ทีมสหวิชาชีพในโรงเรียน อีกหนึ่งทางเลือกของการเยียวยาปัญหาเด็กและเยาวชน


ความโกรธ ความหวั่นวิตก และความสับสน คือ เชื้อเพลิงของความโหดร้ายที่ผู้คนในสังคมสาดใส่เข้าหากันให้กองไฟแห่งความเคียดแค้นลุกโชนขึ้นมา โดยมีเด็กหญิง เด็กชายยืนอยู่ท่ามกลางเปลวไฟแผดเผา เหตุการณ์เหล่านี้จะสงบเย็นลงได้ก็ด้วยน้ำใจอันบริสุทธิ์และการ “ให้อภัย” ซึ่งกันและกันเท่านั้น

ด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์จาก “ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและสตรี โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์” ยากที่จะปฏิเสธถึงเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นในโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วทั้ง จ.ชุมพร อันเนื่องมาจากพฤติกรรมเบี่ยงเบนของนักเรียนไม่ว่าจะเป็นการลักขโมย ทำร้ายร่างกาย สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เล่นการพนัน ฯลฯ และโดยเฉพาะการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งเป็นเสมือนภาพสะท้อนของสังคมที่นับวันจะทวีความรุนแรงและซับซ้อนอย่างยากที่จะเยียวยาแก้ไข

จริงหรือไม่ที่เด็ก ๆ “รับรู้” การทะเลาะเบาะแว้ง พูดจาด่าทอด้วยคำหยาบคาย จนถึงขั้นทำร้ายร่างกายให้บาดเจ็บ จากคนในครอบครัวของเขาโดยเฉพาะพ่อแม่ ภาพและสื่อลามกซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เด็ก ๆ ในวัยแตกเนื้อหนุ่มหรือเริ่มเป็นสาว อยากรู้ อยากลอง หาดูได้ไม่ยากทั้งที่บ้านของตัวเองและบ้านเพื่อน ในร้านหนังสือ ร้านเกมส์ออนไลน์ ผ่านทางหนังสือพิมพ์  ทีวี และหนังแผ่นวีซีดี ซึ่งมีอยู่แทบทุกบ้านแล้วในวันนี้

เมื่อที่บ้านขาดความอบอุ่น ไม่สามารถพูดคุยกับพ่อแม่ได้ทุกเรื่อง ขาดความรักและความเข้าใจในวัยของเขาอย่างแท้จริง เด็ก ๆ เลือกที่จะออกไปหาเพื่อนฝูงคอเดียวกัน พูดคุยหยอกล้อเล่นสนุกในสิ่งที่ชอบเหมือน ๆ กัน ในที่สุดผลจากการเล่นเกมส์ออนไลน์ ดูภาพวาบหวิวผ่านทางอินเตอร์เน็ท ได้ปลุกเร้าจินตนาการและสัญชาตญาณดิบในตัวมนุษย์ กลายเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดความอยากรู้ อยากลองขึ้นมาจริง ๆ เด็กหญิงที่อยู่ใกล้ ๆ พูดคุยด้วยความไว้วางใจกันอยู่ทุกวัน จึงกลายมาเป็น “เหยื่อ” ภายใต้อารมณ์ที่เปลี่ยนไปของเด็กชาย

ทุกครั้งที่การล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นในโรงเรียนและบานปลายกลายเป็นคดีความบนโรงพัก ตัวเด็กเองทั้งผู้กระทำ และผู้ถูกละเมิด พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูและบุคลากรในโรงเรียน ต่างก็ต้องตกเป็น “จำเลย” ของสังคม ไม่ว่าจะมองจากมุมใด

  • ผู้กระทำ ซึ่งมักจะเป็นเด็กชาย ถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายตัวแสบ ใจคอโหดเหี้ยม ทำได้แม้กระทั่งเด็กหญิงที่ปราศจากหนทางต่อสู้
  • เด็กหญิงผู้ถูกละเมิด กลายเป็นผู้โชคร้ายมีมลทิน แม้ผลพิสูจน์จะออกมาว่า เธอคือผู้บริสุทธิ์ แต่ด้วยสายตาที่สังคมรอบข้างมองมายังเธอ นั่นคือตราบาปตัดสินชีวิตของเธอเสียแล้ว
  • พ่อแม่ ผู้ปกครองของเด็กชาย ต้องกล้ำกลืนกับพฤติกรรมที่ผิดไปแล้วของลูก ต้องอดทนกับคำประณามหยามเหยียดว่าไม่สั่งสอนลูกหลานของตน ผู้ที่มีความรักอย่างมั่นคงก็เลือกที่จะแสดงออกด้วยการให้กำลังใจ และให้อภัยในความผิดพลาดของเขา แต่ผู้ที่ขาดแคลนความรักต่อลูกหลานอาจจะเลือกถอยห่างออกไป ไม่รับรู้ ไม่ยุ่งเกี่ยว ปล่อยไปตามชะตากรรม กลายเป็นความเหินห่างที่ยากจะกลับมาปกติเหมือนเดิม
  • พ่อแม่ ผู้ปกครองของเด็กหญิง รับรู้เรื่องราวทุกอย่างด้วยความโกรธแค้น ระบายออกสู่ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โกรธเด็กชายในฐานะผู้ร้ายต้องได้รับการลงโทษให้ถึงที่สุด โกรธครูและบุคลากรในโรงเรียนที่ไม่สามารถสอดส่องดูแลในซอกมุมของห้องเรียน ห้องน้ำ และอาคารต่าง ๆ ได้อย่างทั่วถึง โกรธที่ครูบกพร่องในการป้องกันเหตุภายในขอบเขตรั้วโรงเรียนอย่างที่เขาคาดหวัง โกรธแม้กระทั่งเด็กหญิงที่ไร้เดียงสา หลงเชื่อตามที่เขาหลอกโดยขาดความระมัดระวังตัว
  • ครูและบุคลากรในโรงเรียน ต้องตกเป็นจำเลยสังคมในมุมมองของผู้ปกครองเกือบทั้งหมด และโดยเฉพาะผู้บริหารองค์กรที่อยู่เหนือไปกว่าระดับโรงเรียน ซึ่งส่วนใหญ่ชอบฟังแต่ข่าวดีมากกว่าข่าวร้าย ท่านเหล่านี้รู้สึกหงุดหงิดใจและโกรธที่เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบของตน อาการที่แสดงออกจึงเป็นการเรียกมาตำหนิ ไล่บี้เอากับครู และจบลงด้วยการคาดโทษว่าอย่าให้มีเหตุเหล่านี้เกิดขึ้นอีก ประหนึ่งว่าทำอย่างไรก็ได้ให้เรื่องแบบนี้เงียบที่สุด โดยมิได้นำพากับการแก้ปัญหาจากเหตุ-ปัจจัยที่แท้จริง

ความโกรธ ความหวั่นวิตก และความสับสน คือ เชื้อเพลิงของความโหดร้ายที่ผู้คนในสังคมสาดใส่เข้าหากันให้กองไฟแห่งความเคียดแค้นลุกโชนขึ้นมา โดยมีเด็กหญิง เด็กชายยืนอยู่ท่ามกลางเปลวไฟแผดเผา เหตุการณ์เหล่านี้จะสงบเย็นลงได้ก็ด้วยน้ำใจอันบริสุทธิ์และการ “ให้อภัย” ซึ่งกันและกันเท่านั้น

ภาวะที่ไฟแห่งความโกรธกำลังร้อนแรงแผดเผาเยี่ยงนี้ ต้องการมืออาชีพที่เข้าใจปัญหามาช่วยคลี่คลายสถานการณ์อย่างชาญฉลาด ทำงานด้วยความรักและห่วงใยในจิตใจของทุกผู้คนที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นที่มาของการพัฒนารูปแบบการทำงานโดยนำ “ทีมสหวิชาชีพโดยศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและสตรี โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์” ซึ่งประกอบไปด้วยนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ และผู้ใหญ่ใจดีที่เข้าใจในอารมณ์ความรู้สึกของผู้คน และมีประสบการณ์ทำงานผ่านการช่วยเหลือเด็กและสตรีผู้ถูกกระทำรุนแรงในสังคมชุมพร เข้ามาทำงานร่วมกับคณะครูและผู้ปกครองในโรงเรียนกลุ่มเป้าหมาย เพื่อช่วยกันสร้าง “ทีมสหวิชาชีพในโรงเรียน” ให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการเยียวยาปัญหาเด็กและเยาวชนใน จ.ชุมพร.

พบเห็นเด็กและสตรีถูกกระทำรุนแรง
แจ้งศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและสตรี โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์
โทร. 081-7371675, 077-505940

คำสำคัญ (Tags): #ทีมสหวิชาชีพ
หมายเลขบันทึก: 391633เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2010 17:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท