นปส.55 (36): มังกรเคลื่อนกาย


เมื่อต้องติดต่อสัมพันธ์กับต่างชาติที่เป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดสนิทกัน จำเป็นต้อง “ลดอคติจากประวัติศาสตร์ เปิดใจ ให้ใจจึงจะได้ความไว้ใจ” ต้องสร้างสถานะภาพของการได้ทั้งสองฝ่าย (ชนะ-ชนะ) และช่วยกันพัฒนา พึ่งพิงอิงกัน ไม่โดดเด่นหรือได้คนเดียว

การศึกษาดูงานที่ผ่านมาได้ประโยชน์เป็นอย่างมาก แม้จะต้องแลกกับความอ่อนล้าที่เกิดจากการเดินทางอันทรหดเร่งรีบ เนื่องจากมีเวลาอยู่ที่สิบสองปันนาแค่สามวัน คราวก่อนที่ผมไปได้ไปชมสวนนกยูง ไปเที่ยวหมู่บ้านชนเผ่าแต่คราวนี้ไม่ได้ไปและเดินทางกลับด้วยเรือมาตามลำน้ำโขงมาที่ท่าเรือเชียงแสน คราวนี้เดินทางด้วยรถยนต์เป็นเส้นทางและระยะเวลายาวนาน

การศึกษาดูงานในครั้งนี้กลุ่ม กป.4 (กลุ่มประกอบด้วยพี่ภพ พี่เวง พี่อึ่ง พี่สงค์ พี่นี พี่เชด พี่โย่ง พี่ต่าย พี่พ๊อพและผม) ได้สรุปความรู้ แนวคิดและประสบการณ์ที่หลากหลายทั้งจากการดูงานในเชียงราย พม่า ลาวและจีน ดังนี้

  1. การพัฒนาใดๆจะนึกเอาความ “อยากทำ” ตามใจตัวเราหรือผู้บริหารอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีการวิเคราะห์โอกาส ข้อจำกัด จุดเด่น จุดด้อยหรือต้องรู้จักบริบทของตัวเองก่อน เพื่อหาความเป็นไปได้ในการดำเนินการและประเมินโอกาสประสบความสำเร็จในเบื้องต้นได้ ดังที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายกล่าวว่า “ไม่มีนโยบายเพราะจะทำตามนโยบายรัฐบาล และจะไม่ทำอะไร (ตามใจตัวเอง) แต่จะทำตามความต้องการของชาวบ้าน
  2. การพัฒนาชุมชนหรือจังหวัด ต้องรู้จักภูมิประเทศและภูมิสังคมของที่นั้นๆก่อน อย่าทำอะไรที่ฝืนจากภูมิประเทศของเขากับความสามารถดั้งเดิมของคนถิ่นนั้น เขาจะทำได้ดี ข้าราชการจึงต้องรู้จักฟังชาวบ้าน ฟังเป็น คิดแบบชาวบ้านได้ ฟังเขาว่าคิดอย่างไร เขาจะแก้ปัญหาของเขาอย่างไรและสอนแนะให้เขาวิเคราะห์เป็นและที่สำคัญอีกประการคือเสริมพลัง ให้เขากล้าคิดและกล้าทำ
  3. พื้นที่ต่างๆธรรมชาติได้ให้สิ่งต่างๆมาอย่างสมดุลดีแล้ว แต่มนุษย์ได้ทำลายไปด้วยความตั้งใจหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ การศึกษาข้อมูลและใช้ปัญญา จะสามารถสร้างเอกลักษณ์ คุณค่าและความยั่งยืนคืนให้ท้องถิ่นได้ ดังโครงการสนับสนุนโดย “เพิ่มแหล่งท่องเที่ยว ลดขยะ คงที่วัฒนธรรม
  4. การท่องเที่ยวมีความสำคัญและช่วยส่งเสริมรายได้ของคนในชุมชนในสังคมยุคทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ ที่โลกมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราจึงไม่สามารถทำให้ชุมชนๆหนึ่งหยุดนิ่งอยู่อย่างเดิมได้ แต่เราสามารถคลี่คลายให้สอดคล้องไปได้ ทำให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรม ให้เที่ยวตามที่มันเป็นจริงและเชื่อมให้สอดคล้องกันโดยการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ผู้ว่าเชียงรายบอกว่า “อยากให้เชียงรายเป็นเหมือนที่เคยเป็น”
  5. ประเทศไทยมีความหลากหลายงดงามและอุดมสมบูรณ์ในด้านต่างๆอยู่มาก ทั้งวิถีชีวิต ผู้คน ชนเผ่าและทรัพยากรธรรมชาติ “ความหลากหลายคือความงดงามและความอยู่รอดของสรรพสิ่ง” ดังเห็นได้จากจังหวัดเชียงรายที่มีจุดเด่นหรือมีโอกาสพัฒนาในหลายๆด้าน หากแต่ยังขาดความเข้มข้นจริงจังต่อเนื่องและขาดการวางแผนระยะยาว ขาดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงยังไม่สามารถใช้จุดเด่นจุดแข็งเหล่านี้สร้างความอยู่ดีกินดีของประชาชนให้กระจายไปทั่วทั้งจังหวัดได้ การแต่งตั้งผู้บริหารระดับจังหวัดจึงต้องให้มีระยะเวลาทำงานต่อเนื่องเพียงพอ
  6. การขายสินค้าเป็นเพียงกำไรระยะสั้นเพราะไม่สร้างความแตกต่าง (Differentiation) จึงต้องพยายามขายความแตกต่างโดยการสร้างเอกลักษณ์ของสินค้าหรือสถานที่หรือวิธีการจัดจำหน่ายเพื่อให้ลูกค้าเกิดความประทับใจและจะสร้างกำไรได้อย่างยั่งยืน จึงต้อง “ขายความแตกต่าง สร้างเอกลักษณ์
  7. ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นบุคคลสำคัญของจังหวัดที่จะนำให้ภาคส่วนต่างๆในจังหวัดรวมตัวช่วยกันร่วมพัฒนาจังหวัดเพื่อให้ประชาชน “อยู่ดีกินดี อยู่เย็นเป็นสุข อยู่รอดปลอดภัย” การแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดจึงต้องดูคนที่ “เก่งงาน เก่งคน เก่งคิด เก่งชีวิต” และต้องสามารถนำเอาสิ่งดีๆของจังหวัดมานำเสนอได้อย่างน่าสนใจ
  8. เส้นทางศึกษาดูงานคราวนี้สะท้อนถึงความเชื่อมโยงในประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของผู้คนที่มีความเกี่ยวดองข้องแวะกันมาตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์ก่อนที่จะมีการเกิดการแบ่งอาณาเขตประเทศกันชัดเจนในปัจจุบัน หากลดลัทธิความคลั่งชาติไปได้ ทั้งไทย พม่า ลาว จีน ก็ล้วนมีความสัมพันธืที่ดีต่อกันและจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนเพราะ “ประเทศเกิดทีหลัง แต่ผู้คนเกิดมานานแล้ว” การเปลี่ยนสนามรบเป็นการค้า การแบ่งแยกกีดกันทางการเมืองควรลดลงเพื่อร่วมกันพัฒนาและใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นประโยชน์แก่ผู้คนในแถบนี้ให้มากที่สุด
  9. การตัดสินใจดำเนินการใดๆโดยเฉพาะเมื่อต้องติดต่อสัมพันธ์กับต่างชาติที่เป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดสนิทกัน จำเป็นต้อง “ลดอคติจากประวัติศาสตร์ เปิดใจ ให้ใจจึงจะได้ความไว้ใจ” ต้องสร้างสถานะภาพของการได้ทั้งสองฝ่าย (ชนะ-ชนะ) และช่วยกันพัฒนา พึ่งพิงอิงกัน ไม่โดดเด่นหรือได้คนเดียว เหมือนกับที่จีนสามารถขอเช่าพื้นที่ของพม่าและลาวได้ยาวนานถึง 90 ปี
  10. การพัฒนาและใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงร่วมกันหลายๆประเทศ เมื่อต้องติดต่อสัมพันธ์ วิพากษ์วิจารณ์หรือตัดสินใจใดๆ ต้องอยู่บนพื้นฐาน “ข้อมูล ความรู้จริง” หรือ Fact-based ไม่ใช่ “ความรู้สึก (เอาเอง)” เช่น การที่จีนสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง (ล้านช้าง) ในจีน ส่งผลให้ประเทศใต้เขื่อนขาดน้ำจริงหรือ เราต้องศึกษาให้ชัดว่าแหล่งน้ำที่ป้อนน้ำลงสู่แม่น้ำโขงในส่วนที่อยู่ในไทยนั้นมาจากไหน ถ้ามาจากแหล่งน้ำในพม่าหรือลาว ไม่ใช่จีน เราก็อาจถูกมองได้ว่าไม่รู้จริง
  11. การจัดการการท่องเที่ยวต้องทำอย่างบูรณาการครบวงจร กำหนดแนวคิดหลัก (Theme) ของการท่องเที่ยวแต่ละเส้นทาง จัดเส้นทางท่องเที่ยว (Rout tour) ให้เหมาะสม มีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ค้นหาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ สร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ให้สอดคล้องกับแนวคิดการท่องเที่ยว พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการท่องเที่ยว การประสานงานกันระหว่างผู้จัดแหล่งท่องเที่ยว ผู้นำเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร การคมนาคมขนส่ง ไม่ใช่ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ “ฝ่ายขาย (ททท.) ก็ประชาสัมพันธ์อย่างเดียว ฝ่ายพัฒนา (ก.ท่องเที่ยวฯและท้องถิ่น) ก็พัฒนาอย่างเดียว ไปคนละทิศละทาง” การจัดการการท่องเที่ยวจึงต้อง “เป็นการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับภูมิศาสตร์ภูมิสังคม สอดรับกับธุรกิจ จัดเกษตรกรรมที่สอดประสานกับการท่องเที่ยว พัฒนาเทคโนโลยีให้ส่งเสริมการท่องเที่ยว จัดเส้นทางทัวร์ที่สนับสนุนการมีรายได้ของประชาชนกลุ่มต่างๆในพื้นที่
  12. การจัดการการท่องเที่ยวต้องทำให้มัคคุเทศก์มีความภาคภูมิใจในอาชีพและประเทศชาติของตนเอง มีจิตบริการ มีมาดบริการ ต้องรู้ใจนักเที่ยว สามารถพูดบอกเล่าเรื่องราวของประเทศชาติและสถานที่ท่องเที่ยว “Story telling” ได้ สร้างแรงจูงใจด้านรายได้และคุณค่าทางใจแก่มัคคุเทศก์ เหมือนกับที่มัคคุเทศก์ชาวจีนพูดกับคณะดูงานในวันสิ้นสุดการเดินทางว่า “ในนามของประธานาธิบดีและประชาชนชาวจีน ขอขอบคุณทุกท่านที่เดินทางมาเยี่ยมเยียนแผ่นดินอันงดงามของเรา และหวังว่าเราคงจะได้ต้อนรับท่านอีก
  13. การเพิ่มโอกาสทางการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวเป็นเรื่องสำคัญที่ประเทศควรให้ความสนใจ เหมือนกับที่จีนไม่มีอาณาเขตติดกับประเทศไทยแต่ก็สามารถสร้างอาณาเขตจำลองขึ้นมาได้โดยการเข้ามาเช่าที่ดินของลาวและพม่ามาทำศูนย์อัครมหาความบันเทิง โดยที่รัฐเพียงแต่ออกหน้า แล้วปล่อยสัมปทานให้กลุ่มพ่อค้าเข้ามาดำเนินการ โดยที่รัฐไม่ต้องลงมือเอง ทำให้การดำเนินการต่างๆเป็นไปอย่างรวดเร็วทันการณ์ ไม่ต้องรองบประมาณจากรัฐ “รัฐออกหน้า พ่อค้าออกเงิน
  14. พื้นที่ชายแดนที่เป็นรอยต่อของแต่ละประเทศ เป็นทั้ง “วิกฤติและโอกาส” ของจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่เหล่านั้น เพราะอาจกลายเป็นแหล่งอบายมุข ค้ายาเสพติด ค้าของเถื่อน อาชญากรรมข้ามชาติ หรือสามารถพลิกวิกฤติเป็นโอกาสโดยการพัฒนาให้เป็นแหล่งการค้าชายแดน แหล่งท่องเที่ยวชายแดนเพิ่มรายได้ให้กับประเทศชาติและประชาชนในพื้นที่ได้หากมีการวางยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมและสร้างความร่วมมือที่ดีที่ไว้วางใจกัน

การวิเคราะห์ในประเด็นนี้ทางกลุ่ม กป. 4 ขอใช้การวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ในภาพรวมของสถานที่ที่ได้ไปศึกษาดูงานทั้ง 4 ประเทศ และสรุปเป็นแนวทางหลักในการพัฒนาของแต่ละแห่ง ดังนี้

  1. จังหวัดเชียงราย ประเทศราชอาณาจักรไทย

-       การบริหารและการวางแผนพัฒนายุทธศาสตร์จังหวัด/กลุ่มจังหวัด มีการพัฒนาในลักษณะ “จับปลาหลายมือ” ทำให้ทำเรื่องต่างๆมากเกินไป แม้จะมีสิ่งดีๆเยอะ มีโอกาสมาก แต่ต้องมีการเรียงลำดับความสำคัญเพื่อไม่ให้ทรัพยากรที่จะใช้พัฒนาที่มีอยู่จำกัดกระจายตัวเป็นโครงการเล็กโครงการน้อย จนไม่สามารถทำการลงทุนขนาดใหญ่ที่จำเป็นได้ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาเรื่องเล็กๆจำนวนมากแต่อยู่ได้ไม่นาน เกิดการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน “เหมือนการจับปลาหลายตัวพร้อมๆกันก็จะจับได้แค่ปลาเล็กปลาน้อย บริโภคไม่นานก็หมด อยู่ได้ไม่นาน

-          การลงทุนชายแดนของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน มีลักษณะเป็นทางผ่านของสินค้ามากกว่าเนื่องจากสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดยังไม่สามารถนำเสนอได้ ตลาดแม่สายมีนักท่องเที่ยวเข้าไปจับจ่ายใช้สอยน้อยกว่าตลาดท่าขี้เหล็กของพม่า การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานยังทำได้ล่าช้าเนื่องจากขาดงบประมาณและการไม่สามารถตัดสินใจดำเนินการเองได้ของผู้ว่าราชการจังหวัด ในช่วงนี้เมื่อลาว พม่ายังมีเศรษฐกิจด้อยกว่าการค้าส่งจากเมืองไทยจะยังพอไปได้ แต่หากสินค้าอุปโภคบริโภคของพม่าและลาวสามารถผลิตเองได้หรือสินค้าจากจีนมีคุณภาพสูงขึ้นและติดตลาด เราก็จะเสียเปรียบเสียดุลการค้าได้

-          สภาพเศรษฐกิจและการบริหารจัดการการค้าชายแดนด่านพรมแดน การค้าชายแดนระหว่างไทย-พม่ามีความไม่แน่นอนสูงจากปัญหาภายในของพม่าจึงทำให้การวางแผนพัฒนาดำเนินการได้ยาก ไม่ค่อยมีใครกล้าลงทุน ส่วนทางด้านลาวและจีน (เชียงแสน) การค้าและโดยสารผ่านทางเรือก็ยังมีปัญหาเรื่องร่องน้ำโขงที่บางช่วงบางตอนตื้นเขินจนเรื่อผ่านลำบาก ทำให้การวางแผนดำเนินการด้านนี้ลำบาก ส่วนทางด้านลาว (เชียงของ-บ่อแก้ว) ตลาดทั้งสองฝั่งมีขนาดเล็กไม่ดึงดูดใจ ทำให้คนลาวส่วนใหญ่จากหลวงพระบางนั่งรถโดยสารเข้าไปจับจ่ายใช้สอยในจีน (สิบสองปันนาและคุณหมิงมากกว่า) ทั้งๆที่ชายแดนไทยที่เชียงของใกล้กว่า แต่ตลาดมีขนาดเล็ก สินค้ามีน้อย ไม่มีแหล่งดึงดูดใจเหมือนของจีน

2.      แขวงท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมาร์

เป็นการพัฒนาในลักษณะ “ทำเท่าที่มี” คืออาศัยแค่ตลาดท่าขี้เหล็กเป็นตัวดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปจับจ่ายใช้สอยและคอยเก็บรายได้จากการผ่านแดนเท่านั้น ไม่มีความสนใจร่วมกันในการพัฒนาจัดการทรัพยากรน้ำ (แม่สาย) ไม่มีการวางแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวที่ชัดเจนทั้งๆที่ภายในตัวเมืองท่าขี้เล็กมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่และเจดีย์ชเวดากองจำลองให้เข้าไปกราบไหว้บูชาได้ ก็ให้เป็นแค่ความสมัครใจของนักท่องเที่ยวร่วมกับการเดินทางเท่าที่ทำได้จากการเหมาสามล้อหรือมอเตอร์ไซด์ ไม่มีไกด์นำเที่ยว หรือกระบวนการสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยว รวมทั้งเส้นทางR3B ที่ไปเมืองเชียงตุง เมืองลาและไปสิบสองปันนาได้ก็ไม่ได้รับการประชาสัมพันธ์และพัฒนาเท่าที่ควร ทั้งๆที่จะเป็นแหล่งรายได้มาพัฒนาประเทศได้ จึงเป็นลักษณะ “มีแค่ไหน ทำแค่นั้น

3.      แขวงบ่อแก้วและแขวงหลวงน้ำทา ประเทศลาว

เป็นการพัฒนาในลักษณะ “ปล่อยไปตามกาล” ทั้งๆที่ในส่วนของบ่อแก้วก็มีแหล่งท่องเที่ยวและเป็นด่านชายแดนที่สามารถพัฒนาให้คนเข้าไปเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยหรือเรียนรู้วิถีชีวิตชาวบ้านได้ แต่ก็ไม่มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการค้าชายแดนเท่าที่ควรจะเป็นปล่อยให้เป็นไปตามศักยภาพของชาวบ้านกันเอง การพัฒนาตลาดการค้าชายแดนไม่ได้ทำ จึงเป็นแค่เมืองผ่านที่ไม่สามารถทำให้นักท่องเที่ยวหยุดและควักกระเป๋าจับจ่ายใช้สอยได้ รวมทั้งหลวงน้ำทาก็มีแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจที่สามารถพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวได้ไม่แพ้สิบสองปันนาแต่ก็ไม่ได้รับการพัฒนา ในเส้นทางที่ผ่าจากบ่อแก้วไปหลวงน้ำทาไปสิบสองปันนาก็ไม่มีจุดจอดพักที่สามารถควักกระเป๋านักท่องเที่ยวได้ จึงได้แต่เป็นทางผ่านและแวะเข้าห้องน้ำกับทานอาหารกลางวันเท่านั้น ปล่อยให้เมืองพัฒนาตัวของมันเองไปเรื่อยๆช้าๆ “ปล่อยไปเรื่อยๆเดี๋ยวเมืองมันก็โตของมันเองตามจำนวนผู้คนที่เพิ่มขึ้น

4.      เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา ประเทศจีน

มีการพัฒนาในลักษณะ “รัฐออกหน้า พ่อค้าออกเงิน” โดยรัฐบาลเป็นผู้วางยุทธศาสตร์ วางแผนการพัฒนาเมืองอย่างเป็นระบบ มีการวางโซนนิ่ง การอนุรักษ์ การพัฒนาเมือง การพัฒนาตลาดการค้า การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว แล้วให้สัมปทานแก่ภาคเอกชนมาดำเนินการตามที่รัฐบาลกำหนดไว้ ให้อำนาจการปกครองตนเองและตัดสินใจพัฒนาแก่รัฐบาลท้องถิ่นที่มีขนาดใหญ่ ไม่ต้องรองบประมาณจากรัฐบาลทำให้ไม่เสียเวลาระดมทุนหรือกู้เงินจากต่างประเทศมาดำเนินการ จึงเป็น “คอมมิวนิสต์ที่คิดพัฒนา” ไม่ใช่ “ประชาธิปไตยที่เน้นรูปแบบ” เหมือนของไทยเรา จีนจึงสามารถทำให้คอมมิวนิสต์ไปกับทุนนิยมได้อย่างราบรื่นเหมือนกับที่เติ้งเสี่ยวผิง เคยกล่าวไว้ว่า “ แมวจะขาวหรือดำไม่สำคัญ ขอให้จับหนูได้

-      การบริหารและการจัดการทรัพยากรน้ำ จีนมีการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจด้านต่างๆทั้งการกสิกรรม การคมนาคมขนส่ง การผลิตกระแสไฟฟ้า โดยรัฐวางแผน ออกแบบ ควบคุมแล้วให้สัมปทานแก่ภาคเอกชนมาดำเนินการโดยไม่ต้องใช้งบประมาณของรัฐเอง ไม่ต้องกังวลเรื่องงบประมาณจะรั่วไหล จีนศึกษาความเป็นมาของลุ่มน้ำโขง ปริมาณน้ำต้นน้ำที่ไหลลงแม่น้ำโขงและผลกระทบที่จะเกิดกับประเทศปลายน้ำและพบว่า ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงในส่วนของไทย พม่า ลาว มาจากแหล่งน้ำบนภูเขาต้นน้ำในแต่ละประเทศเองมากกว่า การสร้างเขื่อนจะไม่ใช่สาเหตุขาดน้ำหรือแม่โขงแห้ง หากต้องมีการเจรจากันจริง ประเทศอื่นๆก็จะเถียงได้ยาก

-          การอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นเมืองและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ในส่วนนี้ค่อนข้างจะมีปัญหาในส่วนของวัฒนธรรมพื้นเมืองในสิบสองปันนา จีนอนุรักษ์ไว้เพียงเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวไม่มากแห่ง ไม่ใช่วิถีชีวิตจริงแท้แล้ว แต่เป็นเพื่อวิถีชีวิตการค้า ทำให้เด็กรุ่นใหม่ไม่สนใจวัฒนธรรมไทยลื้อดั้งเดิม เด็กรุ่นใหม่พูดภาษาไทลื้อไม่ได้ ปรับวิถีชีวิต ภาษาความเป็นอยู่ไปแบบจีนเกือบหมด จีนมองในลักษณะ “วัฒนธรรมพื้นเมืองอะไรที่ขายได้ก็จะเก็บเอาไว้ อันไหนขายไม่ได้ก็รื้อทิ้งไป” ส่วนเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ก็ไม่ค่อยเป็นไปตามสภาพธรรมชาติเท่าไหร่ ชายฝั่งแม่น้ำถูกปรับปรุง ความหลากหลายทางพืชพันธุ์ในป่าเขาถูกปรับเปลี่ยนเป็นสวนยางพาราซึ่งจะทำให้ความเป็นธรรมชาติสูญเสียไป ถนนหนทางตัดผ่านป่าเขาแบบสร้างสะพานข้ามหุบเหวและทำอุโมงค์ลอดภูเขา ซึ่งส่วนนี้ไม่แน่ใจว่ามีการประเมินสิ่งแวดล้อมก่อนสร้างหรือไม่

-          การวางแผนพัฒนายุทธศาสตร์เพื่อการท่องเที่ยว ในส่วนนี้มีความเด่นชัดมาก มีการวางแผนอย่างเป็นระบบ กำหนดเส้นทางการท่องเที่ยวที่ชัดเจนบังคับ มัคคุเทศก์มีความรู้มีแรงจูงใจ มีการสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยงเชิงวัฒนธรรมเช่นหมู่บ้านไทลื้อมีเงินเดือนหรือรายได้ให้เพิ่มเติมจากรัฐ มีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่โดยการให้สัมปทานเอกชนมาทำ เช่น สร้างถนนหนทาง สร้างวัดหลวงไทลื้อ สร้างพิพิธภัณฑ์เมือง มีการขอเช่าพื้นที่ของลาวและพม่าเพื่อสร้างศูนย์อัครมหาความบันเทิงแบบครบวงจรตามแนวชายแดนไทยซึ่งมีกำลังซื้อสูงกว่าพม่าและลาว

-          การค้าชายแดนระหว่างประเทศ มีการวางแผนเป็นระบบทั้งแหล่งผลิตสินค้าและแหล่งระบายสินค้า ขยายพื้นที่เขตติดต่อกับเพื่อนบ้านทั้งไทย พม่า ลาว โดยการเช่าที่ สนับสนุนเขตสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ พัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่ง

ความมีวิสัยทัศน์ของผู้นำจีนที่แม้จะมีเขตแดนติดต่อกับ 15 ประเทศแล้ว ก็ยังพยายามขยายอาณาเขตแดนโดยอาศัยการเช่าพื้นที่ของลาวและพม่าเพื่อเพิ่มช่องทางการติดต่อและระบายสินค้าของจีนได้มากขึ้น

หมายเลขบันทึก: 389166เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2010 15:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2019 11:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท