดต่อมานะคะคุณเจน

แมว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท