ชีวิตที่พอเพียง : ๑๐๖๓. เรียนรู้สื่อสาธารณะ


ความเป็น “สื่อสาธารณะ” นั่นเองที่เป็นความท้าทายอย่างยิ่งต่อ สสท. ท้าทายว่าจะตีความคำนี้อย่างไร จะทำให้เกิดความเข้าใจไปในทางเดียวกันทั่วทั้งองค์กรได้อย่างไร จะทำให้เข้าใจลึกถึงระดับคุณค่า และเชื่อมโยงถึงระดับปฏิบัติ ได้อย่างไร


          วันที่ ๓๐ – ๓๑ ก.ค. ๕๓ ผมร่วมเดินทางไปสุพรรณ – อยุธยา ไปกับ Executive Learning Trip ของ สสท. เพื่อลงพื้นที่สำหรับสร้างบรรยากาศการเรียนรู้จากการสัมผัสจริงด้วยผัสสะทั้ง ๖ ของผู้บริหารของ สสท. หรือทีวีไทย   ที่ต้องการพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรแห่งการเป็นสื่อสาธารณะ   ที่จริง trip นี้ ๓ วัน รวม ๑ ส.ค. ด้วย    แต่ผมต้องกลับมาร่วมงานเปิดหอจดหมายเหตุพุทธทาสในวันที่ ๑ ส.ค.   ผมจึงอยู่ร่วมงานของ สสท. – สคส. ได้เพียง ๒ วัน   เป็น ๒ วันแห่งการเรียนรู้    เรียนรู้เรื่องสื่อสาธารณะ

          นอกจากเป็นสื่อสาธารณะแล้ว สสท. ยังเกิดจากการหลอมรวม ไอทีวี เข้ามาด้วย   คือเป็นสื่อธุรกิจที่ต้องปรับตัวมาเป็นสื่อสาธารณะ

          เราจึงได้รับรู้ความท้าทายต่อการสร้างวัฒนธรรมองค์กรของหน่วยงานที่มีอายุ ๒ ปี   ที่จะต้องตีความหาความหมายหรือคุณค่าของการเป็นสื่อสาธารณะที่จะต้องปรับตัวให้อยู่ดีและอยู่รอดในสถานการณ์ที่จะมีสถานีโทรทัศน์เพิ่มขึ้นอีก   จะมีการแย่งชิงพนักงานซึ่งก็มีจำนวนน้อยอยู่แล้ว  

          สสท. มีสถานี บีบีซี ของอังกฤษเป็นแม่แบบ   ที่เป็นสื่อสาธารณะที่มีคุณภาพสูง   แข่งขันในวงการสื่อที่มีการแข่งขันสูงยิ่งได้เป็นอย่างดี  

          ผมได้รับข้อมูลยืนยันความเข้าใจเดิมว่า สื่อไทยมีจุดอ่อนที่ content   อ่อนด้อยความสามารถในการสร้าง content ที่ทั้งสนุก น่าสนใจ และประเทืองปัญญา   เป็นจุดอ่อนของสื่อที่เป็นธุรกิจ และที่เป็นสื่อสาธารณะ

          และความเป็น “สื่อสาธารณะ” นั่นเองที่เป็นความท้าทายอย่างยิ่งต่อ สสท.   ท้าทายว่าจะตีความคำนี้อย่างไร    จะทำให้เกิดความเข้าใจไปในทางเดียวกันทั่วทั้งองค์กรได้อย่างไร    จะทำให้เข้าใจลึกถึงระดับคุณค่า และเชื่อมโยงถึงระดับปฏิบัติ ได้อย่างไร   ซึ่งนี่คือการหาตัวตน   ที่เมื่อผมไปทำอะไรก็ตามผมถือเป็นจุดสำคัญสูงสุด   คือต้องหาตัวตนในระดับคุณค่าให้พบ และต้องพบแบบมีสิ่งที่เรียกว่า operating definition   ต้องไม่ปล่อยให้อยู่ในสภาพเข้าใจรางๆ   และไม่ปล่อยให้เข้าใจไม่ทั่วทั้งองค์กร 

          สคส. เข้าไปรับทำงานสร้างศักยภาพในการจัดการความรู้ให้แก่ สสท.   เพื่อใช้พลัง KM & LO ในการสร้างวัฒนธรรมองค์กร ในการทำงานอย่างมีคุณภาพ   ขับเคลื่อนพลังของพนักงานซึ่งไม่ด้อยกว่าที่ใด ในการสร้างความเป็นเลิศของ สสท.

          ผมได้เข้าใจความซับซ้อนขององค์กรสื่อ   ที่มีหลากหลายฝ่าย   และทำงานอย่างที่ต้องการความเร่งด่วนอยู่ตลอดเวลา    จึงอยู่ในสภาพบรรยากาศฉุกละหุก ไม่มีเวลา “ลับมีด”   ได้แต่ “ใช้มีดฟันไม้อยู่ตลอดเวลา”   

          องค์กรสื่อเป็นองค์กรที่ต้องทันสมัย ทั้งเรื่องเทคโนโลยีการสื่อสารกระจายเสียงและภาพ   และเรื่องความรู้ความเข้าใจความรู้ (content) ใหม่ๆ    แต่กลับไม่มีเวลาเพื่อการเรียนรู้แบบที่สอดแทรกอยู่กับการทำงาน   น่าจะเป็นเรื่องที่แปลกมาก   เพราะสภาพเช่นนี้ จะทำให้องค์กรสื่อนั้นอ่อนด้อยด้านการพัฒนาตัวเอง และด้านการแข่งขันอย่างชัดเจน

          สคส. จึงมองเห็นโอกาสใสแจ๋วแหวว ในการเข้าไปร่วมมือสร้างภาพลักษณ์ใหม่ โฉมใหม่ ที่เป็นองค์กรเรียนรู้ให้แก่ สสท.

          ที่จริงกล่าวดังย่อหน้าบนนั้นผิด   ที่ถูกคือ สคส. เข้าไปช่วยเป็นคุณอำนวย ให้ สสท. สร้างตนเองไปเป็นองค์กรเรียนรู้  

 

 

วิจารณ์ พานิช
๓๑ ก.ค. ๕๓
              

หมายเลขบันทึก: 387682เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2010 11:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 10:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท