โรคไข้สมองอักเสบ


ไข้สมองอักเสบ

(Japanese encephalitis : JE)

 

สาเหตุ

เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเจอีที่สมอง โดยมีพาหะสำคัญคือ ยุงรำคาญ ชนิด Culex tritaeniorrhynchus ซึ่งมักแพร่พันธุ์ในนาข้าว โรคนี้เป็นโรคสมองอักเสบ ชนิดที่พบบ่อยที่สุดในประเทศไทย

 

การติดต่อ

โรคนี้มีหมูเป็นรังโรค เชื้อไวรัสจะเพิ่มจำนวนในหมูอย่างรวดเร็วโดยไม่มีอาการป่วย เมื่อยุงรำคาญชนิดที่เป็นพาหะ มากัดและดูดเลือด ไวรัสจะเข้าไปฟักตัวเพิ่มจำนวนในตัวยุง ซึ่งจะสามารถแพร่โรคไปให้คนหรือสัตว์ที่ถูกกัดได้ เช่น ม้า วัว ควาย แพะ แกะ และนก
 เป็นต้น

 

อาการ

ผู้ที่ได้รับเชื้ออาจมี หรือไม่มีอาการป่วยก็ได้ ประมาณว่าผู้ติดเชื้อ 300 คน อาจป่วยเป็นโรคนี้ได้ 1 คน ผู้ป่วยมักแสดงอาการหลังได้รับเชื้อ 5-15 วัน ในระยะแรกจะมีไข้สูง อาเจียน ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ซึ่งจะกินเวลา 1-7 วัน (ส่วนใหญ่ 2-3 วัน) หลังจากนั้น จะมีอาการทางสมอง เช่น คอแข็ง สติสัมปชัญญะเลวลง ซึม เพ้อคลั่ง ชักหมดสติ หรือมือสั่น อัมพาต ระยะนี้กินเวลา 3-6 วัน ผู้ที่มีอาการรุนแรงอาจถึงตายได้ในระยะนี้ (อัตราการตายร้อยละ 15-30 ของผู้ป่วย) หลังจากนั้นไข้จะค่อยๆลดลงสู่ปกติ และอาการทางสมองจะค่อยๆดีขึ้น แต่ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่รอดชีวิตจะยังมีความผิดปกติทางสมองเหลืออยู่ เช่น เกร็ง อัมพาต ชัก ปัญญาอ่อน หงุดหงิดง่าย พูดไม่ชัด เป็นต้น

 

การรักษา

เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคนี้โดยเฉพาะ ดังนั้นจึงมุ่งรักษาตามอาการ และป้องกันโรคแทรกซ้อนในระยะที่มีอาการทางสมอง

 

การป้องกัน

หลังจากที่ประเทศญี่ปุ่น จีน เกาหลี ได้ใช้วัคซีนป้องกันโรคนี้ พบว่าผู้ป่วยในประเทศดังกล่าวลดลงอย่างมาก วัคซีนป้องกันโรคที่มีใช้ในประเทศไทยในปัจจุบัน เป็นวัคซีนที่ผลิตจากไวรัสที่ทำให้ตาย แล้วใช้ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง รวม 3 ครั้ง โดย 2 ครั้งแรกฉีดห่างกัน 1 สัปดาห์ และครั้งที่ 3 ห่างจากครั้งที่ 2 นาน 1 ปี

ปัจจุบันองค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตวัคซีนได้ และกระทรวงสาธารณะสุขมีโครงการที่จะฉีดให้เด็กตั้แต่อายุ 1 ปีขึ้นไปทุกคน

 

สำหรับการป้องกันอื่นๆ เช่น กำจัดยุง ป้องกันไม่ให้ยุงกัด และควบคุมการเลี้ยงหมูเป็นไปได้ยาก เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรม มีการทำนา และเลี้ยงหมูอยู่ทั่วไป

ผู้ที่จะเข้าไปในแหล่งระบาดของโรค และไม่เคยได้รับวัคซีน ควรได้รับวัคซีนอย่างน้อย 2 ครั้ง โดยครั้งหลังควรได้รับก่อนเข้าไปแหล่งระบาด 2 สัปดาห์

 

 

ที่มา :   www.tm.mahidol.ac.th

ภาพ  :  www.thai.cri.cn                www.ammeyweb.spaces.live.com

โรคตับอักเสบ

สาเหตุ

เกิดจากเชื้อไวรัสที่ที่พบบ่อย แบ่งได้เป็น ๓ ชนิด คือ ไวรัสตับ อักเสบชนิดเอ ไวรัสตับอักเสบชนิดบี และไวรัสตับ อักเสบที่ไม่ใช่เอและบี ชนิดอื่นๆ พบน้อย

ระยะฟักตัว  ชนิดเอมีระยะฟักตัวตั้งแต่ ๑๕-๕๐ วัน หรือโดยเฉลี่ยประมาณ  ๑  เดือน  ชนิดบีมีระยะฟักตัวนานกว่าชนิดเอ คือ ตั้งแต่ ๓ สัปดาห์ จนถึง ๖ เดือน หรือโดยเฉลี่ยประมาณ ๒-๓ เดือน

อาการ

เริ่มด้วยอาการไข้  อ่อนเพลียเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน  ท้องอืด ปวดท้องเจ็บเสียดบริเวณชายโครงขวา ซึ่งเป็นตำแหน่งของตับ และอาการสำคัญที่บ่งว่าเป็นโรคตับ คือ อาการตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะมีสีเข้ม ซึ่งเรียกกันว่าดีซ่าน
จากลักษณะอาการจะบอกไม่ได้ว่าเกิดจากเชื้อไวรัสตัวใด   ต้องทำการทดสอบทางห้องปฏิบัติการ

 

 

การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดเอมีชุกชุมในบ้านเรา  คนส่วนมากมักไม่แสดงอาการป่วย มีบางรายเท่านั้นที่แสดงอาการ พบบ่อยในเด็กและวัยหนุ่มสาว โรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัสชนิดเอ    มักมีอาการไม่รุนแรง เป็นเร็วหายเร็ว ไม่พบเป็นเรื้อรัง    ไม่พบผู้ที่มีเชื้อเป็นพาหะนานๆ     การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี  มักมีอาการโรคช้าๆ แต่รุนแรง และเป็นนานกว่าชนิดเอ  ประมาณร้อยละ  ๑ ที่มีอาการรุนแรงถึงแก่ความตาย    บางรายกลายเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง โรคตับแข็งและมะเร็งตับ ในผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี   ส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการ  โดยเฉพาะผู้ทีได้รับเชื้อตั้งแต่อายุน้อยๆ  แต่พวกนี้จะเป็นพาหะเรื้อรังที่แพร่เชื้อไปสู่
ผู้อื่น คนไทยประมาณร้อยละ ๕-๑๐ เป็นพาหะมีเชื้อไวรัสนี้อยู่ในเลือดและสารคัดหลั่ง    ในผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบที่ไม่ใช่เอและไม่ใช่บี อาจจะแสดงลักษณะอาการของโรคและการติดต่อคล้ายกับเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดเอหรือชนิดบี   แต่เมื่อตรวจยืนยันแล้วไม่ใช่เชื้อไวรัส ๒ ชนิดนี้  จึงถูกจัดเข้าไว้ในกลุ่มใหม่ว่าไม่ใช่เอและไม่ใช่บี

การติดต่อ

ไวรัสตับอักเสบชนิดเอ ติดต่อทางการกิน เชื้อเพิ่มจำนวนและออกมากับอุจจาระ  แปดเปื้อนปนกับน้ำดื่ม  น้ำใช้และอาหาร ทำให้เกิดโรคระบาดได้ 
             ไวรัสตับอักเสบชนิดบี ติดต่อทางการให้เลือดหรือฉีดยา  เชื้อไวรัสตรวจพบได้ในเลือดน้ำลาย น้ำนม และน้ำอสุจิ เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้โดยทางบาดแผล  รอยถลอกและเยื่อเมือก  จึงพบการติดต่อทางเพศสัมพันธ์  และการติดต่อในกลุ่มผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้มีเชื้อ  ทางติดต่อที่สำคัญอีกทางหนึ่งคือการติดต่อของเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีจากแม่ที่เป็นพาหะไปยังทารก 

 

 

ไวรัสตับอักเสบชนิดไม่ใช่เอและบีเป็นกลุ่มของเชื้อไวรัสที่ยังไม่รู้จักแน่นอน แต่เชื่อว่ามี มากกว่า  ๑  ตัว คือ ชนิดที่
สามารถติดต่อได้ทางการกินเหมือนไวรัสตับอักเสบชนิดเอ    และชนิดที่ติดต่อทางการให้เลือด  ทางเข็มฉีดยาและการสัมผัสใกล้ชิดเหมือนไวรัสตับอักเสบชนิดบี

การป้องกันและควบคุมโรค

การควบคุมสำหรับไวรัสตับอักเสบชนิดเอ คือ   การมีน้ำดื่ม  น้ำใช้ที่สะอาดและการสุขาภิบาลที่ดี  นอกจากนี้ก็ควรให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพอนามัยสำหรับประชาชน   เช่น  การล้างมือบ่อยๆ  ล้างมือก่อนปรุงอาหารและกินอาหาร น้ำดื่มควรใช้น้ำต้ม    ผักสดที่เป็นอาหารต้องล้างหลายๆครั้ง  อาหารทะเลที่ปรุงดิบๆสุกๆอาจนำเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดเอได้    ขณะนี้วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบชนิดเอยังอยู่ในระยะทำการศึกษา 
               การควบคุมไวรัสตับอักเสบชนิดบีทำได้ค่อนข้างยาก  โดยเฉพาะจากการ ติดต่อในผู้ที่เป็นพาหะโดยไม่แสดงอาการ ให้ทำการตรวจเลือดผู้ที่บริจาค ถ้าพบว่าเลือดของผู้ใดมีเชื้อไวรัส ก็ไม่นำไปใช้กับผู้ป่วย ทำการฆ่าเชื้อเข็มฉีดยา หลอดฉีดยาและเครื่องมือต่างๆ ในปัจจุบันมีเซรุ่มและวัคซีนสำหรับไวรัสตับอักเสบชนิดบี  แต่ก็มีราคาแพง  ทารกที่เกิดจากแม่ซึ่งเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบชนิดบีควรป้องกันการติดเชื้อในทารกโดยให้เซรุ่มและวัคซีนร่วมกันตั้งแต่ระยะแรกคลอดจนครบชุด  ในผู้ที่ขาดภูมิคุ้มกัน  และเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ควรฉีดวัคซีนป้องกัน

 

คำสำคัญ (Tags): #ประทาย4
หมายเลขบันทึก: 391167เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2010 13:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 00:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะคุณหมูแฮมพิมาย

จากการอ่านบทความของคุณมีประโยชน์มากเลยเพราะทุกวันนี้ทุกคนต้องรู้เท่าทันโรค ต้องรู้จักวิธีป้องกันและที่สำคัญที่สุดทุกคนต้องรู้จักรักษาสุขภาพนะค่ะ ดิฉันขอแนะนำการวิ่งคือการออกกำลังกายที่ไม่ต้องลงทุอะไร เพียงแต่เราต้องต่อสู้กับใจตนเองเท่านั้นใช่ไหมค่ะ

ขอบคุณค่ะคุณณิชา...ที่สนใจ...เพราะบางโรที่เราไม่รู้จักอีกมากมายเกิดจากความขี้เกียจออกกำลังกายของเราเอง..ว่างๆใส่รูปมาให้ดูด้วยน่ะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท