งานอดิเรกที่ชื่นชอบ


การถ่ายภาพเบื้องต้น

หลักการถ่ายภาพ
                การถ่ายภาพที่จะให้ได้ภาพถ่ายที่มีลักษณะสมบูรณ์มีปัจจัย คือ การควบคุมแสง ความคมชัด และการจัดองค์ประกอบเป็นสำคัญ การศึกษาให้เข้าใจถึงการควบคุมเพื่อให้ได้ภาพถ่ายตามต้องการ การควบคุมจุดแรก คือ การปรับโฟกัสบนตัวเลนส์ การปรับโฟกัสหรือความคมชัดของเลนส์ก็คล้ายคลึงกับการปรับโฟกัสของตาคนเรา เลนส์ที่ดีจะมีโฟกัสแสดงให้เห็นภาพได้เหมือนจริง ซึ่งจะปรากฏภาพส่วนที่คมชัด ส่วนที่ไม่ชัด และภาพรวมทั้งหมด

 


               

                การควบคุมการใช้กล้องในเรื่องของการควบคุมแสง เป็นส่วนสำคัญซึ่งจะต้องควบคุมให้แสงผ่านเลนส์เข้าไปบันทึกภาพในปริมาณที่พอเหมาะ นั่นคือการควบคุมรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ให้มีความสัมพันธ์กัน รูรับแสงทำหน้าที่ควบคุมปริมาณแสงที่จะเข้าไปทำปฏิกิริยากับฟิล์ม ร่วมกับความเร็วชัตเตอร์ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมเวลาให้แสงเข้าไปในกล้องได้ เป็นระยะเวลานานเท่าใดขณะบันทึกภาพ
                รูรับแสง ในการควบคุมการใช้กล้องเกี่ยวกับปริมาณของแสงที่จะผ่านเข้ามาเพื่อบันทึกภาพ ตัวควบคุมปริมาณแสง คือ รูรับแสงซึ่งมีอยู่ในเลนส์ถ่ายภาพ ลักษณะเป็นกลบซ้อนกันเรียกว่า ไดอะแฟรม (Diaphram) สามารถปรับให้กว้างหรือแคบได้ โดยหมุนปรับวงแหวนที่ตัวเลนส์ (กล้องอัตโนมัติส่วนมากปรับควบคุมที่ตัวกล้อง) ปริมาณของแสงที่ผ่านไดอะแฟรมแสดงค่าเป็นตัวเลข เรียกว่า f – number หรือ f – stop รูรับแสงมีผลต่อการบันทึกภาพในเรื่องของระยะชัดโดยเกิดผลทางด้านความคมชัดบริเวณด้านหน้า และด้านหลังจุดที่เราเลือกปรับโฟกัส กล่าวคือ รูรับแสงแคบจะให้ผลในด้านความชัดลึกของภาพและช่วงระยะความชัดลึกของภาพจะน้อยลงเมื่อรูรับแสงกว้างขึ้น

 

                
ความเร็วชัตเตอร์ เป็นส่วนที่ใช้ในการควบคุมปริมาณของแสงโดยชัตเตอร์จะเปิดและปิดให้แสงผ่านเข้าไปเพื่อบันทึกภาพ ตามระยะเวลาที่กำหนด มีลักษณะเป็นม่านหรือกลีบซ้อนทับกันหลาย ๆ ชั้นอยู่ในตัวเลนส์ มีทั้งเคลื่อนที่ในแนวขวางและแนวดิ่ง แสดงค่าเป็นหน่วยของวินาทีชัตเตอร์มีผลต่อการบันทึกภาพในเรื่องของความเร็ว คือ การควบคุมสิ่งเคลื่อนไหวให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ เช่น หยุดสิ่งเคลื่อนไหว หรือทำให้เกิดภาพในลักษณะเคลื่อนไหวให้หยุดนิ่งได้ดีกว่าความเร็วชัตเตอร์ต่ำ

 

ความสัมพันธ์ระหว่างรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์
                ระบบการทำงานของกล้องที่สำคัญจะมีอยู่ 3 ส่วนด้วยกัน คือ การโฟกัสภาพ รูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ ระบบการโฟกัสภาพเป็นลักษณะการทำงานที่แยกเป็นอิสระ ไม่เกี่ยวข้องกับระบบอื่น เพื่อให้ภาพมีความคมชัดในจุดหรือตำแหน่งที่ต้องการ รูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ จะทำหน้าที่ควบคุมปริมาณของแงที่ผ่านเข้าไปเพื่อบันทึกภาพ การเลือกปรับตั้งรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของการถ่ายภาพและต้องให้สัมพันธ์กัน ฟิล์มจะบันทึกภาพได้ดีจะต้องได้รับแสงในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไปภายใต้สภาพแสงปกติ การบันทึกภาพโดยใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงและรูรับแสงเล็ก หรือจะใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ แต่ใช้รูรับแสงกว้าง ทั้งสองกรณีการบันทึกภาพจะรับแสงได้ในปริมาณที่เท่ากันและเป็นความสัมพันธ์ของรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์

 

              

                การเลือกค่าบันทึกภาพ เนื่องจากรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ทำงานสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เมื่อมีการปรับหรือเปลี่ยนรูรับแสงหรือความเร็วชัตเตอร์ ปริมาณของแสงที่เข้าไปในกล้องก็จะเปลี่ยนไปด้วย ตัวอย่างเช่น ถ้าปริมาณแสงที่เหมาะสม 100% หากเปิดรูรับแสงกว้าง 20% ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ 80% หรือถ้าเปิดช่วงรับแสงกว้าง 80% ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ 20% จึงจุได้ปริมาณแสงที่เท่ากัน
                ผู้ถ่ายภาพสามารถเลือกผลที่เกิดขึ้นจากการใช้รูรับแสงหรือความเร็วชัตเตอร์ได้อย่างใดอย่างหนึ่งตามต้องการ โดยที่การบันทึกภาพได้รับแสงพอดี เช่น ภาพที่ต้องการบันทึกวัดแสงได้ที่ 1/60 วินาที f8 แต่อาจไม่ต้องการใช้ความเร็วชัตเตอร์หรือรูรับแสงตามที่วัดค่าได้ ก็อาจเลือกใช้ค่าอื่นได้ เช่น 1/150 วินาที f2.8 หรือ 1/15 วินาที f16 ซึ่งค่าเหล่านี้จะให้ปริมาณแสงที่เท่ากันแต่ภาพที่บันทึกได้จากค่าเหล่านี้จะมีความแตกต่างกันจากผลของภาพที่เกิดขึ้นจากการใช้รูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์
                โดยทั่วไปสภาพแสงที่ตองการบันทึกแตกต่างกัน ในการถ่ายภาพที่สภาพของแสง มีแสงแดดและปรากกว่าเครื่องวัดแสงกำหนดให้เปิดรูรับแสง f11 ความเร็วชัตเตอร์ 1/125 วินาทีจะได้ภาพที่รับแสงได้พอดี ถ้าเราต้องการเปลี่ยนไปใช้ความเร็วชัตเตอร์ให้เร็วขึ้น 1 สต็อป คือ 1/250 วินาที เพื่อถ่ายภาพวัตถุที่เคลื่อนไหวให้หยุดก็ต้องเปิดรูรับแสงให้กว้างขึ้น 1 สต็อป คือ f8 เพื่อชดเชยให้ปริมาณแสงเข้ากล้องพอดี หรือในทำนองเดียวกัน ถ้าเราต้องการใช้ความเร็วชัตเตอร์ช้าลง 1 สต็อป  คือ 1/160 วินาที ก็ต้องปรับขนาดรูรับแสงให้แคบลง 1 สต็อป คือ f16 เพื่อให้สัมพัน์กันจึงจะได้รับแสงที่พอดี
                ในการบันทึกภาพทั่ว ๆ ไปจะพบว่า ค่าแสงที่วัดได้ในครั้งแรกนั้นเป็นเพียงค่ากลางเท่านั้น ควรพิจารณาว่าภาพที่ต้องการบันทึกควรจะใช้รูรับแสงขนาดใด จึงจะได้ระยะชัดลึกตามต้องการ หรือเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ระดับใดจึงจะหยุดการเคลื่อนไหว เมื่อเลือกใช้รูรับแสงหรือความเร็วชัตเตอร์อย่างใดอย่างหนึ่งตามต้องการแล้ว เช่น ถ้าเลือกใช้รูรับแสงขนาดที่ต้องการก็ต้องปรับความเร็วชัตเตอร์ชดเชยค่าแสง เพื่อการบันทึกภาพได้รับแสงในปริมาณที่เหมาะสมเป็นต้น การเลือกใช้รูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์จึงต้องให้สัมพันธ์กัน
                ช่วงความชัด
                ภาพถ่ายที่มีความชัดตั้งแต่วัตถุที่อยู่ระยะหน้า (Foreground) ไปถึงวัตถุที่อยู่ระยะหลังสุด (Background) ของระยะตำแหน่งที่ปรับความชัดในภาพ เรียกภาพนั้นว่าเป็นภาพที่มีความชัดลึก ส่วนภาพถ่ายที่มีความชัดเฉพาะตำแหน่งที่เราปรับ Focus ไว้ ส่วนระยะหน้าและระยะหลังจะพร่ามัวไม่ชัดเจน เราเรียกภาพนั้นว่ามีความชัดตื้น
                ความชัดลึกของภาพขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 ประการ คือ

  1. เลนส์ลึกของกล้องถ่ายภาพที่มีระยะความยาวโฟกัสสั้น จะให้ภาพที่มีความชัดลึกมากกว่าเลนส์ที่มีความยาวโฟกัสยาว
  2. การปรับขนาดของช่วงรับแสง ภาพที่ปรับช่วงรับแสงแคบมาก จะให้ภาที่มีความชัดลึกมากกว่าการปรับช่วงรับแสงให้กว้าง
  3. การถ่ายภาพที่กล้องอยู่ห่างจากวัตถุที่ถ่ายไกล จะได้ภาพที่มีความชัดลึกมากกว่าที่กล้องอยู่ใกล้วัตถุ

ในการถ่ายภาพจึงควรเลือกใช้เลนส์ การปรับขนาดช่วงรับแสง หรือระยะในการถ่ายภาพ ทั้งนี้เพื่อให้ภาพที่ได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์

 

การวัดแสงและเครื่องวัดแสง
                    การวัดแสง หมายถึง การปล่อยให้แสงส่วนหนึ่งเข้าไปเพื่อบันทึกภาพ สามารถควบคุมปริมาณของแสงโดยการปรับค่าแสงจากรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ ทั้งนี้เพื่อปล่อยให้แสงเข้าไปเพื่อบันทึกภาพในปริมาณที่เหมาะสม ทำให้ฟิล์มได้รับแสงที่พอดี
                    การวัดแสงและการปรับค่าแสงเป็นความสัมพันธ์?เกี่ยวข้องกันในสภาพแสงปกติการบันทึกภาพโดยทั่วไปมักต้องการให้ภาพแสดงรายละเอียดให้เห็นชัดเจนทั่วทั้งภาพ แต่บางครั้งต้องการเน้นเฉพาะส่วนสำคัญของภาพเท่านั้น
                    ภาพที่ผ่านเลนส์เข้ามามีช่วงความสว่างค่อนข้างกว้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพแสง เช่น ภาพที่ต้องการบันทึกมีแสงจ้า ช่วงของความสว่างจะกว้างมากตั้งแต่ในส่วนของเงามืดถึงบริเวณที่สว่าง แต่ถ้าภาพที่บันทึกมีแสงนุ่ม ในวันที่มีเมฆมาก แสงไม่จัด ช่วงความสว่างจะแคบลง ทำให้ภาพที่บันทึกมีรายละเอียดดีทั้งในส่วนบริเวณเงาและบริเวณสว่าง ถ้าต้องการบันทึกรายละเอียดในส่วนที่เป็นเงามือ รายละเอียดในส่วนสว่างจะเสียไปและทำให้ส่วนสว่างนี้รับแสงมากเกินไป (Over) หากเลือกวัดแสงเฉพาะส่วนที่ได้รับแสงสว่างโดยตรง ส่วนที่เป็นบริเวณเงาจะดำและขาดรายละเอียดเนื่องจากได้รับแสงน้อยเกินไป (Under)
                    กล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว ปัจจุบันจะมีระบบวัดแสงทั้งในระบบวัดแสงเฉพาะจุดเฉลี่ยทั่วทั้งภาพและเฉลี่ยหนักกลาง โดยเฉพาะระบบวัดแสงเฉลี่ยหนักกลางจะเฉลี่ยค่าแสงทั้งในส่วนสว่างและส่วนเงาดำให้ได้แสงค่ากลางในการบนทึกภาพ ส่วนระบบวัดแสงเฉพาะจุดเหมาะสำหรับการเลือกค่าแสงบริเวณใดบริเวณหนึ่งโดยเฉพาะ
                    เครื่องวัดแสง (Light Meter) เครื่องวัดแสงเป็นอุปกรณ์สำคัญในการถ่ายภาพที่จะคำนวณปริมาณของแสงที่ถูกต้อง สามารถปรับค่าแสงความสัมพันธ์ของรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์
                    เครื่องวัดแสงที่ติดตั้งในตัวกล้อง แบ่งได้เป็น 2 พวก คือ

  1. ตัววัดแสงอยู่ภายนอกตัวกล้อง ส่วนมากจะติดตั้งเซลวัดแสงอยู่ที่ตัวเลนส์ หรือรอบวงแหวนของเลนส์
  2. ตัววัดแสงอยู่ภายในตัวกล้อง และวัดแสงที่หักเหผ่านเลนส์ (Through the Lens) หรือ TTL สามารถวัดแสงได้ถูกต้องและแม่นยำ มักติดตั้งเซลวัดแสงในตัวปริซึมห้าเหลี่ยมหรือบริเวณได้กระจกสะท้อนภาพ

เครื่องวัดแสงระบบ TTL มีระบบในการวัด 3 แบบ

  1. วัดแสงแบบเฉลี่ยแสงทั่วทั้งภาพ เซลวัดแสงจะรับแสงสะท้อนจากวัตถุทั้งหมดแล้วเฉลี่ยปริมาณของแสง
  2. วัดแสงเฉพาะตรงส่วนกลางหรือวัดแสงเฉพาะจุด เป็นการวัดแสงในเนื้อที่เล็ก ๆ เฉพาะส่วนที่ต้องการ ทำให้การวัดแสงถูกต้อง
  3. วัดแสงแบบเฉลี่ยแสงกลางภาพ เป็นการผสมกันระหว่างวัดแสงเฉพาะส่วนกลางกับวัดแสงเฉลี่ยแสงทั่วทั้งภาพ ให้ผลการวัดแสงถูกต้องมาก

 

               

 

                กล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยวที่มีระบบแมนนวล หรือการปรับค่ารูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ โดยผู้ใช้จำเป็นต้องใช้เครื่องวัดแสงในการคำนวณค่าปริมาณแสง เพื่อจะได้ปรับตั้งค่าการเปิดรับแสงเพื่อบันทึกภาพได้ถูกต้อง ซึ่งกล้องบางรุ่นที่ผลิตโดยไม่มีเครื่องวัดแสง เมื่อต้องการวัดค่าแสงเพ่อบันทึกภาพจะใช้เครื่องวัดแสงแบบมือถือ ซึ่งเป็นเครื่องวัดแสงที่มีประสิทธิภาพสูง และเลือกวัดแสงได้หลายลักษณะ เช่น แสงตกกระทบหรือแสงสะท้อน

 

 

แบบทดสอบที่ 5
หลักการถ่ายภาพ

จงตอบคำถามให้เข้าใจ
            1.    จงบอกหน้าที่ของรูรับแสงและผลของภาพที่จะเกิดขึ้นจากการปรับขนาดรูรับแสง
            2.    จงบอกหน้าที่ของความเร็วชัตเตอร์ และผลของภาพที่จะเกิดขึ้นจากการปรับความเร็วชัตเตอร์
            3.    จงอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์
            4.    การวัดแสงแลการปรับค่าแสงมีความสัมพันธ์กันอย่างไร จงอธิบายให้เข้าใจ
            5.    จงอธิบายความแตกต่างระหว่างระบบวัดแสงเฉพาะจุด ระบบวัดแสงเฉลี่ยแสงกลางภาพ และระบบวัดแสงเฉลี่ยทั่วทั้งภาพ

จงปฏิบัติตามหัวข้อต่อไปนี้
            1.    ถ่ายภาพโดยให้มีลักษณะภาพชัดตื้น ชัดลึก เคลื่อนไหว และหยุดการเคลื่อนไหว โดยอัดภาพ หรือ Print ลงบนหระดาษขนาด 3"× 5" จำนวน 4 ภาพ

หมายเลขบันทึก: 391170เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2010 13:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:12 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีคุณแท่ง ขอบคุณที่แบ่งปันสาระดีๆให้เรียนรู้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท