สภาการศึกษาเห็นชอบกำหนดเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ๑๘๓ เขต และเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ๔๒ เขต


นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมสภาการศึกษา ครั้งที่ ๒/๒๕๕๓ เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๓ ณ ห้องประชุมงบประมาณชั้น ๓ อาคารรัฐสภา ๓ 

รมว.ศธ. กล่าวว่า ที่ประชุมสภาการศึกษาได้พิจารณาให้ความเห็นชอบเรื่องสำคัญ ๒ เรื่อง ได้แก่

การกำหนดเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา

โดยที่ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ฉบับที่ ๒) และ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ ๓) ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๓ และมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ศธ.ได้แต่งตั้งคณะทำงานเตรียมการจัดทำข้อมูลเพื่อรองรับการปรับลด-เพิ่ม จำนวนเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งได้มีข้อสรุปดังนี้ 

- กำหนดเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ๔๒ เขต และเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ๑๘๓ เขต สำหรับเขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานครเดิมมี ๓ เขต ได้กำหนดเป็นเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ๒ เขต และเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ๑ เขต

- ปรับปรุงเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จ.สกลนคร โดยเขต ๑ ให้เพิ่ม อ.กุดบาก เขต ๒ ลด อ.กุดบาก และเพิ่ม อ.เจริญศิลป์ ส่วนเขต ๓ ลด อ.เจริญศิลป์

รมว.ศธ. กล่าวเพิ่มเติม ตนได้ลงนามในประกาศกระทรวงศึกษาธิการเรื่องกำหนดเขตพื้นที่ประถมศึกษาและมัธยมศึกษาแล้ว เพื่อให้เลขาธิการสภาการศึกษานำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่ง สพฐ.จะได้ประกาศรายชื่อโรงเรียนที่อยู่ในเขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ ตามกฎหมายระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ หลังจากนั้นจะได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) วิสามัญ เพื่อทำหน้าที่พิจารณาการบริหารงานบุคคล สำหรับเขตพื้นที่มัธยมศึกษาขึ้นมาภายใน ๑๘๐ วัน ก่อนที่จะมีการสรรหาและแต่งตั้ง อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาต่อไป 

ยุทธศาสตร์และมาตรการด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนที่สอดคล้องกับข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ. ๒๕๕๒-๒๕๖๑)


สภาการศึกษาได้ดำเนินการศึกษาวิจัยและนำเสนอยุทธศาสตร์มาตรการผลิตและพัฒนากำลังคน โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาระบบการผลิตและพัฒนากำลังคนตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิแห่งชาติ มีการจัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อการรับรองสมรรถนะความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงาน มีการพัฒนาระบบการจ้างงานและกำหนดเงินเดือน/ค่าตอบแทนตามสมรรถนะ ขยายการศึกษาระบบทวิภาคี สหกิจศึกษา และการฝึกงานให้มากขึ้น สัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้น โดยมีสัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษา:สามัญศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เป็น ๖๐:๔๐ ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ ๙ ด้านดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ ๑ : ปฏิรูประบบการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน (demand-driven) และเอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning)
ยุทธศาสตร์ที่ ๒ : พัฒนาคุณภาพกำลังคนทุกระดับ
ยุทธศาสตร์ที่ ๓ : เร่งผลิตและพัฒนากำลังคนด้านอาชีวศึกษาให้มีปริมาณและคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการ
ยุทธศาสตร์ที่ ๔ : ผลิตและพัฒนากำลังคนโดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นให้เพียงพอต่อความต้องการในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
ยุทธศาสตร์ที่ ๕ : ฝึกอบรมระยะสั้นเพื่อยกระดับความสามารถกำลังแรงงาน
ยุทธศาสตร์ที่ ๖ : เสริมสร้างความยั่งยืนให้กับภาคการผลิตและบริการที่เชื่อมโยงกับการพัฒนากำลังคน
ยุทธศาสตร์ที่ ๗ : สร้างเสริมความเข้มแข็งให้ครู คณาจารย์ และผู้บริหารสถาบันการศึกษา
ยุทธศาสตร์ที่ ๘ : พัฒนาระบบการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ
ยุทธศาสตร์ที่ ๙ : สร้างระบบความร่วมมือและเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคน

อ้างอิงจาก http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=20020&Key=news1

คำสำคัญ (Tags): #สพป. และ สพม.
หมายเลขบันทึก: 389209เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2010 17:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:05 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท