ศิลปินชั้นเยี่ยมที่อายุน้อยที่สุด


อนุพงษ์ จันทร

ศิลปะหรือตราบาปบนผ้าจีวร

โดย    ถวิล  เดชบุรัมย์  
          
          วงการศิลปะของไทยกลับมาคึกคักอย่างต่อเนื่อง ในช่วงเวลา 2- 3  ปีที่ผ่านมา มีคนหลากหลายอาชีพเข้าไปชมการแสดงผลงานศิลปะมากขึ้น  หลังจากที่ก่อนหน้านี้เป็นเสมือนการทำเองและดูเองของคนในวงการศิลปะ    เหตุผลหนึ่งก็คือกระแสข่าวที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์  กรณีศิลปินคนหนึ่งได้นำผ้าจีวร  ซึ่งพุทธศาสนิกชนถือว่าเป็นของสูงที่สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช้คลุม ร่างกาย  ถือเป็นเครื่องอัตถบริขารสำคัญ และยิ่งกว่านั้นก็คือถือเป็นธงชัยแห่งพระอรหันต์  มาสร้างงานจิตรกรรมในหลายกรรมหลายวาระ  ได้รับรางวัลจากหลายสำนักจนเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงอย่างรวดเร็ว  และล่าสุดได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยม
         ผลงานที่คนในสังคมเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ศิลปินคนนี้มากที่สุดคือภาพ  “ภิกษุสันดานกา” ซึ่งได้รับรางวัลเกียรตินิยมเหรียญทองการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ  ครั้งที่  53    เกิดการประท้วงและแสดงความเห็นมากมายทั้งพระสงฆ์และฆราวาส  เช่น  ให้ถอดถอนรางวัล  ให้ระงับการเผยแพร่ผลงาน  เรียกร้องให้ศิลปินรับผิดชอบต่อสังคมกว่านี้    นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตไปถึงบรรดาศิลปินคนอื่น ๆ  อีกว่ามักสร้างผลงานกระทบกระเทือนดูหมิ่นสิ่งที่คนให้ความเคารพ  เพียงเพื่อต้องการชื่อเสียง  เงินทอง  จนที่สุดก็ได้ลามไปถึงมหาวิทยาลัยศิลปากรตลอดจนคณะกรรมการตัดสินผลงานว่าไม่ควรส่งเสริมคนที่นำพระพุทธศาสนามาย่ำยีอย่างนี้  เป็นต้น
          กรณีที่ตกเป็นข่าวมากที่สุดคือพระสงฆ์รูปหนึ่งถือภาพถ่ายผลงาน“ภิกษุสันดานกา” ออกมานอนประท้วงกลางถนน  โดยให้เหตุผลว่าเป็นการดูหมิ่นและสร้างความเสื่อมเสียให้กับพระภิกษุในบวรพุทธศาสนา  เนื่องจากภาพดังกล่าวมีพระ 2 รูป  มีปากเป็นอีกา  กำลังก้มลงแย่งกันล้วงสิ่งของจากบาตรพระ  ตามร่างกายของพระทั้ง 2 รูป  มีรอยสักทั่วทั้งตัว  โดยมีทั้งรอยสักกบผสมพันธุ์ และตุ๊กแกผสมพันธุ์  นอกจากนั้นในย่ามของพระภิกษุรูปหนึ่งยังมีลูกกรอกชายหญิง  แสดงให้เห็นอวัยวะเพศ ในท่ากำลังมีเพศสัมพันธ์กัน  ขณะเดียวกันแกนนำสมัชชาชาวพุทธแห่งชาติ  และศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งชาติเข้ายื่นประท้วงภาพวาดดังกล่าวที่หน้ามหาวิทยาลัยศิลปากรและยื่นหนังสือประท้วงถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมขณะนั้น  คือคุณหญิงไขศรี  ศรีอรุณ  ให้เห็นแก่ความรู้สึกของพุทธศาสนิกชน  เพราะพระสงฆ์เป็นผู้สืบทอดพระพุทธศาสนา  เป็นผู้นำ  ทางจิตวิญญาณของประชาชน  ถึงแม้จะเป็นงานศิลปะ   แต่ถ้าไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกในทางที่ดี  ส่งผลกระทบต่อจิตใจประชาชนและพระสงฆ์  โดยภาพรวมถือว่าไม่เหมาะสม   โดยให้ระงับการแสดงไว้ก่อน   ถ้าไม่กระทำตามข้อเรียกร้องจะระดมพระสงฆ์และชาวพุทธทั่วประเทศออกมาชุมนุมประท้วงต่อไป  
         อีกภาพหนึ่งที่ชาวพุทธได้เห็นแล้วเกิดความรู้สึกเหมือนถูกดูหมิ่นคือภาพ“หมา-นุษย์” ผลงานของศิลปินคนเดียวกัน โดยลักษณะของภาพใช้ผ้าพื้นจากผ้าจีวร  มีรูปสัตว์  4  เท้า  คล้ายสุนัขเพศเมียตัวหนึ่งที่ไม่มีเครื่องนุ่งห่ม  มีนมเหมือนมนุษย์   กับภาพสุนัขเพศผู้อีกตัวหนึ่ง  ตามผิวหนังจะมีลายสักลายเดียวกันกับภาพภิกษุสันดานกา  เท้าหลัง–เท้าหน้า  เป็นเท้าและมือมนุษย์  ที่ลำตัวมีจีวรห่มพันกาย  และมีภาพของอีกาหลายตัวเกาะจิกกินอาหารอยู่บนตัวสุนัขทั้งสอง   ไม่เฉพาะพระสงฆ์เท่านั้นที่รู้สึกไม่ดีต่อภาพดังกล่าว  ผู้ชมผลงานศิลปะบางคนที่ได้แสดงความคิดเห็นว่า แม้เขาจะชื่นชมงานศิลปะและเข้าดูนิทรรศการเป็นประจำ   พอได้เห็นภาพนี้ก็เข้าใจความรู้สึกและจินตนาการของศิลปิน แต่รู้สึกว่ามันจะแรงไป  ภิกษุที่นุ่งห่มด้วยผ้าจีวรก็คงมีความรู้สึกไม่ดีต่อภาพนี้เช่นเดียวกัน  
          พระธนพันธ์  ฐิติสังวโรกับพระสิวะ ชยเมโธ พระสายธรรมยุต จากจังหวัดนครปฐมที่ได้เข้าชม   ผลงานศิลปะชุดดังกล่าว  ได้แสดงความคิดเห็นว่า  แม้ว่าในความเป็นจริงอาจมีภิกษุบางรูปทำตัวไม่เหมาะสม  แต่ชาวพุทธก็ไม่ควรแสดงออกด้วยภาพลักษณะนี้   ที่สำคัญผ้าที่ใช้เป็นพื้นของภาพวาด  เป็นผ้าจีวรจริง ๆ   บางภาพมีรูปนางแบบโป๊เปลือยมาติดเป็นพื้นหลัง  ใช้ผ้าจีวรคลุมทับ  แต่ยังมองเห็นชัดเจน ไม่ควรอย่างยิ่ง  ทำไมต้องแสดงออกในความคิดไม่ดีกับสงฆ์ด้วยภาพสงฆ์กับภาพภิกษุสันดานกา  ทำไมไม่วาดภาพนักการเมืองสันดานกาบ้าง  ผู้วาดภาพนี้อาจนับถือศาสนาพุทธ  แต่คงไม่เข้าใจถึงแก่น   
          สำหรับกรณีที่ศิลปินนำผ้าจีวรมาใช้อย่างไม่เหมาะสมนั้น  อาจารย์ศุภกฤษ  ทิพย์โอสถ  ซึ่งสอนที่แผนกวิชาวิจิตรศิลป์  วิทยาลัยอาชีวศึกษามหาสารคามได้แสดงความคิดเห็นว่า  ขอให้ย้อนไปดูในสังคมชนบทอีสาน  ผ้าจีวรเก่าหรือผ้าสบงที่พระสงฆ์เลิกใช้แล้วถูกนำมาใช้ประโยชน์สารพัด  นับตั้งแต่นำมาใช้ทำหางว่าว  ทำไส้โคมไฟที่ใช้จุดในเทศกาลออกพรรษา  แม้แต่นำมาทำผ้าขี้ริ้วถูพื้นหรือพันเป็นลูกกลม ๆ มาเตะแทนลูกฟุตบอล ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา  เด็กวัด  ชาวบ้านและพระสงฆ์  เขาทำกันมานานจนถือว่าเป็นเรื่องปกติ  ส่วนศิลปินที่นำผ้าจีวรมาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ถือว่าเขายกย่องเสียอีก  สิ่งที่พิสูจน์ได้คือเขานำมาขึงเป็นเฟรมและบรรจงแต่งแต้มสีสันลงไป  เทียบกับชาวบ้านที่นำผ้าจีวรไปใช้งานอย่างอื่นยังถือว่าให้เกียรติอย่างสูง  คือยกระดับจากผ้าคลุมมาเป็นผ้าเขียนรูป
          นอกจากความคิดเห็นของอาจารย์สอนศิลปะแล้ว  ยังมีอาจารย์ที่สอนทางด้านศาสนาและจริยธรรมอีกท่านหนึ่งได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการนำผ้าจีวรตลอดจนเครื่องอัตถบริขารที่พระสงฆ์เลิกใช้งานแล้วมาทำประโยชน์อื่น ๆ  อีก  โดยอาจารย์สาธิตา  ปราบภัย  ครูชำนาญการพิเศษ  แผนกวิชาสามัญสัมพันธ์  วิทยาลัยอาชีวศึกษามหาสารคาม ได้ยกตัวอย่างว่า พระพุทธเจ้าไม่เคยบัญญัติข้อห้ามใดๆเกี่ยวกับการนำผ้าจีวรหรือเครื่องอัตถบริขารใด ๆ มาทำประโยชน์หลังเลิกใช้งานแล้ว  มิหนำซ้ำท่านเองเสียอีกที่ทรงเป็นแบบอย่างในการนำผ้าจีวรเก่ามาบดหรือตำผสมกับยางไม้  ให้กลายเป็นกาวสำหรับอุดซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้ต่าง ๆ  เป็นการใช้ประโยชน์จากวัตถุสิ่งของอย่างคุ้มค่า  ซึ่งในเรื่องนี้มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฏกอย่างชัดเจน    ส่วนการนำผ้าจีวรใหม่ที่พระสงฆ์ยังไม่ได้ใช้งานมาสร้างผลงานศิลปะอย่างกรณีที่เป็นข่าวนั้นอาจารย์สาทิตาไม่เห็นด้วย  เพราะถือว่ายังไม่ได้รับมอบจากพระสงฆ์หรือยังไม่ได้ผ่านการใช้ประโยชน์ที่ควรจะใช้นั่นเอง    ถ้าหากศิลปินนำผ้าจีวรที่พระสงฆ์มอบให้มาสร้างสรรค์ผลงานก็เห็นด้วย  เพราะดูเนื้อหาของภาพที่ศิลปินถ่ายทอดออกมาก็ถือว่าเป็นการสะท้อนปรากฏการณ์ของพระนอกรีตได้ดี  พระที่ประพฤติดีประพฤติชอบก็ไม่เห็นท่านจะว่าอย่างไร  ดีเสียอีกที่มีคนจากหลาย ๆ กลุ่มช่วยกันตรวจสอบ    ศาสนาพุทธจะได้เป็นพุทธแท้ ๆ อย่างสมัยพุทธกาล       
         ส่วนความคิดเห็นของศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงาน  คืออนุพงษ์  จันทร  ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  ภาควิชาวิจิตรศิลป์   สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร(ลาดกระบัง) ได้กล่าวถึงกระแสที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า  ไม่ได้มีเจตนาลบหลู่พระพุทธศาสนา  ถือเป็นศิลปะในเชิงพุทธ  เป็นเรื่องที่ดีที่เกิดความตื่นตัวของคนในวงการศิลปะ  มีทั้งคนที่รับได้และรับไม่ได้  ไม่ใช่เรื่องผิดหรือถูก  แพ้หรือชนะ  แต่เป็นประสบการณ์ที่คนในสังคมจะเรียนรู้ซึ่งกันและกันมากกว่า    แต่เดิมนั้นเขาได้เขียนภาพชุดนี้บนแคนวาส  แต่พอผลงานออกมาพบว่าเนื้อหาไม่ลงตัว  พื้นหลังไม่มีความหมาย  ก็เลยทดลองใหม่เอาผ้าจีวรมาเขียนรูปลง  ซึ่งให้ความหมายสอดคล้องกับความจริงที่ว่า  มีคนเข้าไปแอบแฝงในพระพุทธศาสนา  และภาพที่เขาสื่อนั้นเป็นภาพที่ซ่อนหรือแฝงอยู่ในผ้าจีวร เปรียบเทียบอีกาเป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งชั่วร้าย  เนื้อหาจึงตรงประเด็น  ส่วนข้อมูลที่นำมาประกอบการเขียนภาพนั้นได้จากที่เขาเองเป็นเด็กบ้านนอก  คุณยายได้ปลูกฝังเรื่องบาปบุญคุณโทษ  รวมทั้งเรื่องที่คนทำชั่วแล้วตายไปจะเป็นเปรต   นอกจากนั้นก็ศึกษาเพิ่มเติมจากพระไตรปิฎก  ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดดุสิตตาราม  ภาพโบราณที่บันทึกไว้ในสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงธนบุรี   และหลังจากเกิดกรณีประท้วงเขาได้ไปคุยกับหลวงพ่อที่วัดสุทัศน์  สอบถามทัศนคติของท่านเกี่ยวกับรูป  เกี่ยวกับสังคม  ท่านบอกว่า  ภาพแบบนี้มีมานานแล้ว  คนโบราณเขียนภาพพวกนี้ไว้มาก    งานของ อนุพงษ์ยังถือว่าเทียบไม่ได้เลย
        มารู้จักกับศิลปินหนุ่มผู้ได้รับการจับตามองมากที่สุดในเวลานี้  เพิ่มเติมอีกบางแง่มุม  เผื่อมีอะไรดี ๆ ที่จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและกัน  เชิญครับ....                 

                    

 ประวัติส่วนตัว

อนุพงษ์  จันทร 

ศิลปินหนุ่มวัย  30  ปี      

พ่อชื่อ  สถิตย์  จันทร

แม่ชื่อ  สำรวย บุญใช้ ประกอบอาชีพทำสวน 

วัน  เดือน  ปีเกิด    15 มีนาคม 2523

สถานที่เกิด   

 บ้านหนองกระจับ   ต. ดงพระราม  

 อ. เมือง   จ. ปราจีนบุรี

การศึกษา          

   ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น   จากโรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุง

   ระดับ ปวช.   ที่ วิทยาลัยช่างศิลป์ กรมศิลปากร ลาดกระบัง

    สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับ 2   ศิลปะไทย คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

    ระดับปริญญาโท สาขาวิชาศิลปะไทย   ภาควิชาศิลปะไทย คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

สถานที่ทำงาน  

    อาจารย์ประจำอยู่ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิจิตรศิลป์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร (ลาดกระบัง)

เกียรติประวัติ     

อนุพงษ์  จันทร    ได้รับรางวัลจากเวทีระดับชาติมาแล้วมากมาย  ได้แก่ 

     2544   : รางวัลสนับสนุนศิลปินรุ่นเยาว์

การแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยของศิลปินรุ่นเยาว์ ครั้งที่ 18
     2548   : รางวัลเกียรตินิยมอันดับ 2 เหรียญเงิน ประเภทจิตรกรรม การประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 51

    รางวัลดีเด่นพานาโซนิค  ครั้งที่  5  รางวัลเหรียญทองจิตรกรรมบัวหลวง  ครั้งที่  26 

    รางวัลที่ 3  ศิลปกรรมอมตะ อาร์ต  อวอร์ด   

    รางวัลดีเด่นการประกวดศิลปกรรม

 “นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต” ครั้งที่  15   

    รางวัลยอดเยี่ยมการประกวดศิลปกรรม “นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต”          ครั้งที่  16  

    รางวัลชมเชย การแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยของศิลปินรุ่นเยาว์  ครั้งที่ 18   ในภาพ ภูมิลวง

    รางวัลเกียรตินิยมอันดับ  2  เหรียญเงินประเภทจิตรกรรมศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่  51 

      ภาพชื่อ  “พุทธบริษัทหมายเลข 4”   

    รางวัลเกียรตินิยมอันดับ  1  เหรียญทองประเภทจิตรกรรมการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่  52     

      ภาพชื่อ  “เศษบุญ-เศษกรรม”  

   รางวัลเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทองประเภทจิตรกรรมการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 53    ภาพชื่อ “ภิกษุสันดานกา”  

     รางวัลเกียรตินิยมอันดับ  2  เหรียญเงินประเภทจิตรกรรมศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่  54 

        

ภาพ เหมือน....อีกาปากเหล็ก  

(รางวัลดีเด่น ศิลปกรรมโตชิบา ครั้งที่ 15)

ชุดภิกษุสันดานกา    

รางวัลดีเด่น พานาโซนิค ครั้งที่ 5

 

รางวัลเกียรตินิยมอันดับ  2 

เหรียญเงินประเภทจิตรกรรมศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่  51 

ภาพชื่อ  “พุทธบริษัทหมายเลข 4”   

ภาพ   ลูบหัวไม่มีหาง    

ชุดภิกษุสันดานกา       

 รางวัลดีเด่น พานาโซนิค ครั้งที่ 5

ภาพ  “ผีบุญ – ทุศีล  

รางวัลยอดเยี่ยม นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต  ครั้งที่  16

                               

                                                                                                                                                                                        

ภาพก้อนทุกข์

รางวัลเหรียญทอง จิตรกรรมบัวหลวง

ครั้งที่ 26                                                                                                 

ภาพ  “ หมา-นุษย์”                                  

ชุดภาพเดียวกันกับภิกษุสันดานกา    

ภาพ  ภิกษุสันดานกา    

รางวัลเกียรตินิยมเหรียญทอง

การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ  ครั้งที่  53  

 ชื่อภาพ  ท้องมาร

 ผมคิดว่า มีคนบางกลุ่มที่แอบแฝงในพระพุทธศาสนา

โดยอาศัยผ้าจีวรเป็นเครื่องบังหน้า

ภาพผ้าเหลือง 

(รางวัลที่ 3 รางวัลศิลปกรรม อมตะ อาร์ต อวอร์ด)             

กลุ่มพระสงฆ์วิพากษ์วิจารณ์'

ที่เห็นว่า ภาพเขียนชิ้นนี้ไม่เหมาะสม

เป็นการเหยียดหยามพระภิกษุและพระพุทธศาสนา

ผมว่าศิลปะกับชีวิตมันมีความสอดคล้อง

และสัมพันธ์กันอยู่ ศิลปะรับใช้ชีวิตประจำวัน

ภาพ  “ก้อนทุกข์"

รางวัลเหรียญทองจิตรกรรมบัวหลวง

ครั้งที่ 26   

ภาพ  “ทุกทุกขณะจิต” 

       จากการส่งผลงานเข้าประกวด  ส่งผลให้เขาได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยม  ตามกฎเกณฑ์ที่ทางคณะกรรมการได้วางไว้   โดยถือว่าอนุพงษ์  จันทร  ได้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยมในขณะที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ

  บทสัมภาษณ์อนุพงษ์  จันทร

ชีวิตวัยเด็กที่ต่างจังหวัดเป็นอย่างไร

            เป็นครอบครัวชาวสวน ชาวไร่ ชาวนา จ.ปราจีนบุรี ในบ้านมี ตา ยาย แม่ น้า และพี่ชาย ส่วนพ่อเลิกกับแม่นานแล้ว  นิสัยส่วนตัวผมเป็นคนขี้อาย ไม่ชอบเข้าสังคม อยู่แต่บ้านปลูกต้นไม้ขาย ทำสวนผักต่างๆ เพราะการขอเงินค่าขนมทางบ้านจะมีข้อต่อรองว่า ให้ทำงาน เช่น ปลูกผักขาย ซึ่งก็ขายให้กับแม่ตัวเองนั่นแหละ จริงๆ แล้วมันเป็นการสอนลูกให้รู้จักทำงาน ไม่ใช่แบมือขอเงินอย่างเดียว  ชุมชนที่อยู่เป็นหมู่บ้านห่างๆกัน ไม่ติดกันมากเหมือนปัจจุบันนี้ เมื่อก่อนเด็กๆ สามารถไปมาหาสู่กัน เข้าบ้านนี้ออกบ้านนั้นได้ รู้จักกันเกือบทั้งหมด จำได้ว่า เวลาฤดูมะม่วงสุกเด็กแถวนั้นก็กรูไปเก็บมะม่วงที่หล่นเพราะลมฝน เอามากิน เก็บเอาไว้ทำมะม่วงกวน เก็บมากแค่ไหนก็ไม่มีใครว่า แต่ทุกวันนี้มันไม่มีแล้ว เพราะเจ้าของสวนส่วนใหญ่เขาหวง เดี๋ยวนี้เข้าสวนใครต้องระวังให้ดี

สนใจศิลปะตอนไหน

โดยธรรมชาติของเด็ก ทุกคนชอบขีดเขียนอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าไอ้ความชอบแบบนี้จะมีการส่งเสริมผลักดันให้ไปในแนวทางนี้หรือเปล่า ผมโชคดีที่มีคนส่งเสริม มีคนที่สร้างความเข้าใจระหว่างผมกับแม่ เพราะทางบ้านเขาอยากให้รับราชการ  ได้มารู้จักศิลปะตอนสักประมาณ ม.2-ม.3 จากอาจารย์จินดา กิมมูล ซึ่งเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุง  พี่ชายของผมเคยเรียนศิลปะกับท่านมาก่อน ผมก็เลยไปคลุกคลีกับอาจารย์ด้วย เช่น เขียนป้าย สกรีนเสื้อ พอสนิทสนมกันมากขึ้นท่านก็ช่วยสอนศิลปะให้ กระทั่งเรียนจบ ม.3 อาจารย์ก็ถามว่าอยากเข้า ม.ศิลปากร ไหม..! ถ้าอยากต้องมาเรียนต่อที่ช่างศิลป์ เพราะที่นั่นจะสอนพื้นฐานเกี่ยวกับศิลปะทั้งหมดที่ทำให้สามารถสอบเข้า ม.ศิลปากรได้ เพราะถ้าเกิดเรียน ม.ปลายต่อที่เดิมอาจารย์จะสอนได้ในระดับหนึ่งไม่สามารถชี้ได้ตรงจุด

ตัดสินใจมาเรียนศิลปะทั้ง ๆที่

ครอบครัวอยากให้รับราชการ

ความจริงแม่อยากให้รับราชการ เพราะในความคิดของท่าน หน้าที่การงานที่คิดถึงก็จะเป็น ครู ทหาร ตำรวจ แต่ทางศิลปะ ท่านไม่รู้ว่าเรียนจบไปแล้วทำอะไรได้บ้าง

ตอนเรียน ปวช.ปี 1 แม่เคยตามเข้ามาในกรุงเทพฯ มาร้องไห้ขอให้ผมกลับไปเรียนที่บ้าน บอกไปเรียนช่างก่อสร้างก็ได้ ซึ่งมีงานทำชัวร์ คือ ท่านมองว่าเรียนจบมาแล้วมีงานทำ แต่ว่าศิลปะท่านไม่รู้ อย่างแม่เคยถามว่าเรียนศิลปะเป็นครูได้มั้ย รับราชการได้หรือเปล่า

ตอนนั้นก็ยังดื้อ เพราะอยากเขียนรูปเป็น เลยยังเรียนต่อที่วิทยาลัยช่างศิลป์จนจบ ปวช. ซึ่งคือเทียบเท่ากับ ม.6 จากนั้นก็สอบเอ็นทราซน์เลือกเรียนต่อคณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร

ผ่านการประกวดผลงานศิลปะมามาก ได้รางวัลมากมายรู้สึกอย่างไร

เดิมทีไม่เคยรู้จักการประกวดเลย ขณะที่เพื่อนสมัยเรียนช่างศิลป์หลายคนรู้จักดี เพราะตอนนั้นวันหยุดต้องกลับไปช่วยงานที่บ้าน เช้าวันจันทร์ถึงขึ้นรถไฟมาเรียน

ผมมารู้จักงานประกวดรายการต่างๆ ก็ตอนเรียนที่ศิลปากร เห็นเพื่อนหรือรุ่นพี่เขาส่งประกวด ก็เลยอยากส่งบ้าง เป็นความรู้สึกอยากแสดงงาน อยากมีงานในนิทรรศการหรือในสูจิบัตรบ้าง ก็เลยเริ่มส่งประกวด แต่งานทุกชิ้นที่ทำไม่ได้ทำเพื่อการนี้ มันเป็นงานที่มีอยู่แล้ว  งานศิลปะไม่ได้หยุดอยู่แค่การประกวด 'ไม่ใช่ว่าได้รางวัลแล้วเป็นศิลปิน' ไม่ใช่ข้อวัดทั้งหมด ดูเห็นตัวอย่างจากศิลปินใหญ่ๆ หลายท่านได้ คือเขาทำงานตลอด ซึ่งเราจะเห็นวิถีชีวิต วิธีการทำงานของเขา พบว่าศิลปินเหล่านี้ทำงานหนัก พิสูจน์ตัวเองทั้งชีวิต

กว่าจะเป็นผลงานแต่ละชุด

 ต้องสั่งสมข้อมูลอะไรบ้าง

งานแต่ละชุดได้แรงบัลดาลใจต่างกัน งานสร้างสรรค์ชิ้นแรกของผม ได้ไอเดียจากลายปักผ้าของบาหลี ที่เป็นรูปทรงเรขาคณิตต่างๆ รวมๆ เป็นรูปภูตผีปีศาจ ผมก็เอามาทดลองสร้างงานตัวเองดู ตอนแรกก็ใช้เฟรมเล็กๆ หลายๆ ชิ้นต่อประกอบ พอออกมาจะคล้ายขุมนรกขุมใหญ่ โยงกับความเชื่อไทยเรื่องบาปบุญคุณโทษ จากนั้นก็มามองในงานแบบประเพณีดั้งเดิมของเรา  ช่วงต่อมาก็มองสภาพความเป็นจริงในสังคม โยงกับความเชื่อ กลายมาเป็นเรื่อง 'เปรตภูมิ' ซึ่งตอนเด็กยายมักเอาเรื่องพวกนี้มาขู่ เช่น หากด่าพ่อด่าแม่ ตายไปปากจะเล็กเท่ารูเข็ม การตีพ่อตีแม่ตายไปมือจะโตเท่าใบลาน  สิ่งพวกนี้เป็นกุศโลบายที่คนโบราณสอนลูกหลานให้ละอาย เกรงกลัวต่อการทำบาป

ภาพ  “อุบาสิกา”  ชุดศิลปนิพนธ์ (เปรตร่วมสมัย)

คิดอย่างไรงกับคำว่าศิลปะเพื่อชีวิต

หรือศิลปะเพื่อสังคม

ผมว่าศิลปะกับชีวิตมันมีความสอดคล้องและสัมพันธ์กันอยู่ ศิลปะรับใช้ชีวิตประจำวัน อย่างคุณตาผมเป็นชาวไร่ชาวนา ศิลปะที่ท่านมีและทำได้คือ การสานเข่ง บุ้งกี๋ นั่นเป็นศิลปะที่ออกมาเป็นอุปกรณ์ใช้สอย เพียงแต่ว่าท่านไม่รู้หรอกว่ามันเป็นศิลปะ

ส่วนงานศิลปะเพื่อสังคมคือ งานที่มีส่วนร่วมในการวิพากษ์วิจารณ์ หรือแสดงออกเพราะผลกระทบที่มาจากสภาพแวดล้อม หรือความเป็นอยู่ของสังคม ณ ขณะนั้น ซึ่งแต่ละสังคมก็ต่างกันไป อย่างสภาพสังคมบ้านเราตอนนี้  โดยรวมผมมองว่า มีความวุ่นวายในลักษณะที่คนเราไม่รู้จักพอ แก่งแย่ง อยากได้อยากมีเกินความจำเป็น ก็เลยก่อให้เกิดการกระทำผิดต่างๆ

งานศิลปะเป็นภาพสะท้อน

ถึงตัวตนของศิลปินด้วย

งานของผม ก็คือความเป็นตัวตนของผม อย่างความเชื่อในเรื่องบาปบุญคุณโทษ เรื่องผลแห่งกรรม ซึ่งผมถูกปลูกฝังมาแต่เด็ก เรื่องทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นสิ่งที่เตือนสติที่ตา-ยายปลูกฝังมา ก็เลยถ่ายทอดออกมาในผลงานยายมีส่วนมากในการปลูกฝังความเชื่อต่างๆ ผมเองเป็นเด็กก็รับเอาไว้ ไม่มีการตั้งแง่ว่าดีไม่ดี จากนั้นก็ค่อยๆ เรียนรู้ก่อนจะออกมาเป็นผลงาน

วงการศิลปะของไทยและศิลปะโลก

แตกต่างกันอย่างไร

วงการศิลปะบ้านเรายังรับรู้อยู่ในวงแคบ รู้กันเฉพาะกลุ่ม แต่ว่าพอเกิดเหตุการณ์ประท้วงภาพ 'ภิกษุสันดานกา' ขึ้นมา ข้อดีคือ เกิดความตื่นตัวของคนในวงการศิลปะ บางคนสะเทือนใจรับไม่ได้ แต่บางคนก็รับได้ ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องผิดหรือถูก แพ้หรือชนะ แต่เป็นประสบการณ์ที่เราจะเรียนรู้ซึ่งกันและกันมากกว่า  สำหรับวงการศิลปะระดับโลก อาจแตกต่างกับบ้านเราหน่อย ในเรื่องการเปิดกว้างทางความคิดและการแสดงออก ผมมองว่าบ้านเรามีขอบเขตอยู่บ้าง อาจด้วยเรื่องของประเพณีวัฒนธรรมที่เป็นตัวกำหนด

ศิลปินบ้านเราไปไม่ไกลถึงระดับโลก เพราะขาดการส่งเสริม รวมถึงการสร้างความเข้าใจให้กับคนในสังคมด้วย ทั้งที่ทักษะฝีมือ ความคิดของคนไทยสามารถสู้ต่างชาติได้สบาย การที่จะแสดงงานต่างประเทศสักครั้ง ถ้าเราไม่มีกำลังทรัพย์พอดำเนินงานได้ก็ทำไม่ได้

ถ้าอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากอาจารย์

     ด้วยความยินดีครับ  และรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ท่านอาจารย์ให้ความสนใจนำเกียรติประวัติไปเผยแพร่  ไม่มีส่วนไหนที่ต้องแก้ไขครับ  ฝากความระลึกถึงอาจารย์ทุกท่าน  โดยเฉพาะอาจารย์ตนุพล  ถ้ามีโอกาสจะกลับไปเที่ยวและเยี่ยมชมมหาสารคามอีก  อยากไปรำลึกถึงความหลังและความยากลำบากในการเที่ยวตระเวณตามวัดตามสิมเก่า ๆ ด้วยรถมอเตอร์ไซค์เพื่อหาข้อมูลและแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน

ตอนนี้อาจารย์ก็ประสพความสำเร็จสูงสุดแล้ว

      ก็ในระดับหนึ่งครับ  ผมยังต้องทำงานหนักต่อไป  ทั้งงานในหน้าที่คือสอนวิชาพื้นฐานทางศิลปะ  วาดเส้น  องค์ประกอบศิลป์  ศิลปะไทย  ตลอดจนงานศิลปะทั้งจิตรกรรมและประติมากรรม  ทำงานอยู่ตลอดครับ  ว่าง ๆ ก็ไปเที่ยวบ้านสวน เยี่ยมพ่อแม่  เยี่ยมคุณยายบ้าง  ชีวิตเป็นปกติ  ไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไป  ยกเว้นเวลาอาจจะลดลงบ้าง  ซึ่งเราก็ต้องบริหารให้ดี  โดยไม่เบียดบังเวลาราชการ  สรุปแล้วก็คือทำงานที่ได้รับมอบหมายเต็มที่ควบคู่ไปกับงานศิลปะที่เรารัก  ทำไปเรื่อย ๆ  สักวันก็คงประสพความสำเร็จเองครับ 

      บทสัมภาษณ์ศิลปินชั้นเยี่ยมที่อายุน้อยที่สุดของการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ  ก็ได้จบลงแล้ว 

      ต่อไปนี้เป็นเบื้องหลังก่อนที่จะได้ข้อมูลมาลงครับ

                             จดหมายถึง อนุพงษ์  จันทร

เรียน   อาจารย์อนุพงษ์  จันทร  ที่นับถือ

                 ผมชื่อนายถวิล  เดชบุรัมย์   เป็นครูสอนที่วิทยาลัยอาชีวศึกษามหาสารคาม  แผนกวิชาการออกแบบ   อายุ  48  ปี   ปัจจุบันได้ทำการศึกษาต่อระดับปริญญาโท  คณะศิลปกรรมศาสตร์  สาขาทัศนศิลป์  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ชั้นปีที่  2   

                 สาเหตุที่ผมต้องเขียนจดหมายมาถึงอาจารย์   ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้จักกันเป็นการส่วนตัว   เนื่องจากในการศึกษาวิชาสัมมนาทัศนศิลป์  กับท่านอาจารย์ ผศ. อภิชาติ  แสงไกร   ได้กำหนดให้นิสิตสัมภาษณ์ศิลปินที่มีชื่อเสียงและอยู่นอกเขตภาคอีสาน   อาจมาพูดคุยโดยตรงหรือใช้ช่องทางสื่อสารอื่นก็ได้       ผมเห็นว่าอาจารย์มีอาชีพเดียวกัน  และที่สำคัญคือได้ผ่านการใช้ชีวิตนักศึกษาด้านศิลปกรรมมาแล้วเช่นเดียวกัน    คงพอมองเห็นและเข้าใจความยากลำบากในการเสาะแสวงหาข้อมูล หรือแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอยู่พอสมควร  (อาจารย์ เต่า  หรือตนุพนธ์  เอนอ่อน  ได้เล่าประสบการณ์ในการขับรถมอเตอร์ไซค์ไปกับอาจารย์  เพื่อลุยศึกษาข้อมูลตามสิมอีสานให้นิสิตศิลปกรรมฟังบ่อย ๆ)

                จึงใคร่ขออนุญาตเผยแพร่เกียรติประวัติและขอความอนุเคราะห์ข้อมูลส่วนตัวของอาจารย์ในวัยเด็ก วัยเรียน หรือในแง่มุมที่อาจารย์เห็นว่าน่าสนใจและไม่ได้สร้างความเสียหายแก่ตัวเอง    ซึ่งก่อนหน้าที่ผมจะเขียนจดหมายฉบับนี้มาถึงอาจารย์ ก็ได้สืบค้นข้อมูลจากทางอินเทอร์เน็ตมาบ้างแล้ว  (ดังที่ได้แนบมาพร้อมนี้)   แต่อาจารย์ที่มอบหมายงานอยากให้นิสิตสัมภาษณ์ในเชิงลึกหรือในแง่มุมอื่น  เพื่อนำไปขึ้นเว็ป Gotoknow.org  ซึ่งเป็นเว็ปทางศิลปวัฒนธรรม  ที่ผู้เข้าชมล้วนเป็นผู้มีการศึกษาและมีทัศนคติที่ดีต่องานศิลปะ  และผมกล้าเอาเกียรติเป็นประกันว่ามีแต่จะส่งผลทางบวกต่ออาจารย์  

                สุดท้ายนี้ผมไม่กล้ารบกวนเวลาอาจารย์มากกว่านี้   ผมขอแสดงความยินดีและชื่นชมอาจารย์อย่างจริงใจในทุกรางวัลของการประกวด แม้จะช้าไปหน่อยคงไม่เป็นไรนะครับ  ถ้าอาจารย์จะกรุณาอนุเคราะห์ข้อุมูลเพิ่มเติม  โปรดส่งไปที่ [email protected]  โทร.084-7970679  ขอขอบคุณล่วงหน้ามา ณ โอกาสนี้

             ขอแสดงความนับถือ

                ถวิล  เดชบุรัมย์

&n

คำสำคัญ (Tags): #อนุพงษ์ จันทร
หมายเลขบันทึก: 388908เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2010 01:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

สวัสดีค่ะ

มาชมงานศิลป์ในยามเช้าค่ะ

ขอบคุณค่ะ

ดีมากครับ ศิลปินคนนี้ข้อมูลเยอะและมีมิติให้ค้นหา และนำมาถกกันได้มาก

เป็นครูศิลป์ที่น่าสนใจ

ได้อ่านบทสัมภาษณ์แล้ว มีประเด่นและเนื้อหาที่ครอบคุมทำให้รู้จักวิธีการสร้างสรรค์ผลงานของ คุณอนุพงษ์ จันทร มากขึ้นเห็นผลงานของคุณอนุพงษ์แล้ว ทำให้ได้แง่คิดเกี่ยวกับสถานการณ์ของพระพุทธศาสนาในปัจจุบัน ที่ศิลปินนำมาสะท้อนเพื่อบอกบางอย่างกับสังคมโดยศิลปินเลือกใช้สัญลักษณ์ทางศาสนา ซึ่งทำให้เกิดประเด็นความขัดแย้งทางความคิด แต่เมื่ออ่านบทสัมภาษณ์แล้ว ผมเชื่อว่าศิลปินมีความตั้งใจที่จะสะท้อนความจริงผ่านงานจิตกรรม ต้องขอชมว่าสัมภาษณ์ได้ดีครับ

ข้อมูลที่นำเสนอครั้งนี้ มีข้อมูลที่ให้ความรู้ความเข้าใจมากพอที่จะสามารถคิดวิเคราะห์ถึงเหตุผลที่ คุณอนุพงษ์ จันทร ได้สร้างสรรค์ผลงานที่เกิดจากความรู้สึกที่เกิดขึ้น ถึงแม้จะกระทบถึงความรู้สึกของพุทธศาสนิกชนบ้างก็ตาม แต่ความเป็นจริงการที่ต้องการสื่อถึงความเลวร้ายที่เข้ามาแฝงในคราบของศาสนา ของความศรัทธาที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจเราชาวพุทธ แต่นั่นก็เป็นแค่เพียงเสียงๆหนึ่งที่ต้องการเล่าบอกกล่าวกับสิ่งที่เป็นจริงในพระพุทธศาสนาของเรา

การสนอเรื่องราวที่เป็นที่น่าสนใจครั้งนี้ อาจารย์ถวิลสามารถค้นหาข้อมูลที่มานำเสนอ หาประเด็นพร้อมเนื้อหาสาระมาครบกระบวน ซึ่งเป็นที่น่ายินดี กับความรู้อีกแง่หนึ่งที่เป็นประโยชน์ ให้ความรู้ความเข้าใจในชีวิต การทำงาน การสร้างสรรค์ผลงานที่อาจจะกระทบจิตใจหรือให้แง่คิดกับอีกหลายๆคน ความเข้าใจในผลงานครั้งนี้อาจเป็นสิ่งเล็กๆที่ให้ความเข้าใจในตัวศิลปิน แต่ก็มีค่ามากที่ให้ความรู้สึกที่เราได้มีการวิเคราะห์หาเหตุผลเพิ่มเติมที่จะตัดสินคนทำงานที่มีการคิดวิเคราะห์มานำเสนอเป็นผลงานที่มีคุณค่าเช่นนี้ ขอบคุณที่อาจารย์ถวิลนำเสนอผลงานที่สมบูรณ์ และเป็นตัวอย่างที่ดีในการทำงานครับ

ศิลปินท่านนี้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในเรื่องของผลงานซึ่งได้รับการยอมรับในแวดวงศิลปะ ผลงานจึงถูกหยิบยกขึ้นมากกล่าวถึงกันอยู่บ่อยๆ และนี่เป็นอีกบทสัมภาษณ์หนึ่งซึ่งให้มุมมองที่ต่างออกไปจากนิตยสารหรือหนังสืิอเรียนอันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่กำลังศึกษาศิลปะและผู้สนใจทั่วไป ผมไม่มีโอกาศได้เห็นผลงานจริงๆแต่เคยเห็นตามข่าวที่โด่งดังพอสมควร นั่นก็พอจะรับรู้ได้ว่าคุณค่าของศิลปะนั้นคงไม่ได้อยู่แค่ีในวงการนี้เท่านั้นเองแต่อยู่เพื่อจรรโลงและสร้างสรรค์สังคมให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับตัวศิลปินเอง ให้สร้างผลงานอันจะเป็นประโยชน์และมีค่าต่อสังคมต่อไป

มุมมองแง่คิดที่อยู่ในตัวศิลปิน ซึ่งมาสานต่อจนมาเป็นงานศิลปะชิ้นที่ดีเยี่ยมและคงคุณค่าสะท้อนสังคมนะปัจจุบันแห่งความเป็นจริง เป็นการมองและแสดงแง่คิดที่คนทำงานศิลปะต้องกลับมามองสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว

สังคมรอบข้างคนข้างกาย เมืองเราเป็นอะไรไปแล้ว ศาสนาที่ว่าเป็นเขตุแดนที่ขาวสะอาดบริสุทธิ์ ยังมีความมืดมิดอาศัยอยู่อย่างไม่สำนึกถึงบาปหรือว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องอยู่คู่กัน เป็นการสัมภาษณ์ที่ให้คนที่ชื่นชอบผลงานของศิลปินอยู่แล้ว ได้รู้จักตัวตนศิลปินและผลงานมากยิ่งขึ้น

กลายเป็นเรื่องธรรมดากันไปแล้วสำหรับที่ศิลปินจะนำวัสดุที่คนมักจะคาดไม่ถึงมาใช้ หรือสร้างเนื้อหาและเรื่องราวให้ไปเฉียดไปกระทบกับสิ่งที่เป็นความเชื่อหรือสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจในสังคม เพื่อหวังผลให้เกิดแรงประทะและความน่าสนใจให้กับงานศิลปะของตนเอง ที่นอกเหนือจากความเชื่อของศิลปินที่มีอยู่ก่อนแล้ว

วันนี้เข้ามาเยี่ยมชมรูปศิลป์  ชอบและถูกใจมากคะ  มีลูกสาวอยู่2คน ลูกสาวชอบวาดรูปมากค่ะพูดง่ายๆคือเค้าชอบวิชาศิลปะ  หลังเลิกเรียนแล้วเวลาส่วนใหญ่ของเขาจะอยู่กับกระดาษ  ดินสอ  สีน้ำ  พู่กัน  แม่ไม่มีความรู้ด้านนนี้เลย  อยากให้ลูกๆมีความรู้ทางด้านศิลปะเพิ่มมากกว่านี้แต่ไม่รู้จะปรึกษาใครดี  ขอความอนุเคราะห์จากอาจารย์ผู้ใจบุญด้วยนะคะ (คุณแม่ผู้ห่วงใยลูก)

ศิลปินท่านนี้มีความคิดที่แสดงออกผ่านงานศิลปะที่ชัดเจน ตรงไปตรงมา  เป็นความจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย บอกในสิ่งที่คนในสังคมไทยรู้และเห็นแต่ไม่กล้าที่พูด   เป็นกำลังใจให้ครับ

ข้อมูลเยอะมากครับอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท