สิงคาลกสูตร ( ๑๑ )


พระสูตรอันเป็นแนวทางในการปฏิบัติตนของผู้ครองเรือน

[๒๗๓] พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

            “มารดาบิดาเป็นทิศเบื้องหน้า

อาจารย์เป็นทิศเบื้องขวา

บุตรภรรยาเป็นทิศเบื้องหลัง

มิตรสหายเป็นทิศเบื้องซ้าย

ทาสกรรมกรเป็นทิศเบื้องล่าง

สมณพราหมณ์เป็นทิศเบื้องบน

คฤหัสถ์ในตระกูลผู้มีความสามารถพึงไหว้ทิศเหล่านี้

                บัณฑิตผู้สมบูรณ์ด้วยศีล

เป็นคนละเอียดและมีไหวพริบ

มีความประพฤติเจียมตน

ไม่แข็งกระด้าง เช่นนั้น ย่อมได้ยศ

                คนขยัน ไม่เกียจคร้าน

ย่อมไม่หวั่นไหวในอันตรายทั้งหลาย

คนมีความประพฤติไม่ขาดตอน

มีปัญญาเช่นนั้น ย่อมได้ยศ

                คนชอบสงเคราะห์

ชอบสร้างไมตรี รู้เรื่องที่เขาบอก

ปราศจากความตระหนี่ เป็นผู้ชอบแนะนำ

ชี้แจงแสดงเหตุผล เช่นนั้น ย่อมได้ยศ

                ทาน(การให้) เปยยวัชชะ(วาจาเป็นที่รัก)

อัตถจริยา (การประพฤติประโยชน์) ในโลกนี้

และสมานัตตา (การวางตนสม่ำเสมอ)

ในธรรมนั้นๆตามสมควร

สังคหธรรมเหล่านี้แลช่วยอุ้มชูโลก

เหมือนลิ่มสลักเพลาคุมรถที่แล่นไปไว้ได้ฉะนั้น

                ถ้าไม่มีสังคหธรรมเหล่านี้

มารดาหรือบิดาก็ไม่พึงได้การนับถือ

หรือการบูชาเพราะบุตรเป็นเหตุ

แต่เพราะบัณฑิตเล็งเห็นความสำคัญของสังคหธรรมเหล่านี้

ฉะนั้น บัณฑิตเหล่านี้จึงถึงความเป็นใหญ่และเป็นผู้น่าสรรเสริญ”

[๒๗๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สิงคาลกะ คหบดีบุตร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก  พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่างๆเปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า “คนตาดีจักเห็นรูปได้” ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”

สิงคาลกสูตรที่ ๘ จบ

ผู้มีความสามารถ ในที่นี้หมายถึงผู้มีความสามารถที่จะครองเรือน คือเลี้ยงดูบุตรและภรรยาให้เป็นสุขได้ (ที.ปา.อ.๒๗๓/๑๕๐)

มีไหวพริบ ในที่นี้หมายถึงมีความเฉลียวฉลาดในการไหว้ทิศ คือเข้าใจความหมายของการไหว้อย่างถูกต้อง (ที.ปา.อ.๒๗๓/๑๕๐)

ประพฤติไม่ขาดตอน ในที่นี้หมายถึงประพฤติต่อเนื่องกันไปไม่ขาดสาย (ที.ปา.อ.๒๗๓/๑๕๐)

รู้เรื่องที่เขาบอก ในที่นี้หมายถึงรู้เรื่องที่บุพการีสั่งไว้ แล้วปฏิบัติตาม (ที.ปา.อ.๒๗๓/๑๕๐)

......................................

ที่มา : พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่มที่ ๑๑ (สุตตันต. ๓)

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 388452เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2010 07:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อ่านธรรมก่อนเข้านอน

คืนนี้ถ้าจะหลับสบายค่ะ

สวัสดีครับ

มาเยี่ยม มาอ่าน มาเติมความรู้ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท