ความแตกต่างกันของบุญกับกุศลในพระพุทธศาสนา


ญาณภัทร ยอดแก้ว.2551.นำเสนอในโอกาสงานทศวรรษพุทธศาสนศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551

๑. บทนำ

 โดยปกติคำว่า บุญ กับ กุศล มักใช้รวมเป็นคำเดียวกันว่า บุญกุศล ดังเช่นในประโยคที่ว่า “ขอเชิญร่วมบำเพ็ญบุญกุศลในการทอดผ้าป่าสามัคคี” เป็นต้น หรือหากไม่รวมเป็นคำเดียวกันก็มักจะใช้ในลักษณะเป็นคำที่พ่วงต่อกัน  ดังเช่นในประโยคที่ว่า “การทำบุญทำกุศลควรทำให้สม่ำเสมอ” หรือ “การตั้งใจถวายทานอุทิศสงฆ์....เป็นบุญกุศลมาก” ดังนี้เป็นต้น  ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เกิดความเข้าใจกันโดยทั่วไปว่าบุญกับกุศลในทางพระพุทธศาสนานั้นเป็นอย่างเดียวกัน  เมื่อพูดถึงบุญ  ก็ย่อมหมายถึงสิ่งที่เป็นกุศล ในขณะเดียวกันเมื่อพูดถึงกุศลก็หมายถึงสิ่งที่เป็นบุญ ซึ่งความในทำนองนี้ มิใช่จะมีเฉพาะเป็นภาษาพูดที่ใช้สื่อสารอยู่ทั่วไปเท่านั้น  เพราะในวงวิชาการด้านพระพุทธศาสนา หรือในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาบางแห่งก็มีการอธิบายไว้เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น ในมังคลัตถทีปนี  ตอนที่ว่าด้วยมงคลข้อปุพเพกตปุญญตา (ความเป็นผู้มีบุญอันทำไว้ก่อน) ท่านได้อธิบายไว้ตอนหนึ่งว่า ผู้มีกุศลอันสั่งสม คือ มีอธิการอันทำไว้ปรารภพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระขีณาสพ ในชาติที่ล่วงมาแล้ว ชื่อว่า ผู้มีบุญอันทำไว้ก่อน หรือแม้แต่ในพระไตรปิฎกอันเป็นคัมภีร์หลักทางพระพุทธศาสนาบางที่ก็มีปรากฏพระพุทธพจน์ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าบุญกับกุศลนั้นเป็นอย่างเดียวกันเช่นกัน  ดังความตอนหนึ่งในปุญญาภิสันทวรรคที่ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญห้วงกุศล ๔ ประการนี้ นำความสุขมาให้ ให้อารมณ์อันเลิศ มีสุขเป็นวิบาก เป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ดังนี้เป็นต้น

            แต่อย่างไรตาม  การจะตกลงว่า บุญกับกุศลในทางพระพุทธศาสนานั้นเป็นอย่างเดียวกัน  เพราะอาศัยเพียงคำกล่าวที่ใช้กันโดยทั่วไป  คำอธิบายในคัมภีร์บางที่หรือแม้แต่พระพุทธพจน์บางแห่งมาสนับสนุนโดยปราศจากการพิจารณาอย่างรอบคอบก็อาจจะเป็นทางให้เกิดความผิดพลาดในการทำความเข้าใจคำสอนในทางพระพุทธศาสนาได้  เพราะคำบางคำหรือหลักธรรมบางอย่างในทางพระพุทธศาสนานั้น  เมื่อมีบริบทต่างกันแม้เป็นคำเดียวกันก็อาจมีความหมายโดยเนื้อหาสาระหรือมีความตื้นลึกไม่เหมือนกันได้  เช่นคำว่า สังขาร  ในไตรลักษณ์กับ สังขาร  ในเบญจขันธ์ เป็นต้น  สังขารในไตรลักษณ์มีความหมายครอบคลุมถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่งทั้งที่เป็นวัตถุและนามธรรม  แต่สังขารในเบญจขันธ์นั้น  หมายถึง เฉพาะธรรมชาติที่ปรุงแต่งจิตซึ่งเป็นเรื่องนามธรรมเท่านั้น  กรณีเช่นนี้หากศึกษาเพียงผิวเผินไม่ทำความเข้าใจให้แจ่มแจ้ง ก็อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดในคำสอนและเกิดปัญหาอื่นๆตามมาภายหลังได้

          ในเรื่องบุญกับกุศลดังกล่าวข้างต้นก็เช่นกัน  แม้ข้อมูลโดยทั่วไปจะบ่งให้ทราบว่าเป็นอย่างเดียวกัน  แต่ก็ควรศึกษาทำความเข้าใจให้ถ่องแท้  ที่สำคัญยังมีข้อสังเกตบางอย่างที่พอจะเป็นทางให้โต้แย้งได้ว่าบุญกับกุศลมีความแตกต่างกัน  เช่น เมื่อกล่าวเราถึงกุศล ก็มักจะเกี่ยวกับเรื่อง “กุศลกรรม” “กุศลธรรม” และ “กุศลจิต” เป็นต้น  แต่เมื่อกล่าวถึงบุญมักจะได้ยินแต่เพียงคำว่า “บุญกรรม” ซึ่งเทียบกันได้กับ “กุศลธรรม” เท่านั้น ส่วนคำว่า “บุญธรรม” และ “บุญจิต” ไม่มีปรากฏว่าเป็นที่ยอมรับหรือใช้กันโดยทั่วไป  ซึ่งถ้าหากบุญกับกุศลเป็นอย่างเดียวกันจริงก็ควรจะเป็นคำที่ใช้แทนกันได้ทุกกรณี  ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดสมมติฐานเบื้องต้นว่าบุญกับกุศลในทางพระพุทธศาสนานั้นน่าจะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว และด้วยสมมติฐานนี้เองเป็นเหตุให้ผู้เขียนเกิดความสนใจที่จะศึกษาวิเคราะห์เพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนโดยอาศัยข้อมูลต่างๆทั้งในคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถาและตำราทางพระพุทธศาสนาอื่นๆ มาเป็นข้อมูลสำหรับพิจารณา

 

๒. ความหมายของคำว่าบุญกับ กุศล

 

คำว่า บุญ เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า  หมายถึงความดี  แต่หากวิเคราะห์ความหมายตามที่มาหรือรากศัพท์แล้ว  คำว่า บุญ ซึ่งมาจากศัพท์ภาษาบาลี ปุณญ นั้นมีความหมาย ๒ ประการ ได้แก่

๑) เครื่องชำระกระแสจิตให้บริสุทธิ์  มีรูปวิเคราะห์ว่า ปุเนนติ จิตตสนตาน โสเธนติ เอเตหีติ ปุญญานิ แปลว่า ธรรมชาติที่เป็นเครื่องชำระ คือ ทำกระแสแห่งจิตให้บริสุทธิ์ชื่อว่าบุญ (ปุ ธาตุ = ชำระ + ณย ปัจจัยในกรณสาธนะ)

๒) คุณสมบัติที่ก่อให้เกิดความน่าเคารพบูชา  มีรูปวิเคราะห์ว่า ปูชะนียภาว นิพพตเตนตีติ ปุญญานิ แปลว่า ธรรมชาติที่ยังความเป็นผู้ควรแก่การบูชาให้บังเกิด ชื่อว่า บุญ (ปูชนียศัพท์ + ณย ปัจจัย)

            จากความหมายตามรากศัพท์ทั้ง ๒ นัยนี้  อาจจะรวมเป็นนัยเดียวกันได้ว่า บุญ หมายถึง เครื่องชำระจิตให้บริสุทธิ์จนควรแก่การเคารพบูชานั่นเอง  และหากจะให้ชัดเจนยิ่งกว่านี้อีกก็อาจจะเทียบเคียงกันกับความหมายของคำว่า บาป ในแง่ที่เป็นสิ่งตรงข้าม กล่าวคือ คำว่า บาป มีความหมายตามรากศัพท์ ๒ ประการ ได้แก่

๑) ธรรมที่ทำบาปธรรมอันน่าเกลียดให้หวั่นไหว  มีรูปวิเคราะห์ว่า อปาย ปาเปนตีติ ปาปานิ แปลว่า ธรรมชาติที่ยังสัตว์ให้ถึงซึ่งอบาย (ที่ไร้ความเจริญ) ชื่อว่า บาป (มาจาก ป บทหน้า + อป ธาตุ + เณ ปัจจัย + อ ปัจจัย) ในแง่ที่ตรงข้ามกัน “บุญ” จึงหมายถึง ธรรมชาติที่สนับสนุนให้เจริญก้าวหน้า

๒) สภาพต่ำทราม (แยกศัพท์ไม่ได้ และไม่มีรูปวิเคราะห์ตามหลักภาษา เรียกว่า อนิปผันน-ปาฏิปทิกะ) ในแง่ที่ตรงข้ามกัน บุญ จึงหมายถึง สภาพที่ดีงาม

            นอกจากนี้แล้วยังมีพระพุทธพจน์ตอนหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึง ความหมายของคำว่า “บุญ” ในทางพระพุทธศาสนาได้อย่างชัดเจน คือที่ตรัสว่า สุขสเสต ภิกขเว อธิวจน อิฏเฐสส กนตสส ปิยสส มนาปสส ยทิท ปุญญานิ แปลว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่ารัก น่าชอบใจ  แสดงให้เห็นว่าบุญ กับความสุขมีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างแยกไม่ได้ การจะอธิบายความหมายของคำว่า “บุญ” ให้ชัดเจนจึงควรกล่าวถึงความสุขซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นปรารถนา เป็นที่รักใคร่ชอบใจของทุกชีวิตไว้ด้วย

            ดังนั้น  หากจะประมวลความหมายทั้งหมด กล่าวคือ ทั้งความหมายตามรากศัพท์ข้างต้น ความหมายในแง่ที่ตรงข้ามกับบาป และความหมายตามพระพุทธพจน์ที่อ้างมาก็เป็นอันสรุปได้ว่าคำว่า บุญ ในทางพระพุทธศาสนานั้น หมายถึง เครื่องชำระจิตให้บริสุทธิ์จนควรแก่การเคารพบูชานำไปสู่ความเจริญก้าวหน้า ดีงามและเป็นสุข นั่นเอง

            ส่วนคำว่า กุศล ตามความเข้าใจโดยทั่วไปก็เป็นที่เข้าใจว่า หมายถึง ความดี เช่นเดียวกับ “บุญ” แต่หากกล่าวตามรากศัพท์คำว่า กุศล มาจากภาษาบาลีว่า กุสล มีความหมาย ๔ ประการ ได้แก่

๑) ธรรมที่ทำบาป ธรรมอันน่าเกลียดให้หวั่นไหว  มีรูปวิเคาระห์ว่า  กุจฉิเต ปาปเก ธมเม สลยนติ จลยนติ กมเปนติ วิทธเสนตีติ กุสลา แปลว่า ธรรมที่ยังบาปธรรมอันน่าเกลียดให้หวั่นไหว คือ ให้เคลื่อน ให้สะเทือน ได้แก่ กำจัด (บาปธรรม)เสีย ชื่อว่ากุศล (กุ= บาปธรรมอันน่าตำหนิ+สล ธาตุ(หวั่นไหว) + เณ ปัจจัย  + อ ปัจจัย)

๒) ธรรมที่กำจัดบาปธรรมที่นอนเนื่องด้วยอาการอันน่าเกลียด มีรูปวิเคราะห์ว่า อกุสลสงขาตกุเส ลุนนติ ฉินทนตีติ กุสลา แปลว่า ธรรมที่กำจัด คือ ตัดบาปธรรมกล่าวคืออกุศลที่นอนเนื่องด้วยอาการอันน่าเกลียดเหล่านั้น (กุส+ลู ธาตุ (กำจัด) + อ ปัจจัย)

๓) ธรรมอันบุคคลพึงถือเอาด้วยปัญญา  มีรูปวิเคราะห์ว่า กุเสน ลาตพพา คเหตพพา ปวตเตตพพาติ กุสลา แปลว่า ธรรมอันบุคคลพึงถือเอา คือยึดถือ ได้แก่ให้เป็นไปด้วยปัญญา (กุส= ปัญญา + ลา ธาตุ (ถือเอา) + อ ปัจจัย)

๔) ธรรมที่ตัดทอนฝ่ายเศร้าหมองเหมือนหญ้าคา มีรูปวิเคราะห์ว่า ยถา กุสลา อุภยภาคคต หตถปปเทส ลุนนติ เอวมิเมปิ อุปปนนานุปปนนภาเวน อุภยภาคคต สงกิเลสปกข ลุนนติ ตสมา กุสา วิย ลุนนตีติ กุสลา แปลว่า หญ้าคาย่อมบาดบริเวณมือทั้งสองข้างฉันใด ธรรมเหล่านี้ ย่อมตัดอกุศลธธรรมที่เป็นฝ่ายเศร้าหมองทั้งสองฝ่าย คือที่เกิดขึ้นแล้วและยังไม่เกิดขึ้นฉันนั้นเหตุนั้น ธรรมที่ตัดอกุศลเหมือนกับหญ้าคาชื่อว่ากุศล (กุสา= หญ้าคา + ลู ธาตุ (ตัด) + อ ปัจจัย)

            ความหมายทั้ง ๔ นัยนี้ สามารถกล่าวโดยสรุปได้โดยพิจารณาตามลักษณะสำคัญของแต่ละนัย กล่าวคือ นัยที่ ๑ นัยที่ ๒ และนัยที่ ๔ บ่งถึงหน้าที่กำจัดเหมือนกันจึงสงเคราะห์เข้าเป็นนัยเดียวกันได้ คือ กุศล หมายถึง ธรรมที่กำจัดบาปธรรมหรืออกุศลธรรม  ส่วนนัยที่ ๓ บ่งชัดถึงเครื่องประกอบของกุศล คือ ปัญญา  แสดงให้เห็นว่า กุศล คือ ธรรมที่เป็นไปด้วยกันกับปัญญา นั่นเอง

            นอกจากนี้แล้วในคัมภีร์ อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีแปล  ท่านยังได้อธิบายไว้ว่า

            ชื่อว่า กุศล เพราะมีสภาพไม่มีโรค (คือ กิเลส) ดีงาม ฉลาด ไม่มีโทษและมีผลเป็นสุข หมายความว่า  กิเลสมีราคะ เป็นต้น ชื่อว่า โรค เพรามีสภาพเสียดแทงกระแสจิต ชื่อว่า ไม่ดีงาม เพรามีสภาพมิใช่ประโยชน์  ชื่อว่า ไม่ฉลาด เพราะมีสภาพไม่ละเอียดอ่อน ชื่อว่าโทษ เพราะมีสภาพพึงตำหนิ และชื่อว่ามีผลเป็นทุกข์ เพราะมีสภาพมีผลไม่น่าปรารถนา  ส่วนจิตชื่อกุศล กล่าวคือ สภาวะไม่มีโรค เพราะพ้นจากกิเลส และชื่อว่าดีงาม ฉลาด ไม่มีโทษ เพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อกิเลส

 

            โดยประมวลความหมายทั้งหมดนั้น จึงกล่าวสรุปได้ว่าคำว่า “กุศล” ในทางพระพุทธศาสนานั้น หมายถึง ธรรมที่เป็นเครื่องกำจัดบาปธรรมหรืออกุศลธรรม เป็นไปกับด้วยปัญญา ไม่มีโทษและนำสุขมาให้ นั่นเอง

 

๓. ความสำคัญของบุญและกุศลในพระพุทธศาสนา

 

ดังที่เป็นที่ทราบกันดีว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการปฏิบัติ เพราะพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นพระบรมศาสดาผู้ก่อตั้งพระพุทธศาสนานั้นทรงเป็นกรรมวาทีบุคคล กล่าวคือ ผู้กล่าวสอนเรื่องหลักการกระทำ โดยเนื้อแท้ของพระพุทธศาสนาจึงเน้นที่การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ดีงาม โดยมีเป้าหมายสูงสุด คือ ความดับทุกข์ หรือ นิพพาน

            หลักคำสอนเกี่ยวกับบุญและกุศลในพระพุทธศาสนา จึงถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก  เพราะเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติที่เอื้ออำนวยต่อการบรรลุเป้าหมายที่ดีงาม ตามพระพุทธประสงค์โดยตรง  ซึ่งในที่นี้จะได้นะข้อมูลหรือหลักฐานบางส่วนมาแสดงให้เห็นว่าพระพุทธศาสนาให้ความสำคัญกับบุญกุศลอย่างไร  โดยขอแบ่งเป็น ๒ ประเด็นหลัก คือ ความสำคัญของบุญและความสำคัญของกุศล

 

          ๓.๑ ความสำคัญของบุญ

            ตามปกติสิ่งที่เป็นความปรารถนาสำคัญที่เหมือนกันในชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ก็คือ ความสุข  โดยเฉพาะในชีวิตของมนุษย์นั้น จะเห็นได้ชัดว่า ทุกคนพยายามดิ้นรมแสวงหาความสุขอย่างไม่หยุดหย่อนด้วยแนวทางต่างๆตามแต่ความเชื่อ ความเข้าใจและความสามารถของแต่ละบุคคล  แม้พระพุทธศาสนาเองก็มีผลที่สืบเนื่องมาจากความปรารถนาที่จะแสวงหาความสุขที่แท้จริง เพราะเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงเล็งเห็นความจริงของชีวิตอันจะต้องแก่ เจ็บ ตายเป็นธรรมดาก็ทำให้เกิดความสลดพระทัยว่าชีวิตนี้เต็มไปด้วยห้วงแห่งความทุกข์นั้น  โดยการออกบวชและบำเพ็ญเพียรจนบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  การบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณหรือที่เรียกว่า การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั้น มีผลสืบเนื่องให้พระองค์ทรงสั่งสอนสิ่งที่พระองค์ได้ตรัสรู้เพื่อโปรดประชาสัตว์ โดยทรงชี้ทางสุขที่แท้จริงอย่างชัดเจนทั้งระดับโลกิยสุขและโลกุตตรสุข

            บุญซึ่งเป็นสิ่งที่พระองค์ทรงสั่งสอนก็เป็นเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นแนวทางแห่งความสุขดังกล่างนั้น  เพราบุญกับความสุขเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกันอย่างใกล้ชิดหรือจะกล่าวว่าเป็นสิ่งเดียวกันก็ได้ ดังความในอังคุตตรนิกาย  สัตตกนิบาตที่ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่ากลัวบุญเลย (เพราะ) คำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข หรือที่ตรัสว่า หากว่าบุรุษจะทำบุญไซร้ ควรทำบุญนั้นบ่อยๆ ควรทำความพอใจในบุญนั้น เพราการสั่งสมบุญนำสุขมาให้ ดังนี้เป็นต้น หลักคำสอนเกี่ยวกับบุญ จึงมีคุณค่าสำหรับทุกชีวิตเป็นอย่างยิ่ง ในทางพระพุทธศาสนาจึงมักมีการกล่าวถึงบุญในฐานะที่เป็นขุมทรัพย์อันประเสริฐที่ทุกคนควรสั่งสมไว้ เพราะขุมทรัพย์หรือทรัพย์อย่างอื่นภายนอกนั้นไม่อาจให้ความสุขที่แท้จริงและสืบเนื่องไปถึงภพชาติหน้าดังความในนิธิกัณฑ์ที่ว่า

ขุมทรัพย์คือบุญ  เป็นขุมทรัพย์อันผู้ใดเป็นหญิงก็ตาม เป็นชายก็ตาม ฝังไว้ดีแล้วด้วย ทาน ศีล ความสำรวมและการฝึกตน ในเจดีย์ก็ดี ในสงฆ์ก็ดี ในบุคคลก็ดี ในแขกก็ดี ในมารดาก็ดี ในบิดาก็ดี ในพี่ชายก็ดี ขุมทรัพย์นั้นชื่อว่า อันผู้นั้นฝังไว้ดีแล้ว ใครๆไม่อาจผจญได้เป็นของติดตามตนไป บรรดาโภคะทั้งหลายเมื่อเขาจำต้องละไปเขาย่อมพาขุมทรัพย์ คือ บุญนั้นไป ขุมทรัพย์คือบุญ ไม่สาธารณะแก่ชนเหล่าอื่น โจรลักไปไม่ได้ บุญนิธิอันใดติดตนไปได้ ปราชญ์พึงทำบุญนิธิอันนั้น

นอกจากนี้แล้ว  ความในตอนท้ายของนิธิกัณฑ์นั้น  ยังมีพระพุทธพจน์ที่แสดงถึงความสำคัญของบุญไว้หลายประเด็น โดยสรุปก็คือ บุญเป็นเครื่องอำนวยสมบัติที่น่าปรารถนาทั้งหลาย ทั้งที่เป็นมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ กล่าวคือ บุคลิกภาพ บริวาร อิสริยยศ ความสุข ความเป็นผู้ชำนาญในวิชชาและวิมุติ ปฏิสัมภิทา วิโมกข์ สาวกบารมี ปัจเจกโพธิและพุทธภูมิ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่มีฐานสำคัญจากความสมบูรณ์แห่งบุญที่ได้บำเพ็ญไว้ทั้งสิ้น

จากที่กล่าวมานี้จึงทำให้เห็นได้ชัดว่า บุญซึ่งหมายถึง เครื่องชำระจิตใจให้บริสุทธิ์จนควรแก่การเคารพบูชา  นำไปสู่ความเจริญก้าวหน้า ดีงามและเป็นสุขนั้น  มีความสำคัญมากทั้งในแง่ที่เป็นแนวทางแห่งการบรรลุความสุขที่แท้จริง และเป็นบ่อเกิดของสิ่งที่ดีงามอื่นๆในสังคม โดยเฉพาะประการหลังนี้จะเห็นได้ชัดในสังคมไทยที่วิถีชีวิตของคนไทยผูกพันกับบุญมาช้านาน นอกจากบุญจะทำให้สังคมไทยสงบร่มเย็นแล้ว บุญยังเป็นบ่อเกิดของวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติอีกหลากหลาย หลักคำสอนเรื่องบุญจึงมีความโดดเด่นมากในสังคมไทย ดังที่พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) ได้กล่าวไว้ว่า บุญเป็นสื่อธรรมที่สำคัญคำหนึ่งในทางพระพุทธศาสนา ยิ่งเมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามารุ่งเรืองในสังคมไทย คำว่า บุญ ก็ยิ่งมีความสำคัญโดดเด่นเป็นพิเศษ

 

๓.๒ ความสำคัญของกุศล

อันที่จริงความสำคัญของกุศล เมื่อว่าโดยภาพรวมดูเหมือนจะไม่ต่างจากความสำคัญของบุญที่กล่าวมาแล้ว  เพราะทั้งบุญและกุศลต่างก็มีความเกี่ยวเนื่องกับความสุขอันเป็นสิ่งที่ทุกชีวิตปรารถนาด้วยกันทั้งนั้น แต่ที่กล่าวแยกไว้อีกประเด็นหนึ่งนี้ก็เพื่อนำข้อมูลหรือหลักฐานที่กล่าวถึงกุศลโดยเฉพาะมาแสดงไว้อันจะเกื้อกูลในการแยกแยะวิเคราะห์หาจุดร่วมและจุดต่างของบุญกับกุศลในตอนต่อไปนั่นเอง

ในทางพระพุทธศาสนา กุศลถือว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก  เพราะความเป็นมาของพระพุทธศาสนานั้น เริ่มต้นจากการที่พระมหาบุรุษพยายามแสวงหาสิ่งที่เป็นกุศลที่แท้จริง จนทรงค้นพบและทรงเห็นว่ากุศลที่แท้จริงนั้นก็คือ ธรรมอันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ที่พระองค์ตรัสรู้นั่นเอง ดังที่พระองค์ตรัสกับพระสุภัททะว่า ดูก่อนสุภัททะ เราโดยวัยได้ ๒๙ ปี บวชแล้วตามแสวงหาว่าอะไรเป็นกุศล  ตั้งแต่เราบวชแล้ว นับได้ ๕๑ ปีแม้สมณะผู้เป็นไปในประเทศแห่งธรรมเป็นเครื่องนำออก  ไม่มีในภายนอกแต่ธรรมวินัยนี้

เมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้ว ต่อมาไม่นานก็มีการวางหลักการสำคัญซึ่งถือกันว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า โอวาทปาติโมกข์ โดยหลักการสำคัญนั้น ได้แก่

๑)    สพพปาปสส อกรณ  คือ การไม่ทำบาปทั้งปวง

๒)    กุสลสสูปสมปทา คือ การยังกุศลให้ถึงพร้อม

๓)    สจิตตปริโยทปน คือ การชำระจิตของตนให้ผ่องแผ้ว

 

ในบรรดาหลักการสำคัญทั้ง ๓ นี้ หลักการสำคัญ ข้อหนึ่งที่ตรัสถึงกุศลโดยตรงก็คือ ข้อที่ ๒ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าหลักคำสอนเรื่องกุศลนั้นมีความสำคัญมากเพราะเป็นหนึ่งในบรรดาหัวใจคำสอนทางพระพุทธศาสนา (ในโอวาทปาติโมกข์นี้  อาจจะเป็นข้อสังเกตเกี่ยวกับความต่างกันของบุญกับกุศลนั่นเอง)

อนึ่งนอกจากหลักการเกี่ยวกับเรื่องกุศลที่ตรัสในฐานะเป็นหัวใจสำคัญข้อหนึ่งในโอวาทปาติโมกข์แล้ว หลักคำสอนสำคัญอีกอย่างหนึ่งในทางพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับกุศลก็คือ กุศลมูล หมายถึง รากเหง้าแห่งกุศล ซึ่งมีอยู่๓ ประการ ได้แก่ อโลภะ อโทสะ และอโมหะ ทั้งสามประการนี้ถือว่าเป็นเหตุสำคัญที่จะทำให้บุคคลประกอบกุศลกรรมและก่อให้เกิดผลดีงาม คือได้ประสบกับความสุขโดยที่สุดก์คือนิพพาน ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุศลมูลมี ๓ คือ อโลภกุศลมูล ๑ อโทสกุศลมูล ๑ อโมหกุศลมูล ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อโลภะจัดเป็นกุศล...อโทสะก็จัดเป็นกุศล...อโมหะก็จัดเป็นกุศล  บุคคลผู้ (ไม่โลภ  ไม่โกรธ) ไม่หลง  กระทำกรรมใดด้วยกาย วาจา ใจ แม้กรรมนั้นก็เป็นกุศล... บุคคลเห็นปานนี้ละธรรมฝ่ายบาปอกุศลที่เกิดเพราะโลภะ .. โทสะ ..โมหะ .. ได้แล้ว  ถอนรากขึ้นแล้ว  ทำให้เหมือนตาลยอดด้วน ทำให้ไม่มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา  ย่อมอยู่เป็นสุขในปัจจุบันไม่มีทุกข์ ไม่คับแค้น ไม่เดือดร้อน ปรินิพพานในปัจจุบันนี้เอง

จากการที่กล่าวมานี้  ย่อมเป็นเครื่องแสดงให้เห็นได้ชัดว่า  กุศลเป็นหลักคำสอนที่มีความสำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนา  ทั้งในแง่ที่เป็นหัวใจคำสอนและในแง่เป็นธรรมเครื่องละอกุศลยังผล คือ ความสุขให้เกิดเป็นลำดับขั้นไปตั้งแต่โลกิยสุขจนถึงโลกุตตรสุข  กุศลจึงเป็นสิ่งที่ควรเจริญหรือควรอบรมให้มีในตนอย่างสมบูรณ์ เพราะเปี่ยมไปด้วยคุณค่าที่ดีงาม  จนถึงการดับทุกข์หรือนิพพาน ดังคำที่ท่านกล่าวว่า

กุศลธรรมมีกำลังมาก  เป็นแก่นสารเหมือนทองแท้  ควรแก่การอบรม เมื่อเสพบ่อยๆ ย่อมถึงความมั่นคงมากขึ้น  เป็นธรรมเจริญงอกงามจนถึงการแสดงอิทธิฤทธิ์ในโลกิยธรรมและจนถึงอรหันตมรรคในโลกุตตรธรรม  เมื่อหยั่งลงสู่ความแน่นอน  ย่อมตัดกระแสอบายหรือกระแสวัฎฎะโดยสิ้นเชิง  แล้วหยั่งลงด้วยการบรรลุอนุปาทิเสสนิพพาน

 

๔.หลักการบำเพ็ญบุญและกุศลในพระพุทธศาสนา

 

หลักการบำเพ็ญบุญและกุศลในพระพุทธศาสนานั้น  เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้อย่างเป็นระบบ โดยที่หลักการบำเพ็ญบุญจะมุ่งเน้นที่รูปแบบของการแสดงออกตั้งแต่ขั้นพื้นฐานจนถึงขั้นสูงเป็นสำคัญ  ส่วนหลักการบำเพ็ญกุศลจะมุ่งเน้นที่พฤติกรรมทางไตรทวารเป็นสำคัญ

๔.๑  หลักการบำเพ็ญบุญ

หลักการบำเพ็ญบุญมีชื่อเรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ  ซึ่งแปลตามศัพท์ว่า “ที่ตั้งแห่งการทำบุญ” มี ๓ ประการ ได้แก่

๑) ทานมัยบุญกิริยาวัตถุ คือ หลักการบำเพ็ญบุญด้วยการให้ทาน  เรียกสั้นๆว่า ทาน มี ๒ ลักษณะ คือ การให้สิ่งของ เรียกว่า “อามิสทาน” และการให้ความรู้ ให้ธรรมะหรือข้อคิดที่ดีงามต่างๆเรียกว่า “ธรรมทาน” ข้อนี้จัดเป็นบุญขั้นต้นหรือขั้นพื้นฐาน

๒) สีลมัยบุญกิริยาวัตถุ คือ หลักการบำเพ็ญบุญด้วยการรักษาศีล  เรียกสั้นๆ ว่า “ศีล” ตามหลักท่านมุ่งหมายถึงปาริสุทธิศีล ๔ ได้แก่ (๑) การรักษษศีลตามสถานะของตน  เช่น ศีล ๕ ศีล ๘ และศีล ๑๐ เป็นต้น (๒) การสำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก เป็นต้น (๓) การเลี้ยงชีพด้วยความบริสุทธิ์ หรือสุจริต และ (๔) การบริโภคปัจจัย ๔ และสิ่งของเครื่องใช้อื่นๆให้ได้คุณค่าที่แท้จริง ข้อนี้จัดเป็นบุญขั้นกลาง

๓) ภาวนามัยบุญกิริยาวัตถุ คือ หลักการบำเพ็ญบุญด้วยการเจริญภาวนา เรียกสั้นๆว่า “ภาวนา” เป็นการฝึกฝนอบรมปัญญาให้แจ่มแจ้ง เรียกว่า “วิปัสสนาภาวนา”  ข้อนี้จัดเป็นบุญขั้นสูง

หลักการบำเพ็ญบุญทั้ง ๓ นี้ เมื่อได้บำเพ็ญแล้วพระพุทธองค์ได้ทรงจำแนกผลานิสงส์ของการบำเพ็ญไว้  โดยทรงแสดงให้เห็นว่า การทำบุญด้วยการให้ทานและรักษาศีลนั้น  เมื่อละโลกนี้ไปแล้วย่อมได้รับมนุษย์สมบัติและสวรรค์สมบัติแตกต่างกันไปตามระดับของการทำบุญซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

ทำบุญด้วยทานและศีลไว้น้อย มิได้เจริญภาวนา  ย่อมได้มนุษย์สมบัติที่ยังมีส่วนลำบาก

ทำบุญด้วยทานและศีลไว้พอประมาณ  มิได้เจริญภาวนา  ย่อมได้มนุษย์สมบัติที่สมบูรณ์

ทำบุญด้วยทานและศีลไว้มาก  มิได้เจริญภาวนา  ย่อมได้สวรรค์สมบัติ  คือ เกิดในเหล่าเทวดาชั้นจาตุมมหาราช  ดาวดึงส์  ยามา ดุสิต นิมมานนรดี และปรนิมมิตวสวัตตีตามลำดับ  โดยในแต่ละชั้นนั้นหัวหน้าของเทวดาทั้งหลาย คือ ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ท้าวสักกเทวราช  ท้าวสุยามเทพบุตร ท้าวสันดุสิตเทพบุตร ท้าวสุนิมมิตเทพบุตรและท้าวปรนิมมิตวสวัตตีเทพบุตรตามลำดับ เพราะเหตุที่ทำบุญด้วยทานและศีลไว้อย่างยิ่งยวด จึงได้รับสมบัติที่เป็นทิพย์ ๑๐ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุข ยศ อธิปไตย รูป เสียง กลิ่นรสและสัมผัสเหนือกว่าเหล่าเทวดาในชั้นเดียวกัน

จากที่กล่าวมานี้แสดงให้เห็นว่า การบำเพ็ญบุญ ๒ ขั้นเบื้องต้น คือ ทานและศีลนั้น มีผลานิสงส์สำคัญ คือ การได้บรรลุสมบัติ ๒ อย่างได้แก่  มนุษย์สมบัติและสวรรค์สมบัติ ตามสมควรแก่เหตุปัจจัย ส่วนบุญที่เกิดจากการเจริญภาวนานั้นจัดเป็นบุญขั้นสูง หากบำเพ็ญให้สมบูรณ์แล้วย่อมมีพรหมโลกและความสิ้นทุกข์เป็นผลานิสงฆ์

นอกจากบุญกิริยาวัตถุ ๓ ดังที่กล่าวมานี้แล้วในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาได้ขยายออกไปเป็นบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ แต่ไม่ขอนำมากล่าวในที่นี้ เพราะโดยเนื้อหาสาระสำคัญบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ นั้นก็เป็นเพียงการแยกย่อยรูปแบบของการบำเพ็ญบุญออกจากทาน ศีล ภาวนาให้ละเอียดขึ้นเท่านั้น

 

๔.๒ หลักการบำเพ็ญกุศุล

หลักการบำเพ็ญกุศุลนั้นมีชื่อเรียกว่า กุศลกรรมบถ ซึ่งแปลตามศัพท์ว่า ทางแห่งการทำกุศล  นอกจากนี้แล้วกุศลกรรมบถยังมีชื่อเรียกอีกหลายอย่าง  ดังที่พระพุทธเจ้าได้แสดงไว้ในพระสูตรหลายแห่ง เช่นเรียกว่า “สาธุธรรม” “อริยธรรม” “กุศลธรรม” “ธรรมจริยา” และ “สมจริยา”  เป็นต้น  มีหลักธรรม ๑๐ ประการ  โดยสามารถแยกเป็นกายกรรม ๓ วจีกรรม๔ และมโนกรรม ๓ ดังนี้

ก.      กายกรรม ๓ ได้แก่

๑)    ปาณาติปาตา  เวรมณี  คือ เจตนาเว้น จากการยังสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป

๒)    อทินนาทานา  เวรมณี  คือ  เจตนาเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้

๓)    กาเมสุมิจฉาจารา  เวรมณี  คือ  เจตนาเว้น  จากการประพฤติผิดในกาม

ข.วจีกรรม ๔  ได้แก่

๔)    มุสาวาทา  เวรมณี  คือ  เจตนาเว้น จากการพูดเท็จ

๕)    ปิสุณาย วาจาย เวรมณี  คือ  เจตนาเว้น จากการพูดส่อเสียด

๖)    ผรุสาย  วาจาย  เวรมณี คือ  เจตนาเว้น จากการพูดคำหยาบ

๗)    สัมผัปปลาปา เวรมณี  คือ  เจตนาเว้น จากการพูดเพ้อเจ้อ

ค.มโนกรรม ๓ ได้แก่

๘)    อนภิชฌา คือ ความไม่โลภอยากได้ของเขา

๙)    อัพยาบาท  คือ ความไม่ปองร้ายเขา

๑๐) สัมมาทิฏฐิ  คือ ความเห็นชอบ

 

ในสาเลยกสูตร  พระพุทธเจ้าทรงแสดงถึงผลานิสงส์ของการบำเพ็ญกุศลตามหลักกุศลกรรมบถไว้ดังความว่า ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย  สัตว์บางพวกหลังจากตายไปแล้วย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์  เพราะธรรมจริยา และสมจริยา (กุศลกรรมบถ ๑๐) เหล่านี้แล ดูกรพราหมณ์ ถ้าบุคคลมีธรรมจริยา และสมจริยา  พึงหวังว่าหลังจากที่เราตายแล้ว พึงเกิดเป็นกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล เทวดาชั้นจาตุมมหาราช... ฯลฯ ... เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตี...พรหมชั้นพรหมปาริสัชชา .. ฯลฯ ...พรหมชั้นอกนิฏฐา ... อรูปพรหมชั้นอากาสานัญจายตนะ..อรูปพรหมชั้นแนวสัญญาณาศัญญายตนะ ...การบรรลุเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติในชาติปัจจุบัน  ทั้งหมดนี้ย่อมเป็นไปได้ ถามว่าเพราะเหตุไร? ตอบว่า เพราะบุคคลนั้นเป็นผู้มีธรรมจริยาและสมจริยา (ประพฤติกุศลกรรมบถ ๑๐)

 

๕.ความแตกต่างกันของบุญกับกุศลในพระพุทธศาสนา

 

จากการที่กล่าวมาทั้งหมดตั้งแต่ตอนนั้น  จะเห็นได้ว่า ความแตกต่างกันของบุญกับกุศลอาจจะยังไม่เด่นชัดเท่าที่ควรจะเป็นข้อสรุปได้  เพราะในแง่ของความหมายแม้จะต่างกันโดยภาษาแต่โดยนัยแล้วก็เข้ากันได้ กล่าวคือ บุญเป็นเครื่องชำระจิตให้บริสุทธิ์ นำสุขมาให้  กุศลก็เป็นธรรมที่กำจัดบาปธรรมฝ่ายเศร้าหมองทั้งหลาย นำสุขมาให้เช่นกัน  โดยสาระจึงไม่ต่างกัน เพราะต่างก็หมายถึงความดีที่นำผลที่ดีงามมาให้  ต่อมาในแง่ของความสำคัญก็สามารถเข้ากันได้  คือ ทั้งบุญและกุศลก็มีความสำคัญในฐานะเป็นหลักการที่นำสุขมาให้หรืออำนวยสมบัติทั้งมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติและนิพพานสมบัติเหมือนกัน  และในแง่ของหลักการบำเพ็ญแม้จะนำมาแสดงแยกกันไว้เป็น ๒ ประเด็น แต่ก็เป็นเพียงจุดเน้นในการนำเสนอวิถีทางเพื่อบรรลุความสุขเท่านั้น

อนึ่ง  บุญกิริยาวัตถุกับกุศลธรรมบถนั้นหากว่า โดยเนื้อหาแล้วก็สามารถกล่าวให้เชื่อมโยงกันได้  กล่าวคือ ทาน เกิดจากจิตที่ไม่โลภ  มีความปรารถนาดี (ไม่พยาบาท) และมีสัมมาทิฎฐิอันเป็นส่วนแห่งมโนกรรม  ศีลก็ตรงกันกับกายกรรมและวจีกรรม  เพราะเป็นเรื่องของพฤติกรรมทางกาย วาจา  ส่วน ภาวนา ก็ตรงกันกับมโนกรรม เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตใจและปัญญา แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อประมวลภาพรวมที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น จะเห็นได้ว่า สาระสำคัญของทั้งหมดยังกล่าวถึงแต่เพียงแง่มุมเดียว  โดยเฉพาะเรื่องกุศลได้กล่าวถึงแต่เพียงแง่มุมของการกระทำหรือกรรมเท่านั้น ซึ่งในแง่มุมนี้อาจทำให้ตกลงได้ว่าบุญกับกุศลมีค่าเท่ากัน หรือเหมือนกัน ใช้แทนกันได้  จึงไม่ผิดที่คำว่า “บุญ” เมื่อกล่าวในแง่การกระทำก็สามารถกล่าวได้ว่า “บุญกรรม” และ”กุศล” เมื่อกล่าวในแง่การกระทำก็สามารถกล่าวได้ว่า “กุศลกรรม”

อีกแง่มุมหนึ่งซึ่งยังมิได้กล่าวถึง ก็คือ แง่มุมของสภาวธรรม  ซึ่งจะมีความเกี่ยวเนื่องกับจิตอันเป็นเรื่องของนามธรรมที่เป็นกระแสแห่งเหตุปัจจัย  เมื่อกล่าวถึงในแง่มุมของสภาวธรรมนี้  ในส่วนของบุญจึงไม่ปรากฏว่าเหมือนกันกับกุศลเด่นชัดนัก  เพราะบุญมักจะถูกกล่าวถึงแต่ในแง่มุมของการกระทำหรือกรรมอย่างเดียว&nb

หมายเลขบันทึก: 386230เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2010 15:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 15:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท