นาย ถวิล เดชบุรัมย์


ครู วิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ
วิทยาลัยอาชีวศึกษามหาสารคาม
Username
tawin_ner
สมาชิกเลขที่
125061
เป็นสมาชิกเมื่อ
เข้าระบบเมื่อ
-
(ไม่มีตั้งแต่ พ.ศ. 2564)
ประวัติย่อ

ประวัติ ถวิล  เดชบุรัมย์

ชื่อ                    ถวิล   เดชบุรัมย์

เกิด                13  กุมภาพันธ์  2505

ที่อยู่ปัจจุบัน  198 ถ.เฉลิมพระเกียรติ ร. 9   ตำบลตลาด  อำเภอเมือง  จังหวัดมหาสารคาม  44000   โทร. 084 - 7970679

ตำแหน่ง  ครู วิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ 

            หัวหน้าแผนกวิชาการออกแบบ

ที่ทำงาน   วิทยาลัยอาชีวศึกษามหาสารคาม

ประวัติการศึกษา  

         - โรงเรียนบ้านดอนหว่าน(ป.1– 4)

         - โรงเรียนเมืองมหาสารคาม (ป.5-7)

         - โรงเรียนสารคามพิทยาคม(ม.ศ.1– 3)

         - วิทยาลัยอาชีวศึกษามหาสารคาม (ปวช. แผนกวิชาศิลปหัตถกรรม)

         - วิทยาลัยครูมหาสารคาม(ป.กศ.สูง วิชาเอกศิลปศึกษา)

         - มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมหาสารคาม (ปริญญาตรี  วิชาเอก

           เทคโนโลยีทางการศึกษา

        -  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมหาสารคาม (ปริญญาโท วิชาเอก

          ไทยคดีศึกษา  เน้นมนุษยศาสตร์)

        -  กำลังศึกษาต่อระดับปริญญาโท   คณะศิลปกรรมศาสตร์   มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

อุดมการณ์ในการทำงาน

  "การทำงานหนัก  คือ...ดอกไม้แห่งชีวิต"

รางวัลเกียรติยศที่สำคัญ 

      -  รางวัลชนะเลิศการประกวดภาพเขียน “ชีวิตครู” งานฉลอง 100 ปี การฝึกหัดครูไทย

ของกระทรวงศึกษาธิการ  พ.ศ.2535            

      -  รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2  การประกวดภาพเขียนสีน้ำมัน "โครงการปลุกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยุ่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ 50  พ.ศ. 2537”

      -  ข้าราชการตัวอย่าง ของจังหวัดมหาสารคาม  ปีการศึกษา  2536

      -  ครูผู้สอนดีเด่น วิทยาลัยอาชีวศึกษามหาสารคาม ปีการศึกษา 2540

      -  ครูผู้ปฎิบัติงานดีเด่น  วิทยาลัยอาชีวศึกษามหาสารคาม  ปี  2542

      -  รางวัลรองชนะเลิศ  การประกวดตราสัญลักษณ์รณรงค์การปั่นจักรยาน  ของเทศบาลเมืองมหาสารคาม  ปี 2544

      -  ครูปฎิบัติการสอนดีเด่น แผนกวิชาการออกแบบ  วิทยาลัยอาชีวศึกษามหาสารคาม ปี 2545

ความสำเร็จของศิษย์ คือ...ความภูมิใจของครู

    -  รางวัลกรังปรีซ์ (ชนะเลิศระดับประเทศ)

ด.ช.สุรชาติ มลิวัลย์  ชื่อภาพ”ด้วยรักและห่วงใยในธรรมชาติ” จัดโดยโครงการ ธิงค์ เอริ์ธ  2534

    -  รางวัลชนะเลิศระดับประเทศ  การประกวดถ่ายภาพ โครงการ ณรงค์เพื่อการบริโภคนม น.ส. กาญจนา  ขวัญนอน  พ.ศ. 2539

    -  รางวัลรองชนะเลิศ การแข่งขันทักษะวิชาชีพ ระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ประเภทออกแบบพาณิชยศิลป์ น.ส.พวงเพ็ช ตะนัน  และ น.ส.จิราพร  จันทรัตน์  พ.ศ. 2544

   -  รางวัลชนะเลิศ การแข่งขันทักษะวิชาชีพ  ระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ประเภท ภาพล้อเลียน นายศิวะ พลโรม  2545

   -  รางวัลพิเศษ “ นำสิ่งที่ดีสู้ชีวิต” บริษัท โตชิบา จำกัด      นายกิตติพงษ์  แก้วสีนวน 2545

   -  รางวัลพิเศษ  ประกวด “ ศิลปกรรมลูกเสือไทย  ก้าวไกลสู่สากลในงานชุมนุมลูกเสือโลก  ณ ประเทศไทย นายเกรียงไกร  มาคอน  2545

   -  รางวัลชนะเลิศการประกวดวาดภาพสด  ”TObe Number One” เขตตรวจราชการที่ 5  จังหวัดนคราชสีมา นายเกรียงไกร มาคอน      พ.ศ.  2547

    - รางวัลชนะเลิศออกแบบผลิตภัณฑ์ระดับประเทศ  นางสาวอัญรัตน์   พงษ์การุณ   2550

 
 

               บันทึกลึก (แต่ไม่ลับ)

                  จากการประเมินผลงานการสร้างสรรค์ทัศนศิลป์ขั้นสูง 
             โดย...  ถวิล  เดชบุรัมย์     นิสิตปริญญาโท  คณะศิลปกรรมศาสตร์ 
                       สาขาทัศนศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม   
             สิ่งที่ท่านกำลังอ่านในขณะนี้มีลักษณะเป็นแค่บันทึกเหตุการณ์เล็ก ๆ ที่บังเกิดขึ้นเมื่อตอนเช้าวันที่ 2  สิงหาคม  2552   ซึ่งเป็นการประเมินผลงานเรียนที่มีกันเป็นประจำ  แต่มันกลับเป็นบันทึกครั้งประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของผู้เขียน กล่าวคือ เป็นครั้งแรกที่ได้พบตัวเป็น ๆ ของศาสตราจารย์เกียรติคุณ   ที่ในวงการศิลปะของไทยหาคนที่ไม่รู้จักชื่อของท่านได้น้อยมาก   เพราะไม่ว่าจะเป็นเอกสาร  ตำรา  การอ้างอิงผลงานศิลปะทั้งประเภทจิตรกรรม  ประติมากรรม  ตลอดจนงานสื่อประสมหรืองานศิลปะการ   จัดวาง (Installation)  ก็มีผู้อ้างอิงถึงเป็นประจำ   ท่านคงพอจะนึกออกแล้วว่าเป็นใคร
            ท่านที่สอง  ผู้เขียนเคยไปดูภาพเขียนของท่านที่หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร  เมื่อประมาณ 25 ปีที่แล้ว(คงพอกะอายุของผู้เขียนได้แล้วว่าเท่าใด)  ได้แต่ทึ่งในความวิริยะอุตสาหะ  และนึกไม่ออกว่าท่านใช้สมาธิตอนไหนสร้างผลงานที่มีความประณีต  บรรจง  มีลำแสงส่องมากระทบลวดลายที่ฐานพระอุโบสถ  ส่วนที่แฝงอยู่ในเงาแต่ละระยะ  ก็ยังมองเห็นรายละเอียดที่ไม่ยอมทิ้งแม้แต่กระเบียดนิ้วเดียว    นอกจากนั้นน้องชายของท่านอีกสองคน  ก็ยังได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะตามแนวทางถนัดของตน  จนสร้างชื่อแก่วงศ์ตระกูลได้ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน 
           ท่านสุดท้าย  เคยมาตรวจผลงานองค์ประกอบศิลป์เมื่อวันที่  25  กรกฎาคม  2552  จึงรู้สึกคุ้นเคยท่านมากกว่าสองท่านแรก  โดยบุคลิกของท่านแสดงความเมตตาแก่นิสิตค่อนข้างสูง   ให้แนวความคิดที่ชัดเจน  ฟังแล้วนุ่มหู  คล้าย ๆ กับผลงานประติมากรรมของท่านที่ดูแล้วสบายตา  เต็มอารมณ์เสมือนได้รับประทานอาหารที่ชอบจนอิ่มเอมไปหลายวัน  
                แปดโมงเช้าวันอาทิตย์ที่  2  สิงหาคม  2552     ผศ.สาธิต  เทศนา  แวะมาบอกนิสิตที่กำลังเตรียมจัดวางงานในห้องว่า  “ พร้อมยังพวกเรา  ท่านอาจารย์ชลูดอยากตรวจงานแล้วนะ”      พวกเราตื่นเต้นแทบทุกคน  ไม่เว้นแม้แต่รุ่นพี่ที่เคยถูกวิจารณ์มาก่อนหน้าแล้วคนละอย่างน้อย  สอง สามรอบ  ก็ยังไม่วายตื่นเต้น  แถมยังเคยขู่  ป.โทรุ่นน้องไว้อีกว่า  “  คอยดูเฮอะ พอพระอาจารย์ใหญ่มาจะพูดอะไรไม่ออก  มันจะเบลอ ๆ  สมองไม่สั่งงาน  ไอ้ที่เตรียมไว้จะลืมหมด”
            “คนแรกศักดิ์สิทธ์  เตรียมงานไว้เลยค่ะ   คนที่สองนภา   คนที่สาม วรรณธิดาและอาจารย์ถวิลคนที่สี่นะคะ ”  เสียงอาจารย์ปั้นสั่งการอย่างเข้มแข็ง  ในฐานะผู้ประสานงานในการประเมินผลงาน  25  คะแนนแรก    ประมาณแปดโมงครึ่ง  ปรมาจารย์ทั้งสามท่านเดินเข้ามาในห้องประเมินที่ถูกจัดเตรียมไว้อย่างดี (ตามอัตภาพ)   ติดตามด้วยคณาจารย์จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ 7 – 8  ท่าน  เช่น  ผศ. สาธิต          อ. พิสิษฐ์   ดร. วุฒิพงษ์  ดร.อาคม   อ. ประสิทธิ์  อ. ปรีชา(นวลนิ่ม)  อ.คมสันต์ และ อ. ลูกปลิว  เป็นต้น 
        “ ไหนลองบอกแนวความคิดมาซิ  ทำไมถึงได้มีทั้งดิน  จอบ  เสียมและรอยเท้าเต็มไปหมด ”  คำถามแรกที่ท่านอาจารย์ชลูด  นิ่มเสมอ  ถาม“เย่” ในฐานะประธานรุ่น  ได้รับเกียรติขึ้นเขียงก่อนคนอื่น
            เย่  ศักดิ์สิทธิ์   ผู้มีรูปร่างน่าตายังกะฝาแฝดกับเสก  โลโซ  พูดเสียงเนิบ ๆ ตามสไตล์ว่า “ ผมได้รับแรงบันดาลใจจากวิถีชีวิตชาวนาอีสาน  ก็เลยนำสิ่งที่เขาใช้ในชีวิตประจำวันมาสร้างเป็นผลงานครับ”  
           “งานศิลปะ ไม่เอาความจริงนะ จะเอาจินตนาการ  ตัดความเป็นจริงออกเสีย” ท่านอาจารย์ชลูดพูดชัดเจน    อาจารย์อีกสองท่านได้เสริมว่า  สิ่งที่พบเห็น เช่น  วิถีชีวิตชาวนา  หรือธรรมชาติอะไรก็แล้วแต่  เราอย่าเอาเขามาสร้างงานโดยตรง  นั่นเป็นต้นแบบ  สิ่งบันดาลใจ  หรือแรงบันดาลใจให้เราอยากนำมาสร้างผลงานเท่านั้น   ต้องนำทัศนธาตุมาจำลองอีกทีหนึ่ง    จังหวะนั้นท่านรศ.บุญทัน  เชษฐ์สุราษฎร์   ประธานหลักสูตรทัศนศิลป์ระดับ ป.โท  เข้ามาพอดี   หลังจากคารวะ  ทักทายพระอาจารย์ทั้งสามท่านแล้วต่อไปก็เป็นคิวของภาพพิมพ์  คือโอ๋  นภาและส้ม  วรรณธิดา  ท่านอาจารย์ชลูดได้ถามว่าใครสอนภาพพิมพ์ที่นี่  นิสิตถึงทำงานได้ดีขนาดนี้         ส้มตอบว่า  “อาจารย์อภิชาติ  แสงไกรค่ะ”   พระอาจารย์ใหญ่หัวเราะชอบใจ  (เข้าใจว่าท่านคงจะรู้จักดี)         ข้อวิจารณ์โดยรวมของทั้งสองสาวก็คือ  ชั้นเชิงทางทัศนศิลป์ใช้ได้    แต่อย่าคิดถึงองค์ประกอบมากไป  ปล่อยให้อยู่ข้างใน   การเรียนระดับปริญญาโทให้ก้าวขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง 
              มาถึงวินาทีสำคัญ   ถึงคิวของผู้เขียนบ้าง  หลังจากยกมือไหว้คารวะพระอาจารย์ทั้งสามท่านแล้ว  คำถามแรกของอาจารย์ชลูดมาแบบไม่คาดคิด  “เธออายุเท่าไหร่ ?”   ผู้เขียนกำลังอ้าปากจะตอบ  พร้อมกำลังนับอายุในใจ  “ให้ตายสิ  เราลืมอายุตัวเอง” ท่านรศ.บุญทันพูดแนะนำเพิ่มเติมก่อนที่ผู้เขียนจะตอบว่า  “อาจารย์ถวิล  จบทางไทยคดีมาและมาต่อทางทัศนศิลป์ครับ”    
             “ใช่ครับ  พอดีผมอยากเรียนทางนี้มานานแล้ว” ผู้เขียนพูดเสริม รศ.บุญทัน ทันที
             “ชั้นถามว่าเธออายุเท่าไหร่ ?”   พระอาจารย์ยืนยันคำถามเดิม    ผู้เขียนนึกอายุออกพอดี     “ สี่..สี่... สิบเจ็ดปี  คะ ครับ ”    อาการติดอ่างมาเยือนโดยไม่รู้ตัว
             “ ดูงานกับอายุก็สมกันนะ” ไม่แน่ใจว่าพระอาจารย์ชมว่าผลงานดีหรือตำหนิว่าผลงานดูล้าสมัยกันแน่   “สาธุ ..ขอให้เป็นอย่างแรกเถอะ...” ผู้เขียนภาวนาในใจ
              ทั้งสามท่านใช้เวลา  ซักถามงานเกี่ยวกับพระไม้ของผู้เขียนค่อนข้างนาน  เช่น  ได้รับแรงบันดาลใจจากอะไร   รู้สึกอย่างไรถึงแสดงออกอย่างนี้    
           “มีความรู้สึกสลดหดหู่ครับ  ที่พระไม้ถูกทอดทิ้ง  บางวัดได้พระใหม่มาก็ไม่สนใจพระเก่า”  เผอิญนึกได้ว่า  อาจารย์ต้อย (ดร.วุฒิพงษ์)  เคยย้ำว่าผู้เขียนชอบ(ติดนิสัย)อธิบายอะไรมากเกินไป  ต้องปล่อยให้งานพูดจะดีกว่า  ก็เลยหยุดพูดไว้แค่นั้น
              “ขอชมน้ำใจ  ที่สร้างผลงานมาเยอะ  ดูแววตา  โหงวเฮ้งแล้วเป็นนักสู้นะ  อายุยังน้อยคงทำงานศิลปะได้อีกมาก” (อายุน้อยหรือว่าเหลือน้อยกันแน่หนอ)  อาจารย์ปรีชา  เถาทอง  กล่าวแบบจริงใจ   และได้สรุปให้ผู้เขียนฟังอีกครั้งหนึ่งว่า งานศิลปะนั้นมี  3  สิ่งที่สำคัญ  คือ    ความคิด  ความหมายและความงาม  บางทีต้องหาสัญลักษณ์มาเปรียบเปรย  ถึงที่สุดแล้วอาจไม่ต้องใช้พระไม้มาทำก็ได้  เพื่อที่จะสื่อว่าเก่าไป  ใหม่มา  อาจหยิบยกเอาอะไรมาทำงานก็ได้  อาจารย์นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ก็ช่วยเสริมในทำนองเดียวกัน   และช่วงสุดท้ายท่านอาจารย์ชลูดได้พูดเชิงสรุปว่า
           “…แต่การใช้พระเป็นสื่อมันมีพลังนะ  เช่น  ถ้าเราทิ้งกระป๋องโค้ก  หรือทิ้งของใช้บางอย่าง  ความรู้สึกปะทะของคนดูจะเบา  แต้ถ้าทิ้งพระเนี่ยมันจะแรงมาก  เพราะคนมีความศรัทธาสูงเป็นทุนขอให้ทำต่อไป...  เออ  เธอบอกว่าเรียนอะไรมานะ”  “ไทยคดีศึกษาครับ  เมื่อ  20 ปีที่แล้ว”    เพราะผู้เขียนจบปี  2532  พอดี  (เรียนตอนนั้นอายุน้อยที่สุด   แต่เรียนตอนนี้อายุมากที่สุด)
             “ ก็ดีนะ  จะได้นำข้อมูลในท้องถิ่นมาใช้ทำงานศิลปะ”  “ ครับผม  ใช้ได้มากทีเดียวครับ”  ต่อจากนั้นก็มีการวิจารณ์ผลงานนิสิตคนอื่น ๆ  2 - 3 คน   ช่วงนั้นผู้เขียนกำลังตั้งใจฟังข้อคิดเห็นของอาจารย์ปรีชากับอาจารย์นนทิวรรธน์  ไม่ทันสังเกตว่าพระอาจารย์ชลูดเดินมาจากข้างนอกห้อง(สงสัยท่านไปห้องน้ำ)  เห็นถือรูปพระไม้ของผู้เขียนที่เน้นเฉพาะส่วนเศียร (ดร.อาคม  เสงี่ยมวิบูล  อาจารย์สอนสุนทรียศาสตร์และศิลปะวิจารณ์เคยบอกว่า  รูปนี้เขียนพอร์ทเตรทพระเหรอ ?)   พร้อมกันนั้นท่านอาจารย์ชลูดรีบกวักมือเรียกผู้เขียนไปหาและบอกว่า   
       “เนี่ยต้องอย่างรูปนี้  มันถึงแสดงถึงการถูกทอดทิ้งอย่างได้อารมณ์   ดูเงากระทบที่ดวงตาและสีหน้าสิ  สื่ออารมณ์เศร้าและมีความหมายแยบยลดีจริง ๆ ”   ผู้เขียนขนลุกซู่  พร้อมกับพยายามนึกว่าตอนที่นำเสนอนั้นงานชิ้นนี้อยู่ในห้องหรือเปล่าหนอ  หรือพระอาจารย์เก็บมาจากไหน   สงสัยตอนที่น้อง ๆ เขาช่วยขนงานมาวาง จะมีการตกหล่นอยู่หน้าห้องน้ำ  เป็นพระที่ถูกทอดทิ้งของจริง (ฮา...) 
            ถัดจากการวิจารณ์ผลงานผู้เขียน  เป็นช่วงเวลานำเสนอของอาจารย์หมู  อติชาติ   มาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร   โดยรวมแล้วทั้งสามท่านได้ชื่นชมทักษะการปั้นดิน  และพูดถึงปัญหาด้านรูปทรงและSpace  โดยสรุปแนวทางให้  2  ทาง  คือ 
              แนวทางแรก  เปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอ จากที่เป็นเหลี่ยม  มุม  ให้โค้งมน  แสดงความนุ่มนวลเพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหาเรื่องความอบอุ่นในครอบครัว   แนวทางที่สอง  ยึดรูปแบบเดิม  เทคนิคเดิมแต่หาเรื่องราวใหม่ที่สอดคล้องกับรูปแบบ
             คิวที่หก  อาจารย์เอ  พีระพงษ์  ชัยภูมิส่งเข้าประกวด  ในเนื้อหาเกี่ยวกับควายและบรรยากาศท้องทุ่งอีสาน  ผลงานทั้งเล็กใหญ่วางจนเต็มผนังห้อง 
           “ ชั้นชอบแววตาควาย  โดยเฉพาะแม่กับลูกที่นอนคู่กันมันให้ความรู้สึกเศร้าสลด   เธอมีอะไรเป็นพิเศษกับควายรึเปล่า ”    ท่านอาจารย์ชลูดถาม  คนฟังถึงกับสะดุ้ง แกมอมยิ้ม
            อาจารย์เอตอบอย่างคล่องแคล่ว (เพราะนำเสนอเรื่องควายมาหลายรอบแล้ว)  “ ผมเห็นพ่อค้ามาซื้อควาย   ขณะที่เขาดึงขึ้นรถ  แม่ควายมีท่าทางขัดขืน  น้ำตาไหลอาบแก้มเหมือนกับมันร้องไห้  ผมเห็นแล้วรู้สึกสลดใจ  เห็นความผูกพันระหว่างแม่  ลูกและเจ้าของควายแล้วอยากถ่ายทอดออกมาแบบซื่อ ๆ  น่ะครับ ”   สำเนียงเหน่อ ๆ  สไตล์เลือดสุพรรณพรั่งพรูออกมาเป็นลำดับ
          “ แววตาเธอกับควายตัวนั้น  มันเหมือนกันเลยนะ ”    ดูเหมือนท่านอาจารย์ชลูดจะสนใจภาพ  สเก็ตซ์เล็ก ๆ มากจนคิดว่าภาพใหญ่ขนาดเมตรครึ่งคูณสองเมตร  ทั้งสองภาพกลายเป็นแบ็กกราวด์   ตอนหลังอาจารย์นนทิวรรธน์มาชี้ให้ดูฝูงควายในเฟรมใหญ่ที่แต่งแต้มด้วยสีและเศษฟาง  (แต่เจ้าตัวลืมนำเสนอ)  ท่านจึงได้ร้องอ๋อ  “สงสัยชั้นจะต้องเปลี่ยนแว่นตาแล้วล่ะ  มองไม่เห็นฝูงควายของเธอเลย”   
            ศาสตราจารย์ปรีชา   เถาทอง  รู้สึกจะคุ้นเคยกับอาจารย์เอ  เป็นพิเศษ  ตอนหลังจึงทราบว่ารู้จักกันตั้งแต่สมัยอยู่เพาะช่าง     ท่านเคยให้อาจารย์เอช่วยตีสเกลขยายงานที่ผู้เขียนเคยกล่าวไว้เมื่อตอนต้น  ซึ่งท่านพิถีพิถันในเรื่องเส้นตรงและโครงสร้างของพระอุโบสถเป็นอย่างมาก  โดยเฉพาะเรื่องของแสงเดินทางเป็นเส้นตรง  หากขยายโดยใช้เครื่องฉายภาพโปร่งแสง (Overhead  Projector)  จะทำให้เส้นคลาดเคลื่อนได้   เรื่องนี้คนทำงานศิลปะต้องระมัดระวัง ให้มาก  บางครั้งวาดภาพคนเหมือนอาจทำให้กลายเป็นภาพล้อเลียนได้ (อันนี้เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียนเอง)
              อารักษ์  เป็นคิวที่เจ็ด  ได้นำเสนอประติมากรรมคล้าย ๆ  รูปทรงของช้าง  พร้อมกับงานสเก็ตซ์ด้วยดินเหนียวขนาดเล็ก     ผู้เชี่ยวชาญทั้ง  3  ท่าน  รู้สึกจะสนใจเป็นพิเศษ  และได้เสนอแนะเพิ่มเติมว่าน่าจะมีเด็กมาประกอบในงานด้วย  โดยขยายเป็นประติมากรรมกับสิ่งแวดล้อม   ท่านอาจารย์ชลูดได้เสริมว่า  ส่วนที่เป็นงวงช้างถ้าปรับเป็นกระดานลื่นให้เด็กเล่นก็น่าจะดี  แต่ต้องดูโครงสร้างให้แข็งแรงและปลอดภัยด้วย   สุดท้ายจริง ๆ  อาจารย์นนทิวรรธน์มากำชับอารักษ์ด้วยความเมตตาว่า  “ต้องขยันให้มากกว่านี้นะ”
              มาถึงคนรองสุดท้าย  จีรเดช  ไอ้หนุ่มผมยาว  ณ  โหลยาดอง    นำเสนอปลาใหญ่กินปลาเล็กและปลาตะเพียนสาน  ทั้งสามท่านได้วิจารณ์ว่า   เทคนิคงานชิ้นแรกน่าสนใจ  มีกาลเวลา  Motion  ทุกอย่างดูเหมาะสมลงตัว   แต่ชิ้นที่สองเหมือนเป็นแบ็กกราวด์  คล้ายกับงานยังไม่เสร็จ
         มาถึงคนสุดท้ายของนิสิตปริญญาโทปีที่  1   เหยี่ยว  อิสรา  เจ้าของฉายา  กามวิปริต(ไม่ใช่เขาเป็นอย่างนั้นนะครับอย่าเข้าใจผิด   แต่หมายถึงเขานำเสนอเรื่องกามวิปริต) 
         “เธอจบจากไหน? ”   ท่านอาจารย์ชลูดถาม  “ มหาวิทยาลัยขอนแก่นครับ”
“แล้วใครสอนที่นั่นล่ะ ?”   เหยี่ยวบอกชื่ออาจารย์ไป สองท่าน  พระอาจารย์ทำท่าเหมือนรู้จัก
            “ โนคอมเมนท์”  “ หมายความว่าไงครับ”  เหยี่ยวทำท่างง “จะไม่พูดซักหน่อย...หรือครับ”     “ การวิจารณ์ที่ดี  คือ ไม่วิจารณ์  ทำต่อไป”  ท่านอาจารย์ชลูดยิ้ม 
             อาจารย์ปรีชาเลยช่วยขยายความต่อว่า  “ความหมายของท่านอาจารย์ก็คือ  งานน่ะดีแล้วให้ทำต่อไป  ทีอย่างนี้จะให้พูดมาก...”    
               ผลงานที่ได้รับการวิจารณ์แล้วถูกลำเลียงออกไปไว้นอกห้อง  น่าชมเชยความมีน้ำใจของนิสิตทั้งรุ่นพี่รุ่นน้องที่กุลีกุจอช่วยกันยกงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย  แต่ที่น่าชมมากกว่านั้นคือพระอาจารย์ทั้งสามท่าน  ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยที่จะให้แนวคิดและแนวทางที่วิจารณ์ออกมาแบบสด ๆ   ซึ่งท่านรศ.บุญทันบ่นเสียดายที่ลืมบอกพวกเราเอากล้องวิดีโอมาบันทึกไว้  แล้วค่อยถอดแบบคำต่อคำ  เพราะเหล่านี้คือความรู้ที่บังเกิดขึ้นแบบสด ๆ  แล้วมันย้อนคืนมาพูดอีกไม่ได้แล้ว
               ต่อจากนั้นถึงคราวของรุ่นพี่  ซึ่งเรียกกันว่า  เบอร์ 2  หมายถึงวิชาการสร้างสรรค์ทัศนศิลป์ขั้นสูง 2 (Visual 2 )  คนแรกคือ  คุณอภิชาติ    ดูเหมือนทั้งสามท่านจะเห็นงานมาเป็นระยะ ๆ และวิจารณ์มาแล้วหลายครั้ง  ในครั้งนี้ข้อเสนอแนะโดยสรุปก็คือ  ผลงานแสดงถึงความอบอุ่น (ได้แรงบันดาลใจจากก้นหอย)  แต่จังหวะการหมุนของเส้นมันแรงไป  ไม่แสดงความอบอุ่น  เทคนิคและวัสดุดีแล้ว  สิ่งที่อยากเห็นเพิ่มเติมคือสัญลักษณ์ที่สื่อถึงพ่อ  แม่และลูก
              คนต่อมาคือคุณเอ้  ทรงเกียรติ  ซึ่งดร็อปการเรียนไป  1  ปีเต็ม  ตอนนี้กลับมาใหม่ด้วยผลงานภาพเขียนสีน้ำมันหก เจ็ดชิ้น  แสดงถึงความยากแค้นของคนใช้แรงงานก่อสร้าง    ข้อคิดเห็นของทั้งสามท่าน  มีแง่มุมที่ลึกซึ้ง  น่าสนใจ  เช่น    เครื่องครัวอาจมีการทิ้งค้างบ้างหลังใช้งาน  ไฟที่ลุกใต้หม้อหุงข้าวตัดออกดีกว่า  จะได้ความหมายใหม่    หม้อหุงข้าวยังไม่สื่อความยากแค้น   บางอย่างต้องปิดบัง  ซ่อนเร้นไม่เปิดเผยหมดให้คนดูได้คิดบ้าง   เป็นต้น
              “Figure  เป็นพระเอกอย่างนี้ปล่อยไปไม่ได้  โดยเฉพาะมือ  จะสื่ออารมณ์ได้มาก  และจะปิดบังซุกซ่อนเพื่อจะไม่เขียนไม่ได้   เธอจบไปเป็นครูเขาที่ ฝั่งโน้น  จะต้องไปสอนเขาอย่างถูกต้อง  แบบนี้ชั้นปล่อยไปไม่ได้...”   
             คุณเนย  วาทินี  รุ่น 2  น่าจะเป็นคนที่เครียดน้อยที่สุด  เพราะผ่านการเสนอเค้าโครงเรียบร้อยแล้ว  นี่เป็นการประเมินครั้งรองสุดท้ายก่อนจบ  แนวทางของผลงานจะแสดงออกเกี่ยวกับนิทาน  เป็นงานปักด้วยด้ายสีหวาน ๆ บนผ้าใบ  ปัญหาของเนยคือ งาน  2  ชิ้นสุดท้ายทำออกนอกกรอบที่ได้กำหนดไว้  ซึ่งท่านอาจารย์ชลูดฟันธงว่า  ให้หยุดไว้ก่อน  อย่าก้าวกระโดดไปไกลมาก  ย้อนกลับไปให้เป็นรูปร่างหรือนิทานเช่นงานเก่าแบบก้าวถี่ ๆ จะดีกว่า  ศิลปะอย่าก้าวยาว  ประเดี๋ยวงานนามธรรมก็มาเองเมื่อถึงเวลา” 
            ประมาณเที่ยงเศษ ๆ  การประเมินผลงานวิชา Visual ทั้ง เบอร์ 1 และเบอร์ 2  เสร็จสิ้นโดยสวัสดิภาพ  ระหว่างที่ปรมาจารย์ทางศิลปะทั้งหลายกำลังจะเดินทางไปรับประทานอาหารกลางวัน  ท่านรศ.บุญทัน  เชษฐ์ สุราษฎร์  ประธานหลักสูตรและอาจารย์ผู้สอนวิชานี้  เดินมาหาคณะพวกเราประมาณว่าอัดอั้นไว้นานวันนี้ถ้าไม่ได้พูดคงไม่ยอมแน่ ๆ  พร้อมหน้าเปื้อนยิ้ม(ซึ่งพวกเราไม่เห็นนานแล้ว)
                 “ เสียดายผมลืมบอกพวกเราเอากล้องวิดีโอมาบันทึกไว้ทุกช็อต  แล้วค่อยมาถอดคำต่อคำ    เพื่อน....(ยังมีต่ออีกนิดหน่อยครับ)

          (ท่านที่ต้องการชมภาพประกอบบันทึกนี้  โปรดเข้าดูใน  "บันทึกลึก(แต่ไม่ลับ)" ในบล็อก "ครูศิลป์อาชีวะ"    

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท