การให้บริการผู้ป่วยโรคเรื้อรังแบบองค์รวม


ผมรู้สึกมีความสุขและภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่หมออนามัยให้บริการใกล้บ้านใกล้ใจกับประชาชนในเขตรับผิดชอบของผมเสมือนญาติพี่น้อง ให้การดูแลตามหลักมนุษยธรรม
เมื่อกระผมจบมัธยมศึกษาตอนปลายได้เข้าศึกษาต่อหลักสูตรประกาศนียบัตรสาธารณสุขชุมชน ณ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิริธรจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นรุ่นแรกของสถาบัน หลังจากสำเร็จการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2545 ไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการโดยปฏิบัติงานในตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวของสถานบริการ และได้ไปปฏิบัติงานที่สถานีอนามัยบ้านท่าฉนวน ตำบลท่าฉนวน อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย ซึ่งเป็นอนามัยขนาดเล็กและเป็นอนามัยแห่งที่สองของตำบล รับผิดชอบดูแลสุขภาพประชาชน จำนวน 3 หมู่บ้าน ประชากร 2,000 คน โดยสถานที่ปฏิบัติงานตั้งอยู่ห่างจากชุมชนประมาณ 1 กิโลเมตร ติดกับถนนสายหลักด้านหน้ามีทิวทัศน์ที่สวยงามไปด้วยนาข้าวเขียวขจีและด้านหลังของสถานีอนามัยมีแม่น้ำยมไหลผ่าน ซึ่งเป็นแหล่งรายได้ยามน้ำหลากของประชาชน ส่วนใหญ่ประชาชนประกอบอาชีพทำนาปีละ 2 ครั้ง และประมงพื้นบ้านในช่วงน้ำหลาก รับจ้างนอกพื้นที่ มีบุคลากรประกอบด้วยหัวหน้าสถานีอนามัย 1 คน และผม ภาวะสุขภาพของประชาชนในเขตรับผิดชอบส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องโรคไม่ติดต่อ ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งจากการปฏิบัติงานโรคไม่ติดต่อในการคัดกรองประชาชนกลุ่มเป้าหมายพบผู้ป่วยรายใหม่ทุกปีและมีแนวโน้มของผู้ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในระดับพื้นที่ ปัจจุบันจากทะเบียนผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มีผู้ป่วยจำนวน 139 คน และผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถดูแลและปฏิบัติตนในเรื่องของการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย อารมณ์ และการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม ทำให้การรักษาไม่ได้ผลมีความเสี่ยงด้วยโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ และในเขตรับผิดชอบมีผู้ป่วยด้วยโรคแทรกซ้อนที่สามารถดูแลตนเองได้และไม่สามารถดูแลตนเองได้ จำนวน 8 คน เรื่องเล่าประทับใจของผมที่จะนำเสนอนี้เป็นการให้บริการผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถช่วยเหลือดูแลตนเองได้ในชุมชน ซึ่งผู้ป่วยหญิงในเขตรับผิดชอบอายุ 72 ปี ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงและมีภาวะแทรกซ้อนเป็นอัมพฤกษ์ซีกซ้ายรับการรักษาที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดและอาการดีขึ้นแพทย์ให้กลับมาพักรักษาตัวที่บ้านโดยช่วงที่กลับมาผู้ป่วยได้รับการเจาะคอ ใส่สายให้อาหารและใส่สายปัสสาวะ ผมได้รับแบบติดตามเยี่ยมบ้านจากทางโรงพยาบาลจึงได้ลงไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วยในพื้นที่ พบสภาพผู้ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ใส่สายให้อาหาร เจาะคอ ใส่สายสวนปัสสาวะ นอนพักอยู่บนบ้านซึ่งบ้านผู้ป่วยเป็นบ้านยกสูงใต้ถุนโล่งมีบ้านหน้าต่าง อากาศถ่ายเทสะดวก โดยมีสามีและบุตร บุตรสะใภ้ หลานเป็นผู้ดูแล ในการลงไปเยี่ยมให้การดูแลผู้ป่วยโดยการวัดความดัน แนะนำการให้อาหารผู้ป่วย การพลิกตะแคงตัวเพื่อป้องกันแผลกดทับ พูดคุยให้กำลังใจครอบครัวผู้ป่วย และต่อมาผู้ป่วยมีบาดแผลกดทับที่ก้นกบ ในช่วงแรกได้ลงไปทำแผลให้ผู้ป่วยทุกวันพอแผลดีขึ้นก็สอนให้บุคคลในครอบครัวทำบาดแผลให้ผู้ป่วย โดยทางสถานีอนามัยสนับสนุนชุดทำแผลและติดตามเยี่ยมอย่างต่อเนื่อง และปัญหาที่พบจากการลงไปเยี่ยมผู้ป่วย พบว่า การให้อาหารทางสายให้อาหารลำบากเพราะผู้ป่วยนอนราบกับพื้น โดยเฉพาะถ้าบุคคลในครอบครัวอยู่บ้านคนเดียวจะลำบากมาก เนื่องจากลูกมีอาชีพขายของตามตลาดนัด และหลานไปเรียนในตัวจังหวัด ซึ่งเหลือเฉพาะสามีที่อายุมากเท่านั้น ในการดูแลผู้ป่วยส่วนใหญ่ในแต่ละวัน ในช่วงเวลากลางวัน ผมจึงคิดหาทางช่วยเหลือในการดูแลผู้ป่วย พอดีวันหนึ่งได้เข้าไปอบรมที่โรงพยาบาลแม่ข่าย พยาบาลผู้ป่วยในได้มาแจ้งในที่ประชุมว่าทางโรงพยาบาลมีเตียงผู้ป่วยที่ไม่ได้ใช้แล้ว ถ้าสถานีอนามัยไหนต้องการให้ลงชื่อขอรับได้ ผมก็ลงชื่อขอรับทันทีและขนกับมาเอาไปให้ที่บ้านผู้ป่วยทันทีในช่วงเย็นของวันนั้น และญาติผู้ป่วยก็ช่วยกันทำความสะอาด ผมก็ช่วยกันยกขึ้นไปบนบ้าน ญาติดีใจมากที่ได้เตียงมา ขอบคุณผมเป็นการใหญ่ ผมรู้สึกดีใจและมีความสุขอย่างบอกไม่ถูก หลังจากวันนั้น ผมก็ได้ติดตามเยี่ยมผู้ป่วยเป็นประจำดูแลบาดแลบาดแผลกดทับ ให้กำลังใจญาติ แนะนำเรื่องการทำกายภาพ การให้อาหาร แก่ผู้ป่วย เป็นระเวลา 2 ปี และวันหนึ่งทางบ้านผู้ป่วยได้โทรมาแจ้งว่ายายเสียชีวิตแล้วที่บ้าน และได้ไปร่วมงานบุญและวันฌาปนกิจ ผมรู้สึกมีความสุขและภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่หมออนามัยให้บริการใกล้บ้านใกล้ใจกับประชาชนในเขตรับผิดชอบของผมเสมือนญาติพี่น้อง ให้การดูแลตามหลักมนุษยธรรม เลือกเรื่องนี้มาเพราะว่าเป็นการให้บริการแบบบริการผสมผสาน บริการเป็นองค์รวม บริการต่อเนื่องตามบริบทของชุมชนที่ปฏิบัติงาน ระบบการบริการสาธารณสุขในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งต้องกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นตามกฎหมายในเรื่องระบบสาธารณสุข ในความคิดของผมต้องเป็นระบบบริการสาธารณสุขที่พึงประสงค์มีลักษณะของระบบการดูแลสุขภาพแบบบูรณาการ ประกอบด้วย 1. ต้องเป็นบริการแบบผสมผสาน เป็นองค์รวม ต่อเนื่อง และมีความครอบคลุมประชากรทั้งหมด 2. ต้องมีการแบ่งบทบาทชัดเจนระหว่างบริการระดับต้นหรือบริการด่านแรก (Primary Care) ซึ่งเน้นคุณภาพเชิงสังคม (Social Quality) คือความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัวและชุมชน กับบริการในระดับสูงขึ้นที่เรียกว่า (Secondary Care) ขึ้นไป หรือ Hospital Care ซึ่งเน้นคุณภาพเชิงเทคนิค คือ มีความสามารถเฉพาะทางและดูแลผู้ป่วยที่มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น 3. ต้องมีความเชื่อมโยงและความสัมพันธ์ที่ดีของสถานบริการแต่ละระดับในการรับส่งผู้ป่วยและข้อมูลข่าวสารไปและกลับ อันเป็นการรับประกันว่าผู้ป่วยจะได้รับการดูแลที่ดีทั้งด้านสังคมและเทคโนโลยี 4. เน้นการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในการจัดการระบบสุขภาพในท้องถิ่น ************************************************************************************************* ผู้นำเสนอ นายมานน โพธิ์เปี่ยม นักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ สถานีอนามัยบ้านท่าฉนวน ตำบลท่าฉนวน อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย
หมายเลขบันทึก: 387646เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2010 10:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 07:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะน้องนนท์

เมื่อเรามองที่ผู้ป่วยเป็นศูย์กลาง ด้วยหัวใจและจิตวิญญาณ อะไรๆมันที่ว่ามันใหญ่มันหนัก มันก็ผ่านไปด้วยดี

เพราะความสุขที่ได้ทำมันจึงเป็นน้ำหล่อเลี้ยงหัวใจทุกดวงของคนทำงาน Primary Care ถ้าเรามองหาว่ามันเป็นหน้าที่ใครกัน มันไม่ใช่หน้าที่ของเรานี่นา ผู้ที่ได้รับผลกระทบก็คือผู้ป่วยนั่นเอง

เป็นกำลังใจในการทำงาน Primary Care ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท