อ.นุ
วัชรชัย วิริยะสุทธิวงศ์

ปฏิรูปการศึกษาไทย..เน้นวิชาการจนลืมวิชาชีวิต


ปฏิรูปการศึกษาไทยรอบสอง..
เราควรเน้นที่การสร้าง "มูลค่า" หรือ "คุณค่า" ?


พระอาจารย์ ว.วชิรเมธี  วิพากษ์การศึกษาไทยว่า...

 

สังคมไทยในขณะนี้เป็นสังคมที่ไร้ระเบียบ จับต้นชนปลายอะไรไม่ถูก
มีวิกฤตการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย...
ขณะนี้สังคมไทยประสบวิกฤติการณ์ทางการเมืองอย่างหนัก
การศึกษาไทยก็ไม่สามารถเยียวยาอะไรได้เลย 
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกระบวนการรับรู้ของเด็กไทย ตลอดถึงความคิดของเด็กไทย

 
เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะเรามุ่งแต่วิชาการเป็นหลัก..จนลืมวิชาชีวิต 
มุ่งเรียนเพื่อจะได้ทำงานดีๆ วิชาทางธรรมถูกลดบทบาทลง
ทุกคนมุ่งแต่เรื่องทำมาหากิน ทำประโยชน์เพื่อตัวเราเอง
ลืมนึกถึงคนอื่น จิตสำนึกสาธารณะไม่มี
 

 
การเรียนในโรงเรียนก็สอนแต่จำ  มากกว่าจะสอนเรื่องความเข้าใจให้แก่เด็ก
หลักสูตรอัดแน่นเกินความจำเป็น เรียนไปก็นำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตอะไรไม่ได้
โดยเฉพาะการสอนทางพระพุทธศาสนา
เด็กไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้เลย

 
ทุกวันนี้เด็กไทยจึงเรียนหนังสือด้วยความทุกข์ ไม่เคยมีความสุข
เพราะเรามุ่งสอบมากเกินไป โรงเรียนกวดวิชามีทั่วประเทศ
เมื่อสอบเสร็จเด็กแทบจะไม่อยากจับหนังสืออีกต่อไป
ด้วยเหตุที่เครียด เรียนไปก็จำอะไรไม่ได้


การปฏิรูปการศึกษารอบแรกก็ยังไร้ผล
เพราะผู้ใหญ่เอาแต่พูดกันเรื่องตำแหน่งมากกว่าคุณภาพการศึกษา
มาครั้งนี้จะปฏิรูปรอบสอง ไม่รู้จะถึงตัวเด็กหรือเปล่า

การศึกษาไทยทำให้เด็กไทย สมองโต หัวใจตีบ คิดน้อย...
เห็นแก่ตัว ไม่สนใจส่วนรวม ทิ้งธรรม...
บูชาเงินมากกว่าความดีงาม...
เครียด ไม่มีความสุข ชอบเรื่องสะเดาะเคราะห์มากกว่าการคิดวิเคราะห์...
ไม่ชอบเป็นผู้นำ ชอบตามคนอื่น...

 

ถึงตอนนี้ ถ้าเราอยากเห็นการศึกษาไทยเปลี่ยนแปลง
ต้องเริ่มต้นที่ตัวเราก่อน และอย่าหวังว่านักการเมืองจะเข้ามาช่วย
เพราะทุกวันนี้กระทรวงศึกษาธิการ ยังแก้ปัญหาต่างๆ ของตัวเองยังไม่ได้เลย
เมื่อเราเห็นปัญหาและไม่มัวแต่วิพากษ์วิจารณ์ปัญหาต่างๆ ก็มีทางแก้ไข

 

 

 

 

 "การศึกษาของไทย เป็นหมาหางด้วน"
ท่านอาจารย์พุทธทาสใช้เรียกการศึกษาที่ไม่ได้ทำให้คนหลุดพ้น
แต่ตรงกันข้ามกลับสร้างกิเลส ทำตามๆ กัน แข่งขันกัน
จนหมาหางด้วนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา
หมามีหางกลายเป็นเรื่องประหลาด 
ถึงได้แข่งขันกันให้ความรู้ สร้างความรู้ ไม่ได้สร้างปัญญา

 

 

ท่านอาจารย์พุทธทาสสอนว่า...
"ขึ้นต้นไม้ให้ขึ้นทางต้น อย่าขึ้นทางปลาย"
หมายความว่า ให้จับหลักคิด จับความคิด จะเกิดปัญญา
ไม่ใช่แสวงหาแต่เทคนิก วิธีการ ซึ่งเป็นความรู้และทักษะต่างๆ
ชอบแต่ตั้งคำถามว่า "ทำอย่างไร"
ไม่ชอบตั้งคำถามว่า "ทำไปทำไม"

 

          
ถามว่า ทำไปทำไม
ถ้าตอบได้จะรู้เป้าหมายของการกระทำ เป้าหมายของชีวิต เกิดปัญญา
ถ้าถามเพียงว่า ทำอย่างไร ก็จะได้แต่ความรู้ วิธีการ
ปราศจากหลักการ หลักคิด ซึ่งต้องมาก่อน
เหมือนกับธรรมะว่าด้วยมรรคมีองค์แปด
ซึ่งเริ่มด้วยสัมมาทิฐิ หรือคิดชอบ
แล้วจึงไปสัมมาอาชีวะ  หรือปฏิบัติชอบ

           
การศึกษาที่สร้างปัญญา ทำให้ได้มาซึ่งความรู้ด้วย
แต่การศึกษาที่เน้นสร้างแต่ความรู้ มักไม่ได้สร้างปัญญา
เหมือนการขึ้นต้นไม้ทางปลาย

 

 

 

 

ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา  กล่าวว่า

การศึกษาไทยต้องเน้นความดีก่อนความเก่ง
แต่ทุกวันนี้เราให้ความสำคัญกับความเก่ง ยกย่องคนเก่ง
แต่เราจะพบว่าคนเก่งกว่าไม่มีความสุข
จะเห็นว่าคนในเมืองไทยสร้างปัญหามากมาย
เพราะคนเก่งมักจะไม่อยากให้ใครเก่งกว่าตัวเอง และเห็นแก่ตัว 
ขณะที่ถ้าโรงเรียนไหนสนับสนุนให้เด็กเป็นเด็กดี...
สิ่งที่จะตามมาก็คือ เขาจะรู้จักตัวเอง และคิดถึงคนอื่นได้เสมอ

ที่สำคัญเขาจะมีความสุขในการใช้ชีวิตมากขึ้นด้วย

 
หากโรงเรียนใดสอนให้เด็กรู้จักตัวเองตั้งแต่ต้น เขาจะไม่หลงทาง
การสอนให้เด็กรู้จักตั้งคำถาม อย่างเช่น
เขาเป็นใคร เกิดมาเพื่ออะไร และจะทำอะไรบ้าง
จะทำให้เขาได้ทบทวนตัวเอง
ที่โรงเรียนสัตยาไส เราใช้คำถามเหล่านี้ ถามเด็กทุกคน
เพื่อกระตุ้นให้เขาได้คิดและวิเคราะห์ เป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก
เพราะเด็กคือมนุษย์ไม่ใช่หุ่นยนต์

 

หมายเลขบันทึก: 393117เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2010 16:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดียามเช้าค่ะอาจารย์

อ่านแล้วได้ข้อคิดดีมากค่ะ

ทำอย่างไรจะให้เด็กเก่ง ดี สุข เป็นสิ่งที่น่าคิดนะค่ะ การศึกษาไทยน่าทบทวนค่ะ

ขึ้นต้นไม้ให้ขึ้นทางต้น อย่าขึ้นทางปลาย

คือให้จับหลักคิด จับความคิด จะทำให้เกิดปัญญา

ไม่ใช่แสวงหา แต่เทคนิค วิธีการต่าง

ชอบตั้งคำถามว่า ทำอย่างไร  มากกว่าตั้งคำถามว่า ทำไปทำไม

                  ขอบคุณข้อคิดดีๆค่ะ

สวัสดียามเช้าครับ คุณถาวร

ระบบการศึกษา..ถือเป็นรากฐานทางปัญญาของสังคม
แต่สังคมไทยทุกวันนี้..มุ่งเน้นแต่การสอบแข่งขัน
สอบกันตั้งแต่เด็กอนุบาล ประถม มัธยม ...

เราลืมวิชาชีวิต..ไม่เน้นสร้างคนให้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
เรามุ่งเน้นสร้างคนเก่ง...
สร้างคนให้มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง
และส่งเสริมการพัฒนาเครื่องมือนั้นอย่างดีเหลือเกิน

แต่ลืมนึกไปว่า...
ถ้าคนส่วนใหญ่ใช้เครื่องมือนั้น อย่างคนขาดศีลธรรม...เห็นแก่ตัว
นำเครื่องมือนั้นไปใช้ในทางที่เป็นโทษแก่สังคม
เปรียบเสมือน ยื่นดาบให้แก่โจร

สังคมไทยจะเป็นอย่างไร?

ขออนุญาตบ่นหน่อยนะครับ

ขอบคุณครับ...

สวัสดีครับ..คุณKRUDALA

ระบบการศึกษาไทยของเรา..เป็นหมาหางด้วน
คงต้องฝากความหวังและอนาคตลูกหลานของเรา ไว้ที่..คุณครูครับ
คุณครู..เป็นผู้อำนวยการสร้าง
คุณครู..เป็นผู้สร้างโลก...ด้วยการสร้างเด็ก
คุณครู..เป็นแม่แบบ..ของเด็กๆ

ถ้าเราอยากให้สังคมไทยในอนาคตเป็นเช่นไร
เราต้องสร้างเด็กของเราให้เป็นอย่างนั้น...

ขอบคุณครับ..คุณครูKRUDALA

สวัสดีค่ะน้องอ.นุ

บทความนี้ให้ข้อคิดและรู้สึกอึดอัดกับการจัดการศึกษาบ้านเรา การจัดกิจกรรมแข่งขันทางวิชาการที่แม้จะดูดี แต่เบื้องหลังกลับสร้างความรู้สึก ความคิดเห็นแก่ได้ เอาชนะกันเพราะเราเอาการศึกษามาแข่งกัน แต่เราไม่แข่งกันทำความดี กลับสอนเพียงว่าความเก่ง เก่งแล้วจะได้เปรียบคนอื่น เพราะความหลงผิด จึงล้มเหลว มีผู้คนเติบโตแบบนี้มากมาย บ้านเมืองวุ่นวายเพราะแก่งแย่งชิงดีกัน อยากให้ผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบหันมาเน้นคุณธรรมนำความรู้ แต่ล้มเหลว เพราะเขามุ่งตัวเลขปริมาณกัน เขามุ่งผลสัมฤทธิ์จนลืมคุณธรรม ลืมแข่งขันกันทำความดีแม้ครูตัวเล็กๆยังถูกเคียวเข็ญให้ปั้นเจ้าตัวเล็กแบบเก่งแข่งขันให้ได้ที่ 1 เท่านั้นแม้ไม่ได้จริงๆก็ขอให้ได้แข่งนี่เป็นการปลูกฝังให้รู้จักแต่แก่งแย่งชิงดีกัน คนสอนจำนวนไม่น้อยก็บ้าจี้ด้วยกิเลสทำให้เกิดการสั่งสมสิ่งไม่ดีขึ้นในใจให้คนเห็นแก่ตัว มุ่งเอาชนะกัน มุ่งเอาเปรียบกัน

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ คุณครูพี่ต้อยIco32

วิชาให้ความฉลาด ถ้าขาดธรรมก็ให้โทษครับ

คุณครูพี่ต้อยอยู่กับระบบการศึกษาบ้านเรา และเข้าใจความเป็นจริงเป็นอย่างดี
เห็นแล้วสงสารเด็กๆ แต่ก็ต้องทำใจครับ

ขอบคุณครับ

ถูกทุกข้อ เพราะปัจจุบันบอกตัวเองว่าคู(ข้างข้างคูคู) มีแต่หากินกับเด็ก ปากประกาศว่าทำเพื่อโรงเรียน ทำเพื่อเด็ก แต่ทำแล้วได้เงินเข้ากระเป๋าตนเองทั้งที่เครื่องไม้เครื่องมือเป็นของส่วนรวม(สมบัติโรงเรียน)

สวัสดีค่ะอาจารย์ พอจะคุ้นเคยกับคนแคนาดาก็เกือบ 4 ปีแล้วนะคะ คนของเขามีคุณภาพ มีความรู้ความสามารถสูง ขณะที่เขาไม่ต้องเรียนสูงถึงระดับปริญญาโท-ปริญญาเอก ก็สามารถใช้เทคโนโลยีต่างๆได้ แม้แต่ชาวนาเขาก็ใช้คอมพิวเตอร์อย่างคล่องแคล่วในการบริหารจัดการไร่นาของเขา แต่เราถึงจบดร.ก็ต้องเสียเวลาอย่างมากในการอ่านการแปลเทคโนโลยีต่างๆก่อนที่จะใช้มันได้...สรุปแล้วทำไมเราไม่สอนไม่ปลูกฝังในสิ่งที่เรามีในสภาพของเรา เขามาเมืองไทยเห็นต้นขนุนมีลูกเต็มต้นเขาก็ตื่นเต้นมากกลับไปพูดเป็นเดือนเพราะบ้านเขาไม่มี สอนและปลูกฝังในสิ่งที่มีจริงทำได้จริง นั่นแหละคือธรรมะ

สวัสดีครับ อ.พจนาIco48

เห็นด้วยครับอาจารย์..

การศึกษาบ้านเรา..เน้นการเรียนรู้ โดยการได้รับรู้มากๆ

ส่วนการศึกษาประเทศพัฒนาแล้ว..เน้นเรียนรู้วิธีการเรียนรู้ อย่างมีความสุข

การศึกษาในระบบล้มเหลว นักเรียนแห่ไปเรียนกวดวิชากันเป็นปกติ

เหมือนกับทุกคนมุ่งเล่นกีฬา เพื่อให้ชนะเลิศได้เหรียญทอง

โดยหลงลืมสุขภาพกาย-ใจ...

ขอบคุณครับอาจารย์

 

 

 
  

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท