การศึกษา...ที่น่าศึกษา


ทุกวันนี้มีการพูดถึงผลการทดสอบต่างๆ ว่าจัดอันดับแล้วประเทศไหนอยู่อันดับใดกันบ้าง ทำไมประเทศไทยไม่อยู่อันดับต้นๆ บ้าง ฟังอย่างนี้แล้วจึงมีเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับการศึกษาในต่างประเทศที่น่าสนใจเรื่องอยากมาเล่าสู่กันฟัง

ที่ประเทศฟินแลนด์ โรงเรียนประถมโพอิกกิลักโซ ในกรุงเฮลซิงกิ ได้รับการยกย่องให้เป็นโรงเรียนที่มีนักเรียนที่มีผลการเรียนดีเลิศ จากการสำรวจของ องค์การความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ในปี 2546  พบว่านักเรียนโรงเรียนนี้เรียนดีเหนือกว่า อีก 40 ประเทศที่เข้าทดสอบ มีทั้งวิชาวิทยาศาสตร์และการอ่าน ทั้งยังมีคะแนนสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของโออีซีดีมาก ผลการทดสอบนี้เรียกว่าฟิซา (PISA : การประเมินที่มองไปถึงชีวิตในอนาคต ไม่ใช่การประเมินตามเนื้อหาในหลักสูตรที่เรียนกันอยู่ในปัจจุบัน และเป็นการประเมินอย่างต่อเนื่อง) นอกจากนั้นจากการทดสอบนี้แสดงผลให้เห็นในวิชาคณิตศาสตร์เช่นกันว่านักเรียนฟินแลนด์นั้นนำหน้านักเรียนอื่นทั่วโลกกว่า 250,000 คนที่เข้ารับการทดสอบ http://www.ipst.ac.th/pisa/

ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เพียงว่ามีเด็กที่เรียนหนังสือเก่ง ผ่านเกณฑ์การทดสอบได้คะแนนสูง แต่สิ่งสำคัญที่น่าสังเกต คือทำไมเขาถึงประสบความสำเร็จ เขาทำอย่างไรเขาจัดการศึกษากันอย่างไร

คำตอบไม่ใช่การใช้เงินจำนวนมากและไม่ได้ยึดอยู่กับแบบแผนที่นักการศึกษาในประเทศอื่นๆ นิยมกันเช่น การทดสอบต่อเนื่อง ให้เรียนมากๆ มีระเบียบวินัยเคร่งครัด แต่ที่นี่นักเรียนเข้าเรียนเมื่ออายุเจ็ดขวบชึ่งช้ากว่าประเทศอื่น และส่วนใหญ่เรียนโรงเรียนของรัฐ และเรียนเพียงเฉลี่ย 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์รวมเวลาทำการบ้านด้วย เทียบกับบ้านเราคงต่างกันมากมาย

สิ่งหนึ่งที่ประทับใจคือมีการกระจายอำนาจการบริหารให้โรงเรียนออกไปอย่างสมบูรณ์เปิดให้ครูจัดลำดับความสำคัญทางการศึกษาของแต่ละแห่งเอง และที่น่าดีใจครูที่นี่จัดว่าเป็นหนึ่งในบรรดาครูซึ่งได้รับการฝึกที่ดีที่สุดในโลก แม้เงินเดือนจะไม่มากมาย และขึ้นอยู่กับประสบการณ์แต่ที่สำคัญวิชาชีพนี้ได้รับการยกย่องสูง การคัดเลือกเข้าเรียนครูจะเข้มงวดกว่าการคัดเลือกเข้าเรียนนิติศาสตร์ หรือแพทย์ศาสตร์

ครูที่นี่มีเสรีภาพทางวิชาการสูง มีอิสระภาพในการเลือกวิธีการสอนใดก็ได้ เพราะเนื่องจากผ่านการคัดเลือกมาอย่างเข้มข้นแล้วจึงเปิดโอกาสให้ครูได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่ ไม่มีการตรวจสอบประเมินผลตัวครู

นักเรียนที่นี่ได้รับการส่งเสริมให้ค้นคว้าด้วยตนเอง ให้ได้คิดได้ด้วยตนเอง และไม่มีกระดิ่งบอกเวลาเริ่มชั่วโมงหรือหมดชั่วโมง เมื่อนักเรียนทำงานเสร็จก็กลับบ้านได้ แต่เด็กที่เรียนช้าจะได้รับความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และเด็กๆจะประเมินตนเองดูจากกราฟความก้าวหน้า

จึงเห็นได้ว่าความสำเร็จจากการศึกษามิใช่ได้มาโดยง่าย แต่มีการจัดการที่เป็นระบบ มีความเข้าใจที่ตรงกันและให้ความสำคัญในสิ่งที่สำคัญจริงๆ มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ตามเราคงมิอาจเปลี่ยนแปลงอะไรไปได้เสียทั้งหมด หากแต่เราได้เรียนรู้และศึกษาในแบบอย่างที่ดี และเข้าใจถึงแก่นการปฎิบ้ติ มิใช่เพียงแต่คิดว่าทำไมเด็กไทยไม่เป็นอย่างเขา...

อ้างอิงจาก Reader's Digest ฉบับเดือนกันยายน 2548 (เฟอร์กัส บอร์เดวิช 2548 :95 -101)

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 3880เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2005 13:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เมื่อครูไม่มุ่งเน้นการสอน นักเรียนจึงได้เรียน ประเทศไทยเน้นที่การสอน การถ่ายทอดความรู้ นักเรียนของเราจึงไม่ได้เรียนรู้แต่ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่นั่งฟังครูสอน คอยรับคำสอน ไม่อยากคิด นอกเหนือจากคำสอน เราอยากให้เด็กเก่งเราจึงต้องสอนมากๆๆๆ ทำอย่างไรประเทศไทยจึงจะเลิกแนวคิดนี้ได้นะครับ ฝากช่วยคิดด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท