กฏแห่งกรรมของพระอินทร์(ท้าวสักกะเทวราช)


กฏแห่งกรรมของพระอินทร์(ท้าวสักกะเทวราช) 


ท่านมาฆมาณพตายจากมนุษย์ไปเกิดเป็นท่านพระอินทร์ หัวหน้าเทวดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงสเทวโลก

“..พระแท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงสเทวโลก มีบริเวณล้อมรอบไปด้วยกำแพงแก้ว ๗ ประการ พื้นก็เป็นแก้ว ๗ ประการ มีพระแท่นแก้วใหญ่มาก และรอบๆ นั้นทางด้านทิศใต้และทิศเหนือก็มีสวนสวย บริเวณกว้างขวาง ทั้งหมดนี้เกิดด้วยอำนาจบุญบารมีของท่านพระอินทร์ในสมัยที่เป็นมนุษย์คือ ท่านมาฆมาณพ กับเพื่อนอีก ๓๒ คน พี่ช่วยกับปลูกต้นทองหลางไว้ และก็เอาหินมาวางเป็นแท่น เพื่อให้คนทั้งหลายที่เดินไปเดินมาระหว่างทาง มีความร้อนจะได้นั่งพักให้สบาย ต้นทองหลางบันดาลให้เกิดความเย็นและแท่นหินที่วางไว้ จะได้นั่งพักผ่อนให้หายเมื่อยแล้วก็เดินทางต่อไป เวลาที่ท่านตายจากมนุษย์มีผลคือ  อานิสงส์ที่ท่านปลูกต้นทองหลาง กลายมาเป็นต้นปาริชาต มีกลิ่นหอมมากเวลาที่มีดอกผุด ขึ้นมา อานิสงส์ที่ท่านเอาหินมาวางเรียงรายรอบต้นทองหลาง กลายมาเป็นพระแท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ท่านมาฆมาณพกับเพื่อนอีก ๓๒ คน รวมเป็น ๓๓ คน เห็นว่าการปลูกต้นไม้ให้เป็นที่พักมีความสบายก็จริง แต่ทว่ายังสบายไม่พอ สร้างศาลาให้คนเดินไปเดินมา เขาจะได้พักเขาจะได้นอนสบาย ก็เลยร่วมมือร่วมใจกันสร้างศาลาขึ้นหนึ่งหลัง เวลานั้นก็มีนายช่างอีกคนหนึ่งคือ ท่านวัฒกี และมีช้างตัวหนึ่งที่พระราชาให้มาเป็นพาหนะ เมื่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ให้เป็นที่พักของคนเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ คนก็ได้พักอาศัย เมื่อคณะของท่านตายแล้ว อานิสงส์แห่งการสร้างศาลาเป็นสาธารณประโยชน์

ท่านมาฆมานพตายแล้วขึ้นมาเป็นท่านพระอินทร์ มีเวชยันตวิมานตั้งอยู่ตรงกลางเพื่อน เพื่อนอีก ๓๒ คนขึ้นมาเกิดเป็นเทวดา มีวิมานล้อมรอบเวชยันตวิมาน คนละหลังๆ ไม่ต้องไปอยู่หลังเดียวกัน ๓๓ คนนายช่างวัฒกี มาเกิดเป็น ท่านวิษณุกรรมเทพบุตรมีวิมานอีกหลังหนึ่ง ช้างที่ช่วยเป็นพาหนะบรรทุกไม้ ลากไม้ เป็นเครื่องทุ่นแรง ก็มาเกิดเป็นเทวดามีนามว่า เอราวัณเทพบุตรมีวิมาน ๑ หลังเหมือนกัน ไม่ต้องรวมกับใคร  นอกจากเวชยันตวิมานแล้ว ทางด้านทิศใต้มองข้ามสวนจิตรลดาวันไป จะพบสระโบกขรณี เป็นสระใหญ่มากมีท่าเป็นที่ลงมากมาย น้ำในสระก็แพรวพราวใสสะอาด มองแล้วคล้ายๆ กับแก้วต้องแสงอาทิตย์ดูระยิบระยับ สระนี้เกิดขึ้นจากอำนาจของ ๓๓ ท่าน มีท่านมาฆมาณพเป็นประธาน เมื่อสร้างศาลาแล้วก็มาคิดว่า คนเดินมาร้อนมานั่งที่ศาลาต้องการน้ำกิน จะอาบน้ำอาบท่า จะได้เกิดความสบายมากขึ้น ท่านก็พากันขุดสระขึ้น ขุดแล้วมีตานํ้า น้ำใสขึ้นมา คนที่มาพักที่ศาลาก็ได้กินได้อาบมีความสุข เมื่อเวลาที่ท่านทั้งหลายเหล่านั้นตายแล้วขึ้นมาเป็นเทวดา สระในเมืองมนุษย์ก็ตามมาเป็นสระโบกขรณีแต่เป็นสระที่ใหญ่กว่า มีนํ้าใสสะอาดกว่า สวยสดงดงามกว่า เป็นที่สบายของบรรดาเทวดาและนางฟ้าทั้งหลายชอบเล่นน้ำในสระนี้

ที่มาของเทวสภา

ท่านมาฆมาณพในสมัยที่เป็นมนุษย์  ท่านมีภรรยา  ๔ คน คนแรก ชื่อท่านสุธรรมา          คนที่สองชื่อ  สุจิตรา  คนที่สามชื่อสุนันทา  และคนสุดท้ายชื่อสุชาดา  อาศัยที่ท่านมีเมียมาก เมียคงจะทะเลาะกันมาก ท่านคงจะรำคาญเบื่อผู้หญิง คิดว่าต่อต่อแต่นี้ไปเราทำบุญอะไรก็ตาม เราจะไม่ให้ผู้หญิงร่วมต่อไป ในเมื่อท่านไม่ให้ทำ ท่านเมียใหญ่คือท่านสุธรรมามีความฉลาด เมื่อนายช่างทำศาลายังไม่เสร็จดี ศาลานี่ต้องมีช่อฟ้าจึงจะสวย จึงไปจ้างนายช่างทำช่อฟ้าให้พอเหมาะกับศาลาแล้วสลักชื่อว่า“ศาลาสุธรรมา”แล้วบอกว่า “ต่อไปสร้างศาลาเสร็จ ถ้าพวกผู้ชายเขาต้องการช่อฟ้าก็อย่าทำให้นะ มาเอาช่อฟ้าของฉันนี่ไปใส่ ฉันให้เงินพิเศษ ๑ พันกหาปณะ” เงินมันเข้าใครออกใครที่ไหน นายช่างทำแล้วก็ปิดปากเงียบ เมื่อทำศาลาเสร็จ ท่านมาฆมาณพกับเพื่อนก็จะทำช่อฟ้า นายช่างบอกทำไม่ได้ไม้มันสด ช่อฟ้าต้องใช้ไม้แห้งๆ ทำถ้าเอาไม้สดๆ ไปทำต่อไปช่อฟ้าแห้งจะหมองดูไม่สวย ท่านก็บอกถ้าอย่างนั้นก็ไปหาซื้อ หาไปหามาก็หาไม่ได้ นายช่างก็แนะนำว่าบ้านของท่านสุธรรมามีช่อฟ้า ท่านมาฆมาณพก็บอกว่าไปขอซื้อเขา ท่านสุธรรมาบอกว่า “ถ้าไม่ให้ร่วมบุญร่วมกุศลก็ไม่ขายแน่” ท่านมาฆมาณพก็ไม่ยอมรับเพราะไม่อยากคบผู้หญิง แต่ในที่สุดท่านก็จนใจยอมรับ เอาช่อฟ้าของสุธรรมาไปสวมกับศาลาก็พอดี

ตอนนี้ท่านมาฆมาณพกับเพื่อนอีก ๓๒ คน รวมทั้งช่างอีกคนหนึ่งกับช้างรวมเป็น ๓๕ ทำกันเกือบตายไม่มีชื่อไปมีชื่อท่านสุธรรมาคนเดียว ใครไปใครมาก็เห็นเขียนชื่อท่านสุธรรมา เมื่อท่านสุธรรมาตายจากคนก็มาเป็นชายาของท่านพระอินทร์ ศาลาหลังนั้นก็ตามขึ้นมามีชื่อว่า “ศาลาสุธรรมา”เหมือนกัน เป็นศาลาที่ประดับประดาไปด้วยแก้ว ๗ ประการ มีแท่นที่ประทับของท่านพระอินทร์สวยสดงดงามมาก ศาลานี้เป็นที่ประชุมของเทวดา ที่เรียกว่า เทวสภา หรือธรรมสภา หรือ ศาลาสุธรรมา

รวมความว่าศาลาหลังนี้มีชื่อของท่านสุธรรมาชื่อเดียว แต่ท่านมาฆมาณพกับเพื่อนอีก ๓๒ คน รวมทั้งนายช่างและช้าง ตายแล้วไปเกิดเป็นเทวดามีวิมานกันคนละหลัง ทั้งที่ศาลาหลังนั้นไม่มีชื่อทั้ง ๓๓ คนเลย ท่านสุธรรมาเองตายแล้วไปเกิดเป็นนางฟ้าก็มีวิมานอีก ๑ หลัง เจ้าของช่อฟ้าก็มีวิมาน ๑ หลังเหมือนกัน

ฉะนั้น บรรดาพุทธบริษัททุกคนที่สร้างแล้วไม่ชื่อที่ศาลา ที่กุฏิ ที่โบสถ์ ที่วิหารก็ตาม ก็อย่าไปสนใจเรื่องชื่อ สนใจเรื่องศรัทธาเป็นสำคัญ ศรัทธาเรามีแล้วเราบริจาคแล้ว เราทำแล้ว ชื่อในเมืองมนุษย์จะเป็นชื่อใครก็ตาม แต่ว่าอานิสงส์ทุกท่านย่อมได้เหมือนกัน
สวนจิตรลดา

ท่านสุจิตราเป็นภรรยาคนที่ ๒  ท่านก็มานึกในใจว่า ท่านมาฆมาณพซึ่งเป็นสามี สร้างศาลา ปลูกต้นไม้ สร้างแท่นหิน ขุดสระ เป็นบุญสาธารณประโยชน์ ท่านสุธรรมาก็มีความฉลาดสร้างช่อฟ้าสวมศาลา เหมาศาลาหลังนั้นทั้งหมดแต่ผู้เดียว แต่อานิสงส์ได้ทุกคน ท่านก็คิดว่าอีกแถบหนึ่งของสระยังไม่มีสวนกับคนมาพักผ่อนที่ศาลาก็ดี อาบน้ำก็ดี อาจต้องการเดินเล่นในสวน ต้องการความสวยงาม ความสดชื่นจากดอกไม้และใบไม้ หรือดมดอกไม้หอมๆ เอาดอกไม้ไปนั่งดูบ้าง ทัดทรงบ้าง ติดอกบ้าง อย่างนี้ความสุขจะเพิ่มพูนขึ้น จึงได้สั่งคนไปปลูกสวนดอกไม้ไว้ใกล้ๆ กับสระ จัดสรรดอกไม้ที่ดีทุกประเภทมีไว้ให้ทุกอย่าง เมื่อดอกไม้ออกดอกงามสะพรั่งก็เป็นที่ชื่นใจของคนเดินทางมานั่งพักเห็นเข้าก็ชื่นใจ เมื่อท่านสุจิตราตายจากความเป็นคนก็ไปเกิดเป็นนางฟ้าบนสวรรค์ชั้นดาวดึงสเทวโลก เพราะอานิสงส์สร้างสวนดอกไม้ไว้เป็นสวนสาธารณะ เป็นเหตุให้ได้วิมานใหญ่โตสวยสดงดงาม ๑ หลัง และมีสวนจิตรลดาวันเป็นสวนดอกไม้ข้างๆ สระโบกขรณี เป็นที่ยินดีและชอบใจของเทวดาและนางฟ้า
สวนนันทวัน

ท่านสุนันทาเป็นภรรยาคนที่ ๓ เห็นท่านสุจิตราปลูกสวนดอกไม้ท่านก็คิดว่าคนที่เดินทางมาอาจจะหิว ในเมื่อมีศาลาพัก มีนํ้ากินนํ้าอาบ มีดอกไม้ทัดทรง แต่ยังขาดอีกอย่างหนึ่งคือความอิ่ม ท่านจึงสั่งให้คนปลูกสวนผลไม้มีทุกประเภทที่คนนิยมเวลานั้น มาปลูกข้างๆ สระเป็นสวนใหญ่มาก เมื่อคนเดินทางไปมาหิวก็จะได้กินผลไม้แล้วได้พักผ่อน ก็มีความอิ่มหนำสำราญดี เป็นที่ชอบใจของคนเดินทาง เมื่อท่านสุนันทาตายจากความเป็นคนก็ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงสเทวโลก มีวิมานใหญ่โตสวยสดงดงาม ๑ หลัง และมีสวนนันทวันเป็นสวนผลไม้ปลากดขึ้นใกล้ๆ กับสระโบกขรณี อยู่ทางทิศตะวันออกของเวชยันตวิมาน ภายในสวนมีผลไม้ทิพย์ทุกอย่าง
การสร้างวิหารทาน

การปลูกต้นไม้ในวัด จะเป็นไม้ดอกหรือไม้ผลก็ตาม กับปลูกในที่สาธารณะมีอานิสงส์ต่างกัน เพราะวัดเป็นเขตของสงฆ์ เป็นพุทธเขต เป็นที่อยู่ของผู้ทรงศีลทรงธรรม ฆราวาสสร้างให้เป็นที่อยู่ของผู้ทรงศีลทรงธรรมแต่ผู้อยู่จะทรงศีลทรงธรรมหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของส่วนบุคคล แต่จริง ๆ แล้วบรรดาพุทธบริษัทอุทิศตรงเพื่อพระพุทธศาสนาจึงจัดว่าเป็นของสงฆ์โดยตรงเป็นของพระพุทธศาสนาโดยตรง การไปซ่อมแซมวัดก็ดี บำรุงวัดก็ดี สร้างวัดก็ดี สร้างสวนผลไม้ในวัดก็ดี สร้างสวนดอกไม้ในวัดก็ดี ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีส่วนบำรุงวิหารทาน ร่วมในการสร้างวิหารทาน คือร่วมกันสร้างกุฏิวิหารเป็นที่อยู่มีความสุข สวนผลไม้ทำให้อิ่มหนำสำราญ มีความสุขดอกไม้สร้างความชื่นใจให้เกิดขึ้นมีความสุข จึงจัดว่าเป็นส่วนหนึ่งของวิหารทาน
ฉะนั้น อานิสงส์การสร้างในเขตของวัด ก็เหมือนกับท่านอินทกะ ถวายทานแด่พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนามีอานิสงส์มาก สำหรับสวนสาธารณะใครก็ได้ คนมีศีลมีธรรมก็ใช้ได้ คนมีศีลมีธรรมกระพร่องกระแพร่งบ้างใช้ก็ได้ คนไร้ศีลไร้ธรรมก็ใช้ได้ ฉะนั้นอานิสงส์ที่จะพึงได้ก็เหมือนท่านอังกุรเทพบุตร แต่ว่าบรรดาพุทธบริษัทก็จงอย่าเลือกเฉพาะผลใหญ่อย่างเดียว จงเลือกทั้งผลเล็กและผลใหญ่ สิ่งใดใกล้มือคว้าไว้ก่อนหมายความว่าถ้าสวนสาธารณะเขาต้องการต้นไม้ดอกไม้ เราก็ไปร่วมกับเขา อย่าลืมว่าข้าวแต่ละจานย่อมมีค่า ข้าว ๑ กาละมังใหญ่ก็มีค่า ข้าวแต่ละจานแม้จะน้อยกว่ากาละมัง แต่หลายๆ จานเข้าก็สามารถเต็มกาละมังได้ฉันใด บุญกุศลที่ท่านทั้งหลายทำบุญกับสวนสาธารณะ หรือที่สาธารณประโยชน์ถึงแม้ว่าจะไม่อยู่ในเขตสงฆ์ ถ้ามีโอกาสทำบ่อยๆ ก็ชื่อว่าจะเป็นการสั่งสมบุญให้เต็มที่ได้เหมือนกัน
อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ฝนตกที่ละหยาดๆ สามารถทำภาชนะให้เต็มได้ฉันใด บุญกุศลที่เราทำแล้วไซร้แม้จะครั้งละน้อยๆ แต่ว่าทำบ่อยๆ ก็สามารถจะทำให้บุญบารมีของเราเต็มบริบูรณ์ได้

ฉะนั้นขอทุกคนจงอย่างเลือกเฉพาะที่สงฆ์อย่างเดียว ส่วนใดที่จะเป็นประโยชน์กับประชาชนไม่จำกัด หมายความว่าเป็นสาธารณะ ให้ทำด้วยน้อยก็เอามากก็เอา อย่างนี้เราจะไม่เสียทีในการเกิด เพราะเป็นปัจจัยของความสุข ความสวยสดงดงามเป็นการให้ความสุขแก่คนที่เห็น คนได้ใช้ ได้ดม ได้กิน ผลอย่างนี้ถือเป็นทาน..”
http://www.thaisquare.com/Dhamma/afterdeath/old/chapter52.htm

คำสำคัญ (Tags): #ประทาย4
หมายเลขบันทึก: 391373เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2010 19:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท