วิถึชีวิตแรงงานเกี่ยวกับผ้า บ้านโนนเสลา (ตอน 2)


 
(ความเดิม)
แรงงานทอผ้า
บ้านโนนเสสลา ตำบลหนองตูม  อำเภอภูเขียว  จังหวัดชัยภูมิ
 
บริบทพื้นที่
 
          อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ  มีฐานะเป็นเมือง ๆ หนึ่งในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยมีที่ตั้งเมืองอยู่ที่บ้านเมืองเก่า (ปัจจุบันอยู่ในท้องที่อำเภอเกษตรสมบูรณ์) หลวงไกรสิงหนาทเป็นเจ้าเมืองปกครองขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร ต่อมาได้บรรดาศักดิ์เป็นพระยาไกรสิงหนาท พระยาไกรสิงหนาทผู้นี้ไม่มีบุตรสืบตระกูล จึงได้มีใบบอกแจ้งไปทางกรุงเทพมหานคร ให้ตั้งนายฤๅชาซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความสามารถดีให้เป็นเจ้าเมืองแทน โดยได้บรรดาศักดิ์เป็นหลวงไกรสิงหนาทและพระยาไกรสิงหนาทตามลำดับ  
          ระหว่างที่พระยาไกรสิงหนาทปกครองเมืองอยู่นั้น ปรากฏว่าเมืองภูเขียวมีพลเมืองเพิ่มขึ้น ที่ตั้งเมืองเริ่มคับแคบจึงได้ย้ายเมืองมาอยู่ที่บ้านกุดเชือก (บ้านยาง ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอเกษตรสมบูรณ์ปัจจุบัน)
 
            เมื่อพระยาไกรสิงหนาทชราภาพลงก็ได้มีใบบอกไปยังกรุงเทพมหานคร ให้ตั้งนายบุญมาบุตรชายคนโตของตนเป็นผู้ปกครองแทน ต่อมาจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระยาไกรสิงหนาทแทนบิดา และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาภักดีฤๅชัยจางวาง ซึ่งต่อมาได้ทำการย้ายเมืองจากบ้านกุดเชือกไปอยู่ที่  บ้านโนนเสลา (ปัจจุบันอยู่ในที่ตำบลหนองตูม อำเภอภูเขียว) เพราะเห็นว่าเป็นทำเลที่เหมาะสม จึงนับว่า พื้นที่ศึกษามีความสำคัญในประวัติศาสตร์ของอำเภอภูเขียว
 
           หมู่บ้านโนนทัน-โนนเสลา   หมู่ที่ 5, 10, 12   ตำบลหนองตูม อำเภอภูเขียว  จังหวัดชัยภูมิ  เป็นหมู่บ้านทอผ้าขิดระดับประเทศ   การเดินทางจากตัว เมืองอำเภอภูเขียว  ไปตามเส้นทางสายอำเภอภูเขียว –  เกษตรสมบูรณ์  ระยะทาง  7  กิโลเมตร แล้วแยกซ้าย  ไปตามทางลาดยางสู่หมู่บ้านบ้านโนนทัน  อีก  3  กิโลเมตรจึงจะถึงหมู่บ้าน
 
 
แรงงานเย็บผ้าโหล, ผ้าชุด รับจากโรงงาน  (นางพวง, อายุ 37 ปี)
          งานรับจ้างเย็บผ้าโหล, ผ้าชุด รับจากโรงงาน  มีแรงงานในระดับปานกลาง  ในหมู่บ้านมีประมาณ 30-40 คน เพราะเป็นงานที่ต้องใช้เวลา และฝีมือ   และต้องมีจักรเย็บผ้า การเย็บผ้าในลักษณะนี้มีนายจ้างเอางานมาส่งให้ที่บ้าน ได้ค่าจ้างเฉลี่ยตัวละ 40-50 บาท แล้วแต่แบบงาน  เช่น เสื้อ  กางเกง กระโปรง  ชุดนักเรียน  ชุดโรงงาน เป็นต้น  โดยเย็บได้ประมาณวันละ 5-10 ตัว มีรายได้ประมาณ 400-500 บาท ต่อวัน หรือประมาณ 8,000-10,000 บาท ต่อเดือน การจะทำงานให้ได้มากหรือน้อยก็แล้วแต่เวลา และความขยันของแต่ละคน ส่วนใหญ่แรงงานกลุ่มนี้ ถือว่ามีรายได้ดี และมักมีเงินเก็บสะสม  และเป็นกลุ่มที่ทำงานเกือบทุกวัน และไม่ได้เป็นแรงงานภาคเกษตรกรรม
 
 
            “เถ้าแก่ส่วนใหญ่จะมาจากต่างจังหวัด เช่น ขอนแก่น  โคราช บ้าง นำงานมาให้ เอาผ้า  เอาแบบมาให้  เราก็ตัดเย็บตามแบบ   เถ้าแก่จะมาประมาณเดือนละ 2 ครั้ง  แต่ละครั้งนำมางานมา  และรับงานกลับ  และจ่ายเงินด้วย  เช่น  เสื้อ ตัวละ 40 บาทบ้าง  กางเกง 50 บาท บ้าง  แล้วแต่งานยากงาน และการตกลงราคากัน “
 
            “แรงงานเย็บผ้า ส่งตัวละ 40 บาท  เถ้าแก่เขาไปขายต่อ ตัวละ 500-600 บาท ถ้าหักต้นทุนคงจะได้มากพอควร เพราะพี่ไปเจองานแบบที่ทำ ในห้าง”
           
รายได้ของแรงงานเย็บผ้าโหล, ผ้าชุด รับจากโรงงาน   (นางพวง, อายุ 37 ปี)
            “ส่วนใหญ่ จะได้เงินมากกว่าแรงงานทอผ้าขิด เพราะเป็นแรงงานสาว ๆ อยู่  อายุไม่เกิน 50 ปี  จะทำงานทั้งวันทั้งคืน  กินข้าวไม่ตรงเวลา  ปวดเยี่ยวก็ไม่ได้เยี่ยว เถ้าแก่จะมาประมาณเดือนละ 2 ครั้ง  เฉลี่ยได้คนละประมาณ 3 – 5  พันบาท  ถ้ารวมบางคนต่อเดือนถ้าเร่งงานมาก บางคนรายได้มากกว่าหนึ่งหมื่นบาทเดือน”
 
 แรงงานเย็บผ้าหน้าร้านจำหน่ายในหมู่บ้าน (นางกานดา, อายุ 42 ปี)
            งานเย็บผ้าหน้าร้านจำหน่ายในหมู่บ้าน  เป็นแรงงานส่วนน้อยในหมู่บ้าน  ในหมู่บ้านมีประมาณ 20-30 คน แรงงานกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่มีประสบการณ์ในการเย็บผ้าสูง อาจเคยผ่านการเป็นแรงงานเย็บผ้าในโรงงานมาก่อน และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ทำงานเกือบทุกวัน และไม่ได้เป็นแรงงานภาคเกษตรกรรม
 
            “ร้านค้าขายสินค้า หรือร้านโอท๊อป ในหมู่บ้าน มีประมาณ 10 ร้าน ไม่ขาด เปิดขายทุกวัน ยกเว้น เขามีมหกรรมโอท็อประดับประเทศก็ไปตั้งร้านที่กรุงเทพฯ  เมืองทองบ้าง ตามห้างบ้าง เกือบเดือนก็มี”
 
            “ถ้ามีงานโอท๊อประหว่างประเทศ จะมีออเดอร์จากคนกลาง มาที่ร้าน เร่งงานให้ทันงาน เพราะขายผ้าขิดได้มาก บ้างคนเย็บหน้าร้านได้เกือบหมื่นบาทในเดือนนั้น”
 
            “ในร้านค้าเหล่านั้น จะมีแรงงานเย็บผ้าหน้าร้านอยู่ด้วย ร้านหนึ่งประมาณ 2 คน อย่างต่ำ เพราะต้องทั้งเย็บผ้า และรีดผ้า ถ้ารวมในหมู่บ้านเรา มีแรงงานกลุ่มนี้ประมาณ 30 คน มาทำงานที่ร้านเขาเลย ไม่ต้องเตรียมจักร หรือเตารีด เพราะที่ร้านมีอยู่แล้ว เตรียมตัว และเตรียมใจมาก็พอ”
 
            “มาทำงานประมาณ 2 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็น  คนมาซื้อผ้า ก็มาดูเราด้วยเลย  คนต่างถิ่นมาซื้อ ก็มาดูเราเย็บสด ๆ เลย   รายได้ จะได้จากการเย็บผ้าแล้วรีดผ้า  จ้าของร้านจะให้ ตัวละ 45 บาท แล้วแต่แบบด้วย  เย็บขอบผ้าขาวม้า  ผ้าซิ่น  ผ้าโสร่ง  ปอกหมอน ได้ชิ้นละ 5  บาท  เจ้าของร้านจ่ายให้ต่อวันเลย  พี่ได้ประมาณเฉลี่ย 125 – 200 บาท”
 
            “นอกจากนั้น ในบางร้านถ้ามีการแก้ชุด คือ ลูกค้า ซื้อชุดผ้าขิดจากร้านที่ไหนก็ตาม  ใส่แล้วไม่พอดี พอใจ  ถ้านำมาแก้  เจ้าของร้านจะให้พี่ ชิ้นละ 25 บาท  ส่วนที่ว่า เจ้าของร้านจะเรียกราคาเท่าไรต่อลูกค้าพี่ไม่รู้”
 
 
*************
หมายเลขบันทึก: 387375เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2010 11:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 13:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท