ฝังเข็ม..ประตูสู่..การพัฒนาจิต


สรุปว่าด้วยรากฐานที่มาจากพื้นฐานของ “ธาตุทั้ง ๔ และอาการของมัน” เช่นเดียวกัน ศาสตร์การแพทย์ฝังเข็มจึงเป็นเครื่องมือนำสติ ทำลายเวทนาหยาบ ให้ผลการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ในระยะยาว และ สร้างความยืดหยุ่นทางจิตใจ ให้ผู้ป่วยพร้อมต่อการทำวิปัสสนากรรมฐานด้วยตนเอง

 

                เมื่อเกิดมาชีวิตนี้แล้วการแสวงหาหนทางนิพพานมีได้ไม่ยากเพราะ เราเกิดมาท่ามกลางพุทธศาสนา และธรรมชาติแห่งปัญหาต่างๆที่พร้อมเป็นแบบฝึกหัดอยู่ทุกขณะ โดยเฉพาะคนในวงการสาธารณสุข ที่ต้องเผชิญหน้าต่อสิ่งที่เรียกว่า “ทูตของยมเทพ” หรือ “เทวทูต ๕” ได้แก่ เด็กอ่อน คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และคนถูกจองจำลงอาญา อยู่สม่ำเสมอในทุกยุคทุกสมัย แต่เนื่องด้วยความแก่ ความเจ็บ และความตายนั้น เป็นสัญลักษณ์แห่งความท้าทายของคนในวงการนี้ นอกจากภาระงานที่หนักหน่วงเป็นเหตุผลที่ทำให้ตนไม่ค่อยมีโอกาสย้อนมองดูสุขภาวะแห่งตนตามนิมิตที่เผยอยู่ต่อหน้า แต่กลับมุ่งที่จะเอาชนะคัดค้านเทวทูตเหล่านี้ด้วยเทคโนโลยีที่จะใช้อยู่ฝ่ายเดียวโดยอาจจะกล่าวอีกนัยหนึ่ง ว่าการดูแลผู้ป่วยยังไม่สามารถดึงเอาศักยภาพภายในของผู้ป่วยที่ฝังแฝงอยู่ในการเยียวยาสุขภาวะด้วยตัวของเขาเองขึ้นมาใช้ได้เท่าที่ควร ความสามารถที่ว่านั้นจึงทำท่าจะหดหายไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่การแพทย์แผนตะวันตกพัฒนาอย่างรวดเร็ว ผู้คนมีแนวโน้มรักความสะดวกสบายสูง พึ่งพาเทคโนโลยีมากกว่าพึ่งพาตนเอง   

                อย่างไรก็ตามมีผู้ทำงานเรื่องความเจ็บป่วยจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจในการผสมผสานการดูแลสุขภาพระหว่างตะวันตกและตะวันออก (Integrative medicine) เข้าไว้ด้วยกันเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าได้พยายามดูแลภาวะต่างๆทางการแพทย์แบบองค์รวม ซึ่งนับว่าเป็นการก้าวเข้าสู่ยุคทองแห่งการแพทย์ เพราะสามารถนำความสมดุลของธรรมชาติกลับมากใช้อย่างเต็มที่ คือให้ความใส่ใจในความเป็นมนุษย์มากขึ้น

                กล่าวถึงการแพทย์แผนตะวันออก เราพบว่ากระบวนการดูแลสุขภาพ ถูกพัฒนาขึ้นจากปรัชญาการดำรงชีพที่ลึกซึ้งของคนสมัยก่อนซึ่งถูกเก็บสั่งสมกันเป็นรูปแบบที่เหนียวแน่นยาวนาน เช่น ปรัชญาของเต๋า และอายุรเวท ที่มีรากฐานกว่า ๕,๐๐๐ ปี โดยระหว่างที่ตำราเก่าแก่เหล่านี้ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ศิลปะเหล่านี้มีการประยุกต์ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอแต่ยังคงยึดถือหลักการปรัชญาดั่งเดิมไว้ได้ ที่เห็นได้ชัดคือปรัชญาจีนที่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างรวมถึงสุขภาพจะดีได้เมื่อเกิดความสมดุลของพลังงาน หรือธาตุพื้นฐาน  โดยธาตุพื้นฐานเหล่านี้ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ และไม้                         

         ในทางพุทธธรรม ธาตุพื้นฐานของสิ่งทั้งปวงสามารถถูกแบ่งออกเป็น ๔ ชนิด ได้แก่ ดิน น้ำ ลม และ ไฟ หลังจากนั้นเมื่อรวมกันเข้าเกิดเป็นรูปหรือกาย มีลักษณะต่างๆตามแต่ปริมาณส่วนประกอบของธาตุที่ผสมกันซึ่งจะแสดงออกมา ตามอาการพื้นฐานในสภาพที่สมดุลและเหมาะสมต่อการเป็นสรรพชีวิต จากนั้นจิตที่เวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏก็สามารถอาศัยรูปกายเหล่านี้คล้ายการหยุดพักชั่วคราวเป็นระยะๆเพื่อที่จะรอวันเดินทางต่อไปเรื่อยๆในอนาคต ในความเป็นจริงแล้ว ลักษณะอาการของธาตุพื้นฐานใดๆก็คือลักษณะของจิตที่แสดงออกของธาตุนั้นๆ การทำงานแบบนามธรรมของจิตก็สามารถแบ่งออกไปตามลักษณะของธาตุได้เช่นกัน คือ ดิน หมายถึง “สัญญา” น้ำ หมายถึง “เวทนา” ลม หมายถึง “สังขาร” และ ไฟ หมายถึง “วิญญาณ” จะกล่าวอีกนัยหนึ่งคือการทำงานของธาตุทั้ง ๔ ที่เป็นนามธรรมที่เรียกว่าจิตนั้นอยู่ในมิติระดับที่เล็กละเอียดลงไป อยู่เบื้องหลังปฏิกิริยาเคมีที่เป็นองค์ประกอบของสิ่งมีชีวิตที่เป็นรูปธรรมนั่นเอง (อ่าน “ธาตุ..ต้นตอ..ปฏิจจสมุปบาท”)

                เมื่อสังเกตดูจะทราบว่าธาตุในปรัชญาจีนนั้นสามารถแบ่งออกให้สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมภายในและสิ่งแวดล้อมภายนอกร่างกายมนุษย์เช่นกัน หากพิจารณาเฉพาะสิ่งแวดล้อมภายในของมนุษย์ ทฤษฎี “เส้นลมปราณ” อธิบายเส้นพลังงานชีวิตที่พาดผ่านส่วนต่างๆของร่างกายซึ่งแสดงถึงความเชื่อมโยงสัมพันธ์ระหว่างพลังชีวิตของอวัยวะภายในและภายนอก ดังกล่าวมาแล้วข้างต้นเส้นลมปราณของอวัยวะมีอยู่ด้วยกันถึง ๕ เส้นลมปราณ ซึ่งเป็นตัวแทนของ ๕ ธาตุหลักของแต่ละเส้นลมปราณ (พูดถึงเฉพาะเส้นลมปราณของอวัยวะตันและอวัยวะกลวงที่เป็นคู่กัน) ได้แก่ เส้นลมปราณม้าม (ดิน) เส้นลมปราณไต (น้ำ) เส้นลมปราณปอด (ทอง) เส้นลมปราณหัวใจ (ไฟ) และเส้นลมปราณตับ (ไม้) ท่านจะสังเกตเห็นต่อไปว่า อวัยวะและธาตุดังกล่าว มีความคล้ายคลึงกับธาตุพื้นฐานทางพุทธธรรม คือ หากเปลี่ยนธาตุพื้นฐานของเส้นลมปราณปอด จาก “ทอง”เป็น “ลม” และของเส้นลมปราณตับ จาก “ไม้” เป็น “จิต” ก็จะพบความสอดคล้องกับคำอธิบายอาการแสดงทางคลินิกของเส้นลมปราณนั้นๆ ตามธาตุในพุทธธรรม คือ

๑.                         ธาตุดิน ได้แก่ ม้าม (ตามการแพทย์ปัจจุบันคือ ตับอ่อน) เป็นอวัยวะตัน ที่ต้องทำงานคู่กับ กระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นอวัยวะกลวง ทั้งคู่ทำหน้าที่เก็บสะสมของร่างกายโดยการรับเข้าอาหาร(ทวารเปิดที่ปาก) ย่อยอาหารดูดซึม ความผิดปกติของการทำงานก็คือการหลั่งเอนไซม์ย่อยที่ผิดปกติรวมทั้งฮอร์โมนอินซูลิน (เซลล์บีตาในตับอ่อน) ในการเก็บสะสมน้ำตาลของร่างกาย เช่นกล้ามเนื้อ และตับ มีความเกี่ยวข้องกับโรคเบาหวาน โรคอ้วน และโรคของกล้ามเนื้อ เช่นกล้ามเนื้ออ่อนแรง บางครั้งแสดงออกเป็นความรู้สึกหนักตัว ไม่สบาย ซึ่งเป็นอาการของธาตุ “ดิน”

๒.                       ธาตุน้ำ ได้แก่ ไต เป็นอวัยวะตัน ที่ต้องทำงานคู่กันกับ กระเพาะปัสสาวะ ซึ่งเป็นอวัยวะกลวง ทั้งคู่ดูแลเรื่องความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ เกลือแร่ การขับถ่ายปัสสาวะ ตลอดจนอาการทางคลินิกที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมหมวกไตโดยเฉพาะฮอร์โมนเพศ ทั้งในชายและหญิง นั้นจึงเกี่ยวข้องกับระบบการสืบพันธุ์ ความสัมพันธ์ของฮอร์โมนส่วนนี้กับสมองมีความสำคัญในเรื่องการเรียนรู้ความจำได้เช่นกัน หากจะพูดถึง ระดับเอสโตรเจนที่ลดลงกับภาวะสมองเสื่อม (สมองเป็นที่เก็บสะสมสารจำเป็นจากไต) และผู้ที่จะเกิดภาวะเสื่อมของสมอง พบว่าหลายคนมีความรับรู้ทางการได้ยินเสียงที่ผิดปกติ (หูเป็นทวารของไต) อาการที่เกี่ยวข้องคืออาการ “ปวด” ซึ่งเป็นอาการของเวทนาธาตุ “น้ำ” ส่วนอารมณ์ที่เกี่ยวข้องคืออารมณ์เศร้า

๓.                        ธาตุลม ได้แก่ ปอด เป็นอวัยวะตันที่ต้องทำงานสัมพันธ์กับ ลำไส้ใหญ่ซึ่งเป็นอวัยวะกลวง ทั้งคู่ดูแลเรื่องการไหลเวียนอากาศ ลมหายใจ และการไหลเวียนของเสียที่เป็นกากอาหารที่ร่างกายไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว เพื่อขับออกสู่ภายนอกด้านล่างทางทวารหนัก หากทั้งคู่ทำงานสอดคล้องกันดี การไหลเวียนพลังงานเก่าและใหม่จะสมดุลระหว่างบนกับล่าง ก็คือทรวงอกและช่องท้อง หากเกิดความผิดปกติ คือโรคในระบบทางเดินหายใจทั้งส่วนต้นและส่วนปลาย นอกจากนี้หากความสัมพันธ์ของ ๒ อวัยวะนี้ผิดปกติเช่นการขับเคลื่อนของลมไม่ดีจากด้านบน การขับถ่ายก็ไม่ดีตามมา (Gastro-colic reflex) เกิดความร้อนคั่งค้าง สารพิษคั่งค้างแสดงเป็นผื่นที่ผิวหนัง(แบบไม่ติดเชื้อ เช่น ลมพิษ) มีอาการอ่อนเพลีย ท้องผูก กระสับกระส่าย วิตกกังวล นอนไม่มีคุณภาพ นอกจากนี้ในโรคของระบบประสาทและกล้ามเนื้อที่มีอาการสั่นกระตุก เช่น ลมชัก และ พาร์กินสัน ก็มีความเชื่อว่าเกิดจาก สมดุลของธาตุ “ลม” เสียไป ดังนั้นจึงควรกลับมาดู มาฝึกลมหายใจ (ทวารเปิดออกทางจมูก และผิวหนัง) กายออกกำลังกาย เป็นต้น  

๔.                        ธาตุไฟ ได้แก่ หัวใจ จัดเป็นอวัยวะตันที่ถือเป็นจักรพรรดของอวัยวะทั้งหมดในร่างกาย (หากจักรพรรดสิ้นพระชนม์อวัยวะอื่นก็อยู่ไม่ได้แน่นอน) ทำงานคู่กับลำไส้เล็ก ทั้งคู่ทำหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองอวัยวะอื่นๆ สนับสนุนเรื่องอาหารและภูมิคุ้มกันเพื่อเลี้ยงดูส่วนต่างๆของร่างกาย โดยผ่านกระแสเลือดที่ออกจากหัวใจ ดูดซึมอาหารที่ย่อยแล้วเข้าสู่กระแสเลือดคล้ายกับคลังอาหารของร่างกาย หากมีความสมบูรณ์แข็งแรงของหัวใจจะแสดงออกให้เห็นได้ที่ผิวหนังและลิ้น (ลิ้นเป็นทวารของหัวใจ) ดังนั้นการตรวจร่างกายตามการแพทย์จีนจึงจำเป็นต้องสังเกตลิ้น หลายๆครั้งสามารถบ่งชี้ถึงอาการของอวัยวะต่างๆของร่างกายได้ด้วยไม่เพียงเฉพาะหัวใจ ความผิดปกติทางคลินิกที่เกิดขึ้นได้ก็ตรงไปตรงมาคือ โรคหัวใจ โรคของความร้อน มีไข้ขึ้นเนื่องจากการติดเชื้อเพราะภูมิคุ้มกันต่ำลง อารมณ์ที่สัมพันธ์คืออารมณ์ของธาตุ “ไฟ” ก็คือความโกรธ คลุ้มคลั่ง กระวนกระวายใจ หากมีความผิดปกติที่ระบบอวัยวะส่วนนี้เป็นหลักย่อมรบกวนการทำงานของระบบอวัยวะอื่นๆได้ด้วยจึงจำเป็นต้องให้ความเอาใจใส่เป็นพิเศษ โดยเฉพาะเรื่องของอารมณ์ที่ถูกกระตุ้นเร้าเช่น “ดีใจ” “พอใจ” หรือ “โกรธ” หรือ “โทสจริต”  นั่นเอง

๕.                        ธาตุจิต ด้แก่ ตับ เป็นอวัยวะตันที่ต้องทำงานสัมพันธ์กับ ถุงน้ำดี การแพทย์จีนอธิบายว่า ทวารของตับ คือ “ตา” ส่วนเวทนาที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์คือ อารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในจิตใจ สีที่ส่งเสริมพลังของอวัยวะคือ “สีเขียว” ซึ่งเป็นสีของต้นไม้ ใบหญ้า  ดังนั้นอาการทางคลินิกจึงเกี่ยวข้องกับโรคทางจิตเวชโดยตรง เช่น อารมณ์โกรธไม่พอใจ เป็นต้น ตับถูกเชื่อว่าเป็นอวัยวะที่มีอิทธิพลในการขับเคลื่อนและผลิตเลือด และสารจำเป็นด้วย ดังนั้นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบของตับจึงหมายรวมโรคทางระบบเลือด และย่อมมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับระบบอวัยวะอื่นๆทั่วร่างกาย ดังนั้นหากตับทำหน้าที่เสียไป อวัยวะต่างๆทั่วร่างกายก็จะไม่มียานพาหนะขนส่งลำเลียงอาหารและออกซิเจน ที่เพียงพอต่อความต้องการ ส่งผลให้การทำงานของทุกส่วนก็จะเสื่อมถอยลง เช่น เมื่อเลือดไปเลี้ยงไตไม่เพียงพอการสร้างสารจำเป็นไม่เพียงพอที่จะส่งไปสะสมยังสมอง เกิดอารมณ์เศร้า สมองเสื่อม ขณะเดียวกันหัวใจก็ต้องทำงานหนักขึ้นเกิดความร้อนสูงขึ้นไปด้วย และเกิดโรคติดเชื้อตามมา เป็นต้น

           เมื่อกล่าวว่า เส้นลมปราณตับ เป็นเส้นลมปราณของ “ธาตุจิต” ก็ไม่ผิดหากจะพัฒนาการดูแลผู้ป่วยโดยผ่านการกระตุ้นเยียวยาเส้นลมปราณนี้ แล้วเกิดผลดีต่อการพัฒนาสมดุลของธาตุทางกายต่อมาแบบทางอ้อม เพราะเมื่อจิตใจดีมีความยืดหยุ่น เป็นอิสระปล่อยวางตามเป้าหมายแห่งวิปัสสนา เวทนาทางการก็หายสิ้น หรือจะหายได้รวดเร็วว่องไวกว่าผู้ที่จิตใจไม่ดี (อ่าน “วิปัสสนารักษาโรค..เยียวยาโลก”)

          กล่าวอีกนัยหนึ่งในเมื่อการฝึกวิปัสสนากรรมฐานมีพื้นฐานเพื่อพัฒนาจิตใจของทุกคน โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพจิตวิณญาณ ก่อเกิดสติ และอุเบกขา หลุดพ้นจากอิทธิพลของ สัญญา เวทนา และสังขารที่สร้างวงจรทุกข์อย่างต่อเนื่อง ผมเชื่อว่าการรักษาโดยศาสตร์ฝังเข็ม รมยาและครอบกระปุก หรือจะเป็นการนวด ตามระบบเส้นลมปราณอวัยวะหลัก เพื่อปรับสมดุลของพลังงานภายในของมนุษย์นั้นมีรากฐานเดียวกันกับการพัฒนาจิตด้วยวิธีวิปัสสนา หากแต่มีความละเอียดที่น้อยกว่ามาก อย่างไรก็ตามวิธีการนี้ส่วนช่วยอย่างยิ่งต่อการเพิ่มพลังจิตใจของผู้ป่วยที่ไม่สามารถปฏิบัติกรรมฐานได้ หรือแม้แต่ใช้เพื่อเป็นการส่งเสริมการฝึกวิปัสสนากรรมฐานในระยะต่อมา

        สรุปว่าด้วยรากฐานที่มาจากพื้นฐานของ “ธาตุทั้ง ๔ และอาการของมัน” เช่นเดียวกัน ศาสตร์การแพทย์ฝังเข็มจึงเป็นเครื่องมือนำสติ ทำลายเวทนาหยาบ ให้ผลการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ในระยะยาว และ สร้างความยืดหยุ่นทางจิตใจ ให้ผู้ป่วยพร้อมต่อการทำวิปัสสนากรรมฐานด้วยตนเอง

นพ.ลัญฉน์ศักดิ์ อรรฆยากร

คำสำคัญ (Tags): #ฝังเข็ม
หมายเลขบันทึก: 392111เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2010 11:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 15:18 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เรื่องการแพทย์ แถบตะวันออกน่าสนใจนะครับ มาเขียนบ่อยๆๆนะครับ

อัดแน่นด้วยเนื้อหาสาระ

แต่นิพพานนั้นขอแบบ ทางลัดมีไหมครับ

ผมจะพยายามครับอาจารย์

อาจารย์ล้อเล่นหรือเปล่า เท่าที่ผมทราบ"นิพพาน"มีทางตรง กับทางอ้อมครับ (^-^)//

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท