หนูทดลอง


บทบาทที่เราทำ เราเท่านั้นที่รู้ว่า ตัวเราเองกำลังทำอะไรอยู่ ซึ่งการเรียนรู้จะต้องมาจากการฝึกฝนและหมั่นปฏิบัติ ถ้าฟังอย่างเดียวไม่มีประสบการณ์ก็ยากต่อการเข้าใจได้

   คิดมานานแล้วว่า  มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ดิฉันอยากจะเล่าให้กับทุกท่านฟังคือ หนูทดลอง ที่ตั้งชื่อเช่นนี้ก็เพราะว่า  เป็นครั้งแรกที่ได้ทำหน้าที่เป็นวิทยากรกระบวนการ  ซึ่งเรื่องราวดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปี 2539ในปี 2539  ดิฉันได้เข้าร่วมพัฒนาคู่มือวิทยากรเรื่อง  การใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและปลอดภัย (Safe Use) กับทีมงาน ประกอบด้วย  บริษัทสารเคมี  ผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหา  กรมส่งเสริมการเกษตร  และเกษตรตำบล 

     โดยคู่มือดังกล่าวจัดทำขึ้นเมื่อประมาณ 2 ปี ที่ผ่านมา แต่ประสบปัญหาว่า  เพราะอะไรเกษตรกรจึงมีการนำไปใช้ค่อนข้างต่ำ  ยังใช้สารเคมีไม่ค่อยถูกต้อง  และเจ้าหน้ามีความยุ่งยากในการจัดการเรียนการสอนให้กับเกษตรกร  ฉะนั้น  ทีมงานจึงเกิดความตระหนักเห็นควรพัฒนาคู่มือที่เป็นชุดการเรียนการสอนในเรื่องดังกล่าวกัน  และในทีมงานนั้น ดิฉันเป็นผู้อ่อนอาวุโสที่สุด  เพิ่งเข้ารับราชการใหม่  การที่จะเสนอความคิดเห็นอะไรก็ไม่ค่อยกล้า การยอมรับมีค่อนข้างต่ำ  เลยทำหน้าที่เป็นผู้ฟังเป็นส่วนใหญ่  ทางทีมงานของเราประชุมกันหลายครั้งก็ยังหาข้อสรุปของการแก้ไขไม่ได้  การรับฟังซึ่งกันและกันมีค่อนข้างต่ำ  ถึงแม้จะมีการเสนอว่า จุดอ่อนอยู่ที่แผนการเรียนรู้ ก็ไม่มีใครเชื่อ  เลยหมดหนทางพูดแล้วละ 

     จนวันหนึ่งได้มีการตกลงที่จะไปประชุมกันที่สวนผึ้ง  จังหวัดราชบุรี ในขณะนั้น  อาจารย์ศักดา  ทวิชศรี  เป็นหัวหน้าของดิฉัน เราได้ตกลงกันว่า  การประชุมครั้งนี้เราจะทดลองสอนตามแผนการเรียนการสอนที่เขียนขึ้นเพื่อให้ที่ประชุมดูของจริง ๆ กัน  ก็เลยแบ่งเนื้อหากัน ให้ดิฉันรับหนึ่งเรื่อง ๆ ฉลากสารเคมี  และ อาจารย์ศักดา รับสองเรื่อง 

     หลังจากนั้นดิฉันก็ทำการบ้าน  ท่องจำเนื้อหาได้ทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้นการเรียนการสอนจะพูดว่าอะไร  จะใช้สื่อที่มีอยู่ในช่วงไหนบ้าง และจะถามเกษตรกรว่าอย่างไรพูดง่าย ๆ คือ จำได้ทุกตัวอักษร และทำการฝึกสอนฝึกพูดคนเดียวหน้ากระจกจนแม่น 

     พอถึงวันประชุมจริง  เรื่องที่ดิฉันรับผิดชอบต้องถ่ายทอดความรู้เป็นเรื่องแรก เราสองคนก็ไม่ได้บอกที่ประชุมหรอกว่าวันนี้เราจะทำอะไร  แต่อาจารย์ศักดา บอกดิฉันว่า ถ้าวันนี้ที่ประชุมพูดอะไรก็ให้ฟังอย่างเดียว ไม่ต้องโต้ตอบ อดทนไว้ เพราะเรากำลังเล่นบทบาทสมมติให้เขาดู  หลังจากนั้นเริ่มประชุม ดิฉันก็ทำบทบาทของตนเองโดยถ่ายทอดเนื้อหาตามแผนที่ได้เขียนไว้ซึ่งของจริงใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง  เชื่อมั้ยค่ะ? ดิฉันสอนได้ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง  ท่านผู้เชี่ยวชาญก็ยกมือขึ้นและพูดว่า หนูพอได้แล้ว  ไม่ต้องพูดต่อ เพราะที่หนูพูดนั้นมันน่าเบื่อ  เกษตรกรเขาไม่อยากฟัง  เนื้อหาพูดวนไปวนมา ซ้ำซาก กลับไปกลับมา  หนูเป็นวิทยากรอย่างนี้ไม่ได้หรอก ต้องพัฒนาตัวเอง…”  ดิฉันนิ่งอึ้งเลย หยุดชะงักทันที และพูดว่า หนูสอนตามแผนการเรียนการสอนที่เขียนไว้ในคู่มือค่ะ แล้วท่านผู้เชี่ยวชาญก็พูดต่อว่า เนื้อหาเราวกวนขนาดนี้เชียวหรือ?  อาจารย์ศักดา เลยเสริมว่า  เราทำหน้าที่สอนและถ่ายทอดเนื้อหาตามที่ท่านเขียนไว้ในคู่มือ  เพื่อให้ทุกท่านได้เห็นได้ดูกันจริง ๆ ถ้าไม่เชื่อก็เปิดเอกสารดังกล่าวดูได้เลยครับ  หลังจากนั้นคณะประชุมก็เปิดเนื้อหาอ่านกันอีกครั้ง แล้วหัวเราะพร้อม ๆ กัน เออ! แผนการสอนเราเขียนไว้อย่างนี้จริง ๆ และเนื้อหาก็เป็นแบบนี้จริงด้วย  แล้วที่ประชุมก็ให้ดิฉันและอาจารย์ศักดา ถ่ายทอดเนื้อหากันจนครบทุกเรื่องราว  หลังจากนั้นก็หันกลับมาวิเคราะห์และสร้างเนื้อหากันใหม่  ทุกคนก็สนุกสนานครื้นเครงค่ะ

     ก็เป็นเรื่องราวครั้งแรกที่ถูกนำตัวเองเข้าไปใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนเพื่อให้ทีมงานดูเพื่อปรับแก้จุดอ่อน ซึ่งดิฉันก็ยอม เพราะเราคือ เจ้าหน้าที่ฝึกอบรม มีหน้าที่สื่อสารให้บุคคลอื่นเกิดความรู้ความเข้าใจและพัฒนาตนเองและงานที่จะทำร่วมกัน โดยใช้ บทบาทสมมติที่ทำหรือแสดงให้คนอื่นดูและยอมให้เขาวิจารณ์ เพราะเป็นบทบาทที่เขาเขียนและกำหนดให้เราเล่นเองต่างหาก และ ถ้ายิ่งเราฝึกเราก็ยิ่งได้  ถ้าเรายิ่งลงมือปฏิบัติเราก็จะยิ่งเป็นนะค่ะ. 

หมายเลขบันทึก: 38979เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2006 16:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท